จากกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้แจ้งสารถึงผู้อ่านว่าจะมีการแถลงข่าวเรื่อง "ผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ : กรณีการอภิปรายเรื่อง สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ของ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" โดยจัดขึ้นในวันที่ 24 เมษายน 2554 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คงชวนให้หลายคนที่ได้รับข่าวรู้สึกตระหนก และตั้งคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์สมศักดิ์และแวดวงวิชาการกันแน่?
เมื่อทบทวนถึงหัวข้อที่จะมีการแถลงข่าว ในไม่ช้าก็พอจะคาดเดาได้ว่าคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอภิปรายทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่จะถึงขั้นถูกเล่นงานด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 หรือไม่นั้น ยังคงต้องรอฟังการแถลงข่าวจากกลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลในวันพรุ่งนี้ แม้ว่าในการอภิปรายครั้งนั้นจะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และเป็นการพูดที่เป็นไปตามหลักเสรีภาพทางวิชาการตามที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ก็ตาม
หากแต่ในบริบทของสังคมไทย ซึ่งอบอวลไปด้วยกลิ่นอุดมการณ์แบบรอยัลลิสต์ ดังที่นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ได้อภิปรายในงานเสวนาครั้งก่อนว่า แม้บางครั้งกฎหมายจะเขียนไว้ดีเพียงใดก็ตาม หาก ‘ผู้ใช้กฎหมาย’ ยังคง ‘ตีความ’ ด้วยอุดมการณ์แบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การใช้กฎหมายนั้นก็จะยังคงทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์อยู่ดี
กรณีครั้งนี้ ก็คงจะไม่ต่างกันนัก แม้ว่าการอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์จะทำอย่างรัดกุมภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่รองรับสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ หากแต่ตัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม. 112 ก็มีปัญหาในตัวเองอยู่แล้ว เพราะใครก็สามารถเป็นผู้ฟ้องร้องก็ได้ รวมไปถึงบรรยากาศทางสังคมที่ฝ่ายรัฐ อย่างประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและพลพรรคทหารในสังกัดที่ดาหน้าตบเท้าออกมาสำแดงอำนาจอ้างว่าปกป้องสถาบัน โดยวิธีการข่มขู่กล่าวหาหลายฝ่ายว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดี และพร้อมจะปฏิบัติการใช้อำนาจได้ทุกเมื่อ ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ จึงดูเหมือนว่าจะยิ่งหนุนส่งให้การกล่าวหาต่อนักวิชาการที่อภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์อยู่ในข่ายการกล่าวหาดังกล่าวได้ง่ายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม บทบาททหารในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย การใช้อำนาจข่มขู่กล่าวหาประชาชนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอจนคิดได้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวได้กลายเป็นแบบแผนวัฒนธรรมอันดีงามของไทยไปเสียแล้ว ซึ่งเราคงไปหวังให้ทหารไทยมีสำนึกเคารพประชาชนอันเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย และเลิกพฤติกรรม ‘เบ่ง’ ดังที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่ได้ เพราะมันคงเป็นสันดานอย่างหนึ่งของฝ่ายที่มีอาวุธอยู่ในมือ
แต่ที่เราต้องการเรียกร้องต่อกรณี ผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการที่เกิดขึ้นล่าสุดกับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างก็ตาม คือ การเรียกร้องกับ ‘ประชาคมวิชาการ’ ด้วยกัน ไม่ว่าเขา/เธอจะสังกัดในศาสตร์สาขาใด สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ ประชาคมวิชาการควรจะต้องร่วมยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เพราะหากปล่อยให้เกิด ‘การคุกคาม’ แม้แต่ในการแสดงความคิดเห็นที่เป็นวิชาการอย่างยิ่งแล้ว เราคงไม่อาจคาดหวังได้เลยว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปจะไม่ถูกคุกคาม
ทั้งนี้ในความเป็นจริง ก็อย่างที่ปรากฏในหลายกรณีแล้วว่ามีประชาชนธรรมดาที่ถูกคุกคามจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 นี้ อย่างไม่เป็นธรรมมาแล้วหลายต่อหลายราย ดังกรณีการพิจารณากรณีปิดลับของคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุลหรือ ‘ดา ตอปิโด’ เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีแต่ ‘ความเงียบ’ จากประชาคมวิชาการทั่วประเทศเรื่อยมา นี่เป็นความจริงของสังคมไทยที่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่หลายคนหวาดหวั่น แม้แต่ในแวดวงวิชาการเอง การนำเสนออภิปรายอย่างตรงไปตรงมาตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเย็นยิ่ง
ท่ามกลางความเงียบ แต่เรายังคงหวังว่า นักวิชาการปัญญาชนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการอาวุโสที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมวงกว้าง จะได้หันมาสนใจต่อปัญหาการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และปัญหาอันเกิดจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ซึ่งขัดแย้งกับอุดมการณ์หลักในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิงมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์ก็ตาม เพราะการเคารพความคิดเห็นต่างถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยอมรับความแตกต่างในการแสดงความคิดเห็นได้
ในกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ การยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในแง่หนึ่งจึงเป็นคำถามต่อบทบาทของนักวิชาการในสังคมไทย และอาจจะเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญต่อประชาคมวิชาการทั้งหมดว่า พวกเขาจะยังทน ‘นิ่งเฉย’ ต่อการที่รัฐไทยใช้อำนาจละเมิดเสรีภาพประชาชนได้ต่อไปอีกหรือไม่ หาไม่เช่นนั้นแล้วการจัดเสวนาอภิปรายทางวิชาการในสังคมไทย ก็คงจะไม่มีใครเชื่อได้อีกว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพอีกต่อไป และนักวิชาการไทยทั้งหลายก็ควรสำเหนียกได้ต่อคำกล่าวหาโจมตีว่า ‘ไร้กระดูกสันหลัง’ และ ‘ฉวยโอกาส’ นั้นเป็นจริงทีเดียว
จากบทความเดิมชื่อ:การละเมิดเสรีภาพกับบทพิสูจน์ความมีกระดูกสันหลังของประชาคมนักวิชาการ ปัญญาชนไทย : กรณีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112