เป็นที่น่ายินดีว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ไก่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่คำถามก็คือ เรื่องเช่นนี้ทำไมต้องให้ ครม. ตัดสินใจ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ทำไมไม่ดำเนินการใดๆ
แม้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธ์ไก่ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมการบังคับขายพ่วงไก่กับอาหารไก่ซึ่งทำให้เกษตรกรเลี้ยงไก่จำนวนมากต้องได้รับความเดือดร้อนนั้น มีการร้องเรียนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และคำถามอีกคำถามคือ หากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นตัวแทนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ถูกร้องเรียน ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ หรือเกษตรกรยังคงต้องก้มหน้าก้มตารับสภาพความไม่เป็นธรรมดังที่เป็นมาในอดีต
ปัญหาที่เรื้อรังของอุตสาหกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจไทย ที่ทุนขนาดใหญ่สามารถครอบงำกลไกของภาครัฐได้ การที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่มีเส้นสายทางการเมืองยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยิ่งนับวันยิ่งถ่างมากขึ้น ปัญหาในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ทั่วทุกมุมของเศรษฐกิจไทย กรณี “ไข่ไก่” เป็นประเด็นขึ้นมาเพียงเพราะประเทศไทยมีลักษณะพิเศษที่มีการวัดขีดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจด้วย “ราคาไข่ไก่” ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของเกษตรไก่ไข่ ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากพฤติกรรมทางการค้าที่ส่อความไม่เป็นธรรมในหลายสาขาธุรกิจที่รัฐไม่เคยให้การเหลียวแล
แม้การยกเลิกโควต้าการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ไก่ไข่ครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธ์ไก่ในตลาดได้ แต่ก็จะสร้างปัญหาไข่ล้นตลาดและการทุ่มตลาดไข่ไก่ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาเดิมก่อนที่จะมีการนำระบบโควต้ามาใช้เพื่อจำกัดปริมาณพ่อแม่พันธ์ไก่ในปี พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ ได้มีการร้องเรียนปัญหาดังกล่าวต่อสำนักแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ในปี พ.ศ 2544 หากแต่ในขณะนั้นมิได้มีตรวจสอบว่ามีการทุ่มตลาดจริงหรือไม่อย่างจริงจัง แต่กลับมีข้อเสนอแนะให้จำกัดปริมาณพ่อแม่พันธ์ไก่ที่นำเข้าโดยการสร้างระบบโควต้า เพื่อจำกัดจำนวนไก่สาวและปริมาณไข่ไก่ในตลาด โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ฯ ได้กำหนดให้มีผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเพียง 9 ราย ในปี พ.ศ. 2548 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในตลาด ได้รับการจัดสรรโควต้าถึงร้อยละ 41 ของจำนวนพ่อแม่พันธ์ไก่ที่สามารถนำเข้าได้ในแต่ละปี สัดส่วนดังกล่าวยังคงเหมือนเดิมในปี 2553 การจำกัดการนำเข้าดังกล่าวยิ่งเป็นการเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ยิ่งมีอำนาจผูกขาดมากขึ้นไปอีก
การผูกขาดตลาดพ่อแม่พันธุ์ไก่ส่งผลให้ราคาไก่สาวในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่เกษตรกรรายย่อยต้องพึ่งพาทั้งพ่อแม่พันธุ์ไก่ อาหารไก่ จากผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดไข่ไก่ด้วย จึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งในการถูก “บีบ” ออกจากตลาด โดยผู้ประกอบการรายใหญ่อาจขึ้นราคาไก่สาว หรือ ราคาอาหารไก่ที่ขายพ่วง (ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายสามารถควบคุมราคาวัตถุดิบบางประเภทที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์) ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็ทุ่มราคาไข่ไก่ที่ตนผลิตได้ ทำให้รายได้จากการขายไข่ไก่ของเกษตรกรหดหายไปในขณะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกษตรกรต้องประสบภาวะการขาดทุน
ทั้งนี้ คุณ ธนเดช แสงวัฒนกุล ผู้จัดการ หจก. อุดมชัยฟาร์ม ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า เกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกธุรกิจเพราะขาดทุนจากพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว ข้อมูลดังกล่าวตรงกับข้อมูลที่ผู้เขียนเคยรวบรวมจากกรมปศุสัตว์ว่า จำนวนผู้ประกอบการไก่ไข่เชิงพาณิชย์ลดลงโดยตลาด จาก 7,459 รายในปี พ.ศ. 2543 เหลือ 3,279 รายในปี พ.ศ. 2547
วิบากกรรมของเกษตรกรเลี้ยงไก่คงไม่มีทางจะหมดสิ้นไป ตราบใดที่กลไกของรัฐยังคงเข้าข้างผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าพวกเขา แม้วันนี้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธุ์ไก่จะสิ้นสุดลง แต่ปัญหาการผูกขาดวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ปลาป่น หรือ กากถั่วเหลือง ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบโควต้าเช่นกัน หรือ ปัญหาการทุ่มตลาดราคาไข่ไก่ ก็ยังคงอยู่ และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
การที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่จำนวน 113 ฟาร์ม ในนาม บริษัท เอเอฟอี จำกัด ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ ฯ ต่อศาลปกครองนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะแสดงถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ของกลุ่มผู้ที่ถูกเอาเปรียบเพื่อให้เขาได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้แล้ว กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับปัญหาการมีส่วนได้เสียของกรรมการในคณะกรรมการของภาครัฐหลายแห่งที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่ตนเองกำกับ แม้ มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฎิบัตราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ห้ามกรรมการที่มีส่วนได้เสียพิจารณาทางปกครองดังนี้
มาตรา 16 ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณา ทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่ หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
ผู้เขียนมีความเห็นว่าคณะกรรมการของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้จงใจละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรแม้จะได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นเวลานานนับปีก็ควรที่จะต้องถูกตรวจสอบในลักษณะเดียวกันเช่นกัน ภายใต้กลไกของรัฐที่ถูกครอบงำโดยทุนขนาดใหญ่ ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยคงจะต้องยอมรับว่าตนเท่านั้นที่สามารถเป็นที่พึ่งแห่งตน