บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2551

บันทึกแพทย์ชนบท: ไฟดับที่ตากใบกับโรงพยาบาลที่หยุดบริการไม่ได้

เหตุการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการถอดนอตเสาไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้ไฟฟ้าดับทั้ง จ.นราธิวาส หลายอำเภอไฟฟ้าดับนานกว่า 2 วันเมื่อวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ได้สร้างความหวาดผวาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมาก อีกทั้งสร้างความโกลาหลให้กับชีวิตของประชาชนในโลกยุคปัจจุบัน ที่ต่างต้องพึ่งพาไฟฟ้าในแทบทุกกิจกรรมประจำวัน

สำหรับโรงพยาบาลทุกแห่งใน จ.นราธิวาส รวมทั้งโรงพยาบาลตากใบนั้น ไม่เคยพบกับสถานการณ์ไฟดับต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 วันเช่นนี้ แม้ไฟจะดับแต่ความเจ็บป่วยรอไม่ได้ การให้บริการรักษาพยาบาลยังต้องดำเนินต่อไป การปรับตัวในการจัดบริการให้กับผู้ป่วยได้ให้ใกล้เคียงกับปกติที่สุดในท่ามกลางการไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้นั้น นับเป็นบทเรียนใหม่ของระบบสาธารณสุขไทยในยุคใหม่

โดยพื้นฐานทุกโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนใต้ มีการเตรียมความพร้อมของเครื่องปั่นไฟฟ้ากันอยู่แล้ว การสำรองน้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟสำหรับให้พอปั่นไปข้ามคืนนั้น เป็นมาตรฐานปกติของทุกโรงพยาบาล เครื่องปั่นไฟที่มี มักมีขนาดเล็กและไม่เพียงพอสำหรับการใช้งานเต็มระบบ ก็จะมีการเดินระบบไฟฉุกเฉินสำหรับห้องที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ให้มีกระแสไฟฟ้าใช้เช่นห้องคลอด ห้องฉุกเฉิน ไฟแสงสว่างในตึกผู้ป่วยใน ห้องยา ห้องบัตร เป็นต้น แต่กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยประสบ ไฟฟ้าดับนานต่อเนื่องถึง 2-3 วัน

โรงพยาบาลตากใบ จ.นราธิวาส ปลายสุดของสายไฟฟ้าไทย ได้แก้ปัญหาให้สามารถจัดบริการได้ดีที่สุดในท่ามกลางการไม่มีไฟฟ้าใช้ได้อย่างน่าสนใจ ในทันทีที่ไฟดับและทางโรงพยาบาลรู้ว่า "ครั้งนี้ไปจะดับนานไม่น้อยกว่า 3 วัน" นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ รีบสั่งให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจัดซื้อน้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิมที่มีอยู่ 400 ลิตร เพิ่มขึ้นเป็น 800 ลิตร เติมน้ำมันรถทุกคันของโรงพยาบาลให้เต็ม เพราะน้ำมันในเมืองเล็กๆ อาจหมดลงอย่างรวดเร็วหากสถานการณ์ยืดเยื้อ

เครื่องปั่นไฟอายุกว่า 10 ปีที่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ โจทย์ที่ถกเถียงกันอย่างหนักในโรงพยาบาลคือ จะหยุดพักเครื่องสัก 2 ชั่วโมงในช่วงเวลาใดจึงเหมาะสมที่สุด กระทบต่อการบริการน้อยที่สุด ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ในการเริ่มหาข้อสรุป ส่วนใหญ่ก็มีความเห็นให้หยุดพักเครื่องในช่วงที่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ อาจเป็นช่วงบ่ายหรือเย็น หรือไม่ก็ยามฟ้าสางในช่วงเช้า

แต่เมื่อถกเถียงไประยะหนึ่งก็พบว่า ไม่สามารถปิดบริการในช่วงบ่ายหรือช่วงเย็นได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ป่วยมารับบริการต่อเนื่อง สุดท้ายคำตอบจึงไปอยู่ที่การดับไฟฟ้าในช่วงฟ้าสาง แต่ด้วยปัญหาที่ทางโรงพยาบาลไม่สามารถเดินเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าในช่วงเวลากลางวันได้ เพราะปริมาณกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟไม่เพียงพอ จึงต้องมีการปรับระบบงานให้เจ้าหน้าที่ซักรีดมาทำงานในช่วงฟ้าสาง จนถึงก่อนเวลาทำการของโรงพยาบาล ทำให้ต้องปั่นกระแสไฟฟ้าในการซักรีดในช่วงเช้าตรู่ คำตอบสุดท้ายจึงไปอยู่ที่การพักเครื่องปั่นไปในช่วงเวลาดึก คือตี 2 ถึงตี 4 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉินน้อยมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่นอนหลับ มีความต้องการเพียงไฟส่องสว่างเท่านั้น เป็นโรงพยาบาลที่มืดมิดมีเพียงแสงเทียนแสงไฟฉายและแสงไฟฉุกเฉิน เช่นเดียวกับชุมชนทั้ง อ.ตากใบ

การที่ไฟฟ้าดับเป็นเวลานานส่งผลต่อสถานีอนามัยเช่นกัน เพราะไม่มีระบบไฟฟ้าสำรอง แม้ว่าการให้บริการของสถานีอนามัยจะใช้ไฟส่องสว่างเป็นสำคัญ กลางวันสามารถให้บริการได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ตู้เย็น ในครั้งนี้ไฟฟ้าเริ่มดับในเวลา 2 ทุ่ม ทำให้ห่วงโซ่ความเย็นในการรักษาความเย็นในการเก็บวัคซีนของตู้เย็นที่สถานีอนามัยนั้น ไม่เย็นพอที่จะรักษาคุณภาพวัคซีนได้ จนทำให้วัคซีนทั้งหมดที่เก็บในตู้เย็นของสถานีอนามัยต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์

แต่กระนั้นความมืดมิดจากไฟฟ้าดับ 2 วัน ของ จ.นราธิวาส ในครั้งนี้ กลับกลายเป็นบทเรียนอันมีค่ากับระบบสาธารณสุขไทย ต่อการเรียนรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤติในอนาคต




นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้


ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker