บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นศ.ป.เอกฮาวาร์ดวิเคราะห์ "การเมืองไทย" ผ่านประวัติศาสตร์และโครงสร้างของ "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง"

ที่มา มติชน


"อาร์เนาด์ ดูบัส" ได้สัมภาษณ์ "เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ" นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ผู้กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ "มอเตอร์ไซค์รับจ้างและการเมืองในประเทศไทย" (ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีงานวิชาการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว) ลงในเว็บล็อกนิว มันดาลา (นวมณฑล) มติชนออนไลน์เห็นว่าบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตแปลสรุปความบางส่วนของบทสัมภาษณ์และนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้


ระบบโครงสร้างของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง


ระบบโครงสร้างของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับกลุ่มย่อยและระดับโครงสร้างใหญ่ ในปี 2548 จากผลของนโยบายจัดระเบียบจักรยานยนต์รับจ้างสมัยรัฐบาลทักษิณ นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีความเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


ก่อนหน้านั้น แต่ละวินมอเตอร์ไซค์จะมีระบบจัดการที่เป็นอิสระจากกัน และมีมาเฟียหรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นคอยควบคุมวินแต่ละแห่ง โดยมากผู้มีอิทธิพลเหล่านั้นจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทั้งนี้ คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกคนจะต้องจ่ายค่าเช่าเสื้อกั๊กประจำวินและค่าใช้พื้นที่ให้แก่ผู้มีอิทธิพลดังกล่าวเป็นรายวัน


ปัญหาสำคัญในระบบดังกล่าวก็คือคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีอิทธิพลประจำวินอยู่ตลอดเวลาแม้พวกเขาจะทำงานหรือไม่ก็ตาม


คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด ในแต่ละปี พวกเขาจะมีช่วงเวลาที่ต้องเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อไปเก็บเกี่ยวข้าวหรือทำงานด้านกสิกรรมอื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ก่อนหน้าปี 2548 พวกเขาต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้มีอิทธิพลประจำวิน แม้แต่ในช่วงเวลาที่ไม่ได้รับจ้างขับมอเตอร์ไซค์ แต่เมื่อรัฐบาลทักษิณออกนโยบายใหม่ กำหนดให้ผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกคนต้องไปลงทะเบียนและรับเสื้อกั๊กสีส้มฟรีจากสำนักงานเขตทั่วกทม. หลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป


ในทางทฤษฎี ถือว่าทักษิณได้ตัดขาดอิทธิพลของมาเฟียในแต่ละท้องถิ่นออกจากระบบโครงสร้างของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (แต่ในบางกรณี คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ไปรับแจกเสื้อกั๊กจากทางสำนักงานเขตก็นำเสื้อเหล่านั้นไปขายให้แก่ผู้มีอิทธิพลซึ่งควบคุมวินอยู่ดีก่อนที่มาเฟียเหล่านั้นจะนำเสื้อกั๊กสีส้มไปปล่อยให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รายอื่นๆ เช่าต่อ)


อย่างไรก็ตาม มิอาจปฏิเสธได้ว่าการที่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ได้ส่งผลให้พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยผู้มีอิทธิพลประจำท้องถิ่นบ้างไม่มากก็น้อย


สำหรับพื้นที่ที่มีลูกค้าไม่มาก วินมอเตอร์ไซค์กลุ่มเล็ก ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นและจัดองค์กรกันได้เอง โดยจะมี "หัวหน้าวิน" ซึ่งเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์เช่นกัน คอยจัดระบบระเบียบการทำงาน ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในวิน วินแบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันและมีเสถียรภาพมากกว่า เพราะคนขับทั้งหมดจะเป็นเพื่อนกัน มาจากหมู่บ้านชนบทเดียวกัน และรู้จักครอบครัวของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างดี


ขณะที่สำหรับวินกลุ่มใหญ่แล้ว พวกเขาจะมีหัวหน้าสูงสุดซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หัวหน้าเหล่านี้ทำงานให้กับผู้มีอิทธิพล และจะเดินทางมาเก็บเงินค่าเช่าเสื้อกั๊กจากบรรดาคนขับมอเตอร์ไซค์ที่วินอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างในวินขนาดใหญ่จะมีการเปลี่ยนหน้าตากันอยู่ตลอดเวลา


ทักษิณกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง


แต่นโยบายที่เข้ามาจัดระเบียบจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อตัดอิทธิพลของเหล่ามาเฟียออกไปก็ไม่ได้เป็นเพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้ทักษิณได้รับความนิยมจากคนขับมอเตอร์ไซค์เหล่านี้


ตามความเห็นของโซปรานเซ็ตติ เหตุผลประการแรกที่ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีความนิยมในตัวทักษิณ ก็เพราะพวกเขาส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากภาคอีสาน จึงมีโอกาสได้เห็นการผลิดอกออกผลของนโยบายต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลทักษิณ


หลายคนเชื่อว่าคนอีสานขายเสียงของตนเองให้แก่ทักษิณ แต่ถ้าหากคุณได้ลองไปพูดคุยกับพวกเขาแล้ว สิ่งที่ทำให้พวกเขาชื่นชมรัฐบาลทักษิณก็คือเรื่องนโยบายและการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำโซปรานเซ็ตติเดินทางไปภาคอีสานกับเพื่อนของเขาคนหนึ่งที่เป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งเดินทางกลับบ้านเกิด


หมู่บ้านแห่งนั้นมีประมาณ100 ครัวเรือน และเพื่อนคนดังกล่าวก็บอกกับนักศึกษาปริญญาเอกจากฮาวาร์ดว่า มีแค่สองสิ่งเท่านั้นที่ได้รับการพัฒนาในหมู่บ้านแห่งนี้ สิ่งแรกคือ "โรงเรียน" ที่ถูกสร้างโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่สองคือ "ถนนแอสฟัลท์" ซึ่งสร้างด้วยเงินจากกองทุนหมู่บ้านในสมัยรัฐบาลทักษิณ


"นี่คือโอกาสสองครั้งในชีวิต ที่ผมได้เผชิญหน้ากับรัฐไทย" ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างลูกอีสานรายนี้กล่าว


นอกจากนั้น กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างยังรู้สึกว่าตนเองเป็นหนึ่งในคนกลุ่มหลักที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากการบริหารงานของทักษิณคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องกลับไปทำนาในฤดูเก็บเกี่ยว ดังนั้น พวกเขาจึงใช้ชีวิตอยู่ทั้งใน "เมือง" และ "ชนบท" และกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์สองทางจากนโยบายเพื่อคนจนเมืองและคนชนบทของทักษิณ


คล้ายกันกับเหตุผลซึ่งทำให้คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่ให้ความสนใจและชอบแสดงความเห็นทางการเมืองก็เป็นเพราะพวกเขาคือหนึ่งในกลุ่มคนไม่กี่กลุ่มของประเทศซึ่งได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ใน "สังคมไทยสองมิติ" คือ ทั้งเมืองและชนบท อีกทั้งพวกเขายังไม่ได้สัมผัสกับมิติทั้งสองในช่วงชีวิตที่แตกต่างกัน (เช่น ตอนเด็กอยู่ในชนบท แต่ในวัยทำงานจนแก่เฒ่าเข้ามาลงหลักปักฐานในเมือง) หากแต่ต้องไป ๆ มา ๆ ระหว่างเมืองกับชนบทอยู่ตลอดเวลา ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างคนเมืองกับคนชนบท และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม เป็นอย่างดี


มอเตอร์ไซค์รับจ้างกับการเมือง (จากพฤษภาคม 2535 ถึงเสื้อแดง)


คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ประกอบอาชีพนี้อย่างถาวรมักมีแนวโน้มที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและหลายคนก็ร่วมเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม2535


น่าสนใจที่ว่า แม้เหตุการณ์เคลื่อนไหวเดือนพฤษภามักจะถูกมองว่าเป็นการลุกตื่นจากความหลับใหลของเหล่าคนชั้นกลางแต่ผู้ประท้วงในเหตุการณ์ครั้งนั้นจำนวนมากกลับมาจากย่านคลองเตยและกลุ่มที่หัวรุนแรงที่สุดก็คือบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง


เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มักจะเข้ามามีบทบาทกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วย อย่างไรก็ตาม พวกเขาหลายคนมีมุมมองต่อการเข้าร่วมเคลื่อนไหวทั้งสองครั้งอย่างแตกต่างกัน กล่าวคือ ในปี 2535 พวกเขาคือคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถูกว่าจ้างให้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งโดยนักการเมืองกลุ่มหนึ่งแต่ในการเคลื่อนไหวครั้งปัจจุบันพวกเขาไม่ได้เข้าไปมีบทบาทต่อเหตุการณ์โดยตรง นอกจากนั้น พวกเขายังสามารถระดมพลจัดตั้งกลุ่มของตนเองมาร่วมชุมนุม โดยไม่ต้องมีนักการเมืองมาข้องเกี่ยว


ในการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มเสื้อแดง บรรดาคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะไม่ยอมนำพาตัวเองเข้าไปยังจุดเสี่ยง พวกเขามีกลยุทธ์ว่าจะไม่ยอมออกไป ถ้าไม่ชนะ นอกจากนี้ พวกเขายังมีวิธีคิดแบบสหภาพแรงงาน คือ คิดว่าการร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้จะส่งผลดีอย่างไรต่อผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง กระทั่ง มีคนขับมอเตอร์ไซค์รายหนึ่งกล่าวกับโซปรานเซ็ตติว่า "พวกเราไม่ใช่เสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง แต่เราคือพวกเสื้อส้ม"


ดังจะเห็นได้จากการที่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างบางกลุ่มสามารถแปรพักตร์จากคนเสื้อแดงหากเขาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลโซปรานเซ็ตติยกตัวอย่างวินมอเตอร์ไซค์กลุ่มหนึ่งจากสมุทรปราการ ซึ่งก่อนปี 2548 พวกเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายตำรวจท้องถิ่นรายหนึ่ง แต่หลังจากนโยบายจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างของทักษิณ วินดังกล่าวก็ตัดสินใจปลดแอกตนเองจากนายตำรวจรายนั้น สองปีต่อมา นายตำรวจคนดังกล่าวได้กลับมาจับธุรกิจมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกครั้ง โดยตั้งวินนอกกฎหมายกลุ่มใหม่ขึ้นมาสองกลุ่มตรงปากซอยกับหน้าตลาด ขณะที่วินกลุ่มเดิมซึ่งพยายามปลดแอกจากตำรวจคนนี้รวมกลุ่มกันอยู่ตรงกลางซอย ส่งผลให้วินใหม่ของนายตำรวจได้แย่งชิงลูกค้าจากวินเดิมไปหมด


เมื่อปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะทำการร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐในท้องที่แล้ว วินกลุ่มนี้จึงตัดสินใจเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดง กระทั่งเจ้าหน้าที่ทหารได้เรียกพวกเขาไปพูดคุยภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกล่าวว่า กองทัพไม่ต้องการให้พวกเขาสวมเสื้อวินไปร่วมชุมนุม พวกเขาสามารถไปร่วมชุมนุมได้ แต่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งไม่ใช่ในฐานะคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มวินจากสมุทรปราการจึงทำการต่อรอง โดยเล่าถึงปัญหาที่พวกเขากำลังประสบให้กองทัพได้รับฟังและขอความช่วยเหลือ จากนั้น อีกไม่นานนัก วินนอกกฎหมายสองกลุ่มที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแย่งลูกค้าจากพวกเขาก็ถูกปิดลงจากการเข้าไปมีบทบาทไกล่เกลี่ยของทหาร วินจากสมุทรปราการจึงกลับไปทำงานเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างของตนเองตามเดิม


มอเตอร์ไซค์รับจ้างกับความรุนแรง


จากการทำงานภาคสนาม โซปรานเซ็ตติไม่เห็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างรายใดที่ติดอาวุธในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมาและก่อนหน้าวันที่19 พฤษภาคม เขาก็เห็นเพียงแค่ชายสองคนที่วิ่งไปโดยมีอาวุธปืนอยู่ในมือ ทั้งนี้ เขายอมรับว่าตนเองไม่ได้ทำงานภาคสนามในพื้นที่ที่มีการปะทะมากนัก


อย่างไรก็ตาม นักศึกษาฮาวาร์ดรายนี้ได้เข้าไปในชุมชนบ่อนไก่อยู่บ่อยครั้งในระหว่างเหตุปะทะ และก็มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งที่ทำการเผายางรถยนต์ในบริเวณดังกล่าว ส่วนมากของผู้ประท้วงกลุ่มดังกล่าวก็คือคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากย่านคลองเตย โซปรานเซ็ตติไม่คิดว่าพวกเขาจะได้รับการจัดตั้งและถูกส่งมาป่วนสถานการณ์โดยมีบางคนอยู่เบื้องหลัง แต่คนขับขี่มอเตอร์ไซค์กลุ่มนี้เป็นผู้สนับสนุนการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง และพวกเขายังขึ้นชื่อในเรื่องความใจร้อนอยู่แล้วด้วย


มอเตอร์ไซค์รับจ้างรับเงินใครมาร่วมชุมนุม?


แน่นอนว่ามีมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลุ่มหนึ่งได้รับเงินค่าจ้างเมื่อพวกเขาเดินทางมาบริเวณสถานที่ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงแต่เป็นเพราะพวกเขามารับจ้างทำงานเป็นการ์ดเสื้อแดงนั่นเองดังนั้น จึงเป็นเรื่องเหมาะสมแล้ว ที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานของตนเอง


แต่โซปรานเซ็ตติไม่คิดว่าจะมีคนขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างรายใดที่มาชุมนุมเพราะได้เงินค่าจ้างแม้จะมีผู้บอกว่าคนกลุ่มนี้ได้รับค่าจ้างให้มาชุมนุมรายละ 200 บาท แต่เงินดังกล่าวก็ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยต่อวันของมอเตอร์ไซค์รับจ้างเสียอีก เพราะผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อยู่ในจุดดี ๆ จะได้รับรายได้ประมาณ 400-500 บาทต่อวัน หรือเดือนละประมาณ 10,000-15,000 บาท


ปัญหาสำคัญที่คนกลุ่มนี้มาร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงจึงเป็นเรื่องนโยบาย ซึ่งพวกเขาชื่นชมนโยบายของรัฐบาลทักษิณ แต่รู้สึกตรงกันข้ามกับนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มีนโยบายมอบเงิน 2,000 บาทแก่คนยากจน ทว่ารัฐบาลกลับไปกำหนดว่าผู้ที่จะได้รับเงินก้อนดังกล่าว คือ ผู้มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเงินเดือน


นโยบายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่เข้าใจว่าความยากจนมีความหมายอย่างไร เพราะรัฐบาลได้ตัดกลุ่มยากจนอย่างแท้จริงออกไปจากระบบ ด้วยการมอบเงินช่วยเหลือให้แก่กลุ่มคนที่ไม่ได้ยากจนจริง ๆ แทน


คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงสามารถจะจำแนกแยกแยะความแตกต่างทางด้านนโยบายของรัฐบาลทักษิณกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ด้วยนิยามความหมายที่รัฐบาลชุดหลังมอบให้แก่คำว่า"ความยากจน"


คุณูปการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อสังคมกรุงเทพฯ


น่าแปลกใจที่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจำนวนมากมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับ"ชนชั้นสูง"ในกทม. โซปรานเซ็นติเปรียบเทียบว่า ถ้าเขาเป็นคนรวยในนครหลวงของประเทศไทย คนรับใช้ของเขาจะต้องเดินทางไปจ่ายตลาดโดยพึ่งพามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ถ้าเขาเปิดบริษัทของตนเอง ก็จะต้องมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งเอกสารให้เขา ดังนั้น เขาจึงจำเป็นต้องรู้จักและเชื่อใจในผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เขาและคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่างต้องตระหนักว่าตนเองมีสถานะเป็น "เพื่อน" ของกันและกัน จนบ่อยครั้ง ที่ผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้เข้าไปขอรับความช่วยเหลือจากคนที่ตนเองเรียกว่า "ผู้ใหญ่"


จึงอาจกล่าวได้ว่า มอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ตัดผ่านโครงสร้างชนชั้นในสังคม เพราะพวกเขามีหน้าที่ให้บริการกลุ่มคนหลากชนชั้น พวกเขารู้จักทั้งตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และคนรวยชั้นสูง


อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งกลับมีมุมมองของคนกรุงที่เห็นว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างคือภาพลักษณ์ของความไม่ปลอดภัยความอันตรายพวกขี้เมา แม้เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงในบางกรณี แต่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมดก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นเช่นนั้นไปเสียทุกคน


มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงดำรงอยู่ท่ามกลาง "ความแตกร้าว" หลายประการ ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างพยายามสอดส่ายหาพื้นที่บนท้องถนนซึ่งไร้พื้นที่สำหรับยานพาหนะของพวกเขา พวกเขาตัดข้ามผ่านชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม พวกเขาวิ่งอยู่ระหว่างอาคารสถานที่ต่าง ๆ และ พวกเขาวิ่งอยู่ระหว่างรถยนต์จำนวนมากในมหานคร


คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทั้งศูนย์กลางและชายขอบของมหานครแห่งนี้คนกรุงเทพฯต้องใช้บริการของพวกเขาในทุกวันปัจจุบัน มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ประมาณ 200,000 คันในกทม. แต่ละคันวิ่งรับส่งผู้โดยสารประมาณ 20 เที่ยวต่อวัน โดยรวมแล้วมีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งรับส่งผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านเที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากมายมหาศาลยิ่งกว่าการนำจำนวนเที่ยวของรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินมารวมกันเสียอีก


ในช่วงสงครามเวียดนามผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯได้เข้ามาช่วยวางแผนพัฒนาผังเมืองกรุงเทพมหานครแผนการแรกของพวกเขาก็คือการเปลี่ยนกทม.ให้กลายเป็นมหานครที่ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก นำไปสู่การตัดถนนกันอย่างมากมาย แต่เมื่อถนนเหล่านั้นต้องมาเผชิญหน้ากับตรอกซอกซอยเล็ก ๆ จำนวนมากทั่วกรุงเทพฯ ก็ส่งผลให้ระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างเท่านั้นที่จะเป็นพาหนะซึ่งสามารถนำคุณออกจากบ้านไปสู่ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า และสถานที่ทำงาน ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว


หากปราศจากคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นมหานครอันหยุดนิ่ง ผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างรายหนึ่งกล่าวกับโซปรานเซ็ตติว่า "ถ้าคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมดตัดสินใจหยุดงานพร้อมกันหนึ่งวัน กทม.ก็จะกลายเป็นอัมพาตทันที"


นี่คืออำนาจต่อรองอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มคนที่เป็นชายขอบของเมืองหลวง และมักจะถูกมองเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของภูมิทัศน์ประจำมหานครเท่านั้น

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker