จดหมายเปิดผนึก
คัดค้านการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เรื่อง คัดค้านการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ
เรียน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรีอำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยอ้างเหตุผลว่า
“โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ และเพื่อให้มีการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งมีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อให้กระทำการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหายหรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว”
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลได้ประกาศฉบับที่ 2 ให้ให้พื้นที่เขตจังหวัดกรุงเทพมหานครจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดน่าน จังหวัดขอนแก่นจังหวัดอุดรธานี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดศรีษะเกษ เป็นพื้นที่ในเขตประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ได้ประกาศเพิ่มอีกให้พื้นที่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ในเขตประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 2 เพิ่มเติม รวมแล้วมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด 22 จังหวัด
โดยอ้างเหตุผลว่า “ โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความ วุ่นวายหรือเตรียมการจะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติม จากพื้นที่ที่เคยมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมให้ยุติโดยเร็ว ”
จนถึงปัจจุบันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั้ง 3 ฉบับ ได้ใช้มาเป็นเวลาพอสมควร และในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 ที่จะถึงนี้ ประกาศฉบับแรกจะมีอายุครบ 3 เดือน ส่วนประกาศฉบับที่ 2 จะครบกำหนดในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 และประกาศฉบับที่ 3 จะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม 2553 ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลาประกาศหรือไม่
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ได้จัดการประชุมกรรมการเครือข่ายและกรรมการจังหวัดที่รับผิดชอบทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา และได้มีการพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังคงดำรงอยู่ใน 22 จังหวัด โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ , เชียงราย , ลำปาง และน่าน) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างกว้างขวางต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวว่า มีเหตุผลสมควรจะคงเอาไว้หรือไม่ หลังจากที่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองได้ผ่านไปแล้วกว่า 1 เดือน โดยคณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า
“รัฐบาลควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด” โดยมีเหตุผลดังนี้
ข้อ 1. คณะกรรมการฯเห็นว่าสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่รัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลตามประกาศนั้น ได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่จะคงประกาศไว้ เพราะหลังจากสถานการณ์การดำเนินการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์ และมีความวุ่นวายอยู่ในหลายจังหวัดต่อมาอีก 2-3 วัน แล้วเหตุการณ์ก็สงบลง มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อความวุ่นวายไปแล้วบางส่วน และมีการออกหมายจับตามมาอีกหลายคน หลังจากนั้นก็ไม่เหตุการณ์ใดๆ ที่เป็นเหตุวุ่นวายรุนแรงอีกเลยจนถึงบัดนี้
ข้อ 2. ส่วนเหตุการณ์การวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย , เหตุการณ์เผารถตู้ และล่าสุดเหตุการณ์การยิง RPG ใส่ถังน้ำมันในกองพลาธิการฯ คณะกรรมการฯเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบร้ายแรงแต่อย่างใด เนื่องจากต่อมากรณีวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถจับกุมคนร้ายได้ ส่วนเหตุการณ์เผารถตู้ก็เป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น และล่าสุดเหตุการณ์ยิง RPG ก็อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมคนร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้กลุ่มคนที่รัฐบาลอ้างหรือเป็นแกนนำรัฐบาลก็ได้ควบคุมตัวไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ หลงเหลืออีกบางส่วนก็ไม่น่าจะก่อความวุ่นวาย เพราะมีหมายจับอยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบันไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงและเป็นภัยร้ายแรงจนไม่สามารถใช้กลไกปกติของการป้องกันความสงบดำเนินการได้แต่อย่างใดและคณะกรรมการฯเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นยังคงมีความคลุมเครือว่าเป็นการจงใจสร้างสถานการณ์ เพื่อทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไว้
ข้อ 3. การคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ทำให้การทำงานของกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกยกเว้น หรือถูกยกเลิกอำนาจนั้นไปทำให้ไม่สามารถสร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และยิ่งปล่อยให้เนิ่นนานออกไปก็ยิ่งทำให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงขององค์อิสระต่างๆ รวมทั้งองค์กรเอกชนที่ต้องการนำข้อเท็จจริงเปิดเผยต่อสาธารณชนให้รับรู้รับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย มีความยุ่งยากมากขึ้น
ข้อ 4. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและยังไม่ประกาศยกเลิก แม้จะไม่กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การคงประกาศฯไว้นั้น เป็นการทำลายบรรยากาศของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การดำเนินการทางการเมืองภาคพลเมืองที่เป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ การแสดงออกด้วยความคิดเห็น ด้วยการสื่อสาร ด้วยการเผยแพร่ อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่จะทำได้ ก็ถูกลิดรอนโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประชาชนรากหญ้า ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในเวลานี้ หากคงประกาศฯต่อไป เชื่อว่ากิจการรายย่อยของประชาชนจะต้องล้มกิจการไปเป็นจำนวนมาก
ข้อ 5. ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5 วรรคท้าย “เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น” จะเห็นว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะประกาศยกเลิกได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการพิสูจน์ภาวะผู้นำที่อ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยตลอดมา
ดังนั้น ในนามคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกฉบับและเร่งรัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยเร็ว
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.เหนือ)
เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ
สำนักข่าวประชาธรรม