เป็นความจริงว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่บังคับความจงรักภักดี และปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริงเกี่ยวบทบาทของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็น “บุคคลสาธารณะ”
ที่ว่า “บังคับความจงรักภักดี” หมายความว่าโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” มีผลให้ประชาชนต้องเคารพสักการะหรือจงรักภักดีเท่านั้น ไม่มีเสรีภาพในการเลือกว่าจะเคารพสักการะหรือจงรักภักดีหรือไม่
ที่ว่า “ปิดกั้นเสรีภาพในการพูดความจริง” หมายความว่า ประชาชนต้องพูดหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ (พระราชินี รัชทายาท ฯลฯ) ในทางบวกเท่านั้น ไม่มีเสรีภาพในการเลือกที่จะพูดทั้งในทางบวกและทางลบแม้ว่าจะเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบสาธารณะก็ตาม
ฉะนั้น ม.8 และ ม.112 นอกจากจะขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยคือ หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญตามมาอีก 2 ประการ คือ ปัญหาทางญาณวิทยาและศีลธรรมภาคสาธารณะ
ปัญหาทางญาณวิทยา (epistemology) คือ ประชาชนไม่สามารถ “รู้” ความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้ เนื่องจากในทางญาณวิทยาการ รู้ความจริง หมายถึงการมีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุน (justification) แต่ ม.8 และ ม.112 กำหนดให้แสดงข้อพิสูจน์หรือเหตุผลสนับสนุน “เรื่องราว” ด้านบวกเพียงด้านเดียวเท่านั้น
การรับรู้ “เรื่องราวด้านเดียว” ยังไม่อาจตัดสินได้ว่าจริงหรือเท็จ เช่น (สมมติ) ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชมีการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวว่า พระมหากษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมโดยอ้างถึงพระราชกรณียกิจมากมายที่เป็นประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แต่ไม่อนุญาตให้มีการเสนอข้อเท็จจริงในด้านตรงกันข้าม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบหรือแสดงเหตุผลโต้แย้งว่า “เรื่องราวต่างๆ” นั้นมีปัญหา หรือมีข้อที่น่ากังขาอย่างไรบ้าง
เมื่อรับข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามได้ ประชาชนจึงไม่มีทางเปรียบเทียบตัดสินได้ว่า เรื่องราวด้านเดียวที่รับฟังมานั้นจริงหรือเท็จ หากมีการยืนยันว่าเป็นความจริง ก็ไม่ใช่การยืนยันจาก “ความรู้” ที่ผ่านการพิสูจน์หรือมีเหตุผลสนับสนุนชัดแจ้งแล้ว แต่เป็นการยืนยันจาก “ความเชื่อ” ที่หล่อหลอมสืบทอดต่อๆ กันมา
ในทางญาณวิทยา ความจริงที่ยืนยันจาก “ความเชื่อ” ที่หล่อหลอมสืบทอดต่อๆ กันมา เป็นความจริงที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือน้อยที่สุด (หรือไม่มีฐานะเป็น “ความจริง” เลย เป็นได้เพียง “ความเชื่อ” เท่านั้น)
ฉะนั้น ม.8 และ ม.112 จึงก่อให้เกิดปัญหาทางญาณวิทยาที่สำคัญคือ เป็นกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนรู้ “ความจริง” เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือเป็นกฎหมายที่บังคับให้ประชาชนต้องมี “ความเชื่อ” ในเรื่องราวเชิงบวกของพระมหากษัตริย์เพียงด้านเดียวเท่านั้น
สิ่งที่น่าคิดคือ พระเจ้าสร้างมนุษย์ แต่พระองค์ก็ให้มนุษย์มีเสรีภาพที่จะไม่เชื่อ และหรือปฏิเสธพระองค์ได้ แต่เหตุใด ม.8 และ ม.112 จึงไม่ให้เสรีภาพแก่ประชาชน (ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย) ที่จะไม่เชื่อหรือแสดงเหตุผลโต้แย้งความจริงด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้
ความเชื่อเรื่องพระเจ้า แม้จะมีปัญหาทางญาณวิทยาว่า “เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีจริง” แต่ก็ไม่มีปัญหาในเรื่องเสรีภาพที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ แสดงเหตุผลโต้แย้งและหรือปฏิเสธพระเจ้าก็ได้
ฉะนั้น กล่าวอย่างถึงที่สุด ม.8 และ ม.112 จึงทำให้ความจริงด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มีสถานะเป็น “ความจริงสัมบูรณ์” (absolute) ที่ไม่อนุญาตให้ใครพิสูจน์ในเชิงโต้แย้งได้ยิ่งกว่าความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าเสียอีก !
การทำให้ความจริงด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นความจริงสัมบูรณ์ที่พิสูจน์ในเชิงโต้แย้งไม่ได้ดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาตามมาคือ ทำให้ความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” และขัดต่อหลักศีลธรรมภาคสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเรียกร้อง (requirement) ความกระตือรือร้นของประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบทบาทหน้าที่ของบุคคลสาธารณะ การเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงการมี “ศีลธรรมภาคสาธารณะ” ของประชาชนซึ่งเป็นการมีศีลธรรมที่ควรยกย่องส่งเสริม
แต่ ม.8 และ ม.112 ที่กำหนดให้ความจริงด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์เป็นความจริงสัมบูรณ์ที่ไม่อาจพิสูจน์เชิงโต้แย้งได้ ย่อมเป็นกฎหมายที่ขัดต่อการมีศีลธรรมภาคสาธารณะดังกล่าวของประชาชน ซึ่งเป็นศีลธรรมที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย
ฉะนั้น ไม่ว่าจะมองในแง่หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หรือในแง่ญาณวิทยาและศีลธรรมภาคสาธารณะ ม.8 และ ม.112 ย่อมสมควรยกเลิก
สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยควรถูกคุ้มครองด้วยกฎหมายที่บัญญัติขึ้นบน “หลักความยุติธรรมขั้นพื้นฐาน” ตามระบอบประชาธิปไตย คือ หลักเสรีภาพและหลักความเสมอภาค
และสถานะของความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในทางญาณวิทยา ควรเป็น “ความจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์” ที่สามารถพิสูจน์โต้แย้งได้
ซึ่งหมายถึงเป็นความจริงที่ไม่ขัดแย้งกับศีลธรรมภาคสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยที่ยืนยันเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบทบาทหน้าที่ของ “บุคคลสาธารณะ”โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาอธิปไตยที่แท้จริง!
.................................................
หมายเหตุ: ผมได้แง่คิดในการเขียนบทความนี้จากข้อเขียนและการอภิปรายประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์ในบริบทสังคม-การเมืองไทยในหลายวาระของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล