นั่นคือการเลือกตั้งซ่อมเขต 6 แทนนายทิวา เงินยวง แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่หนองจอก คลองสามวา คันนายาว บึงกุ่ม ในวันอาทิตย์ 25 กรกฎาคมนี้
พรรคประชาธิปัตย์ลงป้องกัน แชมป์ในฐานะเจ้าของพื้นที่เดิม ด้วยสภาพไม่ค่อยสมบูรณ์นัก โดยส่งนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประ เทศ ลงสมัครส.ส.เป็นครั้งแรก ได้หมายเลข 1
ส่วนพรรคเพื่อไทย ส่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำเสื้อแดง ที่ยังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ลงแข่งขัน ศาลอนุญาตให้ออกจากเรือนจำมายื่นใบสมัคร ได้หมาย เลข 4
ยังมีผู้สมัครอื่นๆ อีก 4 คน ได้แก่ นายนพดล ชัยฤทธิ์เดช พรรคชาติสามัคคี หมายเลข 2, นายอนุสรณ์ สมอ่อน พรรคความหวังใหม่ หมาย เลข 3, นายชูชาติ พิมกา พรรคแทนคุณแผ่นดิน หมายเลข 5 และนาย กิจณพัฒน์ สามสีลา พรรคประชาธรรม หมายเลข 6
ไฮไลต์ของการเลือกตั้งอยู่ที่การต่อสู้ระหว่างเบอร์ 1 และเบอร์ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน ผสมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.
โพลของหน่วยงานต่างๆ บ่งบอก ว่านายพนิช ผู้สมัครรัฐบาลเป็นฝ่ายได้เปรียบ
เนื่องจากเป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ และนายพนิชออกพบปะประชาชน เคลื่อนไหวหาเสียงได้สะดวกกว่านายก่อแก้วที่ถูกควบคุมตัวอยู่
แต่ก็มีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย จากความขัดแย้งในพรรค ที่มีบางสายสนับสนุนให้ส่งทายาทเบียร์สิงห์ลงสมัคร ก่อนที่หวยจะมาออกที่นายพนิช ด้วยการสนับสนุนของนายอภิสิทธิ์
ส่วนหัวหน้าพรรคคือนายอภิสิทธิ์ มาช่วยเดินหาเสียงอยู่ครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง เนื่องจากเกรงปัญหาความปลอดภัยจากคนเสื้อแดง
ทางด้านนายก่อแก้วแม้จะมีข้อจำกัดในการหาเสียงมากกว่านายพนิช
แต่ข้อจำกัดดังกล่าวก็ทำให้โกยคะแนนสงสารไปไม่น้อย
พื้นที่เลือกตั้ง ซึ่งเป็นรอบนอกกรุงเทพฯ ยังเป็นพื้นที่ของคนเสื้อแดงอีกด้วย
จึงเห็นความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง สนับสนุนหาคะแนนเสียงให้นายก่อแก้วอย่างคึกคัก
การปราศรัยหาเสียงแต่ละครั้ง มีการนัดแนะคนเสื้อแดงให้ชักชวนญาติมิตรเพื่อนฝูงไปร่วมฟัง
ล่าสุด ผลสำรวจของหน่วยราชการแห่งหนึ่งระบุว่า นายก่อแก้วทำคะแนนไล่จี้นายพนิชขึ้นมาแล้ว
โดยนัยหนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการวัดประชามติในพื้นที่หนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วม 3.8 แสนคน
เป็นกลุ่มความเห็นที่มองข้ามไม่ได้
ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงคะแนน จะไม่ได้มาจากคุณสมบัติของผู้สมัครแต่เพียงอย่างเดียว
แต่จะมาจากความคิดความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย
รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางผ่านเหตุการณ์สลายม็อบที่มีผู้เสียชีวิต 90 ราย บาดเจ็บนับพันคน
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ มาปฏิรูปการเมือง สร้างความปรองดองสมานฉันท์
เรียกเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ว่าเป็นการ"ซื้อเวลา" สร้างเงื่อนไขให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไป
แต่การ"ซื้อเวลา"ด้วยวิธีการนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นนัก
คณะกรรมการชุดหนึ่งในแพ็กเกจเดียวกันนี้ คือคณะกรรมการปฏิรูปหรือครป.ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เพิ่งออกมาประกาศฉันทามติของกรรมการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมาให้รัฐบาลใช้มาตรการทางการเมืองแก้ไขสถานการณ์ความแตกร้าวและสร้างความปรองดอง
ด้วยการยกเลิกการใช้พ.ร.ก.การ บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว
คำตอบจากนายกฯอภิสิทธิ์ ก็คือจะทยอยเลิก ตามข้อเสนอของฝ่ายความมั่นคง
เท่ากับปฏิเสธข้อเสนอของกรรมการชุดนี้
เป็นข้อขัดแย้งล่าสุดจากความขัดแย้งแตกต่างมากมายที่รัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง
ยังมีปัญหารุมเร้าอีกหลายด้าน ตั้งแต่ที่มาของรัฐบาลที่พึ่งพากลุ่มอำนาจจนเกินเลย การบดขยี้ศัตรูทางการเมืองผ่านกลไกราชการจนกล่าวกันว่าเป็นระบบสองมาตร ฐาน
การบริหารงานและแก้ปัญหาไม่ทันสถานการณ์
จนนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน
ขณะที่ฝ่ายค้านเองก็ไม่ใช่โจทก์ที่ผุดผ่องไร้มลทิน
และมีสถานะเป็นจำเลยร่วมของสถานการณ์สลายม็อบเช่นกัน
ขณะที่รัฐบาลแก้ตัวไม่ตก และเป็นจำเลยจากข้อหาใช้กองกำลังติดอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม
พรรคเพื่อไทยก็เจอข้อหาเคลื่อนไหวเพื่ออดีตนายกรัฐมน ตรีเป็นหลัก โดยไม่พยายามนำพาประชาชนออกจากสภาพเสี่ยงอันตราย
จนเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หลังเหตุการณ์ สองฝ่ายต่างอ้างประชาชนว่ายืนอยู่ข้างตนเอง กล่าวหาและเรียกร้องให้อีกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบ
ทำให้ความแตกร้าวยิ่งขยายใหญ่ และไม่มีใครที่ได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือพอที่จะมาเป็น"คนกลาง"ตัดสินถูกผิด
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต 6 จึงเป็นคนกลางตัวจริงกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ที่จะมาช่วยเคลียร์ภาพให้เห็นชัดขึ้นว่าประชาชนคิดอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผลการลงคะแนนที่จะออกมาในคืนวันนี้ จะไม่ใช่คำตอบสำเร็จ รูป
และอาจเป็นไปตามสูตรเดิมๆ ที่สองฝ่ายจะโต้แย้ง ตีความเพื่อให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตัวเองมากที่สุด
ขัดแย้งยืดเยื้อกันต่อไป ก่อนจะไปตัดสินในการเลือกตั้งใหญ่ในที่สุด