ชาวไม้รูด จ.ตราด รวมพลังต้านนิวเคลียร์ กฟผ. เบี้ยวเวทีชี้แจงข้อมูล ทั้งที่เป็นฝ่ายเสนอจัดเอง ชาวบ้าน จ.ตราด ประกาศนัดรณรงค์ใหญ่คัดค้านนิวเคลียร์ 8 สิงหาคมนี้
วันที่ 23 กรกฎาคม 2553 ชาวบ้าน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ และเครือข่ายประชาชนใน จ.ตราด ประมาณ 700 คน ได้รวมตัวกันที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 (แผน PDP 2010) แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงเวลาเริ่มเวที ตัวแทน กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ที่ได้ประสานงานกับทาง อบต.ไว้กลับไม่ได้เดินทางมาตามที่นัดหมาย ทางแกนนำจึงได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นนำเสนอข้อมูลแก่ชาวบ้านที่มาเข้าร่วมเวที และท้ายสุดได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยเหตุผล 6 ประการ (ตามแถลงการณ์)
นายสนธยา กล่อมสังข์ นายก อบต.ไม้รูด กล่าวว่า “ทางการไฟฟ้าทำงานรวบรัดตัดตอนเกินไป ซึ่งดูแล้วอาจจะบอกว่าไม่ค่อยโปร่งใส เวทีในวันนี้เขาเป็นฝ่ายติดต่อมาเองเมื่อวันที่ 12 ก.ค. บอกว่าจะขอมาจัดเวทีวันที่ 14 ก.ค. ผมก็บอกว่าเราเตรียมให้ไม่ทันหรอก เพราะจะต้องประชาสัมพันธ์ชาวบ้านด้วย สุดท้ายก็เลื่อนมาเป็นวันนี้(วันที่ 23 ก.ค.) แต่แล้วเมื่อวานตอนเย็น ท่านนายอำเภอก็โทรมาแจ้งว่า การไฟฟ้าเขาไม่มาแล้ว แต่ผมประชาสัมพันธ์ชาวบ้านไปแล้ว จะแจ้งยกเลิกก็ไม่ทันแล้ว”
นายสุรศักดิ์ อินทรประเสริฐ อดีตกำนัน ต.ไม้รูด กล่าวว่า “เวทีในวันนี้ กฟผ.เสนอจะมาให้ข้อมูลเพราะคิดว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะไม่รู้อะไรเลย เพราะสมัยนี้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นสำหรับชาวบ้านที่จะแสวงหา เรารู้ว่าข้อมูลที่ กฟผ.จะมาพูดมีแต่ด้านดีด้านเดียว ด้านเสียเขาจะไม่พูด เราจึงได้ศึกษาจากผู้รู้มาระดับหนึ่ง แล้วก็คิดว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ควรจะมาสร้างที่ตำบลไม้รูด หรือตรงไหนในจังหวัดตราด ซึ่งเวทีในวันนี้ พวกเราก็อยากจะให้ทาง กฟผ.มารับฟังข้อมูลจากชาวบ้านด้วย แต่ก็ไม่ทราบว่า เหตุใดเขาถึงไม่มา”
ต.ไม้รูด จ.ตราดได้ถูกเสนอเป็นพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อปลายปี 2552 ที่ผ่านมา หลังจากที่ก่อนหน้านั้น กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทเบิร์น แอนด์ โร เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมและคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างจากพื้นที่ที่ระบุไว้ 14 แห่งใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ คือ ชัยนาท ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช การจัดเวทีครั้งนี้ถือเป็นเวทีครั้งแรกที่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานจะเข้ามาชี้แจงข้อมูลในพื้นที่ ต.ไม้รูด แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มา โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดเวทีใน อ.เมือง จ.ตราดมาแล้วรวม 4 ครั้ง และครั้งล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมาที่โรงแรมเหลายาอินแลนด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.ตราด ซึ่งในเวทีดังกล่าว ผู้เข้าร่วมรับฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนในเขต อ.เมือง จ.ตราดต่างแสดงความเห็นคัดค้าน
นางสาวผ่องศรี อินทสุวรรณ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ตราด ผู้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงของ กฟผ. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. กล่าวว่า “เราถามว่า ถ้ามาสร้างแล้วชาว จ.ตราดจะได้อะไร เขาก็ตอบว่า ในระหว่างที่ก่อสร้างจะมีการให้เงินเป็นกองทุนแก่ชุมชนปีละ 50 ล้านบาท และเมื่อโรงไฟฟ้าเดินเครื่องก็จะได้มากขึ้นตามปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิต หน่วยละ 5 สตางค์ คำนวณแล้วก็ปีละประมาณ 300 ล้านบาท ฟังแล้วโกรธมาก ประโยชน์ของชุมชนก็คือเงินที่เขาเอาฟาดหัวเรา เราไม่ได้อยากได้เงินจากโรงไฟฟ้าเลย แต่เราต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้ลูกหลาน”
นายเอกสิทธิ์ ประคองจิตร รองนายก อบต.ไม้รูด กล่าวว่า “สิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุดคือผลกระทบในเรื่องอาชีพการประมง เพราะชาวบ้านในตำบลไม้รูดไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีอาชีพทำการประมง ไม่มีอาชีพอย่างอื่น ทุกอย่างในชีวิตของเราอยู่ในทะเล อย่างผมเองนี่สร้างตัวเองขึ้นมาได้ก็เพราะทำประมงล้วนๆ เลย เพราะฉะนั้นชาวไม้รูดจะไม่ยอมให้ท้องทะเลของเราเสียหายเด็ดขาด”
แกนนำชาวบ้านได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นแสดงความคิดเห็นจนกระทั่งเวลา 12 นาฬิกา และมีการประกาศนัดหมายเครือข่ายองค์กรประชาชนทั้งหมดใน จ.ตราด เพื่อร่วมรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่หน้าเทศบาลเมืองตราดในวันที่ 8 สิงหาคมนี้.
..............................................................................................................................................
(แถลงการณ์ของชาวบ้าน)
สรุปประเด็นความไม่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ของชาวจังหวัดตราด, อำเภอคลองใหญ่ และตำบลไม้รูด
ด้วยตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่ราษฎรในพื้นที่จังหวัดตราด, อำเภอคลองใหญ่ และตำบลไม้รูด ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จึงขอประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ดังนี้
1. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะกระทบทางด้านความมั่นคง เนื่องจากตำบลไม้รูดเป็นพื้นที่ติด ชายแดนไทย-กัมพูชา มีพื้นที่จากเขตแดนถึงชายทะเลเพียง 3-4 กิโลเมตรเท่านั้น
2. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน
3. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะกระทบต่อการท่องเที่ยวเนื่องจากจังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่กำลังมีการพัฒนาการท่องเที่ยวไปสู่ระดับสากล
5. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะกระทบต่อความปลอดภัยของคนในชุมชนจากกัมมันตภาพรังสี
6. ชาวจังหวัดตราด, ชาวอำเภอคลองใหญ่ และชาวตำบลไม้รูด ได้ตัดสินใจแล้วว่า เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องการรับฟังข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อก่อให้เกิดความแตกแยก
****************************************************************