จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกับเรา มีสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับเรา ใช้ระบบรัฐสภาเช่นเดียวกับเรา แต่ที่แตกต่างจากของเราคือ ญี่ปุ่นไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเช่นเรา การแก้ไขปัญหาต่างๆสามารถแก้ไขได้อย่างฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
ในฐานะที่เคยศึกษาหาความรู้และใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นระยะหนึ่ง ผมมองการกู้ภัยของญี่ปุ่นภายหลังจากการประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับการกู้ภัยจากน้ำท่วมภาคใต้ของไทยแล้วให้ห่อเหี่ยวใจเป็นยิ่งนัก
แน่นอนว่า นอกจากความเป็นเลือดบูชิโดที่ทรหดอดทน และมีความเป็นระเบียบวินัยแล้ว อย่างอื่นญี่ปุ่นแทบจะไม่มีอะไรเหนือกว่าไทยเลย นอกจากการมีการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งโดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาค
อีกทั้งการเปิดประเทศของญี่ปุ่นยังเปิดทีหลังไทยเสียอีก รถไฟก็เข้ามาพร้อมๆกัน มิหนำซ้ำญี่ปุ่นยังตกเป็นประเทศแพ้สงครามโลก โดนระเบิดปรมาณูถล่มที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเสียหายอย่างยับเยิน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปเอเชีย มีรูปแบบของรัฐเป็นรัฐเดี่ยว และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีองค์พระจักรพรรดิหรือกษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย
ญี่ปุ่นจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วน คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจากไทยที่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาครวมอยู่ด้วย
การบริหารราชการส่วนกลาง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ รัฐสภาเป็นระบบ 2 สภา ประกอบด้วยวุฒิสภา (House of Councilor) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representative)
สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบเขตละ 1 คน จำนวน 300 คน อีก 180 คน มาจากการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ซึ่งมาจากหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารประเทศร่วมกับคณะรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบกระทรวงและหน่วยงานต่างๆที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงทั้งหมด 11 กระทรวง
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
การปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคณะผู้ยึดครองของสหรัฐฯ ที่เข้ามาจัดระเบียบทางการเมือง การบริหาร และระบบเศรษฐกิจ หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติให้การปกครองท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบการปกครองของรัฐ และยังมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นเป็นการเฉพาะอีกด้วย คือกฎหมายปกครองตนเองของท้องถิ่น(Local Autonomy Law) ซึ่งประกาศใช้ในปีเดียวกับรัฐธรรมนูญ
กฎหมายปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น จัดระดับชั้นการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นออกเป็น 2 ชั้น (Two-Teir System) คือ ระดับบน (Upper Tier) ได้แก่ จังหวัด (Prefecture) และ ระดับล่าง (Lower Tier) ได้แก่ เทศบาล (Municipal) จึงมีผลทำให้จังหวัดมีพื้นที่ในการดำเนินงานครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาลทั้งหมดที่ขึ้นตรงต่อจังหวัด
อย่างไรก็ตาม จังหวัดและเทศบาลมีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เท่าเทียมกัน ไม่ได้หมายความว่า เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้สังกัดจังหวัดเพียงแต่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกัน ดังนั้น จังหวัดจึงมีอำนาจเพียงให้คำแนะนำและแนวทางแก่เทศบาลเท่านั้น ไม่สามารถใช้อำนาจสั่งการเทศบาลได้
อำนาจหน้าที่ของจังหวัด มีในเรื่องที่เกี่ยวกับ กิจการตำรวจซึ่งบริหารงานโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ / การควบคุมดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางผังเมือง ถนนทางหลวง แม่น้ำ เคหะชุมชน ฯลฯ
ซึ่งผังเมืองเชียงใหม่หมดอายุไปตั้ง 5 ปีแล้วยังประกาศใช้ใหม่ไม่ได้เลยเพราะติดอยู่ที่กรมโยธาธิการและ ผังเมืองที่นั่งเขียนอยู่ที่กรุงเทพฯ/ บริหารจัดการโรงเรียนมัธยมปลาย การจัดสรรเงินเดือนและสวัสดิการของครู/ สวัสดิการสังคม ได้แก่ สวัสดิการเด็ก สวัสดิการผู้สูงอายุ/ การสาธารณสุขและอนามัย / การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เช่น การสร้างศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน ฯลฯ
หัวหน้าฝ่ายบริหารของจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี สามารถแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานได้ โดยต้องให้สภาจังหวัดให้การรับรองก่อนเข้ารับตำแหน่ง
อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด มีในเรื่องที่เกี่ยวกับการเสนอร่างกฎหมายต่างๆเพื่อให้สภาจังหวัดพิจารณา/การเสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สภาจังหวัดอนุมัติและบริหารงบประมาณตามที่ได้รับการอนุมัติ/ จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่างๆแล้วส่งส่วนกลาง 40.3 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 59.7 เปอร์เซ็นต์เก็บไว้บริหารจังหวัด ซึ่งตรงกันข้ามกับของไทยที่กรมสรรพากรเป็นผู้เก็บแล้วส่งกลับมาตามแต่ใครจะมีฝีมือในการล็อบบี้ โดยเหลือภาษีเล็กๆน้อยๆให้ท้องถิ่นไว้แทะกระดูก เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน ฯลฯ
แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 จะเคยบัญญัติให้ตั้งงบประมาณแผ่นดินให้ท้องถิ่นร้อยละ 35 แต่ รัฐธรรมนูญปี 50 ก็แกล้งลืมไปเสีย
ปัจจุบันงบประมาณที่ให้ท้องถิ่นของไทยเราอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น น่าอายจีนที่ถึงแม้นว่าจะเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ยังคืนให้ท้องถิ่นถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลางเอาไปเพียง 31 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจในการอนุมัติสัญญา จัดตั้ง บริหารกิจการสาธารณะและยุบเลิกกิจการสาธารณะ/ แต่งตั้งและปลดรองผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งไทยเราทำไม่ได้ อย่าว่าแต่แต่งตั้งหรือปลดรองผู้ว่าฯเลย ย้ายยังทำไม่ได้เลย
ที่เชียงใหม่สมัย 10 กว่าปีมาแล้ว ผู้ว่ากับรองผู้ว่าไม่ถูกกัน ต่างคนต่างเส้นใหญ่ทั้งคู่ ย้ายก็ไม่ได้ ผู้ว่าเลยไม่มอบงานให้ทำเสียอย่างนั้น รองผู้ว่าก็เลยกินเงินเดือนฟรีโดยไม่มีงานทำ/ แต่งตั้งและบริหารเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น/ อำนาจในการยุบสภาจังหวัด ซึ่งบ้านเราต้องรายงานกระทรวงมหาดไทย
ที่สำคัญที่ข้าราชการภูมิภาคทั้งหลายในปัจจุบันที่กังวลว่า เมื่อมีการรณรงค์ให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคก็คือจะเอาข้าราชการส่วนภูมิภาคไปไว้ไหน
ซึ่งในเรื่องนี้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดของญี่ปุ่นจะดูแลข้าราชการที่สังกัดส่วนกลาง(ซึ่งน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหน่วยงานด้านวิชาการ)ที่ทำงานอยู่ในจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลกลางเพื่อดำเนินกิจการแทนให้สำเร็จลุล่วงตามกฎระเบียบและแนวทางที่รัฐบาลกลางวางไว้ เพราะจังหวัดมิใช่รัฐอิสระแต่อย่างใด
ส่วนข้าราชการที่เหลือทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นข้าราชการที่สังกัดจังหวัด ขึ้นการบังคับบัญชากับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายข้ามประเทศเหมือนไทยเรา
จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกับเรา มีสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับเรา ใช้ระบบรัฐสภาเช่นเดียวกับเรา แต่ที่แตกต่างจากของเราคือ ญี่ปุ่นไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเช่นเรา การแก้ไขปัญหาต่างๆสามารถแก้ไขได้อย่างฉับไว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับของไทยเราแล้วจะเห็นได้ว่า ประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(คชอ.) คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรวบอำนาจการช่วยเหลือและงบประมาณอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งต้องพึ่งพาการรายงานข้อมูลของข้าราชการ เช่น มีผู้เข้าเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือกี่ครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ ฯลฯ
ที่แย่กว่านั้นผู้ประสบภัยปีที่แล้วยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเลย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของการรวมศูนย์อำนาจที่แตกต่างจากญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ที่ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจ มิใช่รอ การสั่งการส่วนกลางโดยผ่านราชการส่วนภูมิภาคเช่นนี้
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า แทนที่จะรวมศูนย์อำนาจอยู่แต่ในส่วนกลาง เพราะการรวมศูนย์อำนาจก็คือการรวมปัญหาเข้ามา หากเราแก้ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจนี้ได้ ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งก็คือการป้องกันการรัฐประหารได้อย่างชะงัด เพราะไทยเราที่ผ่านมาหากสามารถเคลื่อนรถถังเก่าๆไม่กี่คันยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก็สามารถยึดอำนาจได้แล้วเพราะอำนาจมันรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง แต่หากเราให้อำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่นทั่วประเทศดังที่ว่าแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะยึดอำนาจได้โดยง่าย
ดังตัวอย่างของญี่ปุ่นที่ผมยกขึ้นมาให้เห็นว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายให้อำนาจแก่ท้องถิ่น ญี่ปุ่นไม่เคยมีการยึดอำนาจเลย เพราะอำนาจไม่ได้รวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวงที่เดียวเหมือนของไทย
ขณะนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นกับโครงการจังหวัดจัดการตนเองร่วมกับอีก 25 จังหวัดเป็น 26 จังหวัดประกอบไปด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคอีสาน 5 จังหวัดภาคกลางและ 5 จังหวัดภาคใต้ พร้อมแล้วในการขับเคลื่อนเสนอร่างกฎหมายในปี 2555 เพื่อยกเลิกการบริหาราชการส่วนภูมิภาค โดยให้มีเฉพาะราชการส่วนกลางกับราชการส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัด โดยใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ คือมีทั้งจังหวัดและเทศบาลที่เป็นท้องถิ่นอยู่ด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจาก กทม.ที่มีท้องถิ่นเพียงระดับเดียวคือระดับจังหวัดเท่านั้น
แล้วจังหวัดคุณล่ะพร้อมหรือยัง
********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:เพื่อไทยแฉอมเงินช่วยน้ำท่วมใต้
คลิปข่าวชาวใต้โวยรัฐกรณีเงินน้ำท่วม