การชุมนุมประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในห้วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 เป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ต้องบันทึกไว้ ทั้งในแง่จำนวน ความยาวนาน และ ‘การสูญเสีย’ จนกระทั่งพวกเขาที่ยังเหลือพากันแตกสานซ่านเซ็น หอบหิ้วสัมภาระกลับบ้านอย่างทุลักทุเลในวันที่ 20 พฤษภาคมปีที่แล้ว ผ่านมาแล้ว 1 ปี พวกเขาอยู่ที่ไหน ทำอะไร ยังสู้อยู่หรือไม่ และอย่างไร ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของคนเล็กๆ ที่มีสีสันหลากหลาย เป็นบทสัมภาษณ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมเป็นหนังสือขององค์กรแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ด้วยเหตุผลบางประการ “ประชาไท” จึงขอทยอยนำเสนอในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการชุมนุมเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 53 |
ในวันที่“เลื่อน”ยังต้องหลบหนีหมายจับ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาถึงเรื่องราวต่างๆ “เลื่อน”ถ่ายทอดประสบการณ์ ในการเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง “ผมเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช.ที่กรุงเทพฯ 3 ครั้ง แต่ไม่เคยอยู่ตอนที่รัฐบาลสลายการชุมนุม แต่ละครั้งจะอยู่ 10 วัน โดยเดินทางโดยรถกระบะ ไปพร้อมกับพี่น้องในหมู่บ้าน พวกเราจัดทำผ้าป่าประชาธิปไตยในพื้นที่ ใช้รถกระจายเสียงประกาศขอรับจากพี่น้อง ใครมีมากให้มาก มีน้อยให้น้อย 5 บาท 10 บาทเราไม่ว่ากัน บางคนก็บริจาคเป็นข้าวสาร ใครมีอะไรก็ให้มา เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นหลักการธรรมดาของ นปช.ใครมีอะไรก็ให้ช่วยเหลือกัน ส่วนตัวเองตั้งแต่ร่วมต่อสู้กับพี่น้อง นปช.อย่างเข้มข้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ผมขายวัวไป 2 ตัวแล้ว”
เรื่องแรงจูงใจในการเข้าร่วม “เลื่อน”อธิบายว่า “แต่ก่อนเราก็เคลื่อนไหวปัญหาพื้นฐาน ป่าไม้-ที่ดิน แต่เราได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราเคลื่อนไหวเฉพาะปัญหาพื้นฐาน มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ พอคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวปัญหาในเชิงโครงสร้างเราก็คิดว่า มันน่าจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาในระยะยาว ก็เลยเข้าร่วม ก่อนหน้าการเคลื่อนไหวในปี 53 ผมก็เข้าร่วมกับเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร อยู่ คัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญ 50 แต่ก็ยังไม่ได้เข้าร่วมกับคนเสื้อแดง ช่วงนั้นที่เข้าร่วมไม่ใช่เพราะเราเป็นคนเสื้อแดง แต่เคยเคลื่อนไหวปัญหาทางสังคมแล้วเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นทางที่ไม่ถูกต้อง เรื่องรัฐประหาร แล้วก็ยังคิดว่า เราสู้ด้วยพลังบริสุทธิ์ ใช้พลังของมวลชนเข้าสู้ แต่ นปก.เป็นการต่อสู้ของฝ่ายการเมือง แต่พอหลังๆ มานี่ เรามาดูข้อเสนอของ นปช. คิดว่าเป็นข้อเสนอที่มันหลุดพ้นเรื่องการเมืองการเลือกตั้งไปแล้ว มันเป็นข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงจากสังคมเก่าเป็นสังคมใหม่ ผมไม่ได้คัดค้านการเลือกตั้ง การเลือกตั้งมันต้องมีแต่นักเลือกตั้งต้องให้ความสำคัญกับประชาชนให้มากกว่าเดิม แทนที่จะมาขายความคิด แบบกรรมการบริหารพรรคคิดนโยบาย แล้วมาเสนอให้ชาวบ้าน ให้ประชาชนเลือก ต่อไปอาจจะต้องมาระดมความคิดเห็นจากมวลชนพื้นฐานว่าเขาต้องการอะไร แล้วนำไปทำเป็นนโยบาย”
มาถึงตรงนี้เราก็ตั้งคำถามว่าที่ผ่านมามีกระบวนการแบบนี้มั้ย “เลื่อน”ให้ข้อมูลว่า “ประสบการณ์ตรงที่เราได้เจอ วิธีการนี้เป็นวิธีการที่พรรคไทยรักไทยทำมา คือ ช่วงนั้น เราเคลื่อนไหวปัญหาพื้นฐาน คือปัญหาหนี้สิน ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้รับมอบหมายจากพรรคให้ลงมาระดมความคิดจากประชาชนในภาคอีสาน มีการจัดเวทีที่โคราช อุบล อุดร ขอนแก่น ระดมความคิดเห็นว่าประชาชนมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร จากการระดมแบบนี้ทำให้มีนโยบายเรื่องกองทุนหมู่บ้าน เรื่องพักหนี้เกษตรกร ก็เห็นว่ามีพรรคไทยรักไทยนี่แหละที่มีการระดมจากข้างล่าง เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย พอเขาได้รับเลือกตั้ง จะเห็นว่าส่วนใหญ่ก็ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้”
จากประสบการณ์ที่เคยเคลื่อนไหวปัญหาพื้นฐาน เรื่องป่าไม้-ที่ดิน ทำให้“เลื่อน”เห็นว่าปัญหาความไม่เป็นธรรมหรือสองมาตรฐาน หรือความหมายเดียวกับการเลือกปฏิบัติมีคู่กับสังคมไทยมานานแล้ว “คนที่มีอำนาจวาสนา มีอันจะกินหน่อยทำเหมือนกันกับประชาชนคนธรรมดาเนี่ย ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะโดนโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดมาก แต่คนที่อยู่ใกล้ๆ ศูนย์อำนาจก็จะไม่โดน แต่มันเห็นชัดมากช่วงนี้ คนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง เป็นคนเปิดให้เราเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำในลักษณะเดียวกันนี่ กลุ่มหนึ่งผิด อีกกลุ่มไม่ผิด เยอะมาก แม้แต่นโยบายที่มีต่อประชาชนก็ยังเลือกปฏิบัติ อย่างเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ เขาให้เดือนละ สองพันกับคนที่มีเงินเดือนไม่เกินหมื่นห้า พวกมีเงินเดือน พวกมีรายได้อยู่แล้วก็จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ แต่คนที่ไม่มีรายได้อะไรเลยในภาคเกษตรก็ไม่ได้รับการดูแลอะไรจากรัฐเลย ถ้าไปเทียบดูกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างกรณีเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคนี่ ก็ได้รับการรักษาด้วยกันหมด กองทุนหมู่บ้านอย่างเนี้ย ผมว่ามันค่อนข้างได้ทั่วถึง”
ดังนั้นการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงเพื่อยุติระบบอำมาตย์ อันเป็นที่มาของสองมาตรฐาน จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอในความเห็นของ“เลื่อน” “ตอนนี้ผมมองว่าปัญหาเฉพาะหน้าพับไปก่อน เรามาแก้ไขปัญหาต้นตอในเชิงโครงสร้าง ผมคิดว่าถ้าโครงสร้างมันดี มันก็จะเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พื้นที่ไหนที่ปัญหาเฉพาะหน้ายังรุมเร้าอยู่ พวกในพื้นที่ก็ยันกันไป แต่เราให้น้ำหนักการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างมากขึ้น คือพยายามเชื่อมโยงปัญหาพื้นที่กับปัญหาโครงสร้างด้วย ภารกิจของเราก็ต้องทำให้พี่น้องเห็นว่าต้นตอของปัญหาจริงๆ มันเกิดจากอะไร เกิดจากระบบคิด เกิดจากวัฒนธรรม เกิดจากตัวกฎหมาย ตัวนโยบาย ที่คนกลุ่มน้อยเป็นคนกำหนดขึ้นมาเพื่อกลุ่มของเขาเอง แต่เขาไม่ได้คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพวกเรา ประสบการณ์การเคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน เรื่องป่าไม้ 20 ปีที่ผ่านมานี่ พอไปแตะโครงสร้างส่วนบน แตะเรื่องกฎหมายเรื่องอะไรนี่ไม่ได้ เราสู้มาตั้งแต่สมัชชาชาวนาชาวไร่ สมัชชาเกษตรกรรายย่อย มาสมัชชาคนจน จนมาถึงเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ยังไม่มีกลุ่มไหนที่สู้แล้วสามารถยกเลิกกฎหมายอุทยานได้ คือกฎหมายพวกนี้เป็นกฎหมายที่มันยึดอำนาจจากประชาชนไปให้รัฐเป็นคนจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า พี่น้องอยากได้ที่ทำกินโดยถูกต้องตามกฎหมายนี่ไม่ได้ สมัชชาคนจนในช่วงปีทอง ช่วงการชุมนุม 99 วัน เราก็ได้เฉพาะปัญหาที่มันไม่กระทบกับโครงสร้าง ปัญหาแนวเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไขแม้แต่พื้นที่เดียว ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้”
แล้วประชาธิปไตยระบบรัฐสภามันจะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้อย่างที่ นปช.คิดหรือเปล่า “เลื่อน”ตอบคำถามนี้ว่า “ถ้าดูจากปรากฏการณ์ของคนเสื้อแดง เราเอาข้อมูล เอาเหตุผล เอาความจริงมาเสนอ เราใช้ในแนวทางสันติวิธี แต่ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐอยู่ มันก็ใช้ทุกวิถีทางในการที่จะรักษาอำนาจไว้ ใช้กลไกคุก ศาล ทหาร ตำรวจมาจัดการเรา ณ วันนี้ ผมว่าเขาใช้ครบแล้ว สลายการชุมนุม ก็สั่งทหารมายิงพี่น้องคนเสื้อแดง ยิงเสร็จก็ตามมาด้วยหมายเรียกหมายจับ หมายศาล ซึ่งถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมจริงๆ นี่ ก็ต้องคิดถึงเรื่องระบบการป้องกันตัวเองให้ได้ ไม่ยังงั้นก็จะเกิดการสูญเสียอย่างที่ผ่านมา เราอาจไม่ต้องคิดถึงขั้นสร้างกองกำลังไปสู้กับกองทัพ แต่จะทำอย่างไรให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่สามารถที่จะทำความเข้าใจกับกองทัพได้ ถ้าเมื่อไหร่ฝ่ายกุมอำนาจสั่งทหารให้มาเข่นฆ่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วย ถ้าทหารไม่ยอมทำตาม พวกนั้นก็หมดทาง พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเสียงข้างมาก แต่สุดท้ายก็โดนทหารมาแย่งอำนาจ โดนฝ่ายกุมอำนาจใช้อำนาจเก่าที่พวกเขามีอยู่มายึดอำนาจไป ซึ่งผมคิดว่า นอกจากคิดเรื่องการเมืองที่เป็นเอกภาพแล้วเนี่ย มันต้องคิดเรื่องว่าทำยังไงจะทำความเข้าใจกับฝ่ายกองทัพให้ได้ด้วย ไม่ให้กองทัพเห็นด้วยกับฝ่ายที่ชอบใช้ความรุนแรง”
เขาเห็นว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ กองทัพมีนิมิตหมายที่ดีให้เห็น “ที่ผ่านมา จะเห็นว่าพอเกิดการปฏิวัติรัฐประหารก็จะมีทหารกลุ่มเดียวที่จะทำตามคำสั่งซึ่งคนที่อยู่เหนือกองทัพสั่งมาอีกที สั่งให้สลายการชุมนุม สั่งให้ฆ่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วย แต่พอมาถึงช่วงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคราวนี้ มันจะมีทหารอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งผมคิดว่าถ้าต่อไปเราให้น้ำหนักในการทำความเข้าใจกับกองทัพ มันมีความเป็นไปได้ที่กองทัพจะยืนข้างประชาชน สู้กับระบบอำมาตย์ แล้วเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย”
ในทัศนะของ”เลื่อน”ประชาชนเองก็มีภารกิจที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้นในอันที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยอย่างที่คาดหวัง “อันแรกคือ ต้องทำความเข้าใจกับชนชั้นนำ คนชั้นกลาง กองทัพ อันที่สอง ผมคิดว่า การกำกับดูแลนักการเมือง เราต้องยกระดับให้มันมีความเข้มข้นมากกว่านี้ คือถ้าเป็นไปได้ผมคิดว่า นโยบายของรัฐบาลมันน่าจะเกิดจากข้างล่างขึ้นไป คือการมาระดมความคิดเห็นจากประชาชนคนชั้นล่างขึ้นไปกำหนดนโยบาย แต่ถ้าคุณจะเปลี่ยนแปลงจุดยืน ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่เลือกไป ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ อย่างเช่น นาย ก อยู่พรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้ง ถ้าคุณจะเปลี่ยนขั้วการเมืองไปอยู่ขั้วอื่น ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนที่เลือกคุณไปก่อน ไม่ใช่ว่าคุณอยากจะไปอยู่พรรคไหนคุณก็ไป”
ตามที่เขาคิด คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองทั้งหลายไม่มีความหมายเลย “พวกนี้ไม่คิดเรื่องการปฏิรูป คือถ้าดูตัวคนนี่นะ บางคนก็สนับสนุนการกดขี่ สนับสนุนระบบเก่า ณ วันนี้ผมคิดว่า มันทำขัดแย้งกัน ปากก็ว่าปฏิรูป แต่ในขณะที่ พวกนี้ก็เห็นความไม่เป็นธรรมที่รัฐทำกับประชาชน คนกลุ่มที่คิดต่าง โดยใช้มาตรการทางกฎหมายบ้าง มาตรการเถื่อนบ้าง แต่พวกนี้ก็ไม่ทำอะไร ถ้าคิดจะปฏิรูป ถ้าคิดจะสมานฉันท์ คิดจะปรองดองนี่ ผมว่ามันก็ต้องดูเรื่องนี้ด้วย แต่ผมไม่เห็นว่าคณะกรรมการพวกนี้เรียกร้องให้รัฐหยุดกระทำการ ผมว่ามันเป็นแค่การสร้างองค์กรขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจรัฐกระทำการกับคนที่เห็นต่าง”
การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองของ"เลื่อน"ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลในทางบวกก็คือ การที่ประชาชนมีพลัง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ได้รับการแก้ปัญหาในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงปัญหาเฉพาะหน้าที่รอวันที่จะปะทุขึ้นมาใหม่ แต่ผลลบที่เกิดขึ้นก็ย่อมมีตามมาอย่างแน่นอน “ในเมื่อเราไปแตะอำนาจรัฐ คัดค้านการใช้อำนาจรัฐ เขาก็ใช้อำนาจรัฐมาจัดการ การโดนข่มขู่คุกคาม การมีหมายเรียกหมายจับ ก็มีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ข้อหายุยงส่งเสริมให้ชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่า ข้อหาปิดถนน ข้อหาหมิ่นประมาท อะไรพวกนี้ มันก็เป็นกลไกที่รัฐใช้มากระทำกับคนที่ต่อต้านอำนาจรัฐ ชีวิตก็ไม่ปกติเหมือนคนที่ว่านอนสอนง่าย ทำตามที่รัฐสั่ง”
โดยเฉพาะการเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดง ทำให้”เลื่อน”ถูกออกหมายจับ แต่เขาก็เลือกที่จะหลบหนี ไม่ยอมเข้ามอบตัว “ผมคิดว่า เราต้องสู้ เราเห็นว่า ตัว พรก.ฉุกเฉิน ที่มันใช้เนี่ย เราไม่ยอมรับ เป็นกลไกที่รัฐใช้จัดการกับผู้เห็นต่าง ฉะนั้น เราก็ต้องไม่เข้าไปสู่กระบวนการ และไม่มีอะไรต้องร้องขอด้วย มีอย่างเดียวว่าเราต้องเสียสละ ต้องใช้ความอดทนมาก”
หลังถูกออกหมายจับ ชีวิตของ”เลื่อน”ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เขาต้องระเหเร่ร่อน ไม่สามารถกลับไปทำงานเกษตรที่เขารัก ไม่สามารถกลับไปอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว ไม่สามารถโอบกอดลูกๆ อันเป็นที่รักยิ่งทั้งสามได้ ภรรยาและลูกๆ เองก็ประสบกับความยากลำบาก ขาดเสาหลักของครอบครัว ก่อนจากกันในวันนั้น เราจึงถามเขาว่าเสียใจมั้ย ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขายังจะเลือกเข้าร่วมต่อสู้กับคนเสื้อแดงหรือเปล่า คำตอบของเขาก็คือ “ณ วันนี้ ผมคิดว่าเราต้องเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีก มันต้องเรียกร้องกันว่า เราต้องเสียสละมากขึ้น คือถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในร้อยกว่าปีมานี่ ผมคิดว่า เรายังไม่ได้เศษเสี้ยวของนักเคลื่อนไหวที่เคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เรายังเสียสละน้อยกว่าคนที่เขาเคยทำมา ผมคิดว่าแนวทางที่เราเข้าร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนี่เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว มีแต่เราต้องยกระดับการเคลื่อนไหวให้มันมีความเข้มข้นมากกว่านี้ เรียกร้องตัวเองว่า เราต้องเสียสละมากขึ้น”
สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2553