บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

ไม่อาว..ไม่พูด “112”

ที่มา โลกวันนี้

โดย bozo



“การมีบทบัญญัติคุ้มครองเกียรติของบุคคล
ในตำแหน่งประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปรกติแต่อย่างใด
บทบัญญัติที่คุ้มครองประมุขของรัฐไว้เป็นพิเศษนี้มีปรากฏเช่นกัน
แม้ในประเทศที่มีรูปของรัฐเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตาม การบัญญัติคุ้มครองพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้
เท่ากับประมุขของรัฐ ทั้งๆที่บุคคลในตำแหน่งดังกล่าวไม่ใช่ประมุขของรัฐ
และได้รับความคุ้มครองตามหลักทั่วไปอยู่แล้ว ย่อมหาเหตุผลรองรับได้ยาก”

แถลงการณ์นิติราษฎร์ ฉบับที่ 16 ในเว็บไซต์ “นิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร”
โดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้ให้เหตุผลถึง “ปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์”
ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์จะมีการจัดอภิปรายเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
ในวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม เวลา 13.00-15.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนและเปลี่ยนวิทยากร
ที่จะมาเสวนาเป็นนักวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์ทั้งหมดคือ
นายวรเจตน์
นายธีระ สุธีวรางกูร
นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ
นางสาวสาวตรี สุขศรี

การจัดเสวนาดังกล่าวจะมีแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์
ที่เป็นข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น
รณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นรู้ในกฎหมายหมิ่นฯด้วย

อัตราโทษสูงเกินไป

นายวรเจตน์กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องพูดถึงมาตรา 112 ว่า
เพราะในห้วงเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น
หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท
หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เริ่มได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้
ไม่ใช่เพียงเพราะสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า
กระทำความผิดฐานนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และในหลายกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาเท่านั้น
แต่เพราะความลึกลับของการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในลักษณะเช่นนี้
ประกอบกับความพยายามของหน่วยงานของรัฐที่เริ่มให้ความหมายใหม่ของความผิดฐานนี้ว่า
เป็นความผิดฐานล้มเจ้าด้วย จึงทำให้สาธารณชนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ออกมาเคลื่อนไหว
รณรงค์ให้ยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เริ่มอึกทึกกึกก้องดำเนินคู่ขนานไปกับความเงียบงันของแวดวงวิชาการนิติศาสตร์
เหมือนกับเรื่องครึกโครมอื้อฉาวอีกหลายเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในห้วงเวลาที่ผ่านมา

โดยเฉพาะปัญหาอัตราโทษของมาตรา 112 ที่ปัจจุบันกำหนดโทษจำคุก 3-15 ปี
ซึ่งเป็นโทษที่ได้รับการกำหนดขึ้นโดยขาดความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย
เพราะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
โดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 23 ตุลาคม 2519
(หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา) เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับความผิดฐานหมิ่น
พระบรมเดชานุภาพตามพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วย
การพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ. 118 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมาย
ที่บัญญัติในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว พบว่า
โทษหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าซึ่งดำรงสยาม รัฐมณฑลนั้น
มีโทษจำคุกไม่เกินกว่า 3 ปี
หรือให้ปรับเป็นเงินไม่เกินกว่า 1,500 บาท
หรือทั้งจำและปรับ

แม้แต่ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2500 โทษตามมาตรา 112 คือ
โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และไม่มีการกำหนดโทษขั้นต่ำไว้ จึงกล่าวได้ว่า
อัตราโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายปัจจุบัน
ขาดความสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุอย่างสิ้นเชิง

ตำนานปรีดี พนมยงค์

“นักปรัชญาชายขอบ” เขียนบทความ “ม.112 ขัดต่อหลักความยุติธรรมอย่างไร?”
ในเว็บไซต์ประชาไท ตั้งประเด็นว่า
“มองจากหลักความยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยหรือหลักการ
“พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรม” มาตรา 112
และรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ย่อมสมควรถูกยกเลิกหรือแก้ไขปรับปรุง
ให้ไปกันได้กับหลักเสรีภาพและความเสมอภาค”
แม้เรื่องสถาบันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย
แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มาตรา 112 ได้ถูกนำไปเป็นข้ออ้าง
หรือเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบ กระเทือนต่อสถาบันและสิทธิเสรีภาพ
ที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร

บทความได้ยกข้อเขียนชื่อ “พลิกตำนาน-เบื้องลึก รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”
โดยอ้างถึงคำพูดของ “ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล” ทายาทลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 6 คน
ของ “ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์” ที่ระบุว่า

“ดุษฎี” เริ่มน้ำตาคลอเมื่อต้องพูดถึงความรู้สึกของผู้เป็นพ่อหลังเกิดกรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ว่า

“ทุกคนชอบถาม แต่คุณพ่อไม่เคยบอกอะไรกับลูก
หรือแม้แต่คุณแม่ คุณพ่อเคยพูดกับนักเรียนไทยในอังกฤษบอกว่า
ประวัติศาสตร์เมื่อถึงเวลาแล้วประวัติศาสตร์จะบอกเองว่าได้เกิดอะไร
นี่คุณพ่อพูดแค่นี้ คุณพ่อมีความดีอยู่อย่างคือไม่เคยใส่ร้ายใคร
คุณพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม
และเป็นคนไม่พูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีหลักฐาน ยืนยันไม่ใส่ร้ายใคร”

ยิ่งหากให้สรุปถึงเหตุการณ์ที่ “รัฐบุรุษอาวุโส” เคยเสียใจที่สุดนั้น
“ดุษฎี” พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า

“คุณพ่อไม่ได้พูด...แต่พวกเราพูด
แต่ละไว้ จุด จุด จุด บอกแล้วว่าไม่พูดย้อนหลัง พูดแต่ข้างหน้า”

สิทธิความเป็นมนุษย์!

บทความดังกล่าวยังถามต่อ “ความเป็นมนุษย์” ในแง่ที่ว่า
ทุกคนควรมีเสรีภาพในการพูดความจริงเพื่อปลดเปลื้องตนเองจากการเข้าใจผิดของสังคม
หรือจากการถูกลงโทษทางสังคม ฯลฯ ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่?

เพราะหากมองในมิติทางสังคมและการเมืองในสังคมเสรีประชาธิปไตยแล้ว
สังคมที่ยอมรับกฎหมายที่ขัดต่อหลักความยุติธรรมย่อมเป็นสังคม
ที่ยอมรับระบบอยุติธรรมต่อความเป็นมนุษย์นั่นเอง
เพราะสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายต้องบัญญัติบนหลักความยุติธรรมพื้นฐาน 2 ประการคือ
หลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชน
หรือประชาชนกับประชาชน

“นักปรัชญาชายขอบ” จึงเห็นด้วยที่คนเสื้อแดงจะรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112
รวมทั้งต้องการให้พรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุนมีวาระที่ชัดเจน
ในการรณรงค์เรื่องนี้ด้วย

กรณีกษัตริย์สเปน

การเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ยิ่งมีมากขึ้น
หลังจากเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้วินิจฉัย
คดี Otegi Mondragon v. Spain ซึ่งศาลยืนยันว่า
การที่ศาลภายในแห่งรัฐสเปนพิพากษาลงโทษบุคคล
ในความผิดฐานหมิ่น ประมาทกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส แห่งสเปนนั้นเป็นการละเมิดเสรีภาพ
ในการแสดงความคิดเห็นตามที่อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปรับรองไว้
ในมาตรา 10 ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปวรรคแรกที่บัญญัติว่า

“บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธินี้ประกอบด้วย
เสรีภาพในความคิดเห็น เสรีภาพในการรับหรือสื่อสารข้อมูลข่าวสาร
หรือความคิดโดยปราศจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐ...”
และวรรคสองบัญญัติว่า “การใช้เสรีภาพดังกล่าวซึ่งต้องประกอบด้วยหน้าที่
และความรับผิดอาจอยู่ภายใต้รูปแบบ เงื่อน ไข ข้อจำกัด
หรือการลงโทษตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งต้องเป็นมาตรการจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย
เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ
การบูรณาการดินแดน ความปลอดภัยสาธารณะ
การรักษาระเบียบ
การป้องกันอาชญากรรม การคุ้มครองสุขภาพและศีลธรรม
การคุ้มครองชื่อเสียงหรือสิทธิของบุคคลอื่น
เพื่อมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลลับ
หรือเพื่อประกันอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ”

โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนขอหมายศาล
เพื่อบุกเข้าไปสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Euskaldunon Egunkaria
เพื่อตรวจค้นและสั่งปิดหนังสือพิมพ์ เนื่องจากมีหลักฐานว่า
หนังสือพิมพ์นี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบาสก์ (ETA)
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังจับกุมกรรมการบริหารและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อีก 10 คน
หลังการคุมขังโดยลับผ่านไป 5 วัน มีการร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุมขังว่า
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังทั้ง 10 อย่างทารุณ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ กษัตริย์สเปนได้รับการเชื้อเชิญ
และต้อนรับจากหัวหน้ารัฐบาลของประชาคมปกครองตนเองบาสก์
ในพิธีเปิดโรงไฟฟ้า ณ เมือง Biscaye ในวันเดียวกันนั้น
นาย Arnaldo Otegi Mondragon โฆษกของกลุ่มชาตินิยมบาสก์ Sozialista Abertzaleak
ในสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงข่าวว่า
การเสด็จของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส นั้นน่าเวทนาและน่าสลดใจ
เขาเห็นว่าการที่หัวหน้ารัฐบาลของแคว้น บาสก์ไปร่วมงาน
เปิดโรงไฟฟ้ากับกษัตริย์สเปนนั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง
นับเป็น “นโยบายอันน่าละอายอย่างแท้จริง” และ “ภาพๆเดียวแทนคำพูดนับพัน”

นาย Otegi Mondragon ยังกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ที่บุกเข้าไปปิดสำนักพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ Eu-skaldunon Egunkaria
และจับกุมผู้ต้องหา 10 รายว่า “ผู้รับผิดชอบการทรมานผู้ต้องหา คือ
กษัตริย์นี่แหละ ที่ปกป้องการทรมาน และระบอบราชาธิปไตยของกษัตริย์
ได้บังคับประชาชนด้วยวิธีการทรมานและรุนแรง”

นาย Otegi Mondragon จึงถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาว่า
นาย Otegi Mondragon มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 490 วรรคสาม ต้องรับโทษจำคุก 1 ปี
นาย Otegi Mondragon จึงใช้ช่องทางร้องทุกข์ต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไปแต่ไม่สำเร็จ
เขายังไม่ยอมแพ้และเดินหน้าร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป จนมีคำตัดสินดังกล่าวว่า
เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน

อนาคตกษัตริย์ในยุโรป?

นายปิยบุตร แสงกนกกุล ให้ความเห็นถึงคำวินิจฉัย
ที่ว่ากฎหมายที่กำหนดความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับเสรีภาพในการแสดงออก
แต่รัฐธรรมนูญสเปนกำหนดให้กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด และไม่อาจถูกละเมิด
ไม่อาจกีดขวางการวิจารณ์กษัตริย์ เช่นนี้แล้วในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น
สเปนจะมีการผลักดันให้แก้ไขหรือยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่
ประเทศอื่นๆในยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขจะดำเนินการแก้ไข
หรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่

เพราะคดีนาย Otegi Mondragon มีความสำคัญต่อระบบกฎหมายและระบอบ
การเมืองการปกครองของประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์
ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญ หมุดหมายของประวัติศาสตร์
เนื่องจากศาลสิทธิมนุษยชนยอมรับว่าความผิดฐานหมิ่นประมาท
กษัตริย์ไม่ได้แตกต่างไปกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

ที่สำคัญคำวินิจฉัยอาจส่งผลสะเทือนถึงระบบรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตย
ที่มีกษัตริย์เป็นประมุขในยุโรปว่าในอนาคตบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองเป็นพิเศษ
แก่กษัตริย์จะเอาอย่างไรต่อไป คงเดิม ลดความเข้มข้น หรือยกเลิก?

อิงแอบสถาบัน?

โดยเฉพาะวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบันพบว่า
มีการดึงเอาสถาบันไปเกี่ยวโยงอย่างชัดเจน อย่างเอกสารของ “วิกิลีกส์” ที่เปิดเผย
โทรเลขของนายอีริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย
ที่ส่งรายงานไปยังกรุงวอชิงตัน ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2549,
1 ตุลาคม 2551, 6 พฤศจิกายน 2551, 25 มกราคม 2553
และมีการเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ “เดอะการ์เดี้ยน” ของอังกฤษ
เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งระบุชื่อบุคคลสำคัญคือ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรี และ
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี
ก็ทำให้การเมืองไทยสั่นสะเทือนอย่างมาก
เพราะมีเนื้อหาที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเมืองไทย
ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
รวมถึงการยึดโยงไปถึงสถาบันเบื้องสูงที่ถูกดึงมาใช้เป็นเครื่องมือและเงื่อนไข
ทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประชาชน
ที่มีความคิดเห็นตรงข้ามกับกลุ่มชนชั้นสูง

แม้แต่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
(Asian Human Rights Commission : AHCR) ยังได้กล่าวถึง
การละมิดสิทธิมนุษยชนในไทยในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม
แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ว่า
ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่มีอำนาจ
เยี่ยง “รัฐทหาร” ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการ
ในสถานการณ์ฉุกเฉินกล่าวหาและจับกุมแกนนำ นปช.
และคนเสื้อแดงในข้อหาก่อการร้ายและล้มเจ้า
โดยอ้างแผนผังที่ทำขึ้นมา และเหยื่อหนึ่งในนั้นคือ
“ดา ตอร์ปิโด” หรือ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ที่ถูกตัดสินจำคุก 18 ปี

ขณะที่ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯก็มีอีกหลายคน แม้แต่ชาวต่างชาติ รวมทั้งล่าสุดคือ
กรณีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 13 ปี
(อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)

รณรงค์ไม่เอา 112

เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับนายสุรชัย แซ่ด่าน หรือนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
แกนนำกลุ่มแดงสยาม ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112
ซึ่งนายสุรชัยประกาศว่าจะรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112
เพื่อเปลี่ยนแปลงสถาบันเบื้องสูงให้พ้นวังวนการเมือง

คำพูดของนายสุรชัยจึงเหมือนการปลุกกระแสให้กลุ่มที่เคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 112
กลับมาแพร่หลายอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่ม “ไม่เอา 112” ที่แพร่กระจายในสื่อออนไลน์เท่านั้น
แต่ยังทำให้วงการนักวิชาการตื่นตัวและรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างมากเช่นกัน

เนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
มีการใช้สถาบันเบื้องสูงเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมืองมาตลอด
ตั้งแต่รัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใส่ความ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม กิตติขจร
มักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศไทย
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ใส่ความนักศึกษาเล่นละครดูหมิ่นองค์รัชทายาท
หรือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็อ้าง พ.ต.ท.ทักษิณจาบจ้วงและคิดล้มล้างสถาบัน
(หาอ่านได้จากหนังสือ “ขบวนการลิ้มเจ้า” โดยทีมข่าวโลกวันนี้
ที่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง
ที่มีความพยายามอิงแอบ แนบชิด และบิดเบือน)
และเอาสถาบันเบื้องสูงมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามโดยใช้วาทกรรมบิดเบือนต่างๆ

ไม่เอา...ไม่พูด!

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่เคยแยกออกจากการเมืองไทยเลย
แล้วยังทำให้ประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม
ต้องปิดปากเหมือนคนเป็นใบ้ เพราะการครอบงำทางวัฒนธรรมอุดมการณ์
ที่ทำให้ทุกคนห้ามวิพากษ์วิจารณ์ แม้จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือ
เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มก็ตาม

โดยเฉพาะบุคคลทั้งปวงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ซึ่งนายวรเจตน์ระบุว่าจะต้องตีความให้สอด คล้องกับอุดมการณ์ของการปกครอง
ในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้และตีความ
เพื่อรับใช้อุดมการณ์ของการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว

การรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
จึงต้องยกเลิกตัวบทในปัจจุบันเพื่อสร้างตัวบทใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการ
ในทางรัฐธรรมนูญและในทางกฎหมายอาญา
ทั้งต้องยกเลิกอุดมการณ์ในการตีความตัวบทมาตรา 112 ที่ผ่านมาด้วย
ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอภิปรายถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ในทางรัฐธรรมนูญ
วิเคราะห์แยกแยะส่วนที่สอดคล้องและส่วนที่ขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
บังคับใช้ส่วนที่สอดคล้อง แก้ไขส่วนที่ขัดแย้ง
และกำหนดกฎเกณฑ์ให้สอดรับกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

การเปิดโลกทัศน์ให้มองเห็นความเป็นจริงในสังคม
จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการ “พูด” และ “สื่อสาร” ออกไปให้เห็น “ความจริง”

การ “ไม่พูด” หรือ “พูดไม่ได้” นอกจากจะเป็นอุปสรรคแล้ว
อาจก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยจนสร้างความเข้าใจผิดมาแทน
หรือเกิดความเชื่อใหม่ๆจากข้อมูลที่ผ่านวิธี“กระซิบ” อย่างคลุมเครือ

นิสัยคนไทยขนานแท้...
ถ้าเริ่มต้นด้วยประโยค “เรื่องนี้พูดไม่ได้...ห้ามพูด...อย่าไปบอกใคร?” นั่นหมายความว่า
เรื่องนั้นจะกลายเป็นหัวข้อฮิตในสังคมนินทา ที่กระจายไปอย่างรวดเร็วกว่าเชื้อโรค
หรือกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเสียอีก

การพูดเรื่อง “112” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงวิชาการ
จึงเป็นเรื่องที่สร้างคุณูปการต่อการดำรงอยู่ของทุกสถาบัน

“ชาติ” ประกอบด้วยสรรพสิ่ง หากขาด
ซึ่ง “ประชาชน” ย่อมมิอาจดำรงเป็นชาติได้ การเปิดปากเปิดใจของประชาชนในชาติ
จึงเป็นสิ่งที่ควรเปิดหูเปิดตารับรู้ และควรสนับสนุนมากกว่าปิดกั้น

“ตาสว่าง” ไม่จำเป็นต้อง “ปากสว่าง”

แต่จำเป็นต้อง “ใจสว่าง”...เพื่อเปิดทางรับแสงสว่างแห่งประชาธิปไตยที่สาดฉายไปในทุกแผ่นดิน!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 304 วันที่ 26 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16
คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน


http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10168

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker