การฟอกเงิน (Money laundering) คือ การกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตั้งแต่ การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน
กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน...มีการกำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย
“การฟอกเงิน” มักจะเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับรายการทางการเงินที่ปกปิดแหล่งที่มาหรือปลายทางของเงินที่ได้มาหรือนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
รายการทางการเงินหรือ ธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเกี่ยวกับคำว่า “ธุรกรรม” และ “ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย” มีความหมายในทางกฎหมายไว้ดังนี้
“ธุรกรรม” หมายความว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญาหรือการดำเนินการใด ๆ กับผู้อื่น ทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
“ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย” ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง หมายความว่า...
- ธุรกรรมที่มีความซับซ้อนผิดไปจากธุรกรรมในลักษณะเดียวกันที่ทำกันอยู่ตามปกติ
- ธุรกรรมที่ขาดความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ
- ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือ
- ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน
บทความวันนี้ เขียนถึงการฟอกเงินและธุรกรรมที่ควรสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงิน เพราะว่า...เห็นเจ้าหน้าที่บางคน ไม่รู้ว่าแกล้งโง่หรือไม่ ที่กล่าวถึงธุรกรรมบางเรื่องบางตอนว่าไม่มีความผิดปกติใด ๆ
เรื่องดังกล่าว เป็นกรณีที่บริษัทใหญ่ทำธุรกรรมเป็นสัญญาจ้างบริษัทเล็กให้ทำงานบริการแบบหนึ่ง โดยบริษัทเล็กนั้นมิได้ทำงานตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด
การตรวจสอบพบว่า...บริษัทใหญ่จ่ายค่าจ้างหลายร้อยล้านบาท โดยมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และจ่ายเป็นเช็คเข้าบัญชีบริษัทเล็ก
เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าก็รีบเชื่อว่า มีการจ่ายเงินจริง และดันแกล้งเชื่อต่อไปว่า คงจะมีการจ้างจริงตามไปด้วย
แต่บริษัทเล็กได้นำเงินที่รับมาไปจ่ายต่อ (น่าเชื่อว่าเป็นการฟอกเงิน) โดยไม่มีต้นทุนตามสัญญาจ้างเกิดขึ้นจริง
เพราะตรวจพบว่า...มีการเบิกเงินสดไปชำระ และหาบิลมาลงบัญชีเป็นหลักฐานการเบิกเงินสดออกไป
ความแตก!! เพราะบริษัทเล็กถูกจับได้ว่าใช้ใบกำกับภาษีปลอม เลยถูกประเมินภาษีย้อนหลัง
บริษัทเล็กจึงไปเรียกร้องให้ผู้รับเงินช่วยเหลือ แต่ผู้รับเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองมิยอมตัดไฟแต่ต้นลมหรือตัดตอนใดๆ เพื่อให้เรื่องเงียบลง
คราวซวยก็เลยมาถึงพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพราะบริษัทเล็กนั้นไม่ยอมตายคนเดียวไปร้องต่อหน่วยงานรัฐจนเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการยุบพรรคการเมือง
“ตัดตอน” คงเป็นคำที่นึกขึ้นได้ภายหลัง ตั้งแต่พยายามสู้ด้วยข้อกฎหมาย สู้โดยกล่าวหาการสร้างพยานหลักฐานเท็จ และมาสู้ในวิธีสุดท้าย คือ เป่าคดีต้นทาง
“เป่าคดี” ด้วยการแถลงว่า การจ่ายเงินจากบริษัทใหญ่ครบถ้วนถูกต้อง มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ จึงเชื่อว่า ผลที่ตามมาไม่มีการฟอกเงิน เรื่องไม่มีมูล ยกคำร้อง
ง่ายไปไหมครับ ?? พ่อแม่พี่น้องที่รักความเป็นธรรมทั้งหลาย
ในเมื่อกฎหมายฟอกเงินก็อธิบายชัดอยู่แล้วว่า..การฟอกเงินคืออะไร ถ้าใครบางคนจะแกล้งไม่เข้าใจหรือแกล้งโง่ ก็อย่าคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเชื่อตามไปด้วย
งานนี้คงต้องตามต่อไปว่า...จะมีไอ้โม่งที่ไหนมาสั่งให้ใครบางคนที่รับเรื่องมาต้องแกล้งโง่ไม่รู้จักการฟอกเงินอีกหรือไม่?!