แม้จะเพิ่งเป็นที่รู้จักของคนในสังคมสำหรับเครือข่ายพลังบวก เมื่อเกิดกรณีถูกแบนโฆษณา “ขอโทษประเทศไทย” ซึ่งกำลังเป็นประเด็นข่าวในชั่วโมงนี้
โฆษณาชุดดังกล่าวแม้จะไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อสาธารณะ แต่ในสังคมออนไลน์ทั้งในเครือข่ายเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ต่างได้ชมโฆษณาชุดนี้มาแล้ว โฆษณาชิ้นดังกล่าวนี้ใช้ชื่อว่าขอโทษประเทศไทย กระแทกกันนิดๆ ปลุกจิตสำนึกให้เกิดสติ ปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ซึ่งกำกับโดย นายธนญชัย ศรศรีวิชัย และ โปรดิวซ์ โดย จุรีพร ไทยดำรงค์
เนื้อหารวมๆ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของคนไทยทั้งประเทศ โดยนำภาพของหลายๆ เหตุการณ์มารวมกัน อาทิ การชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ การปะทะกัน ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มคนเสื้อแดง ที่หมู่บ้านภูมิซรอล จ.ศรีสะเกษ การชุมนุมของคนเสื้อแดง เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม เหตุการณ์การชุลมุน ระหว่างฝ่ายค้าน และรัฐบาลในสภา เป็นต้น ซึ่งมีคำบรรยายกล่าวเชื่อมโยงประกอบภาพ เพื่อชี้ให้เห็นว่า คนไทยทุกคน คือ ผู้ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสงสัยว่า “เครือข่ายพลังบวก”เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีใครที่อยู่ในกลุ่มนี้บ้าง สำหรับเครือข่ายพลังบวก เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ อาคารลุมพินี กรุงเทพฯ
วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้เกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำจุดยืนช่วยเยียวยาสังคมผ่านพ้นวิกฤตความแตกแยก โดยหวังกระตุ้นคนไทยเข้าใจปัญหา และเปลี่ยนอคติเป็นพลังบวก เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาสังคมไทยให้เดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
นายภาณุ อิงคะวัต นักสร้างสรรค์งานโฆษณาชื่อดัง ในฐานะประธานเครือข่ายพลังบวก กล่าวถึงเครือข่ายพลังบวกว่า เป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพ อาทิ วงการโฆษณา โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ประชาสัมพันธ์ นักจัดอีเวนท์ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชน ตัวแทน สมาคม องค์กร บริษัท ข้าราชการ และนักวิชาการ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีแนวคิดร่วมกันต้องการยุติความแตกแยกของคนในสังคม ต้องการเห็นประเทศไทยเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน หลังจากต้องเผชิญเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สินของคนไทย สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของประเทศ
ส่วนกรณีถูกแบน โฆษณาชุด "ขอโทษประเทศไทย" นายภาณุ กล่าวว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์ ที่มาจากการตั้งกันเองจากทุกสถานีโทรทัศน์ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกอากาศ โดยได้เข้าไปคุยกับคณะกรรมการมาก่อนหน้านี้ และได้รับคำชี้แจงว่า ภาพยนตร์ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศ เนื่องจากเกรงว่าวิธีเล่าเรื่อง หรือการลำดับภาพที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
แต่เมื่อนำเรื่องนี้ไปสอบถามนายกรัฐมนตรี กลับได้คำตอบที่ตรงข้ามกับคณะกรรมการเซ็นเซอร์ โดยนายกฯ บอกว่า
“ได้รับชมภาพยนตร์โฆษณาชุด “ขอโทษประเทศไทย” ที่จัดทำโดยกลุ่มพลังบวก และถูกห้ามเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีแล้ว เข้าใจเจตนาของผู้จัดทำว่า ต้องการกระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักถึงปัญหา และเนื้อหาไม่มีความเข้มข้นในเรื่องของการเมืองตามเหตุผลของการสั่งห้าม ซึ่งคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แต่ละช่อง คงชี้แจงถึงเหตุผลและรับฟังเสียงสะท้อนจากสังคม ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง”
ด้าน “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสื่อ ออกตัวทันทีว่า เรื่องนี้รัฐบาลไม่รู้เรื่อง
ขืนบอกว่ารู้เรื่องคงค้านสายตาประชาชนเป็นแน่ เพราะวันก่อนนายองอาจพร้อมนายกฯ ยังเดินสายตระเวนพบสื่อ พร้อมรับปากจะ “ปฏิรูปสื่อ”
หากบรรยากาศทางการเมืองยังเป็นเช่นนี้ ไม่แน่ว่าแผนปฏิรูปสื่อ นั้นคงอีกยาวไกลกว่าที่คิด แม้จะคิดบวก ก็อาจเกิดขึ้นได้ยากส์