บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วุฒิฯจัดเสวนาหาทางออกลดขัดแย้ง


วานนี้ (10 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ร่วมกับคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 22 คณะ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ทางออกจากความขัดแย้งของสังคมไทยโดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา รูปแบบของการเสวนาได้แบ่งเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเช้าเป็นการอภิปรายของ ส.ว.เลือกตั้งที่ร่วมลงนามเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบด้วยนายยุทธนา ยุพฤทธ์ ส.ว.ยโสธร นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี โดยทุกคนได้แสดงความเห็นทางเดียวกันคือสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายของกลุ่ม ส.ว.สรรหาที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการสัมมนาเริ่มดุเดือดขึ้น เมื่อนายวรินทร์ เทียมจรัส ที่มีคิวอภิปรายช่วงบ่าย ลุกขึ้นกล่าวด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า ตอนเห็นหัวข้อสัมมนาก็เห็นว่าเป็นหัวข้อที่ดีมาก ที่จะหาทางออกให้ประเทศชาติ แต่นั่งฟังมากว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่เห็นเข้าประเด็นสักที มีแต่เอาความในใจมาพูดกัน ถ้าจะจัดแบบนี้ไม่ต้องจัดก็ได้ เหมือนแทงกันข้างหลัง ตนจะไม่ ขอร่วมอภิปรายในช่วงบ่าย เพราะยิ่งพูดแทนที่จะหาทางออกกับกลายเป็นยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น และเงินที่นำมาจัดสัมมนาที่จริงควรตกเป็นของประชาชน ไม่ควรนำมาใช้ระบายความในใจกัน ถ้าอึดอัดปิดห้องคุยกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเปลืองงบประมาณแบบนี้ แต่ในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ยังติดใจมาตรา 237 และ 309 ที่เป็นเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง กลไกทางกฎหมายตามมาตรา 309 ก็ต้องทำแบบนั้น ไม่เช่นนั้นก็ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม หากไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550 พวกเราก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านกันหมดทั้ง ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระหรือแม้แต่รัฐบาล เพราะต่างก็มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีใครลอยฟ้ามาแน่ๆ จากการลุกขึ้นกล่าวทะลุกลางปล้องของนายวรินทร์ ทำให้งานสัมมนาต้องล่มไปในที่สุด

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 61 ส.ว.เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติว่า ทางพรรคและ ครม.จะได้นำไปหารือกันว่าเมื่อ ส.ว.ยื่นมา ต้องมาดูว่าในญัตติว่าอย่างไร และควรจะมีประเด็นอะไรบ้างเพื่อซักซ้อมกัน ทางประธานวุฒิสภาต้องส่งเรื่องมาถามรัฐบาลว่าพร้อมที่จะตอบชี้แจงญัตติเมื่อใด จะเป็นวันที่ 23 มิ.ย.หรือวันใด ต้องหารือกันว่ารัฐบาลจะพร้อมเมื่อใด คิดว่าท่านนายกฯพร้อมเมื่อเขาเสนอมาแล้วก็ต้องไปชี้แจง ส่วนที่ ส.ว.มายื่นอภิปรายก่อนและฝ่ายค้านก็จะยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น เราก็พอจะทราบกันว่าปัญหาทางการเมืองมันเป็นอย่างไร ก็ฝากประเด็นว่าเท่าที่ดูญัตติที่ลงทางสื่อ เหมือนกับการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลายๆ ยิ่งมาเจอคำสัมภาษณ์ของผู้เสนอญัตติบางท่าน ก็ยิ่งชัดเจนว่าเจตนารมณ์ที่ยื่นมาคืออะไร สุดแต่ประชาชนและสื่อมวลชนจะไปพิจารณาดู ตนมีข้อสังเกตว่าปกติวุฒิสภาจะเป็นกลางทางการเมือง ไม่สังกัดพรรคต่างๆ ขณะเดียวกันการใช้สิทธิตามมาตรานี้เจตนารมณ์เพื่อให้มาพูดจาปัญหาสำคัญๆของประเทศกัน เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะกันโดยไม่มีการลงมติ แต่ดูการเขียนญัตติคล้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลก็ไม่เป็นไร


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker