ใครคือตัวปัญหา
ในการปรองดอง?
ปรองดอง... ไม่ใช่ถ้อยคำปาฏิหาริย์ ที่จะเนรมิตให้ปัญหายุติลงได้ หากไร้ซึ่งความจริงใจและลงมือกระทำ
ดังนั้นหากวันนี้ใครก็ตามที่พรำพูดแต่คำว่าปรองดอง โดยไม่มีการพยายามที่จะทำอะไรเลย ก็เป็นแค่นักปั้นน้ำเป็นตัวไปวันๆเท่านั้นเอง
ผิดกับคนที่พยายามลงมือทำอย่างเต็มที่ ส่วนว่าจะได้ผลแค่ไหน อย่างน้อยก็มีลุ้นบนความพยายาม
กรณีการ เดินสายของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความปรองดอง จึงถือเป็นสิ่งที่สังคมไทยในวันนี้ควรสนับสนุน และให้ความสำคัญ
ยิ่งไปพบกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศนอร์เวย์ ถือเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่ากระพริบ
เพราะ แม้ เสธ.หนั่นอาจจะออกลีลาโคตรเซียนการเมืองว่า เป็นการพบกันโดยไม่ได้มีการนัดหมายกันล่วงหน้า เป็นการพบกันอย่างบังเอิญในงานทอดกฐิน ซึ่งแม้ว่าจะบังเอิญ แต่เสธ.หนั่นก็ยอมรับว่าได้ใช้เวลาพูดคุยกันนานกว่า 15 นาที
อาจจะเป็น 15 นาทีที่พลิกผันเกมการเมืองของไทย และอาจจะต้องมีการบันทึกไว้ในประวัติผสาสตร์การเมืองของไทยก็ได้
เพราะเสธ.หนั่นระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ยืนยันพร้อมสนับสนุนแนวทางปรองดองของเสธ.หนั่น และอยากให้เดินหน้าต่อไป
รวมทั้งอยากจะให้คนไทยหันกลับมารักใคร่กัน
ซึ่งทางเสธ.หนั่นเองก็ได้บอกไปว่าอยากให้พ.ต.ท.ทักษิณลืมอดีต แล้วหันหน้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ
“เราได้พูดกันว่า ขอให้ลืมอดีตเสียแล้วหันหน้าเข้ามาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศ”
เพราะ ถ้าไม่ลืมอดีต ความเคียดแค้นก็ยังมีอยู่ ซึ่งการที่บอกให้ลืมอดีต ในอดีตจะเคยเป็นอย่างไรก็ให้ลืมกันไปเสีย ไม่อย่างนั้นก็จะมีแต่ความเคียดแค้น อยากจะแก้แค้นรบราฆ่าฟันกัน
“ แต่อย่าไปตีความหมายให้ออกนอกลู่นอกทาง คือลืมอดีตที่มันผ่านมาแล้ว ใครถูกกระทำอย่างไรก็ให้ลืมเสีย”
ส่วนที่มีการพูดๆกันในขณะนี้ถึงเรื่องนิรโทษกรรม พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ใครคิดเห็นอย่างไรก็เอามารวบรวมเราจะได้ทำเป็นข้อมูลอีกครั้ง
ส่วน ว่าการพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเดินหน้าปรองดองของเสธ.หนั่นหรือไม่ คำตอบก็คือเดิมเข้าใจอย่างนั้น แต่คราวนี้ไปพบกันแล้วก็พูดจากันโดยไม่ได้นัดหมาย ไม่ทราบมาก่อนว่าจะเจอกันที่งานนี้ ดังนั้น ยังมีอีกหลายก้าว
สำหรับ สุขภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดูก็ยังสมบูรณ์ ไม่ได้ป่วย ยังหัวร่อต่อกระซิกกันอยู่เลย ส่วนว่า ตอนนี้ พำนักอยู่ที่ไหน ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้บอก และก็ไม่ได้ถาม เพราะจะเป็นการเสียมารยาท
และที่ว่าจะกลับเมื่อไรนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่ายังสนุกกับการทำธรุกิจอยู่
สำหรับ แนวทางปรองดอง นั้นเป็นรายละเอียด ฉะนั้นขอทำงานต่อไปก่อน ซึ่งการหารือไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร ในการพบปะกับ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรับฟังอย่างเดียว จากนั้นก็จะขอรวบรวมรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ยังเหลือพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ กองทัพ และคนเสื้อแดง
คาดว่าจะเสร็จกระบวนการในเดือน ม.ค.นี้
เรียกว่าอย่างน้อยก็มีวี่แววของทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับสังคมได้มากขึ้น
เพราะ สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมในขณะนี้ นอกจากเรื่องของความปรองดองซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าแล้ว ยังมีเรื่องปัญหาทุจริต ปัญหาภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรี และภาพลักษณ์ของนักการเมืองไทย เป็นตัวที่สร้างปัญหาในการยอมรับจากสังคมด้วย
ถือเป็นปัญหาใหญ่มากใน ขณะนี้ เนื่องจากในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนเป้นที่มาของปัญหาความแตกแยกแบ่งขั้วอย่างหนักในสังคมไทยมาจนทุกวันนี้ ข้ออ้างที่กลุ่มทหาร คมช. ใช้เป็นข้ออ้างก็คือ มีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นอย่างมากมาย
แต่กลายเป็นว่าหลังรัฐประหาร ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับระงมเรื่องทุจริตมากขึ้นเป็นทวีคูณเลยก็ว่าได้ ตัวเลขประเภท 30% บ้าง 35%บ้าง เป็นตัวเลขที่พูดกันหน้าตาเฉย จนแทบจะกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองของการเมืองในรัฐบาลนี้ไปเสียแล้ว
เห็น ได้จากการที่ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ ในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,136 คน เมื่อวันที่ 2 - 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้
ประชาชนถึงร้อยละ 93.1 เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของสังคมไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาที่รุนแรงถึงรุนแรงมาก
โดย การทุจริตคอร์รัปชันที่ประชาชนคิดว่าเป็นปัญหารุนแรงมากที่สุดในขณะ นี้ได้แก่ การใช้อิทธิพลทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ (ร้อยละ 40.8) รองลงมาคือ การจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วประมูล (ร้อยละ 16.4) และการใช้นโยบาย/ใช้กฎหมาย แบบ 2 มาตรฐาน (ร้อยละ 13.0) ตามลำดับ
เมื่อ สอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่ นายกฯ อภิสิทธิ์กล่าวผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่นายกฯ ประกาศออกมาทั้ง 4 เรื่องจะทำให้เกิดผลได้จริง
โดยเรื่องการปรับ ปรุงระบบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำให้โปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องที่ประชาชนเชื่อว่าจะไม่สามารถทำให้สำเร็จผลได้มากที่สุด
รองลงมาคือ การปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
ส่วนเรื่องที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้าน การทุจริต ในวันที่ 10 - 13 พ.ย. นี้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 75.8 ไม่ทราบว่าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อถามว่าหลังการประชุมแล้วปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยจะ เป็นอย่างไร พบว่า
ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72.3) เชื่อว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยจะยังคงเหมือนเดิม มีเพียงร้อยละ 15.5 ที่เชื่อว่าจะน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 12.2 เชื่อว่าจะมากขึ้น
สำหรับ นักการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตมาก ที่สุดได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ร้อยละ 49.8) รองลงมาคือ นายชวน หลีกภัย (ร้อยละ 30.3) และนายกรณ์ จาติกวณิช (ร้อยละ 2.2)
ส่วน นักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์สุจริตน้อยที่สุดได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (ร้อยละ 39.2) รองลงมาคือ นายเนวิน ชิดชอบ (ร้อยละ 24.2) และนายโสภณ ซารัม (ร้อยละ 8.3) ตามลำดับ
ภาพลักษณ์ติดลบซะขนาดนี้ หันมาสนับสนุนแนวทางปรองดองของ เสธ.หนั่น
แล้วรีบๆมีเลือกตั้งใหม่ เพื่อล้างไพ่การเมืองขณะนี้... เป็นสิ่งที่น่าจะทำมากที่สุด
เพราะยิ่งอยู่ คนกลับยิ่งไม่ไว้วางใจแบบนี้ อันตรายจริงๆ!!!