บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปิดบทคัดย่อสมุดปกขาว “การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ: ข้อเรียกร้องหาการรับผิด”

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุ: คำแปลบทคัดย่อของรายงานสมุดปกขาว “THE BANGKOK MASSACRES: A CALL FOR ACCOUNTABILITY” หรือ “การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ: ข้อเรียกร้องหาการรับผิด” ของสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff ของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม พร้อมคำนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยประชาไทจะเผยแพร่รายงานฉบับเต็มเร็วๆ นี้

000

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องหาการรับผิด
ว่าด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการนำตัวฆาตกรสู่กระบวนการยุติธรรม


บทคัดย่อ

เป็นเวลากว่า 4 ปีที่ประชาชนชาวไทยตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ นั่นก็คือสิทธิในการกำหนดใจตนเองผ่านการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่บนฐานของเจตจำนงของประชาชน การโจมตีระบอบประชาธิปไตยเริ่มขึ้นด้วยการวางแผนและลงมือกระทำการรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 ด้วยความร่วมมือกับสมาชิกองคมนตรี ผู้บัญชาการทหาร ของไทยล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทั้งในปี 2544, 2548 และ 2549 การรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการเริ่มต้นในการพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจนำของกลุ่มทุนเก่า นายทหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มองคมนตรี (“กลุ่มอำนาจเก่า”) โดยทำลายล้างพลังจากการเลือกตั้งซึ่งได้กลายเป็นสิ่งท้าทายอำนาจของพวกเขาอย่างสำคัญและเป็นประวัติการณ์ ระบอบที่การรัฐประหารตั้งขึ้นได้เข้าควบคุมหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรคเป็นเวลา 5 ปี

เมื่อพรรคที่สืบทอดจากพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปลายปีพ.ศ. 2550 ก็กลับถูกศาลเฉพาะกิจ (ad hoc court) อันประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่แต่งตั้งโดยผู้ทำการรัฐประหารตัดสินให้ยุบพรรคนั้นอีก และเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกกดดันให้ต้องใช้มาตรการกดขี่เพื่อรักษาฐานอำนาจอันไม่ชอบธรรมและปราบการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นเพื่อตอบโต้การรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 และการรัฐประหารโดยศาลในปี 2551 หนึ่งในวิธีการกดขี่ก็คือการที่รัฐบาลได้บล็อกเว็บไซท์ประมาณ 50,000 เว็บ ปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และกักขังคนจำนวนหนึ่งภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพอันเลื่องชื่อของไทย และภายใต้พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่โหดร้ายพอๆ กัน เมื่อเผชิญกับการชุมนุมประท้วงโดยมวลชนที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาล รัฐบาลก็ได้เชื้อเชิญให้กองทัพเข้ามาจัดการ และได้ระงับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยการนำพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พร้อมทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเข้มงวดยิ่งกว่ามาใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารชุดใหม่ของประเทศในนามของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่มีมาตรการตรวจสอบความรับผิดใดๆ ภายใต้การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ถูกประกาศอย่างไม่เหมาะสม ถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ และใช้อย่างต่อเนื่องไม่มีกำหนดเพื่อปิดปากการคัดค้านใดๆ ที่มีต่อรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่กลุ่มอำนาจเก่าไม่อาจปฏิเสธข้อเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเองของประชาชนชาวไทยได้โดยไม่ต้องหันไปหาระบอบเผด็จการทหาร

ในเดือนมีนาคม 2553 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยกลุ่มคนเสื้อแดง หรือที่เรียกว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) การชุมนุมของคนเสื้อแดงดำเนินมาจนถึงวันที่ 66 ในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อรถหุ้มเกราะบดขยี้แนวกั้นที่ทำขึ้นชั่วคราวรอบสี่แยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ และทะลวงค่ายประท้วงของคนเสื้อแดง หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน กองกำลังทหารพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าแต่ล้มเหลว ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย และในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 13 -19 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 55 ราย นับถึงเวลาที่บริเวณที่ชุมนุมได้ถูกเคลียร์เรียบร้อย อาคารพาณิชย์สำคัญๆ สองสามแห่งยังคงมีควันกรุ่น มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 80 คน และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุมมากกว่า 50 คนอาจเผชิญกับโทษประหารชีวิตจากข้อหา “ก่อการร้าย” ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้การชุมนุมทางการเมืองที่ชอบธรรมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมถึงต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาสำหรับอาชญากรรมอย่างการสังหารพลเรือนกว่า 80 รายโดยพลการและตามอำเภอใจในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ด้วย ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการใช้กองกำลังทหารอย่างเกินความจำเป็น มีการกักขังโดยพลการต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการทำให้หายสาบสูญ และยังมีระบบการประหัตประหารทางการเมืองที่ปฏิเสธเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและในการแสดงออกของพลเมือง รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง มีหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อที่ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ การใช้กองกำลังทหารในการปราบปรามกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ยังจัดเป็นการประทุษร้ายประชาชนพลเรือนอย่างเป็นระบบและเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกอีกด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่การโจมตีเช่นนี้ก็อาจจะเป็นเหตุเพียงพอให้ได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากเป็นการดำเนินการโดยรู้ถึงการกระทำนั้นภายใต้นโยบายที่ยอมให้เกิดหรือสนับสนุนให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตโดยไม่จำเป็น หรือเป็นนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อโจมตีกลุ่มทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าแผนต่อต้านคนเสื้อแดงที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 4 ปีนั้นกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันภายใต้นโยบายที่รับรองโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการสังหารหมู่คนเสื้อแดงที่เพิ่งผ่านมาก็เป็นเพียงการปฏิบัติตามนโยบายนโยบายดังกล่าวครั้งล่าสุดเท่านั้น

ท้ายที่สุด การสืบสวนเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในเดือนเมษายน- พฤษภาคมที่รัฐบาลตั้งใจจะทำนั้นปรากฏแล้วว่าทั้งไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลางตามที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ ในขณะที่ประเทศไทยอาจมีความผิดเพิ่มเติมกรณีการละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จากที่ไม่ดูแลให้มีการสืบสวนการสังหารหมู่อย่างเป็นธรรมและสมบูรณ์ การกดดันจากนานาชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อป้องกันความพยายามในการฟอกตัวเองจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่กำลังดำเนินอยู่ของรัฐบาล

ไม่เป็นที่ถกเถียงเลยว่าประเทศไทยควรจะก้าวให้พ้นความรุนแรง และดำเนินการให้เกิดความปรองดอง ทว่าความปรองดองนั้นจำเป็นต้องเริ่มด้วยการฟื้นคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นความปรองดองนี้ยังต้องการความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่กระทำไปเพื่อยับยั้งสิทธิในการปกครองตนเองนั้น กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าไม่อาจยอมรับสิ่งที่น้อยไปกว่านี้ได้

000

คำนำ

ในปี พ.ศ.2541 ผมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแท้ๆ ฉบับแรกของประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา รัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้มอบการเป็นตัวแทนอย่างแท้จริงในกระบวนการเลือกตั้งแก่มวลชนชาวไทยเป็นครั้งแรก ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมพยายามดำเนินโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ได้เสนอไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ว่า เสียงของพวกเขาได้รับการสดับรับฟัง นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมและแข็งแกร่ง

ในปี 2549 การรัฐประหารได้พรากสิทธิในการเลือกตั้งของเราไป อันทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจ และทำให้หลายคนลุกขึ้นมาต่อต้าน แต่แทนที่จะมีใครฟังเสียงของพวกเขา กลุ่มที่ล้มล้างรัฐบาลกลับพยายามที่จะกำจัดพวกเขา ความทะยานอยากของคนกลุ่มนี้เป็นอันตรายยิ่ง อีกทั้งยังรุกล้ำจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์

ต่อมาภายหลังผมได้ขอให้สำนักกฎหมาย Amsterdam และ Peroff ศึกษากรณีของการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553 ว่าเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ผมยังได้ขอให้สำนักกฎหมายศึกษาการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเบื้องหลังกลุ่มคนเสื้อแดง และศึกษานัยยะของเหตุการณ์เหล่านั้นภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โลกควรจะได้เข้าใจว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นกำลังถูกทำร้ายอยู่ในประเทศไทย

ภายใต้บริบทเช่นนั้น ผมเชื่อว่าจะเกิดการเลือกตั้งในไม่ช้า อย่างไรก็ตามหากการเลือกตั้งหมายถึงว่าจะมีการปรองดอง การเลือกตั้งเช่นนั้นจะต้องตอบโจทย์ข้อกังวลพื้นฐานที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างอำนาจประชาชนและการฟื้นฟูประเทศไทยให้เป็นรัฐประชาธิปไตยแบบที่ไม่กีดกันคนกลุ่มใด ในขณะเดียวกัน เราต้องปฏิเสธการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง การไม่กีดกันผู้ใดนั้นโดยนิยมแล้วก็คือภาวะที่เป็นสันติสุขนั่นเอง

(ลงชื่อ) ดร. ทักษิณ ชินวัตร

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker