โดย prainn
วาทกรรมอำพราง
โดย:รฤธา
ข้อกล่าวหาโดยใช้วาทกรรม “ล้มเจ้า” มันมีอะไรซ้อนทับกับความป็นจริงของความรู้สึกกับภาษาที่ใช้สื่อออกมาโดยหวังผลทางอารมณ์ของผู้รับการสื่อสาร ทั้งที่ในความเป็นจริงของข้อกล่าวหานั้นมันคือข้อกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 112 ซึ่งใช้คำว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นภาษาที่ใช้ในข้อกฎหมายนั้น
ประเด็นสำคัญ คือ ต้องการหวังผลอะไรและผลที่หวังนั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสถาบันมากน้อยขนาดไหน ทั้งๆที่ผ่านมาก็รู้ๆกันอยู่ว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นข้อหาและข้ออ้างในการทำลายล้างกันทางการเมือง และเป็นเพียงเครื่องมือในการกล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาไม่รู้ต่อกี่ครั้ง
เป็นเรื่องน่าแปลก คนที่ถูกกล่าวหาโดยวาทกรรม “ล้มเจ้า” กับคนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น การรับรู้ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วาทกรรม “ล้มเจ้า” เป็นวาทกรรมที่สร้างความขัดแย้งแบ่งแยกแทรกซึมลงไปในความรู้สึกอย่างแยบยล สร้างสิ่งที่มากกว่าความเข้าใจเข้าไปในอารมณ์คนอย่างไม่รู้ตัว
ด้วยวาทกรรมที่สร้างความแบ่งแยกชิงชังยิ่งกลับทำให้ผู้คนมีจิตใจคับแคบ และสื่อซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอข่าวสารกลับยิ่งตอกย้ำวาทกรรมนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่แยแสใยดี ทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วกลับยิ่งเลวร้ายลง ซึ่งมิใช่วิสัยและจิตวิญญาณของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแม่แต่น้อย เป็นได้เพียงกระบอกเสียงของเผด็จการเท่านั้น
วาทกรรมพล่อยๆ ที่หลุดออกจากปากพล่อยๆ ของผู้นำทางหทารบางคนรวมถึงนักการเมืองอีกหลายคน กลายเป็นวาทกรรมอุบาทว์ที่พยายามสร้างสรรค์ปั้นแต่งขึ้นเป็นชุดวาทกรรมต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ก่อการร้าย” “ขอพื้นที่คืน” หรือ “กระชับพื้นที่” ซึ่งสามารถทำให้คนมือเปล่าตายได้ร่วม 100 ศพ และบาดเจ็บอีกไม่น้อยกว่าสองพันคน
วาทกรรมอำพรางเหล่านี้ทำให้เกิดบาดแผลร้าวลึกยิ่งขึ้นในสังคมไทย รวมถึงสร้างความขัดแย้งแบ่งแยกให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ภาระของกระบวนการยุติธรรมหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการและศาล ที่มีหน้าที่เป็นกลไกเพื่อสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลับไม่สามารถนำตัวคนทำผิดมาลงโทษได้ เพราะตัวละครที่เกี่ยวข้องมีอำนาจอภินิหารมากมายเหลือคณานับ
วาทกรรม “ล้มเจ้า” มิใช่เป็นเพียงแค่ข้อกล่าวหาเท่านั้น แต่มันเป็นอาวุธที่ใช้ทำลายฝ่ายตรงข้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกเหตุผลสำคัญ คือ เป็นการควบคุมอำนาจประชาชนอย่างแนบเนียนแล้วผ่องถ่ายอำนาจนั้นสู่กลุ่มขุนนางศักดินาโดยอาศัยเทคนิคทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมาย ป.วิอาญามาตรา 112
ผังล้มเจ้าของ ศอฉ. บอกแค่เป็นการวิเคราะห์ แต่กลับบอกว่าไม่มีหลักฐาน
ขบวนการล้มเจ้านั้นไม่เคยมีเกิดขึ้นจริงเป็นเพียงวาทกรรมที่ ศอฉ. นำมาใช้เพื่อผลปฎิบัติการทางด้านจิตวิทยา เป็นเรื่องที่ ศอฉ. กุขึ้นล้วนๆ เพราะในความเป็นจริงมีเพียงประชาชนไทยจำนวนมากต้องการให้มีการ “ล้มเลิกสถานะและอำนาจที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยของเจ้า” (สถาบันกษัตริย์)
ตามหลักการประชาธิปไตยนั้นพระมหากษัตริย์จะต้องไม่มีอำนาจใดๆ เพราะถือว่าหากจะให้มีอำนาจใดๆ แม้แต่เรื่องการแต่งตั้งถอดถอนบุคคลาการต่างๆ พระมหากษัตริย์ก็จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบเอาผิดจากสาธารณะ หรือประชาชนได้ เพราะอำนาจสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยทุกอำนาจ (อำนาจการแต่งตั้งถอดถอนบุคคลากรของรัฐไม่ว่าองคมนตรีข้าราชการในราชสำนัก ฯลฯ ล้วนเป็นอำนาจสาธารณะทั้งสิ้น) เป็นอำนาจของประชาชนจึงต้องอยู่ใต้การควบคุมตรวจสอบเอาผิดจากประชาชนได้ ในเมื่อไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบเอาผิดก็จะต้องไม่ให้ทรงมีอำนาจสาธารณะใดๆ ด้วย
เพราะตามหลักการประชาธิปไตย "แผ่นดินนี้ประเทศนี้" หาได้เป็นของพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใดไม่ แต่เป็นของประชาชน อำนาจในการควบคุม "แผ่นดินนี้ประเทศนี้" กำหนดทิศทางต่างๆ ของ "แผ่นดินนี้ประเทศนี้" อยู่ที่ประชาชนหาใช่อยู่ที่สถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด
หมายเหตุ: ตัวหนังสือสีแดงยืมมาจาก อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
วาทกรรมอำพรางที่ซ่อนความรุนแรงเดินหมากผ่านความคลุมครือให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน วาทกรรมนั้นจะข้ามขั้นไปสู่การเข่นฆ่าอาฆาตแค้นและรุนแรงยิ่งขึ้น ฤาจะต้องรอสวรรค์ลิขิตและข้ามศพอีกกี่ศพ จึงจะมองเห็นหัวประชาชน
รฤธา
ที่มา:http://sewanaietv.blogspot.com/2011/04/blog-post_16.html