ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาผ่านกฎหมายเรียงตามมาตรา ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย จนถึงมาตรา 17 ได้มีการสงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางใช้เวลานาน 5 ชั่วโมงเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากในการแก้ไข แต่ในซีกกรรมาธิการได้ยืนตามมติเสียงข้างมาก
จนกระทั่ง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุมซึ่งก่อนที่จะมีการขอลงมติในมาตรา17 ของร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.ซึ่งเกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย
จากนั้น พ.อ.อภิวันท์ ได้สั่งตรวจสอบองค์ประชุมให้สมาชิกแสดงตนก่อนลงคะแนนโดยครั้งแรกปรากฎว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 223 คนซึ่งไม่ครบองค์ประชุม แต่ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอขอให้มีการตรวจสอบนับองค์ประชุมอีกครั้ง อ้างว่าเนื่องจากมี ส.ส.จำนวนมากที่ติดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ กำลังเข้ามายังห้องประชุมเพื่อแสดงตน
ทั้งนี้พ.อ.อภิวันท์ ได้กล่าวย้ำว่าจะรออีก 3 นาที จากนั้นได้ขอให้ตรวจสอบองค์ประชุมอีกครั้ง ปรากฎว่าองค์ประชุมกลับเหลือจำนวน ส.ส.เพียง 218 คนเท่านั้น เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งจำนวน 237 คนจากสส.ทั้งหมด 474 คน เมื่อองค์ประชุมไม่ครบจึงทำให้องค์ประชุมล่มและทำให้ไม่สามารถลงมติมาตราดังกล่าวได้ ประธานจึงสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 15.15 น.
ก่อนหน้านี้ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ นายชัย ได้กล่าวระหว่างการประชุมก่อนที่องค์ประชุมจะล่มว่า ขอให้สส.ผู้เสนอคำแปรญัตติเห็นด้วยกับคำชี้แจงและการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ เพราะถ้าผู้เสนอคำแปรญัตติและ กมธ.ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้ต้องตัดสินด้วยเสียงของที่ประชุมซึ่งอาจจะมีผลให้องค์ประชุมต้องล่มอีกเพราะมีส.ส.จำนวนหนึ่งไม่ได้เข้าห้องประชุม
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าในวันที่ 1 เม.ย. ทางคณะกรรมการประสานงาน(วิป)พรรคร่วมรัฐบาล ได้ประสานขอให้นายชัย งดการประชุมสภาฯโดยอ้างว่ามี ส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งจะต้องลงพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม แต่นายชัยยังยืนยันจะกำหนดการประชุมตามเดิมเนื่องจากเป็นเพียงการพิจารณากระทู้ถามสด ซึ่งใช้องค์ประชุมเพียง 1 ใน 5 หรือเท่ากับ 95 คน เท่านั้น
สำหรับการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติในสัปดาห์นี้ได้ยุติลงกลางคันมาแล้วถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่การประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 มี.ค.และการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 30 มี.ค.และ ล่าสุดในวันที่ 31 มี.ค
มีรายงานจากรัฐสภาว่านายชัย ได้สั่งการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือเวียนแจ้งสมาชิกรัฐสภาถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 19 เม.ย. และ 26 เม.ย. ภายหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายรัฐมนตรี เตรียมประกาศยุบสภาในเดือนพ.ค. เพื่อเร่งพิจารณาเรื่องที่บรรจุอยู่ในระเบียบวาระรอการพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญา ตามมาตรา 190 จำนวน 18 เรื่อง
ในส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งกำหนดการประชุมเดือน เม.ย. ก่อนการยุบสภา เหลืออีก 8 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 7 เม.ย. ประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. วันที่ 8 เม.ย. เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดและรายงานที่เสนอต่อสภาตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด วันที่ 20 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. วันที่ 21 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. วันที่ 22 เม.ย. เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดและรายงานที่เสนอต่อสภาฯ วันที่ 27 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. วันที่ 28 เม.ย. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. และวันที่ 29 เม.ย. เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดและรายงานที่เสนอต่อสภาฯ