นอนกอด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน! เอาแต่พูด!! ปรองดองยาก!!
เป็นเพราะท่าทีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ท่าทีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) หรือไม่??? ที่ทำให้สังคมไทยจับตามองและเชื่อว่า…
รัฐบาลยังไม่อยากเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
และสุดท้ายก็น่าจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทุกเหตุการณ์ของความรุนแรงต่างๆ จะถูกตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ตั้งใจจะป่วนสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
การระเบิดข้างๆ พรรคภูมิใจไทย ทางนายเนวิน ชิดชอบ ซีอีโอตัวจริงเสียงจริง นายใหญ่ภูมิใจไทยของแท้ ก็ระบุออกมาเลยว่า มีเจตนามุ่งร้ายตนเองแน่
สุดท้ายก็เข้าล็อคเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะสามารถสรุปเหตุจูงใจได้ง่ายเหมือนกินขนม ว่า เป็นเหตุทางการเมือง
เช่นกันกับที่ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีการเรียกนายตำรวจระดับรองผู้บัญชาการ (รอง ผบช.น.) ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9 (ผบก.น.) เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการ บ้านพักบุคคลสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ กันชนิดพรึ่บเต็มพื้นที่
ชนิดที่ว่าหากเห็นว่ากำลังตำรวจมีไม่เพียงพอ ก็จะประสานขอกำลังจากฝ่ายทหารมาร่วมด้วย
ด้วยเหตุผลว่า เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีก่อเหตุลักษณะเดียวกับที่คลังน้ำมัน กรมพลาธิการทหารบก
แถม พล.ต.ท.สัณฐาน ยืนยันชัดเจนว่า ขณะนี้มีผู้ไม่ต้องการให้บ้านเมืองสงบจริง
อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถือโอกาสชงลูกป้อน ศอฉ. และรัฐบาล ให้ชนิดเหน่งๆ หน้าประตูกันเลยทีเดียวว่า ขณะนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีความจำเป็น
อ้างว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่สำหรับคนคิดไม่ดีต่อบ้านเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะเป็นเครื่องมือช่วยดูแลความสงบเรียบร้อย...
ซึ่งก็เข้าใจ เพราะ พล.ต.ท.สัณฐาน ไม่ได้มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศ จึงเป็นธรรมดาที่จะไม่รู้ว่า ประเทศอื่นๆ นั้นมองประเทศไทยที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยสายตาอย่างไร รวมทั้งว่าธุรกิจท่องเที่ยวของไทยนั้นได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
มุมมองของ พล.ต.ท.สัณฐาน ดูจะสอดรับกันพอดิบพอดีกับมุมมองของนายสุเทพ ที่ระบุว่า การพิจารณาตัดสินใจเรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก. หรือยกเลิกการประกาศใช้มีหลายทางเลือก
อย่างเช่นว่า อาจจะต่ออายุ 24 จังหวัดเลยก็ได้ ลดเหลือ 21 จังหวัดก็ได้ หรือแม้แต่จะเหลือแค่ 7 จังหวัดก็ได้เช่นกัน
เรียกว่า ลดแรงกดดันจากสายตาของไทยและต่างชาติที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องที่จะยกเลิกทั้งหมด เพียงแค่ลดจำนวนจังหวัดลงเท่านั้นล่ะพอได้
ฉะนั้นก็คงต้องรอลุ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 6 ก.ค. ที่จะถึงนี้ เพราะนายสุเทพจะชงเรื่องนี้เข้า ครม. ให้พิจารณาตัดสินใจว่า จะต่ออายุโดยควบคุมกี่จังหวัดดี
ท่าที วัตถุประสงค์ของรัฐบาล ตลอดจนแนวคิดในการที่จะต้องหาทาง “สยบทางการเมือง” กับพรรคการเมือง กลุ่มคนทางการเมืองที่เกี่ยวข้องโยงใย ผูกพัน หรือศรัทธาในตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ต้องตีให้แตกกระจุยให้ได้... ไม่เช่นนั้นภารกิจถือว่ายังไม่บรรลุ
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดชัดเจนว่า ขณะนี้แม้ถือว่าเรียบร้อยดี แต่เชื่อว่า รัฐบาลคงไม่อยากเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนี้
เพราะหากยกเลิกไปแล้วก็ไม่แน่ใจว่า จะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่??
ซึ่งส่วนตัวคงตอบไม่ได้ว่าควรยกเลิกเมื่อใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่หากมีการเลือกตั้งใหญ่ ก็ต้องถึงเวลาที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“หากมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็กระทบกับการท่องเที่ยว เรื่องนี้มันแย้งกันกับเรื่องความมั่นคง เพราะต่างประเทศเขาไม่มั่นใจ ถ้า พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังอยู่” นายบรรหาร กล่าว
รวมทั้งเรื่องการตั้งคณะกรรมการที่จะมาสร้างความปรองดอง นายบรรหาร กล่าวอย่างน่าคิดว่า
“ยากจังเลยเรื่องปรองดอง กรรมการที่ตั้งไว้ก็ต้องเหนื่อย ไม่รู้ว่าชาตินี้ จะปรองดองได้หรือเปล่า ชาตินี้คงปรองดองยาก”
ซึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงมองว่าปรองดองไม่ได้นั้น นายบรรหาร มองว่าเป็นเพราะ ถ้าหากความคิดเห็นต่างกัน ก็ปรองดองกันไม่ได้
คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะสร้างความปรองดองได้หรือไม่ ก็ต้องกลับไปถามรัฐบาลว่า ตั้งขึ้นมาทำไม แล้วจะสร้างความปรองดองได้หรือไม่
“ต้องไปถามรัฐบาลเอง ถามผมไม่ได้ ถ้าความคิดเห็นแตกต่างกันก็ยากจะสร้างความปรองดอง ถ้ายอมๆ เขาหมด ใครว่าอย่างไรมาก็ยอมกันหมด ก็โอเคอย่างนั้นปรองดองได้” นายบรรหารระบุ
นั่นคือ มุมมองของนายบรรหาร ที่เชื่อว่า จนถึงวันนี้ สถานการณ์ยังปรองดองยาก
ตรงนี้จึงเป็นคำถามที่ต้องพุ่งกลับเข้าหารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ว่า ยังมุ่งมั่นในการสร้างความปรองดองจริงหรือไม่... หากคิดจะปรองดอง สิ่งสำคัญที่สุดไม่น่าจะใช่อย่างที่นายบรรหาร คิด คือ ยอมๆ กันไป
แต่น่าจะเป็นการทำให้สังคมเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมว่าไม่มี 2 มาตรฐานแล้ว
และพิสูจน์ความจริงในเรื่องของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะที่บริเวณวัดปทุมวนาราม ซึ่งรัฐบาล ศอฉ. สภาความมั่นคงฯ และหน่วยข่าวกรอง ควรจะต้องรู้ดีว่า กรณีพฤษภาอำมหิต ไม่เพียงก่อให้เกิดความเจ็บช้ำ ก่อให้เกิดรอยบาดหมาง
แต่ยังก่อให้เกิดการ “พูดต่อ” กันไม่รู้จบ และทำให้การปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ยาก
และเช่นกันคำถามก็คงต้องย้อนพุ่งใส่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ด้วยเช่นกันว่า ในฐานะนักการเมืองผู้คร่ำหวอด ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะนายใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา
ต้องการให้เกิดการปรองดองจริงๆ หรือไม่???
หากต้องการให้เกิดการปรองดอง นายบรรหารควรจะรู้ดีกว่าใครว่าควรผลักดันอย่างไร ให้ความรู้สึกกฎหมาย 2 มาตรฐานหมดไป ให้ความรู้สึกการมุ่งทำลายล้างกันทางการเมืองหมดไป
ทั้งหมดนายบรรหารรู้ดีอยู่แก่ใจ... ว่าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นต้นเหตุสำคัญต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ยังเกิดการขึงพืดเผชิญหน้ากันใช่หรือไม่
นายบรรหาร ซึ่งบอกเองว่า ชาตินี้ไม่รู้ว่าจะปรองดองได้หรือไม่...
ไม่คิดที่จะ “ไถ่บาป” บ้างหรือ???