บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กลไกลดความขัดแย้ง

ที่มา ประชาไท

ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นทั้งปรัชญา แนวคิด และกลวิธีในการเยียวยา สร้างความสามัคคีระหว่างเหยื่อการกระทำผิด ผู้กระทำผิด และสังคมขึ้นมาใหม่ โดยมุ่งให้ความสำคัญในการมองผู้กระทำอาชญากรรมเป็นเรื่องของความขัดแย้งของปัจเจก ( interpersonal conflict) ซึ่งเป็นการมองในมิติที่แตกต่างจากเดิมที่มองกันว่าอาชญากรรมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎระเบียบของสังคมที่รัฐกำหนดไว้ภายใต้อำนาจอันชอบธรรม วิธีคิดแบบใหม่ที่ว่าอาชญากรรมเป็นเรื่องความขัดแย้งของปัจเจกทำให้แต่ละฝ่ายได้ตระหนักในความรับผิดชอบในการแก้ไขความขัดแย้งที่จะอยู่ร่วมกัน เป็นการมองแบบองค์รวมที่เปิดโอกาสให้ทั้งผู้กระทำผิดและเหยื่ออาชญากรรม และสังคมได้มีช่องทางแสดงท่าที ความรู้สึก จิตสำนึกของฝ่ายตน ในอันที่จะช่วยเยียวยาประสานรอยร้าวทางอารมณ์ระหว่างสมาชิกในสังคม เพื่อนำพาสังคมสู่ดุลยภาพที่มีความเมตาเอื้ออาทรต่อกัน

แนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เริ่มเผยแพร่กระจายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ภายหลังการประชุม UN Crime Congress ครั้งที่ 9 เมื่อ ค.ศ.1995 จากนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2544-2546 ได้มีการประชุมวิชาการหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเตรียมการเพื่อนำประเทศไทยเข้าสู่การประชุม UN Crime Congress ครั้งที่11 ที่ได้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 18-25 เมษายน 2548 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในการประชุมมีประเด็นอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และแนวคิดดังกล่าวได้มีอิทธิพลในการเปลี่ยนกรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐ [1] จนถึงปัจจุบัน

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นพัฒนาการรูปแบบหนึ่งของสังคมไทยที่สมาชิกในสังคมได้แสดงปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเมื่อมีพฤติกรรมอาชญากรรมหรือการกระทำผิดทางสังคมเกิดขึ้น ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความผิด-เหยื่ออาชญากรรม และชุมชน จึงเป็นระบบความสัมพันธ์ที่ประชาชนในสังคมมีต่อกันในการควบคุมสังคมเมื่อมีความขัดแย้งที่เรียกว่าอาชญากรรมเกิดขึ้น และระบบนี้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ยึดโยงกับระบบสังคมอื่นๆโดยรวมในการสร้างแบบแผนทางสังคม โครงสร้างหน้าที่ในการยุติปัญหาความขัดแย้งเพื่อเสถียรภาพของสังคม

ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดจากการกระทำระหว่างกันทางสังคม ระหว่างบุคคลที่มีความผูกพันกันทางสังคมแต่มีข้อขัดแย้งต่อกันในความสัมพันธ์ ซึ่งหมายถึงทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิด กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งของสังคมจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้มีการทำงานร่วมกันเกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ ระหว่างคู่กรณีและบุคคลผู้เกี่ยวข้อง ในที่นี้ก็คือ ระหว่างเหยื่อ-ผู้กระทำผิด และชุมชน และอาจรวมถึงผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายในสังคมในชุมชนนั้นๆ ยอมรับว่ามีความขัดแย้ง มีการเอาเปรียบ หรือล่วงละเมิดต่อกันเกิดขึ้น และจะจัดการกับความขัดแย้งนั้นร่วมกันจริงจังอย่างไรที่จะทำให้ความขัดแย้งยุติลง มีผู้รับผิดชอบ มีการชดใช้เยียวยาในอันที่จะส่งผลให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมต่อไป

ซึ่งกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Mediation for Restorative Germinal Care) ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่า ต้องใช้ได้กับความผิดเล็กน้อยเท่านั้น เพราะในหลายๆประเทศได้นำหลักการนี้ไปใช้สำเร็จมาแล้ว ทั้งในรวันดาที่มีความขัดแย้งเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในมลรัฐเท็กซัส ใช้ในคดีฆาตกรรม และในประเทศแคนนาดาใช้ในคดีเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ การนำหลักการนี้ไปใช้นอกจากสามารถทำให้คดีอาญายุติได้อย่างรวดเร็ว และประหยัดแล้ว ยังทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างคู่กรณี เพราะมีวิธีดำเนินการเน้นไปที่ผู้เสียหายเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้สำนึกต่อการกระทำของตนว่าการทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือการทำให้สังคมเดือดร้อนมีผลอย่างไร และที่สำคัญจะได้รู้ว่าการทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ครอบครัวของตนต้องเดือดร้อนนั้นเป็นอย่างไร อันจะมีผลทำให้สำนึกในการกระทำของตน

นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและร่วมแสดงความเอื้ออาทรในการให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้แก้ไขตนเองและร่วมคิดวิธีการเยียวยาผู้เสียหาย โดยผ่านคนกลางเป็น ผู้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมหรือผู้ประสานงานการประชุมก็ได้ สุดท้ายเมื่อความขัดแย้งได้ยุติลงด้วยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย จึงถือว่าเป็นความยุติธรรมอย่างแท้จริงซึ่งภายใต้การกลับคืนสู่สังคมด้วยความสมานฉันท์ นี้จะทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบและปลอดภัยจากการกระทำความผิดซ้ำ

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีหลากหลายรูปแบบ [2] แต่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มคนในสังคมไทยปัจจุบันนี้ควรจะใช้การประชุมกลุ่มโดยมีคนกลางคอยประสานความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เป็นการประนอมข้อพิพาทเชิงสมานฉันท์ (Victim –Offender MediationหรือVOM) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการนัดเจรจาพูดคุยระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับแกนนำกลุ่ม นปช.ที่ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธ์ และนายแพทย์เหวง โตจิราการ ที่ได้จัดขึ้น ณ สถาบันพระปกเกล้าเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 เป็นการเจรจาที่เกือบนำไปสู่ผลสำเร็จที่ทั้งสองฝ่ายรับกันได้และสังคมโดยรวมก็รับได้ แต่ต้องยุติและล้มเหลวเพราะการเจรจานั้นขาดองค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ นั่นคือคนกลาง ที่จะคอยทำหน้าที่สะท้อนความต้องการของแต่ละฝ่ายให้อีกฝ่ายได้รับรู้ เมื่อขาดคนกลางจึงส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิด และความต้องการของคู่กรณีที่นำเสนอและปรากฏต่อสาธารณะขาดการกลั่นกรอง จึงเกิดปรากฎการณ์ต่างฝ่ายต่างคิดต่างทำโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม

ดังนั้นรูปแบบการประชุมกลุ่มเพื่อความสมานฉันท์ที่มีผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มานั่งล้อมวงพูดคุยกัน โดยมีผู้คอยประประสานการประชุมที่มีความรู้ความชำนาญในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และมีความเป็นกลางมาเป็นผู้ประสานการประชุมจึงเป็นทางออกของสังคมไทยและไม่สูญเสียหลักการความเป็น “ นิติรัฐ” แต่อย่างใด และเป็นที่ยอมรับว่าความยุติธรรมใดหากเกิดจากการตัดสินใจของคู่กรณีแล้วนั้นคือความยุติธรรมอย่างแท้จริง [3] และอาจถือได้ว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนและชุมชนได้คิดตัดสินใจเรื่องความถูกผิดความยุติธรรมให้เกิดขึ้นเอง กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) จึงไปไกลกว่าเรื่องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพราะประชาชนสามารถกลับไปมีอำนาจสร้างความยุติธรรมได้โดยตรง แทนที่จะผูกขาดอำนาจไว้ที่รัฐเพียงอย่างเดียว

ความขัดแย้งทางสังคม และทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หากนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาใช้ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและดำเนินการจริงจัง ความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจึงเป็นความยุติธรรมบนพื้นฐานของความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายเพราะเกิดจากการตัดสินใจของคู่กรณีโดยตรง เพียงแต่มีคนกลางที่มีความรู้ความเข้าใจและมีความเป็นกลางเป็นผู้คอยประสานให้มีการเจรจาภายใต้บริบทของความสมานฉันท์ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) จึงเป็นทางออกให้กับสังคมได้กลับมาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ปราศจากความโกรธแค้นต่อกัน

เชิงอรรถ

[1] จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย. ดร. .กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ทางเลือกในการยุติข้อขัดแย้งทางอาญาสำหรับสังคมไทย.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[2] ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ . การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในการจัดการความขัดแย้งทางอาญาในศาลเยาวชนและครอบครัว. ภาคนิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการความขัดแย้งแบบบูรณาการ . มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ . พ.ศ. 2550
[3] สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ .ดร. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม :ความยุติธรรมเชิงเยียวยาสู่วิธีการแสวงหาความยุติธรรมร่วมสมัยแบบอื่นๆ การไกล่เกลี่ยฟื้นสัมพันธ์ในคดีอาญา.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker