ปราบต์ บุนปาน บ.ก.มติชนออนไลน์ เปิดใจกับประชาไท กรณีถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษ ระบุแม้จะมีการฟ้องร้องก็ไปพิสูจน์กันต่อตามกระบวนการยุติธรรม ยันไม่หยุดติดตามกรณีคลิป เพราะเป็นประเด็นสาธารณะ เพิกเฉยไม่ได้ เพียงแต่ต้องระมัดระวังมากขึ้น
12 พ.ย. - ประชาไทสัมภาษณ์ ปราบต์ บุนปานในฐานะหัวเรือใหญ่ผู้ดูแลเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ที่กำลังถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร้องทุกข์กล่าวโทษ จากการเผยแพร่คลิปและถอดความที่ปรากฏในคลิปอื้อฉาวที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยว ข้องกับคดียุบพรรคในการเผยแพร่ระลอกแรก และอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบรับพนักงานของศาลรัฐธรรมนูญในการเผย แพร่ระลอก 2-3
“ในภาพรวมสิ่งที่เราทำไปก็ไม่มีอะไรผิดในฐานะคนทำสื่อ และถึงแม้จะจะมีการฟ้องร้องก็ไปพิสูจน์กันตามกระบวนการยุติธรรม แต่ผมก็เชื่อว่าเราไม่ได้ทำผิดหรือทำอะไรเกินเลยไป ส่วนของการถอดเทป เราก็เอามาจากหนังสือพิมพ์”
เมื่อถามว่า ผลของการถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มติชนออนไลน์ต้องระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่เขาตอบว่า
“สำหรับ ตัวคนทำงานเมื่อวานก็พูดคุยกัน ผมคิดว่าแต่ละคนก็คงรู้สึกว่าต้องระมัดระวังมากขึ้น ในส่วนของมติชนออนไลน์ที่แยกกอง บ.ก.ออกมาแล้ว ก็ต้องถือว่านี่เป็นคดีแรกเลย ในส่วนของผู้บริหารยังไม่ได้คุยอะไรกันมาก แต่เราก็ติดตามกรณีคลิปเพราะเป็นประเด็นสาธารณะ เราก็คงไม่อาจเพิกเฉยได้ เพียงแต่ระมัดระวังมากขึ้น”
สำหรับข้อร้องทุกข์กล่าวโทษที่ระบุว่าการนำเสนอข่าวของมติชนนั้นมีท่าทีรุกไล่ เขาอธิบายว่า
“พูด ในฐานะคนทำงาน เราก็รู้สึกว่าเป็นกระบวนการติดตาม เป็นกระบวนการทำข่าวอย่างหนึ่ง จะเรียกว่ารุกไล่หรือ เราก็พยายามทำหน้าที่ของเรา หรือแม้แต่ช่วงของการนำเสนอคลิปชุดแรก เรานำเสนอในแนวทางที่เป็นห่วงในความรัดกุมของระบบความปลอดภัยของศาลด้วยซ้ำ ไป เพราะว่า หากว่ามีคนสามารถถ่ายคลิปในศาลได้ ก็น่าเป็นห่วงเรื่องของระบบการรักษาความปลอดภัยในศาล...นี่คือแนวทางการนำ เสนอในช่วงแรกๆ ที่มีการปล่อยคลิป แต่หลังจากมีคลิประลอก 2 ระลอก 3 เราก็ติดตามนำเสนอไปตามกระแสข่าว”
ต่อข้อร้องทุกข์ที่ว่าการนำเสนอ ของมติชนนั้น มีลักษณะชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเรื่องราวที่ปรากฏในคลิปเป็นเรื่องจริง นั้น ปราบต์ตอบว่า
“เราไม่มีส่วนใดในการนำเสนอที่ระบุว่าเนื้อหาที่ เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่อง จริง เรานำเสนอมันในฐานะคลิปๆ หนึ่งเท่านั้น และเราไม่สามารถบังคับให้คนเชื่อได้ว่าคลิปเหล่านั้นเป็นเรื่องจริง เราไม่ได้ตัดสินใคร เพราะว่าประชาชนมีวิจารณญาณของตัวเอง ผมเชื่อว่าเราไม่ได้เทคไซด์อะไรจนเกินไป และผมไม่เชื่อว่าจะมีใครยึดกุมความจริงสูงสุด” บ.ก. เว็บไซต์มติชนออนไลน์กล่าว
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงาน กรณีนายจรูญ อินทจาร นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มอบอำนาจให้นายณพล อรุณอาศิรกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจ 3 ตุลาการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองกำกับการ1(กก.1) กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ที่นำคลิปวิดีโอชุดที่ 3 ที่ใช้ชื่อ "คำสารภาพของเด็กฝากเจ้าหน้าที่ระดับสูงศาลรัฐธรรมนูญ" ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบเป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น
ในคำร้องทุกข์กล่าวโทษที่นายณพลได้ยื่น ต่อพนักงานสอบสวนนั้นทาง3 ตุลาการในฐานะผู้เสียหายให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายจนถึงที่สุด โดยผู้เสียหายทั้ง 3 คนประสงค์ที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ
1.นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2.กลุ่มบุคคล
และ3.หนังสือพิมพ์มติชนกับพวก
ทั้ง นี้เหตุที่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์มติชนมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ด้วย เนื่องจากวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องทั้งเวลากลางวันและกลางคืน เว็บไซต์มติชนชื่อ "Matichon online" ได้นำคลิปวิดีโอที่ผ่านการตัดต่อภาพและเสียงอันเป็นเท็จมาเผยแพร่ โดยถอดข้อความในคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นตัวอักษรและระบุชื่อย่อของผู้เสียหาย ทั้งสามว่า จ. ฉ. และส. โดยย่อหน้าในเว็บไซต์มติชนก่อนที่ระบุข้อความตามถอดเทปจากข้อความได้มีการ จัดทำระบบเชื้อเชิญให้บุคคลทั่วไปมาเปิดคลิปดังกล่าวได้ ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายน หนังสือพิมพ์มติชนได้เผยแพร่ข้อความผ่านเว็บไซต์ว่า
Matichon Online ระบุชื่ออันกับผู้เสียหายทั้งสามอย่างชัดเจน อันเป็นการย้ำและแสดงให้เห็นว่าชื่อย่อตามที่เคยเผยแพร่ไว้เป็นชื่อใครบ้าง
"หนังสือ พิมพ์มติชนได้นำข้อความดังกล่าวผ่านทาง สื่อสิ่งพิมพ์และเว็บไซต์ในระบบคอมพิวเตอร์ของตน ตลอดจนมีการนำเสนอข่าวต่อสาธารณชนเป็นระยะๆในลักษณะรุกไล่ กดดัน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนโดยปกติ เพื่อให้สาธารณชนหลงเชื่อว่าข้อความและเสียงในคลิปวิดีโอเป็นความจริงอัน เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การกระทำของกลุ่มบุคคล และนายพสิษฐ์ นำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์จนมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบ คอมพิวเตอร์และเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ของหนังสือพิมพ์มติชนด้วยวิธีการตี พิมพ์จำหน่ายให้กับประชาชนและเผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จึงเป็นการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1),(5) นอกจากนี้การกระทำของหนังสือพิมพ์มติชนที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ด้วยการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์รายวันและเว็บไซต์ยังเป็นความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาอีกฐานความผิดหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ,328 และ 83"