บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

ที่มา thaifreenews

โดย bozo



“ทางกลุ่ม (นิติราษฎร์) จะพยายามทำงานวิชาการในลักษณะนี้ต่อไปอีก
แต่ก็มีปัญหาในแวดวงวิชาการ ผมรู้สึกและประเมินว่ามีความมืดมนอยู่
ผมไม่คิดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการตอบรับในวงกว้าง
ผมคิดว่าแวดวงวิชาการเองก็ไม่ต่างกับแวดวงอื่นๆ มันมีเครือข่าย มีผลประโยชน์
การจะให้ออกมาพูดในเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้น แม้แต่การคัดค้านก็ตาม”

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กลุ่มนิติราษฎร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฎร)”
และเว็บไซต์ www. enlightened-jurists.com กล่าวตอบนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังการอภิปรายเรื่อง
“กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา
ซึ่งนายสมศักดิ์เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่เคลื่อนไหวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นสถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง
เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองอย่างแยกกันไม่ออก
จึงต้องแก้ทั้งตัวบทกฎหมายในรัฐธรรมนูญและอุดมการณ์ทางความคิดไปพร้อมๆกัน
เพื่อให้ “สถาบันกษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของประ-ชาชน” อย่างแท้จริง
เพราะตราบใดที่ไม่สามารถหยุดการใช้อำนาจที่ล้อมรอบสถาบันกษัตริย์ได้
ก็ไม่อาจจะบรรลุเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยได้

สถาบันกับวิกฤตการเมือง

นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์บ้านเมืองที่ดึงสถาบันมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองว่า
ไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกเรื่องการใช้สิทธิรักหรือเคารพในหลวงเลย
โดยเฉพาะการเข่นฆ่ากลางเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
เช่นเดียวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นำสถาบันมาอ้าง
ในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
จนกลายเป็นความอัปยศและหายนะของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่คำแถลงที่มาของ “กลุ่มนิติราษฎร์” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 ระบุว่า
รัฐประหาร 19 กันยา-ยน 2549 ของ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นรัฐประหารที่อัปยศ
และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ
ที่ประกอบอาชีพสอนวิชากฎหมายในสถานการณ์ที่คนจำนวนมากยินดีกับรัฐประหาร
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่สามารถทำอะไรได้ จึงเกิด “กลุ่มนิติราษฎร์”
และตัดสินใจออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร

“ภายหลังรัฐประหารสำเร็จประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์
ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมาย
ที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐประชาธิปไตย
การใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทาง
ที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม
ซึ่งเราได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ”

จุดยืนกลุ่มนิติราษฎร์

กลุ่มนิติราษฎร์ที่ประกอบด้วยนักวิชาการที่ประ-กอบอาชีพสอนวิชากฎหมายคือ
น.ส.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
นายฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
นายธีระ สุธีวรางกูร
นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
นายปิยบุตร แสงกนกกุล
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ
น.ส.สาวตรี สุขศรี
จึงเป็นการประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับอำนาจเผด็จการอย่างไม่ เกรงกลัว
ทั้งที่ขณะนั้น คมช. ยังมีอำนาจ และกระแสต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก
ยังเป็นกระแสที่รุนแรง แต่กลุ่มนิติราษฎร์ให้เหตุผลว่า
หวังจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการสถาปนาอุดมการณ์กฎหมาย-การเมืองนิติรัฐประชาธิปไตย
เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ
“มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ”

อย่างที่นายวรเจตน์ได้ประกาศใน “นิติราษฎร์ฉบับที่ 1” ว่า
นับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่า
กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจ
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบาดแผลที่ลึกอย่างยิ่ง
ให้กับวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์ไทย
สร้างความอยุติธรรมอย่างรุนแรงให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม
ขณะที่คนจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทชี้นำสังคมและนักกฎหมายที่เป็นชนชั้นนำ
ก็ปิดล้อมความคิดความอ่านของผู้คนด้วยการ
ยกเอาข้อธรรม ความเชื่อในทางจารีตประเพณี
ตลอดจนบุคคลที่ถูกสร้างให้เป็นที่ยึดถือศรัทธาขึ้นเป็นกรงขัง
การใช้เหตุผลและสติปัญญาของผู้คน

“เพื่อจะไปให้พ้นจากสภาวะเช่นนี้ เราเห็นว่าสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการกฎหมายและวงวิชาการนิติศาสตร์
จะต้องก้าวข้ามยุคมืดไปสู่ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญา
หรือที่บางท่านเรียกว่ายุคภูมิธรรมหรือยุคพุทธิปัญญา
(Enlightenment; les Lumières; Aufklärung ดังที่ได้เคยเกิดมาแล้วในยุโรป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคภูมิธรรมหรือพุทธิปัญญาในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18
ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นรากฐานสำคัญ
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย”

นายวรเจตน์ขยายความลักษณะของ Enlightenment คือ
การเกิดความเคลื่อนไหวทางความคิดในทุกแขนงวิชาในลักษณะ
การตั้งคำถาม
การวิพากษ์วิจารณ์
การสงสัยต่อสิ่งที่ยอมรับเด็ดขาดเป็นยุติ
ห้ามโต้แย้ง ห้ามคิดต่าง เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
หรือคำสอนทางศาสนา โดยถือว่า “เหตุผล” มีคุณค่าเท่าเทียมกับ “ความดี”
การใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรอง ไม่หลงเชื่ออะไรอย่างงมงายมีค่าเป็นคุณธรรม
ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายสามารถได้รับการฝึกฝนให้ใช้สติปัญญาและถือว่า
เหตุผลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรับรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างเท่าทัน
ดังคำขวัญของ Immanuel Kant (ค.ศ. 1724-1804) นักปรัชญาผู้เรืองนามชาวเยอรมัน
ที่ให้ไว้ว่า “จงกล้าที่จะใช้ปัญญาญาณแห่งตน!”
(Habe Mut, dich deines eigenen Verstandes zu bedienen!)

“ยุคแห่งความสว่างไสวทางสติปัญญาคือ
ยุคที่เสรีภาพจะเข้าแทนที่สมบูรณาญาสิทธิ์
ความเสมอภาคจะเข้าแทนที่ระบบชนชั้น
เหตุผล ความรู้ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์จะเข้าแทนที่อคติและความงมงายทั้งหลาย” นายวรเจตน์กล่าว

ถูกยัดเยียดข้อหา

ขณะที่นายปิยบุตร อาจารย์หนุ่มไฟแรงของกลุ่ม
ตั้งคำถามกับสังคมการเมืองไทยแบบตรงๆในสภาวะที่สังคมแตกแยกแบ่งขั้วว่า
แม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคณะนิติศาสตร์บรรยากาศยังเปลี่ยนไป
ทั้งในแง่กายภาพและด้านความรู้

“การรู้จัก ความคุ้นเคย เปลี่ยนไปเยอะมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ 19 กันยา 2549
ทำให้คนเห็นต่างกันมากขึ้น ทะเลาะกันมากขึ้น
ในทางความคิดคุยกันไม่ค่อยสนิทใจกับคนคิดต่าง
แต่ผมพยายามไม่คุยเรื่องที่คุยแล้วอาจทะเลาะกัน
อย่างกลุ่ม 5 อาจารย์เราก็สนทนา กัน ตั้งวงคุยกัน บรรยากาศที่เห็นต่างกัน
หรือความ รู้สึกคุยกันไม่ได้เหมือนเดิมก็พอปรับตัวได้
แต่ขอข้อเดียว อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัว คือ
ผมไม่ชอบข้อหากับวิธีการยัดข้อหา การแทงข้างหลัง
กล่าวร้ายกับกลุ่มพวกผมในที่ลับ ผมคิดว่าการคิดต่างน่าจะคุยกันตรงไปตรงมาได้
ยกตัวอย่างเช่น
มีข่าวลือพูดกันขนาดว่าจะไล่ให้พวกผมเผาตำราทิ้งไปอยู่ดูไบหรือมอนเตเนโกร
ซึ่งจริงๆถ้าไม่เห็นด้วยน่าจะแลกเปลี่ยนคุยกันตรงๆได้ในทางวิชาการ”

นักวิชาการแกะดำ

กลุ่มนิติราษฎร์ โดยเฉพาะนายวรเจตน์จึงตกเป็นเป้าที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรง
จากทั้งภาคประชาชนเสื้อเหลือง นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้าม
และมีความคิดแตกต่างว่าเป็น “นักวิชาการเสื้อแดง” หรือ “นักวิชาการแกะดำ”
ทั้งที่ความเห็นหรือแถลงการณ์ต่างๆของกลุ่มนิติราษฎร์
เป็นการวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการชัดเจน
โดยเฉพาะข้อกฎหมายและมิติในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

แต่ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์เกือบทุกเรื่อง
ล้วนทำให้ผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญไม่พอใจ
โดยเฉพาะการชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหานิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม “สองมาตรฐาน” ที่เกิดขึ้น

รัฐธรรมนูญอำพราง

อย่าง “รัฐธรรมนูญปี 2550” นายวรเจตน์ระบุว่า
เมื่อพิจารณาในทางนิติศาสตร์แล้วถือเป็นรัฐธรรมนูญ
ที่เขียนขัดแย้งกันเองมากที่สุดฉบับหนึ่ง
ซึ่งมีการซ่อนเร้นอำพรางแนวความคิดทางกฎหมาย
ที่เป็นปรปักษ์กับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน

ส่วน “ตุลาการภิวัฒน์” เป็นหน้าฉาก
ที่เรียกร้องให้ศาลแผ่ขยายบทบาทเข้าไปแก้ปัญหาทางการเมือง
โดยอ้างอิงหลักการจากประเทศที่เป็นนิติรัฐ
แต่หลังฉากคือข้อเรียกร้องให้ศาลใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าจัดการกับปรปักษ์ทางการเมือง
โดยอ้างหลักกฎหมายจากต่างประเทศอย่างครึ่งๆกลางๆ
โดยไม่ได้คำนึงถึงลักษณะโครงสร้างอำนาจตุลาการของไทยเลยว่ามีพัฒนาการมาอย่างไร
ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงโครงข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง
โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ในระดับบน

“ตุลาการภิวัฒน์” (หรือบางท่านเรียกว่า ตลก. ภิวัฒน์)
จึงมีความหมายเท่ากับ “การบิดเบือนการใช้อำนาจตุลาการ”
ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายถือว่าเป็นความผิดอาญาเท่านั้น

ค้านคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ”

นายวรเจตน์ยังระบุว่า
จากการตัดสินคดีหลายคดีนับตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เรื่อยมา
จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เป็นการตัดสินคดีที่องค์กรตุลาการ (ผู้พิพากษา ตุลาการ)
เข้าทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร
หรือตรวจสอบบรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง
โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นธรรมจริงหรือไม่
การกล่าวอ้างสิ่งที่เรียกว่า “ตุลาการภิวัฒน์”
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการให้คุณค่าในถ้อยคำดังกล่าวด้วยว่า
เป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นตัวแทนของคุณธรรมความดีงามทั้งปวง

อย่างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ตัดสินให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว 46,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553
กลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์ก็ออกบทวิเคราะห์คำพิพากษายึดทรัพย์ในทุกประเด็นว่าทำไมจึง
“ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้” เพราะเห็นว่าคำพิพากษาไม่ได้วินิจฉัยแยกแยะว่า
ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แต่ละกรณีเกิดขึ้นเมื่อใด
แต่วินิจฉัยว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นอย่างไม่สมควร
นับตั้งแต่วันที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีสาเหตุเพียงประการเดียวคือ
เกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ
จนนำไปสู่การพิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน

ประณามสลายเสื้อแดง

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน
ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
และนำไปสู่การใช้กำลังทหารนับหมื่นพร้อมอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น
นายวรเจตน์ได้เขียนบทความเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนด
ที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและ ไม่มีเงื่อนไข
เพราะเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
เป็นการใช้อำนาจเพื่อทำให้มาตรการที่ปรกติแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในทางเนื้อหาให้กลายเป็นมาตรการที่ชอบด้วยกฎหมายในทางรูปแบบ
ซึ่งไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตให้บรรเทาเบาบางลงแล้ว
ยังเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น

“วันนี้เราลืมถามประเด็นนี้ไป
เพราะเราไปพูดถึงเรื่องคืนความสุข กลายเป็นว่าคนมาชุมนุมสร้างความทุกข์
คนที่คิดอย่างนี้ไม่รู้ว่าคนที่มาชุมนุมจำนวนไม่น้อยเขาทุกข์กว่าพวกคุณไม่รู้กี่เท่า
แล้วก็ไม่เคยมีความสุขอย่างที่พวกคุณมี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้
หลายคนรู้สึกโล่งใจว่าจบสักทีหนึ่ง แต่หารู้ไม่ว่านี่คือการสร้างปัญหาใหม่
ซึ่งมันจะแก้ยากกว่าเดิม”

โดยเฉพาะการทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงการเผากลางเมืองนั้น
รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งเกิดหลังการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
เพราะ 2 เดือนของการชุมนุมไม่ เกิดการเผา
หรืออาจบอกว่าคนเสื้อแดงคือคนที่รักษาบ้าน เมืองไว้ไม่ให้ถูกเผา
แต่เมื่อรัฐบาลใช้กำลังเข้าสลายจึงทำให้เกิดการเผา คือ
ถ้าไม่มีการใช้อาวุธหนักเข้าสลายการชุมนุมก็จะไม่มีการเผาหรือไม่มีการเปิดโอกาสให้เผา
เหมือนกรณีที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตถึง 91 ศพ บอกว่าไม่รู้ใครยิง แต่กลับบอกว่าทหารไม่ได้ยิง
ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากเกิดความรุนแรงแบบนี้
รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแล้ว ทั้งที่เคยพูดว่า
ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าหรือต้องมาก่อนความรับผิดชอบทางกฎหมาย

ประเด็นร้อนมาตรา 112

โดยเฉพาะการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
และยิ่งทำให้กลุ่มนิติราษฎร์ถูกต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมากยิ่งขึ้นนั้น
กลุ่มนิติราษฎร์ตระหนักดี โดยนายปิยบุตรยืนยันว่า เป็นข้อ เสนอที่ถือว่า
ประนีประนอมที่สุดแล้ว เพราะคนเราไม่ควรติดคุกด้วยคำพูด ถ้าทำได้ทั้งระบบ คือ
เหลือแค่โทษปรับก็น่าจะเป็นไปได้
ส่วนเรื่องข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรสลับซับซ้อน
(อ่านบทความประกอบในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตย หน้า 9)

“ผมสังเกตว่าหลังการเสวนาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553 ก็มีการพูดประเด็นเหล่านี้มาก
ผมคิดถึงคนอย่างคุณดา ตอร์ปิโด คือคนที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้
แต่เมื่อมีคนไปส่งเสริมให้เขาพูด พอพูดแล้วก็โดนทุบอีก
ภายใต้สังคมปัจจุบันไม่มีทางอื่นใดอีกเลยที่เราจะรักษา
ให้สามัญชนคนธรรมดาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างสอด คล้องกับประชาธิปไตย
มีทางเดียวคือปัญญาชนทั้งหลาย ต้องออกมาช่วย
ไม่ต้องไปผูกผ้าเป็นแกนนำหรอก ปัญญาชนคนหนึ่งคนเดียวไม่พอ
ต้องพึ่งเป็นหลักร้อยหลักพัน และต้องทำให้เป็นประเด็นสาธารณะ” นายปิยบุตรกล่าว

จุดเทียนกลางพายุ

ขณะที่นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงเรื่องมาตรา 112 ว่า
ภาคประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหว
ให้ปฏิรูปหรือยกเลิกมาตั้งแต่ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมไทย
รวมทั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนพยายามจุดประเด็นนี้เมื่อหลายปีก่อน
มีการนำเสนอให้ถกเถียง แลกเปลี่ยน
ไม่ให้ใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแอบอ้างเรื่องความจงรักภักดี
เพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง แต่เรื่องก็เงียบหายไป

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ให้ความเห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่
ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในวงการนิติศาสตร์
เพราะ วงการนิติศาสตร์ค่อนข้างจะเป็นพวกอนุรักษ์นิยมมากกว่าเสรีนิยม
จึงไม่เคยมีความคิดก้าวหน้าเช่นนี้มาก่อน แม้ยากจะเห็นเป็นรูปธรรม
แต่กลุ่มนิติราษฎร์ก็เหมือน “จุดเทียนกลางพายุ” ทำได้แค่เสนอ
อย่าไปคาดหวังกับฝ่ายการเมือง เพราะคงไม่มีใครกล้า กลัวจนหัวหด

อย่างไรก็ตาม นายพนัสเชื่อว่าอย่างน้อยจะปลุกกระแสวงวิชาการนิติศาสตร์รุ่นใหม่
ให้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น ซึ่งคงไม่มากนัก
แต่อาจถูกนักวิชาการสาขาอื่นออกมาโต้แย้ง อย่างในอดีต
ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ออกมาโต้แย้ง
เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์เรื่องมาตรา 112 จึงเป็นห่วงกลุ่มนิติราษฎร์มากกว่า
เพราะถูกเพ่งเล็งแน่นอน

“ผมคิดว่ากลุ่มนิติราษฎร์เป็นความหวังของคนในวงการวิชาการ อาจเรียกว่า
เป็นธูปดอกเดียวที่มีประกายไฟเล็กๆจุดหนึ่งเท่านั้นเอง และเชื่อว่า
จะทำให้นักวิชาการคนอื่นๆกล้าทำแบบพวกเขา โดยเฉพาะถ้าอิงกับวิชาการ
และหลักการจริงๆไม่น่าจะต้องกลัวอะไร
เพียงแต่ว่านักวิชาการส่วนใหญ่ไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเอง
ที่สำคัญในวงการนิติศาสตร์เราจะไปหวังเฉพาะนักวิชาการอย่างเดียวไม่ได้
การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงนิติศาสตร์จริงๆได้ต้องพวกปฏิบัติ เช่น
พวกผู้พิพากษา อัยการ ไม่ต้องกล้าอะไรมาก
แค่ตัดสินคดีตามหลักวิชาอย่างที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอก็แก้ปัญหาได้มากอยู่แล้ว”

แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว

การออกมาแสดงจุดยืนทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่งแสงสว่างของเปลวเทียนเล่มเล็กๆ
ท่ามกลางความมืดมน แต่แสงเทียนนี้จะทำให้นักวิชาการนิติศาสตร์และสาขาอื่นๆ
ที่ปลีกวิเวก คิดแต่ความสุขส่วนตัว หรือหลบอยู่ในซอกมุม
เพราะความกลัวต่ออำนาจรัฐลุกขึ้นมากล้าพูด กล้าวิจารณ์ในเชิงวิชาการ
ตามอุดมการณ์อย่างแท้จริงได้บ้าง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์

โดยเฉพาะข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่ไม่ต่างกับ “วาระแห่งชาติ”
หรืออาจเรียกว่าเป็น “วาระแห่งสิทธิมนุษยชน” อย่างแท้จริง
ซึ่งพรรคการเมืองต้องนำไปประกาศเป็นนโยบาย
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ประกาศต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ยกเว้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นแค่พรรคการเมืองน้ำเน่าที่โกหกตอแหล
เพียงเพื่อให้ได้อำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเท่านั้น!

อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือว่ากลุ่มนิติราษฎร์ได้จุดเทียน
เพื่อให้สังคมไทยได้เห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดสลัวทั้งทางวิชาการและการเมือง

กลุ่มนิติราษฎร์จึงเป็นดั่ง “แสงเทียนท่ามกลางความมืดสลัว”
ที่ปลุกวงการวิชาการที่กำลังหลับไหลให้ตื่นขึ้นมา
ยอมรับความจริงและต่อสู้เพื่อประชาชน
ไม่ใช่หลับไหล ขายวิญญาณ เพื่อผล ประโยชน์ของตัวเองอย่างเช่นทุกวันนี้

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 - 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 16-17
คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10258

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker