โดย ชฎา ไอยคุปต์
คลิปวิดีโอนาทีชีวิต"ปลั๊ก"หรือ"อ๊อฟ"นายอัครเดช ขันแก้ว ถูกยิงเสียชีวิต
ครบรอบ 2 เดือนเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 วันปิดฉากความรุนแรงนับได้ 90 ศพ ยอดการเสียชีวิตชีวิตของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงและประชาชนที่ถูกลูกหลงรวมทั้งเจ้าหน้าที่ต้องมาสังเวยชีวิตในสนามการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง ยึดแยกราชประสงค์แหล่งธุรกิจใจกลางกรุงเป็นสถานที่ชุมนุม
คนใส่เสื้อสีแดงที่กระจายอยู่เต็มท้องถนน มิตรภาพ ความเอื้ออาทร ที่มีต่อกันของผู้ชุมนุมก่อเกิดเป็นความรักความผูกพัน ทว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นย่อมสร้างความเจ็บปวดให้กับคนที่เหลืออยู่และไม่อาจะหยุดนิ่งมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดนไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ พวกเขาจึงออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับมิตรสหายที่ไม่ใช่ญาติทางสายเลือดแต่เลือกเดินเส้นทางเดียวกัน ผ่านกิจกรรมเล็กๆน้อยๆในกรอบที่พอจะทำได้
ป้ายแยกราชประสงค์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์เดียวที่กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงใช้เป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเพื่อย้ำว่า "ณ จุดนี้มีคนตาย" และในคืนวันที่ 19 ก.ค.ป้ายสัญลักษณ์นี้ถูกปลดหายไปจากแยกนี้
อีกด้านหนึ่งยังมีกลุ่มนักวิชาการที่ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆร่วมก่อตั้ง "เครือข่ายสันติประชาธรรม"เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อเปิดศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุมเมษายนถึง พฤษภาคม 2553 (ศปช.) มีน.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เป็นสมาชิก ประกอบด้วยนักวิชาการ จาก จุฬาลงกรณ์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล และ ม.บูรพา เป็นที่ปรึกษา
วัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงจาก เหตุการณ์การสลายการชุมนุม เม.ย.ถึง พ.ค.53 นำไปสู่การศึกษาปัญหาและนำเสนอเรื่องราวเป็นจริงมากที่สุด เปิดให้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้เสียหาย เข้ามาให้ข้อมูล โดยเฉพาะเปิดให้ผู้ไม่กล้าให้ข้อมูลกับรัฐบาล เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ศปช.พร้อมจะทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และหน่วยงานอื่นๆ ในลักษณะเช่นเดียวกัน เป็นลักษณะการเสาะหาข้อมูลและเทียบเคียงข้อมูลกันและกันเพื่อให้ข้อมูลที่ เป็นจริงในเหตุการณ์ประจักษ์ขึ้น
น.ส.กฤตยา กล่าวอีกว่าประชาชนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาได้ที่ 086-060-5433 และ www.peaceandjusticenetwork.org
ด้าน นายเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงตัวเลขผู้ชุมนุมถูกจับกุมใน 5 จังหวัดภาคอีสาน จำนวน 144 คน เป็นชาย 125 คน หญิง 19 คน
จากการสอบถามข้อมูลในเบื้องต้นมีการออก หมายจับอย่างเหวี่ยงแห ไม่สามารถระบุข้อหาได้ชัดเจน เช่น เหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัดมีคลิปวีดีโอ ซึ่งตำรวจได้จับกุมบุคคลปรากฎในคลิปวีดีโอ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งทาง ศปช.จะต้องทำการค้นหาความจริง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ และดูแลผู้ต้องหาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ภายหลังการจับกุม รวมทั้งสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว
"ผมเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของคนจำนวนมาก ถูกกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ศปช.ได้ทำงานกับองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น เครือข่ายทนาย สิทธิมนุษยชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ดูแลด้านคดีความให้กับผู้ต้องหาในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากข้อมูลได้ทราบว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายและผู้ที่ถูกจับกับไม่เกล้ามาให้ข้อมูลกับทาง ศปช. และไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานด้านกฎหมาย เนื่องจากไม่ไว้ใจเกรงว่าถ้าให้ข้อมูลแล้วจะส่งผลต่อสวัสดิภาพ" อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
นอกจากนี้เครือข่ายสันติประชาธรรมได้ทำจดหมายเปิดผนึก ถึง คอป. มีเนื้อหาสรุปว่า แม้ว่าการแต่งตั้ง คอป. จะถูกตั้งคำถาม เรื่องความชอบธรรมจากฝ่ายต่างๆ ในสังคม เพราะถูกแต่งตั้งโดย รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นคู่กรณี ในความขัดแย้ง และความรุนแรง ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. แต่เมื่อ คอป.ยืนยันปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า เป็นหน่วยงานอิสระและเที่ยงธรรม
เครือข่ายสันติประชาธรรม ขอยื่นข้อเสนอ ดังนี้
1. คอป.จะต้องปฏิบัติงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ คอป.ต้องชี้แจงให้สาธารณชนให้ประชาชนได้รู้ถึงขอบเขตและจุดมุ่งหมายในการทำ งาน ของ คอป. ทั้งนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมเชื่อว่า มีแต่การแสวงหาข้อเท็จจริงและผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นเท่านั้น ที่จะช่วยฟื้นฟูความบริสุทธิ์ยุติธรรม และสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคมได้
2.การตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องมุ่งไปที่ การกระทำของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ศอฉ. กองทัพ ผู้ชุมนุม และบุคคลนิรนาม
3.คอป.ควรมีข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อตอบสนองสถานการณ์เฉพาะหน้าและควรเรียกร้อง ให้รัฐบาลและ ศอฉ.ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที
อย่างไรก็ตามการต่อสู้ในเชิงปัจเจกยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นรายบุคคลโดยไม่เกรงกลัว หนึ่งในผู้ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยื่อความรุนแรงครั้งนี้ คือ นายวสันต์ สายรัศมี หรือ เก่ง อาสาสมัครกู้ภัยผู้อยู่ในเหตุการณ์ยิง 6 ศพวัดปทุมวนารามวรวิหารเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กล่าวถึงการสูญเสียเพื่อนกู้ภัย โดยเฉพาะ"ปลั๊ก"หรือ"อ๊อฟ"นายอัครเดช ขันแก้ว ชาวกาฬสินธุ์ ว่า เป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ใช้อะไรง่ายมาร่วมชุมนุมกับพ่อแม่และสนใจงานกู้ชีพ
"เขาตายคามือผม อ๊อฟเขาเห็นเกด (น.ส.กมนเกด อัคฮาด) พยาบาลอาสาโดนยิงเขาก็มุดเข้าไปในเต็นท์ไปช่วยเกด แต่เขาโดนยิงที่แขน 1 นัด กระพุงแก้ม 1 นัดและโดนซ้ำที่หลังอีก 2 นัด หลังจากถูกยิงเขาล้มลง ผมพาเขามาปฐมพยาบาลให้น้ำเกลือทำเท่าที่กำลังเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่เราจะทำได้ในขณะนั้นเพราะไม่สามารถนำตัวออกไปส่งโรงพยาบาลได้พยายามทำทุกอย่างแต่เขาก็เสียเลือดมากได้เพียงแต่นั่งมองดูจนเขาหมดลมหายใจสุดท้าย เพราะไม่สามารถนำตัวออกไปได้ทุกคนพยายามจะออกไปแต่กลับโดนยิง ผมได้แต่นั่งดูเขาดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดโดยที่เขาไปช่วยอะไรไม่ได้"
นี่เป็นเพียงภาพของผู้เสียชีวิตจาก 90 ศพในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงนับตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมขอพื้นที่คืนและกระชับวงล้อม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านไปกว่า 2 เดือนแล้วภาพเหล่านี้ยังไม่อาจจะลบไปจากความทรงจำของคนเสื้อแดงได้ ไม่อาจลืมภาพความโหดร้าย ทารุณที่เกิดกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์และคนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมาล้มตายโดยปราศจาก "ผู้กระทำ" มีแแต่"ผู้ถูกกระทำ"ที่ออกมาร้องโอดโอยเรียกร้องขอความเป็นธรรมอยู่ใน"กล่อง"เท่านั้นเอง
เสียงที่ถูกปิดกั้นคงไม่ดังพอที่จะไปปลุกกระบวนการยุติธรรมไทยที่กลายเป็นอัมพาตไปชั่วขณะหลังเหตุการณ์อาจเพราะยังตลึงและงงกับเหตุการณ์ตายหมู่ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของประเทศไทยแบบจับต้นชนปลายไม่ถูกหรืออาจจะยืนนิ่งไว้อาลัยให้คนตายนานไปสักหน่อย กระบวนเรียกความ"ยุติธรรม"จึงเคลื่อนไปแค่คำว่า "ยุติ" ส่วนคำว่า "ธรรม" ยังขับเคลื่อนไปไม่ได้ภายใต้แรงกดดันที่"ไม่เป็นธรรม"ในสังคมขณะนี้