บทความสั้นๆ ชิ้นนี้แบ่งเป็นสี่ส่วนด้วยกัน คือ 1) ความหมายของสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน 2) กลไกต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสถาปนาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน 3) โมเดลเปรียบเทียบของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และ 4) บทเรียนจากแอฟริกาใต้
ผู้อ่านสามารถแยกอ่านตามหัวข้อที่สนใจได้โดยไม่ต้องอ่านต่อเนื่องกัน
ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) คืออะไร
เมื่อได้ยินคำนี้ครั้งแรก หลายคนคงสงสัยว่าคำนี้มีความหมายถึงอะไร
คำว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ถูกนำมาใช้ อย่างกว้างขวางในวงการกฎหมายและวงการวิชาการ หมายถึงการแสวงหาความยุติธรรมในสังคมประชาธิปไตยที่เพิ่งพ้นจากระบอบเผด็จ การที่มีการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองของตนเองอย่างโหดร้าย (อาจ จะเป็นความรุนแรงจากระดับหนักสุดคือ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มาจนถึงสงครามกลางเมือง การสังหารหมู่ การลอบสังหาร การทรมาน การคุมขังหน่วงเหนี่ยวโดยผิดกฎหมาย หรือการอุ้มหาย) กลายเป็นโจทก์ใหญ่ที่สังคมหรือผู้นำในระบอบใหม่จำต้องเผชิญ คือ จะจัดการกับอดีตอันโหดร้ายที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นเป็นผู้รับผิดชอบอย่างไร คำว่า “เปลี่ยนผ่าน” (transitional) ในที่นี้ ใช้ในความหมายของการเปลี่ยนระบอบการเมืองจากระบอบเผด็จการไปเป็นระบอบประชาธิปไตย (หรืออย่างน้อยผู้นำที่สั่งให้ใช้ความรุนแรงหมดอำนาจไป) ซึ่ง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมบังเกิดขึ้น เพราะในความเป็นจริง ไม่เคยมีรัฐที่ลงมือสังหารประชาชนที่ใดตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเอาผิดตัว เอง ในกรณีที่ตั้งขึ้นมา ก็จงใจให้เป็นเสือกระดาษหรือให้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้าง ความชอบธรรมชั่วคราวให้กับผู้มีอำนาจเท่านั้น ดังกรณีการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงในอูกันดาในปี 1974 ซึ่งรัฐบาล Idi Amin ที่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเมืองของตนเองอย่างร้ายแรง จำต้องตั้งขึ้นมาเนื่องจากแรงกดดันจากนานาชาติ แต่ท้ายที่สุดรายงานของคณะกรรมการก็ถูกเพิกเฉยจากรัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐยังคงปกครองโดยใช้ความรุนแรงประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามต่อไป ในประเทศชาด (Chad) คณะกรรมการแสวงหาความจริงถูก ตั้งขึ้นมาเพื่อลบล้างความผิดให้กับรัฐบาลมากกว่าค้นหาความจริง ฉะนั้นจึงมีข้อสรุปที่เกือบจะเป็นสัจธรรมทั่วไปในหมู่คนที่สนใจประเด็น เรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านว่า การเปลี่ยนระบอบการเมือง และการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดอันขาดเสียมิได้ในการได้มาซึ่งความยุติธรรม (Hayner 1994: 600-611; Popkin and Roht-Arriaza 1995; Zalaquett 1989)
จุด มุ่งหมายของกระบวนการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ ความพยายามที่สังคมต้องการเดินหน้าต่อไปโดยไม่ให้อดีตกลับมาซ้ำรอย และเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรง ทั้งยังเป็นการสถาปนาหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชนให้ลงหลักปักฐานในสังคม ด้วย อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่มีการเน้นศึกษากระบวนการแสวงหาความยุติธรรมที่อยู่ในช่วงรอยต่อ ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ในช่วงหลังมีความพยายามขยายแนวคิดนี้ให้รวมถึงการจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งยังไม่ได้มีการเปลี่ยนระบอบการเมืองด้วย (Mendez 1997; Roht-Arriaza and Mariezcurrena 2007)
เกือบ ทุกประเทศล้วนเผชิญกับภาวะขัดแย้ง กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเต็มไปหมดในการสร้างสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมในระยะ เปลี่ยนผ่าน ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ง่ายดายที่ทุกประเทศจะสามารถดำเนินการได้เหมือนกัน หมด เพราะเงื่อนไขทางกฎหมาย ทางการเมือง และลักษณะของความรุนแรงต่างกัน ความยากลำบากอยู่ตรงที่จะจัดการกับสถาบัน องค์กร วัฒนธรรม และตัวบุคคลที่เคยมีส่วนในการใช้ความรุนแรงของรัฐอย่างไรให้เกิดความ ยุติธรรมโดยยังคงรักษาหลักนิติรัฐและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ประชาธิปไตยเอาไว้ไม่ให้ล้มครืนลงไปก่อนเวลาอันควร แต่ละสังคมจึงพยายามหาความสมดุลในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ ต้องคำนึงถึงมิติทางศีลธรรมและสิทธิมนุษยชน และเอาความยุติธรรมเป็นที่ตั้งโดยไม่ยอมจำนวนต่อสภาพความเป็นจริงทางการ เมือง
ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกลายเป็นวาระสำคัญในระดับโลกมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็น ต้นมา เพราะประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นหลักการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ บวกกับบรรทัดฐานที่ถูกสร้างขึ้นในระดับนานาชาติว่าอาชญากรรมของรัฐในอดีต เป็นสิ่งที่ต้องถูกชำระสะสาง และรัฐบาลรวมทั้งภาคประชาสังคมในทุกประเทศมีภาระหน้าที่ที่จะต้องสร้างความ ยุติธรรมให้เกิดขึ้น (Benomar 1993)
กลไก 6 ประการของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
ใน ระยะหลัง เกิดหลักการทางกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งระบุว่ารัฐทุกรัฐมีหน้าที่ต้องชำระ สะสางการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเป็นระบบในขอบเขต ประเทศของตน โดยรัฐมีหน้าที่แบกรับภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวด 4 ประการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน คือ
1. การสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี และลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
2. การ เปิดเผยความจริงให้เหยื่อ ครอบครัวของเหยื่อ และสังคมโดยรวมทราบเกี่ยวกับรายละเอียดและสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเที่ยงตรง
3. การให้ความช่วยเหลือที่เป็นการเยียวยาและชดเชยให้กับเหยื่ออย่างเหมาะสม
4. การ คัดกรองเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประวัติเลวร้ายในการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกจาก หน่วยงานของรัฐ และทำการปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพหลักสิทธิมนุษย ชน (Mendez 1997, 259-261)
ภารกิจ 4 ประการ ข้างต้น นำมาสู่การสร้างกลไกที่จำเป็นหลายประการด้วยกันเพื่อสถาปนาความยุติธรรมใน ระยะเปลี่ยนผ่าน แต่ละกลไกทำหน้าที่ต่างกัน แต่ก็เสริมซึ่งกันและกัน บางกลไกเน้นการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต ในขณะที่บางกลไกเน้นป้องกันความเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
กลไกหลักที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ในภารกิจการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มี 6 ประการดังต่อไปนี้
1.การดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิด
กลไก นี้เป็นกลไกที่จำเป็นและพึงปรารถนาในการสถาปนาความรับผิด ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องจัดให้มีการไต่สวนและดำเนินคดีที่เที่ยงธรรม ทั้งนี้ มีเหตุผลสำคัญหลายประการที่สนับสนุนว่าเหตุใดการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจึง มีความสำคัญ
ก. เป็น การป้องกันและยับยั้งไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอีกในอนาคต โดยแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ทำความผิดจะไม่สามารถรอดพ้นเงื้อมมือของกฎหมาย
ข. เป็น การสร้างบรรทัดฐานที่ดีสำหรับรัฐบาลในอนาคตว่าจะต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคม ทำให้เห็นว่าไม่มีชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือกฎหมาย
ค. เป็น การลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีประวัติมัวหมองในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ให้มีโอกาสในการรับราชการต่อไป ซึ่งเท่ากับการปฏิรูปกลไกรัฐไปในตัว ทั้งยังเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
ง. เป็น การเยียวยาเหยื่อและญาติของเหยื่อผู้ประสบความรุนแรงจากการกระทำของรัฐ ทำให้พวกเขาเห็นว่ารัฐให้ความยุติธรรมกับพวกเขา ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาไม่สิ้นศรัทธาที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
จ. การไต่สวนในศาลยังเป็นช่องทางในการสถาปนาความจริงได้อย่างดีไม่แพ้คณะกรรมการค้นหาความจริงด้วย (Orentlicher 1991)
ประเด็น ที่ต้องขบคิดคือ การดำเนินคดีควรจะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน จะดำเนินคดีกับใครบ้าง ระดับผู้บังคับบัญชาที่สั่งการหรือผู้ปฏิบัติงานระดับล่างที่รับคำสั่ง ผู้บังคับบัญชาควรจะต้องรับผิดชอบกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าระดับล่างมากน้อย แค่ไหน หลักฐานแบบไหนที่จะพอเพียงในการดำเนินคดี และถ้าคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมีส่วนในความรุนแรงจะดำเนินคดีกับทั้งสองฝ่าย หรือไม่ อีกประเด็นที่มักเป็นปัญหาในการดำเนินคดี คือ จะทำอย่างไรกับอายุความที่จำกัดของคดีที่เกิดขึ้นในอดีต ในฮังการีและเชคโกสโลวาเกีย สมาชิกรัฐสภาบางคนได้เสนอให้อายุความไม่มีกำหนด ด้วยเหตุที่ว่าอาชญากรรมในอดีตถูกเพิกเฉยจากระบอบเก่าอย่างจงใจด้วยเหตุผล ทางการเมือง จึงควรเริ่มนับอายุความภายใต้ระบอบใหม่ (Kritz 1995: xxi-xxiv) รวมทั้งปัญหาที่ว่าจะทำอย่างไรกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผู้นำในระบอบเก่าออกไว้
การฟ้องร้องเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษกระทำได้หลายช่องทาง มีทั้งการใช้ศาลในประเทศ (ละ ตินอเมริกา เกาหลี) ศาลระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ (รวันดา กับยูโกสลาเวีย) หรือแบบลูกผสมโดยหน่วยงานระหว่างประเทศมาช่วยเหลือให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ ทางเทคนิคต่อศาลของประเทศเจ้าภาพ (กรณีกัมพูชา) โดยอุปสรรคสำคัญที่สุดในการนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษคือ เงื่อนไขทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มอำนาจเก่ายังมีอำนาจมาก (เช่นในกรณีละตินอเมริกาที่กองทัพยังมีบทบาทสูง แม้ระบอบเผด็จการจะสิ้นสุดไปแล้ว) การเอาตัวอดีตนายทหารมาขึ้นศาลมักจะเสี่ยงต่อการถูกรัฐประหารโดยกองทัพ อย่าง ไรก็ตาม ในปัจจุบันทั่วโลกมีฉันทามติร่วมกันว่า ในกรณีที่รัฐได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้าย แรง การนิรโทษกรรมอย่างเหวี่ยงแหเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ ดังนั้น แม้จะมีอุปสรรคขวากหนามเพียงใด แต่ละสังคมควรพยายามผลักดันให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายให้ ได้ (Kritz 1995, xxii)
2.การแสวงหาความจริง
รูปแบบหลักที่นิยมใช้กันทั่วโลก คือ การตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง (truth commission) ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือคณะกรรมการมิได้มีหน้าที่เพียงแค่บรรยายถึง ข้อเท็จจริงว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรเท่นั้น แต่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ที่มาที่ไป และการตัดสินเชิงคุณค่าให้สังคมตระหนักว่าการกระทำของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ถูกต้องอย่างไรด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับอนาคต นอกจากนั้น กรรมการยังมีหน้าที่ให้การศึกษากับสังคมเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงและสิทธิ มนุษยชน และยังมีหน้าที่เปิดโอกาสให้เหยื่อและญาติของเหยื่อมีพื้นที่ในการบอกกล่าว ความทุกข์ร้อนของพวกเขาให้สังคมได้รับรู้ด้วย (Hayner 1994)
นอก จากนั้นยังมีประเด็นอีกหลายประเด็นที่ต้องคำนึงถึง เช่น กรอบระยะเวลาควรจะจำกัด องค์ประกอบของคณะกรรมการควรจะมีความสมดุลประกอบด้วยคนหลายฝ่ายและมีความน่า ชื่อถือ ไม่ควรตั้งคนที่เคยแสดงตัวชัดเจนว่าเข้าข้างคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ควรจะมีคนจากภายนอกประเทศมาเสริมด้วยในกรณีที่เงื่อนไขภายในประเทศบ่งชัด ว่ายากที่จะหาคนในประเทศที่เป็นกลางมาทำหน้าที่ ดังในกรณีเอล ซัลวาดอร์ที่มีชาวต่างประเทศมาร่วมทำหน้าที่ หรือในกรณีอดีตสหภาพยูโกสลาเวีย) อำนาจหน้าที่ของกรรมการต้องชัดเจน และควรมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเอกสารและพยานบุคคล กระบวนการรับฟังพยานต้องโปร่งใสและทั่วถึง และรายงานควรจะเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ (อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกพาดพิงถึงในรายงานควรมีสิทธิในการโต้แย้งหรือหักล้างพยานหลักฐาน ต่อหน้าคณะกรรมการด้วย)
ข้อ พึงระวังคือ คณะกรรมการค้นหาความจริงทำหน้าที่ต่างจากศาล เพราะมีกระบวนการไต่สวนและหักล้างพยานหลักฐานที่หนักแน่นแตกต่างกัน คณะกรรมการฯ มีหน้าที่หลักในการให้การศึกษากับสังคม โดยความจริงที่ได้จากรายงานของคณะกรรมการไม่ควรถือเป็นจุดสิ้นสุด หากควรเป็นบันไดขั้นต้นที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมทางศาล ต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมสำหรับผู้สูญเสีย สังคมจึงควรถือว่าคณะกรรมการค้นหาความจริงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น มิใช่องค์ประกอบเดียวที่เพียงพอสำหรับการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยน ผ่าน (Popkin and Roht-Arriaza 1995)
3.การชดเชยและเยียวยา
การชดเชยและเยียวยาทำหน้าที่สำคัญ 3 ประการ หนึ่ง ช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปรกติอย่างน้อยในแง่ที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน สอง เป็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการว่ารัฐและสังคมตระหนักรับรู้ถึงความเจ็บปวด สูญเสียที่เหยื่อและญาติได้รับ ซึ่งเท่ากับสร้างบูรณาการทางสังคมให้คนคลายความรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกเหลียว แล หรือถูกปล่อยให้ทุกข์ทรมานแต่เพียงลำพัง ในแง่นี้หมายความว่า การชดเชยและเยียวยาไม่ได้มีความสำคัญในเชิงรูปธรรมที่เป็นข้าวของเงินทอง เท่านั้น แต่มันสำคัญในเชิงนามธรรมที่เป็นเรื่องของสภาพจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ด้วย คำขอโทษและการยอมรับผิดจากรัฐบาลต่อความผิดที่ได้กระทำลงไปจึงนับเป็นการชด เชยที่สำคัญอย่างยิ่ง สาม มันอาจจะช่วยทำให้รัฐมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นที่จะใช้ความรุนแรงอีกใน อนาคต เพราะการชดเชยสร้างภาระรับผิดชอบให้กับการกระทำดังกล่าว ปัจจุบันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ มีฉันทามติร่วมกันว่ารัฐมีหน้าที่ต้องชดเชยความสูญเสียให้กับเหยื่อของการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ และถ้ารัฐบาลที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิไม่ได้ทำการชดเชย ภาระนี้จะตกทอดไปถึงรัฐบาลถัดไปด้วย (Kritz 1995: xxvii)
อย่าง ไรก็ตาม แต่ละประเทศมีระดับและของเขตของการชดเชยที่แตกต่างกันไป ชิลีเป็นประเทศที่มีการเยียวยาและชดเชยให้กับเหยื่อของความรุนแรงอย่างครอบ คุลมและเต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด มีการให้บำนาญตลอดชีวิตสำหรับญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม มีการชดเชยให้กับผู้ที่ถูกคุมขังทั้งในแง่รายได้ที่สูญเสียไปโดยคำนวณจาก เวลาที่ถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรม รวมถึงผลประโยชน์ด้านการศึกษาของบุตร การรักษาพยาบาล และการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (Kritz 1995: xxvii)
4. การปฏิรูปสถาบัน และองค์กรที่มีส่วนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต เช่น ตำรวจ ทหาร หน่วยงานด้านความมั่นคง และกลไกรัฐอื่นๆ
กลไก นี้เป็นกลไกเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดวงจรของการใช้ความรุนแรงโดยเจ้า หน้าที่รัฐต่อพลมืองของตัวเองอีกในอนาคต มีหลายมาตรการ นับตั้งแต่การปลูกฝังหลักความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เจ้าหน้าที่รัฐ การอบรมหลักสากลในการสลายการชุมนุมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ การไม่ให้ทหารเข้ามาดูแลรักษาความสงบภายในประเทศ การปรับกองทัพให้เล็กลง ฯลฯ
5. การปลดคนและห้ามมิให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบเก่าดำรงตำแหน่งในระบบราชการ
กลไก นี้ถูกนำมาใช้ในยุโรปตะวันออกภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นมาตรการที่มีปัญหาพอสมควร เพราะมีลักษณะเหวี่ยงแห และไม่ได้เปิดโอกาสให้จำเลยมีได้ปกป้องตัวเองในศาล ถ้าจะมีการใช้กลไกนี้ จึงต้องกระทำอย่างโปร่งใสผ่านการสืบสวนสอบสวนที่เชื่อถือได้ (Schwartz 1994 และดูส่วนที่พูดถึงโมเดลยุโรปตะวันออก)
6. การนิรโทษกรรม
การ นิรโทษกรรมคือกลไกที่ประนีประนอม และมีปัญหาให้โต้แย้งกันได้มากที่สุด สังคมที่เลือกใช้การนิรโทษกรรมมักจะให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการดำเนินคดีกับใคร เนื่องจากกลัวว่าจะทำให้สังคมแตกแยกหรือทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจในระบอบเก่าไม่ พอใจจนกระทั่งกลับมายึดอำนาจ รวมทั้งไม่ต้องการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงเพราะกลัวว่าความจริงจะทำให้ สังคมเจ็บปวดและแตกแยกมากขึ้นกว่าเดิม จึงเลือกใช้วิธีนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายเพื่อแลกกับความสงบ (ชั่วคราว?) ถือเสียว่า “ที่แล้วก็แล้วกันไป”
แนว ทางนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากจากมุมมองของฝ่ายที่อยากเห็นความยุติธรรมและความ จริง แต่ฝ่ายที่สนับสนุนจะโต้เถียงว่าในกรณีที่รัฐบาลพลเรือนหรือฝ่ายประชาธิปไตย อ่อนแอ การ นิรโทษกรรมเป็นหนทางที่ดีที่สุดแล้ว โดยจะอ้างเรื่องความปรองดองและความสงบสุขของสังคม บอกว่าดีกว่าไม่ได้อะไรเลย หรือดีกว่าแสวงหาความยุติธรรมและความจริงแล้วเสี่ยงให้ฝ่ายเผด็จการกลับมา ยึดอำนาจ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อในหลายประเทศแสดงความไม่เห็นด้วย กับการนิรโทษกรรมอย่างชัดเจน เช่นใน อาร์เจนตินา เมื่อรัฐบาลเสนอค่าชดเชยแลกกับการที่พวกญาติ (ของคนสูญหาย ตาย เจ็บ) จะสละสิทธิไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ ก็ทำให้กลุ่มญาติแตกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งยอมรับค่าชดเชยจากรัฐบาล เพราะรู้สึกว่าต่อสู้เรียกร้องไปก็เหนื่อยล้าและไม่ได้อะไร แต่ญาติอีกกลุ่มหนึ่งยืนหยัดสู้ต่อ โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการความจริงและความยุติธรรม (Arditti 1999) หรือ ในกรณีของแอฟริกาใต้ ที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจำนวนมากไม่พอใจนโยบายของคณะกรรมการค้นหาความ จริงที่ให้นิรโทษกรรมกับผู้กระทำผิดเพียงเพื่อแลกกับคำสารภาพ
ต่อ กรณีการนิรโทษกรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติมีมติชัดเจนว่าการนิรโทษกรรมอย่าง เหวี่ยงแหให้กับทุกฝ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายระหว่าง ประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง เพราะเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการลอยนวล” (a climate of impunity) ที่ทำให้กฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และยังเป็นการพรากสิทธิของเหยื่อในการได้มาซึ่งความยุติธรรมด้วย (Kritz, xxii)
เป้า หมายที่เป็นอุดมคติที่ทุกประเทศควรยึดถือไว้ในการสร้างความยุติธรรมในระยะ เปลี่ยนผ่าน คือ การผลักดันให้มีการใช้กลไกทุกอย่างไปพร้อมกัน เพื่อบรรลุความยุติธรรม (ในความหมายว่าเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ) ความจริง การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อและครอบครัว และการปฏิรูปหน่วยงานของรัฐ กรณี ที่ห่างไกลจากอุดมคติที่สุด และต้องถือว่าล้มเหลวที่สุดคือ กรณีที่ประเทศใดก็ตามผลักดันให้มีการออกนิรโทษกรรม โดยไม่ผลักดันให้มีการสร้างกลไกอื่นๆ ขึ้นมาทำหน้าที่ควบคู่ไปด้วย
โมเดลของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
แรก เริ่มเดิมที ความพยายามในการสถาปนาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นในภูมิภาคละติ นอเมริกา ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังยุโรปตะวันออก ต่อด้วยแอฟริกาใต้ อดีตสหภาพยูโกสลาเวีย รวันดา จนมาถึงเอเชีย และยังคงแพร่หลายต่อเนื่องไปจนทั่วทุกมุมโลกในปัจจุบัน แอฟริกาใต้จึงไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ และไม่ใช่โมเดลแบบเดียวที่เราสามารถเก็บรับมาเป็นบทเรียน โดยโมเดลที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
โมเดลยุโรปตะวันออก: ใน ยุโรปตะวันออก (เยอรมันตะวันออก ฮังการี เชคโกสโลวาเกีย โรมาเนีย โปแลนด์) ความรุนแรงกินระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคนภายใต้การปกครองของพรรค คอมมิวนิสต์ คนที่มีส่วนร่วมกับรัฐในการใช้ความรุนแรงจึงมีมากมายมหาศาล เพราะรัฐใช้กลไกการควบคุมทางสังคม ผ่านการสอดแนม การเซ็นเซอร์ และการควบคุมกันเอง โดยอาศัยพลเมืองมาเป็นสายสืบให้กับรัฐ การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบต่อเนื่องยาวนาน ประชากรจำนวนมากมีส่วนเป็นแขนขาให้กับการใช้ความรุนแรงของรัฐไม่มากก็น้อย (Rosenberg 1996; Benomar 1993: 3-6)
รูป แบบของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกเป็นรูปแบบ ที่มีปัญหาและไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีการดำเนินคดีกับเฉพาะผู้นำบางคน ซึ่งกระบวนการดำเนินคดีไม่ได้ยึดหลักการไต่สวนอย่างเคร่งครัด และหลักฐานที่ใช้ก็ไม่หนักแน่น มีลักษณะเป็นการใช้กระบวนการทางศาลเล่นงานศัตรูทางการเมือง ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ ส่วนกลไกอีกประการหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของโมเดลยุโรปตะวันออก คือ การออกกฎหมายห้ามมิให้คนที่เคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือเคยให้ความร่วม มือกับตำรวจสืบราชการลับมีสิทธิรับราชการในตำแหน่งการเมืองและเศรษฐกิจที่ สำคัญ ถือเป็นมาตรการลงโทษ แต่กฎหมายนี้ก็ถูกวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของ พลเมือง เนื่องจากไม่ได้ตัดสินคนจากความผิดที่เขากระทำจริงๆ แต่ไปดูจากหน่วยงานที่เขาสังกัด ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกลงโทษมีสิทธิแก้ต่างในศาลด้วย (Human Rights Watch 1989, 1-2; Schwartz 1994)
โมเดลละตินอเมริกา: ในละตินอเมริกาความรุนแรงเกิดจากระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งมีอายุสั้นกว่าระบอบคอมมิวนิสต์ รูปแบบหลักของความรุนแรงคือ เจ้าหน้าที่รัฐกระทำวิสามัญฆาตกรรม สังหารหมู่ ทรมาน และทำให้หายสาบสูญ โดยกระทำไปภายใต้นโยบายการกำจัดศัตรูทางการเมืองของรัฐ และนโยบายสร้างความหวาดกลัวเพื่อปกครอง (Corradi, Fagen, and Garretón 1992)
ประเทศ ในภูมิภาคละตินอเมริกาที่มีความโดดเด่นในเรื่องการสถาปนาความยุติธรรมในระยะ เปลี่ยนผ่านคือ ชิลีและอาร์เจนตินา และความพยายามในทั้งสองประเทศกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับรัฐบาลเนลสัน แมนเดลาของแอฟริกาใต้ด้วย (Mendez 1997) (ใน ขณะที่ประเทศอื่นที่เหลือในภูมิภาคอาทิ โคลัมเบีย เปรู กัวเตมาลา อุรุกวัย มีประวัติค่อนข้างเลวร้ายในการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำยังเลื่อนขั้นให้เจ้าหน้าที่หลายคนที่มีประวัติมัวหมองด้วย)
อาร์เจนตินา เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง จนกลายเป็นตัวแบบหลักประเทศหนึ่งของโลกในเรื่องนี้ทีเดียว เพราะมีความต่อเนื่อง พลิกแพลง และเอาจริงเอาจังจากทั้งภาครัฐและภาคสังคมในการสถาปนาความยุติธรรมให้เกิด ขึ้น โดยไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากกองทัพซึ่งคัดค้านกระบวนการสร้างความยุติธรรม และที่สำคัญมีการใช้กลไกหลักทุกอย่างเพื่อสถาปนาความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกรรมการค้นหาความจริง การดำเนินคดีกับผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ปฏิบัติงาน การจ่ายค่าชดเชยให้กับเหยื่อ การปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคง (ดูรายละเอียดในบทความกรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา) จนอาจกล่าวได้ว่าอาร์เจนตินาโมเดลเป็นโมเดลที่ดีที่สุด และน่าพึงปรารถนากว่าแอฟริกาใต้โมเดลเสียอีก
สำหรับ ประเทศชิลีเป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลประชาธิปไตยเกิดใหม่จำต้องเผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจเลือก ระหว่างการนิรโทษกรรมกับการนำตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะกองทัพยังคงมีอำนาจสูงในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ร่างตั้งแต่สมัยทหารครองอำนาจช่วยรักษา อำนาจของนายพลระดับสูงเอาไว้ ทั้งยังมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1978 ลบล้างความผิดทุกประการของเจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นก่อนปี 1978 ไว้ด้วย ในที่สุดรัฐบาลชิลีของประธานาธิบดี Patricio Aylwin เลือกที่จะใช้หนทางสายกลางคือ ตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง เพื่อสืบสวนสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นภายใต้ระยะเวลา 17 ปีของยุคเผด็จการทหาร คณะกรรมการทำงานอยู่ 9 เดือน สอบสวนกรณีที่มีการร้องเรียนเข้ามาถึง 4,000 เรื่อง ในจำนวนนี้ 2,025 เรื่องเป็นกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ 90 เรื่องเป็นการละเมิดสิทธิฯ โดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และอีก 164 กรณี เป็นกรณีที่ผู้ร้องเรียนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมืองจากการปะทะกันของทั้งสองฝ่าย เมื่อสอบสวนเสร็จสิ้น มี 641 กรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถหาข้อสรุปได้เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ (Benomar 1993, 7-8 และดูรายละเอียดในบทความกรณีศึกษาประเทศชิลี)
คณะกรรมการยื่นรายงานฉบับสมบูรณ์ความยาว 1,800 หน้าให้กับประธานาธิบดี Aylwin ในเดือนกุมภาพันธ์ 1991 ซึ่งเขาได้พูดต่อหน้าประชาชนทั้งประเทศผ่านทางโทรทัศน์ กล่าวคำขอโทษต่อเหยื่อและครอบครัวในนามของรัฐบาล ทั้งยังเรียกร้องให้กองทัพออกมายอมรับผิดในความผิดที่ได้ทำลงไป การทำหน้าที่ของคณะกรรมการแสวงหาความจริงของชิลีได้รับการยกย่องว่าทำงาน เป็นระบบ เที่ยงตรง และมีความเป็นมืออาชีพอย่างสูง (Benomar 1993, 8-9) องค์ ประกอบของกรรมการมีความสมดุล ทำงานร่วมกับเหยื่อและองค์กรญาติ และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี คณะกรรมการมีอำนาจในการเข้าถึงเอกสารราชการและหลักฐานการชันสูตรศพของแพทย์ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจและกองทัพ ในรายงานที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ มีการจัดทำข้อเสนอให้ปฏิรูประบบกฎหมายและการศึกษาเพื่อส่งเสริมการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนในอนาคต และยังเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาและชดเชยให้กับครอบครัวของผู้สูญเสีย ด้วย อย่างไรก็ตาม รายงานไม่ได้ระบุรายชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิเอาไว้ เพียงแค่ระบุถึงความผิดของทหารบางหน่วย สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับความผิดของเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคล คณะกรรมการได้ยื่นต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการต่อ แต่กฎหมายนิรโทษกรรมก็ได้กลายเป็นอุปสรรคทำให้ศาลมิสามารถดำเนินคดีได้
เมื่อ กล่าวถึงประเทศชิลี หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบยกความพยายามของหลายฝ่ายที่จะดำเนินคดีกับนาย พลออกุสโต ปิโนเชต์มากล่าวถึง เพราะความพยายามดังกล่าวนี้เองที่นำไปสู่กระแสที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมข้ามพรมแดน” (transborder justice) หรือ “ความยุติธรรมข้ามชาติ” (transnational justice) (Roht-Arriaza 2006) อดีตประธานาธิบดีผู้อื้อฉาวรายนี้มีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหาร การทรมาน และการลักพาตัวฝ่ายค้านทางการเมืองจำนวนมากกว่า 30,000 คน ในช่วงที่เขาเรืองอำนาจ กฎหมายนิรโทษกรรม และตำแหน่งวุฒิสมาชิกตลอดชีพที่เขาแต่งตั้งตัวเองทำให้ยากที่จะนำตัวเขามาลง โทษ เขาจึงลอยนวลและดูเหมือนว่าจะสามารถมีชีวิตอยู่เหนือกฎหมายแม้ว่าจะพ้นจาก อำนาจไปแล้ว แต่เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดฝันคือ มีการจับกุมปิโนเชต์ในลอนดอนในปี 1998 ในขณะที่เขา เดินทางไปรักษาตัวที่นั่น สาเหตุที่เขาถูกจับเป็นเพราะมีหมายจับของตำรวจสากลที่ทางศาลสเปนได้ยื่นเอา ไว้ โดยผู้พิพากษาหัวก้าวหน้าชาวสเปนได้อ้างอิงกฎหมายสเปนที่รองรับหลักการ เรื่องเขตอำนาจสากล (universal jurisdiction) ซึ่งระบุว่าอาชญากรรมบางชนิดเข้าข่ายร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ ฉะนั้นไม่ว่ามันจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใดในโลก ผู้กระทำผิดสามารถถูกดำเนินคดีที่ประเทศใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นในประเทศตัวเอง [1] อย่าง ไรก็ตาม ท้ายที่สุดทางอังกฤษตัดสินใจไม่ส่งตัวปิโนเชต์ให้ศาลสเปนดำเนินคดี เนื่องจากปิโนเชต์อ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพไม่เอื้ออำนวย จึงปล่อยตัวปิโนเชต์กลับชิลี (หลังจากกักตัวไว้ ประมาณสองปี) ในเวลาต่อมา ศาลอาญาของชิลีเองก็พยายามดำเนินคดีปิโนเชต์ในหลายข้อหาทั้งเรื่องการละเมิด สิทธิมนุษยชนและการคอร์รัปชั่น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการนำตัวเขาขึ้นศาล เพราะข้อจำกัดทางกฎหมายและการเมืองภายในประเทศ จนในที่สุด ปิโนเชต์เสียชีวิตในปี 2006 ทำให้เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อหมดโอกาสที่จะได้เห็นความยุติธรรม
กรณี ปิโนเชต์ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงการกฎหมายและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หลายฝ่ายเล็งเห็นข้อจำกัดทางกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้มีกระแส “ความยุติธรรมข้ามพรมแดน” เกิดขึ้น และหลักการเรื่องเขตอำนาจสากลก็ถูกนำไปปฏิบัติมากขึ้น เช่นในปี 2000 ศาลในประเทศเซเนกัล (Senegal) ตัดสินว่าอดีตประธานาธิบดีประเทศชาด (Chad) มีความผิดฐานสั่งให้มีการทรมานผู้อื่น เป็นกรณีแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำของประเทศแอฟริกาถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยศาลของอีกประเทศหนึ่ง หรือกรณีนายฟูจิโมริ อดีตผู้นำเปรูที่ไปถูกจับที่ชิลี และในที่สุดทางการชิลีตัดสินใจส่งตัวเขากลับไปให้เปรูดำเนินคดีข้อหาละเมิด สิทธิมนุษยชน (Roht-Arriaza 2006)
โมเดลแอฟริกาใต้: มี รูปแบบความรุนแรงที่ผสมกันทั้งแบบละตินอเมริกาและยุโรปตะวันออก จึงเป็นกรณีที่ซับซ้อนและท้าทายมาก มีการตั้งกรรมการค้นหาความจริง โดยเน้นความจริงมากกว่าการนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ให้นิรโทษกรรมกับคนที่ทำผิดแลกกับการรับสารภาพต่อคณะกรรมการแสวงหาความจริง (แต่ก็มีความพยายามนำตัวคนผิดมาลงโทษด้วย กรณีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนศาลจะตัดสินว่าไม่มีความผิด) เป็นโมเดลที่สาธุคุณ เดสมอน ตูตู ประธานคณะกรรมการฯ ยอมรับว่าเป็นโมเดลแบบประนีประนอม เพราะมาจากความจริงที่ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้ เกิดจากการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลของคนผิวขาวกับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลของคนผิวดำ อันเนื่องมาจากภาวะชะงักงันที่ไม่มีใครเอาชนะอีกฝ่ายได้อย่างเด็ดขาด โมเดลแบบแอฟริกาใต้ยังประยุกต์ใช้วัฒนธรรมแบบคริสเตียนที่เชื่อในเรื่องการ ไถ่บาปที่ตนเองทำลงไปโดยสารภาพความจริงต่อพระผู้เป็นเจ้า จึงทำให้เกิดคำถามว่าอาจจะมีข้อจำกัดในการนำรูปแบบของแอฟริกาใต้ไปใช้ใน ประเทศที่นับถือศาสนาอื่น
อย่าง ไรก็ตาม โมเดลของแอฟริกาใต้ได้กลายเป็นตัวอย่างที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและมีอิทธิพล ต่อหลายประเทศที่ต้องการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะหนึ่ง คนที่เป็นประธานคณะกรรมการและเป็นผู้นำประเทศ (เดสมอน ตูตู และเนลสันแมนเดลา) ทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับกระบวนการที่จัดตั้งขึ้น ทั้งยังเป็นคนมีบารมีที่ได้รับความศรัทธาจากนานาชาติ สอง นวัตกรรมในเรื่องการออกนิรโทษกรรมแลกกับคำสารภาพ ทำให้แอฟริกาใต้โมเดลกลายเป็นทางเลือกสำหรับประเทศที่ไม่ต้องการดำเนินคดี กับผู้กระทำผิด แต่ก็อยากสถาปนาความจริง สาม โมเดลแอฟริกาใต้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในชาติได้มากกว่าโมเดลอื่นๆ (du Toit 2000; Boraine 2000)
โมเดลอดีตสหภาพยูโกสลาเวียและรวันดา: ในทั้งสองกรณีเกิดความรุนแรงในระดับที่ร้ายแรงสูงสุดที่เรียกว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ซึ่ง สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก มีคนตายไปเป็นล้านคนจากกรณีทั้งสองรวมกัน จึงทำให้นานาชาติเข้ามามีบทบาทในการสร้างความยุติธรรมเพื่อสร้างบรรทัดฐาน สากลว่าความรุนแรงโดยรัฐอย่างกว้างขวาง ร้ายแรง และเป็นระบบ “จะไม่เกิดขึ้นอีก” (เกิดเป็นคำขวัญรณรงค์ทั่วโลกว่า Never Again) บวกกับภาวะแตกสลายทางสังคมหลังความรุนแรงในทั้งสองประเทศ ทำให้ทั้งสองประเทศไม่มีศักยภาพและทรัพยากรเพียงพอในการสร้างความยุติธรรม ด้วยตนเอง จึงนำไปสู่การจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นกรณีพิเศษโดยได้รับการสนับ สนุนจากองค์การสหประชาชาติเพื่อนำตัวคนผิดในแต่ละกรณีมาลงโทษ ศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจสำหรับยูโกสลาเวีย (The International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia) ตั้งขึ้นในปี 1993 นับ เป็นศาลอาชญากรรมสงครามแห่งแรกที่ตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ และยังเป็นครั้งแรกหลังกรณีสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการจัดตั้งศาลอาญา ระหว่างประเทศขึ้น จนถึงปัจจุบัน ศาลได้พิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิด (รวมถึงอดีตผู้นำรัฐบาลและกองทัพระดับสูง) ไปแล้ว 60 ราย และอีก 40 รายกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2013 ก่อนที่จะส่งต่อคดีที่เหลือ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับกลางและล่าง) ไปให้ศาลภายในประเทศดำเนินการต่อไป [2] นอกจากนั้นยังมีการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงสำหรับยูโกสลาเวียขึ้นโดยสหประชาชาติ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลมาดำเนินคดีด้วย
สำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจสำหรับรวันดา(International Criminal Tribunal for Rwanda) ตั้งขึ้นในปี 1994 จนถึงปัจจุบันศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นไปแล้ว 52 คดี (ตัดสินว่ามีความผิด 36 ราย) และเหลือคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและรอการพิจารณาอีก 24 คดี [3] ความ น่าสนใจในกรณีรวันดา คือ มีการตัดสินลงโทษสื่อมวลชนบางรายว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่เกิดขึ้นด้วย และภายหลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ยังมีการตั้งศาลในประเทศระดับท้องถิ่นในปี 2001 เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยใช้หลักความยุติธรรมแบบชุมชนด้วย (Thompson 2007; Clark 2010)
จาก ทั้งสองกรณี ชี้ให้เห็นว่าความจริงและความยุติธรรมสามารถไปด้วยกันได้ มิจำเป็นต้องเลือกว่าความจริงสำคัญกว่าและน่าพึงปรารถนากว่าความยุติธรรม และยังชี้ด้วยว่าการนำตัวคนผิดมาลงโทษมิจำเป็นต้องเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง ความสมานฉันทน์และสันติภาพในสังคมอย่างที่มักจะเข้าใจผิดกัน เพราะสันติภาพที่ยั่งยืนกว่าคือสันติภาพที่มาพร้อมกับหลักนิติรัฐและหลัก สิทธิมนุษยชน
โมเดลกัมพูชา: ตั้งศาลลูกผสมระหว่างศาลในประเทศร่วมมือกับความช่วยเหลือจากนานาชาติ เพื่อนำตัวคนผิดมาลงโทษ แม้ว่าอาชญากรรมของรัฐจะผ่านมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม โดยก่อนหน้านั้น มีการตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น ภายใต้ระบอบเขมรแดงอย่างละเอียดถี่ถ้วน และข้อเท็จจริงที่รวบรวมไว้ก็กลายมาเป็นหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินคดีในศาลใน ท้ายที่สุด (ดูรายละเอียดในบทความกรณีศึกษาประเทศกัมพูชา)
โมเดลไทย: ขอเรียกว่าโมเดล “ลืม- มึน- งง” หรือโมเดล “ที่แล้วก็แล้วไป” คือทั้งรัฐและสังคมโดยรวมไม่ทำอะไรเลย ไม่แสวงหาความจริง ไม่แสวงหาความยุติธรรม ไม่เผชิญหน้ากับอดีต ไม่นำตัวคนผิดมาลงโทษไม่ว่าจะเป็น “ปลาใหญ่” หรือ “ปลาเล็ก” ไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมกับใคร ไม่ปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือกระบวนการยุติธรรม มีแต่เรียกร้องให้เหยื่อและครอบครัวให้อภัยกับผู้กระทำผิด แต่มิเคยเรียกร้องผู้กระทำผิดให้ขอโทษหรือยอมรับผิดในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ถึงแม้ว่ามีการชดเชยให้กับเหยื่อที่บาดเจ็บ พิการและญาติผู้เสียชีวิตอยู่บ้าง แต่ก็ทำแบบกระท่อนกระแท่น เสมือนการทำบุญให้ทานในลักษณะสังคมสงเคราะห์ มากกว่าที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐได้สำนึกผิดต่อสิ่งที่ได้ทำลงไป ฉะนั้นการชดเชยแบบไทยๆ จึงไม่สามารถฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ที่สูญเสียได้เลย ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของความยุติธรรมแบบไทยๆ คือ การที่ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐออกนิรโทษกรรมให้กับการใช้ความรุนแรงของตนเอง รวมทั้งสร้างกลไกทางกฎหมายบางอย่างไว้เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีการดำเนินคดีกับ การใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของตนด้วย (เช่น การออกพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน)
กรณีแอฟริกาใต้: การปรองดองที่ไม่ได้มาพร้อมกับความยุติธรรม
นักสังเกตการณ์หลายคนเรียกกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในแอฟริกาใต้ในทศวรรษ 1990 ว่าคือ ความมหัศจรรย์ (miracle) คำถามคือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
สถานการณ์ ทางการเมืองในแอฟริกาใต้ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนผ่านมาสู่ประชาธิปไตย คือ สงครามกลางเมืองที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจัดตั้งกองกำลังทหารขึ้นมาสู้รบกับ รัฐบาลแบ่งแยกสีผิวของผู้นำผิวขาว (Apartheid regime) แต่ ในที่สุดการประนีประนอมและเจรจาระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายทำให้เกิดการเปลี่ยน ผ่านอย่างสันติไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้งที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน เนลสัน แมนเดลา และอดีตประธานาธิบดีเอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิก (FW de Klerk) เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติเกิดขึ้น
ลำดับเหตุการณ์อย่างย่อในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองแอฟริกาใต้มีดังต่อไปนี้
ปี 1989 ประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิก ผู้นำผิวขาวสายปฏิรูปขึ้นรับตำแหน่ง และเริ่มกระบวนการหันหน้าเข้าหาฝ่ายค้าน โดยเขาพยายามเจรจาหว่านล้อมทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและอนุรักษ์นิยมสุดขั้วใน พรรคของเขาให้เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเมืองที่จะให้ชาว แอฟริกันผิวดำเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง
กุมภาพันธ์ 1990 แมนเดลาได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระหลังจากถูกคุมขังอยู่นานถึง 27 ปี ในข้อหากบฎซึ่งเขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ด้วยแรงกดดันจากนานาชาติทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องตัดสินใจปล่อยตัวเขา
พฤษภาคม 1990 การเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านของแมนเดลาเริ่มต้นขึ้น และรัฐสภาผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนธันวาคม 1993 พอถึงเดือนเมษายน 1994 มี การจัดการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่คนผิวสีได้รับอนุญาติให้ลงสมัคร แมนเดลาลงสมัครพร้อมกับนโยบายว่าด้วยการให้อภัยและการปรองดอง และเขาพูดถึงความฝันเรื่องการรวมชาติแอฟริกันให้เป็นหนึ่งเดียว พรรคของแมนเดลา (African National Congress) ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และตัวเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี แมนเดลาประกาศเดินหน้าการปรองดองทันทีที่รับตำแหน่ง และผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริง โดยบอกว่านี่คือหนทางสู่การสร้างชาติใหม่ที่คนในชาติมีความสมานฉันทน์กัน
พอถึงปี 1995 ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแสวงหาความจริงและความสมานฉันท์ของแอฟริกาใต้ (South Africa's Truth and Reconciliation Commission- TRC) ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมเอกภาพและความสมานฉันทน์แห่งชาติในปี 1995 ที่ออกโดยรัฐสภา เพื่อสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในยุคแบ่งแยกสีผิว (apartheid) เป้าหมายของคณะกรรมการคือ การเสริมสร้างให้เกิดความปรองดองในชาติผ่านการสถาปนาความจริง โดยคณะกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงโทษใคร เพียงแค่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนและเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งจำกัดอยู่แค่กรณีการฆ่า การลักพาตัว การทรมาน และการปฏิบัติต่อพลเมืองอย่างรุนแรง แต่ไม่รวมถึงการสอบสวนเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือความ เหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เป็นผลมาจากนโยบายของระบอบเก่า เพราะคณะกรรมการตระหนักว่าการทำงานต้องมีการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ก่อนหลัง เพราะปัญหาเร่งด่วนในขณะนั้นคือ การแก้ปมปัญหาทางการเมืองด้วยการสร้างพื้นที่ทางการเมืองที่ทุกฝ่ายสามารถ เข้ามามีส่วนร่วม (Villa-Vicencio and Verwoerd 2000) นอกจากนั้นคณะกรรมการยังมีอำนาจนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดที่เข้าเงื่อนไข ที่คณะกรรมการตั้งไว้ สรุปได้ว่า คณะกรรมการในแอฟริกาใต้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีกรอบการทำงานและอำนาจหน้าที่ที่ ชัดเจนตามกฎหมายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐสภา (มิใช่จากรัฐบาลหรือผู้นำ)
ในการทำงานของคณะกรรมการ มีการจัดตั้งคณะกรรมการย่อย 3 ชุดเพื่อรับผิดชอบเรื่อง 1. การละเมิดสิทธิมนุษยชน (มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน) 2. การเยียวยาและชดเชย (มีหน้าที่ฟื้นคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่อและจัดทำข้อเสนอแนวทางการชดเชย) และ 3. การ นิรโทษกรรม (มีหน้าที่พิจารณาใบสมัครเพื่อขอนิรโทษกรรม) โดยลักษณะพิเศษของกระบวนการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในแอฟริกา ใต้คือ กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ก่อความรุนแรงสามารถยื่นขอนิรโทษกรรมได้โดยมีเงื่อนไข ว่า หนึ่ง อาชญากรรมที่ก่อต้องเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง สอง น้ำหนักของความผิดที่กระทำลงไปได้สัดส่วนกับเป้าหมายทางการเมือง และสาม ผู้กระทำผิดต้องสารภาพความจริงทั้งหมดถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นต่อหน้า กรรมการในที่สาธารณะ เช่น สังหารเหยื่อ กี่คน ชื่ออะไร ที่ไหน อย่างไร และจัดการกับศพอย่างไร เพื่อให้สังคมและญาติได้รู้ความจริงทั้งหมด โดยในการสารภาพ จะมีการเชิญญาติของเหยื่อมารับฟังเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริงที่ ครบถ้วนหรือไม่ ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายกบฎ และกลุ่มกองกำลังฝ่ายขวา และกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม รวมทั้งสิ้น 7,112 คนยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการ “การสารภาพแลกกับนิรโทษกรรม” นี้ (แต่ในจำนวนนี้ มีอดีตสมาชิกคณะรัฐมนตรีจากรัฐบาลแบ่งแยกสีผิวเพียงคนเดียว) ท้ายที่สุด คณะกรรมการปฏิเสธใบสมัครถึง 5,392 ราย และได้อนุมัติการนิรโทษกรรมไปประมาณ 849 ราย ทั้งนี้คณะกรรมการเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อรับฟังปากคำจากพยานที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงถึง 21,000 คน โดยกรอบเวลาที่คณะกรรมการไต่สวนนั้นยาวนานมากคือ ครอบคลุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 1960 ถึง 10 พฤษภาคม 1994 (วันที่เนลสัน แมนเดลาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี)
คณะกรรมการเริ่มกระบวนการรับฟังโดยเปิดให้สาธารณชนเข้าร่วมได้ในเดือนเมษายน 1996 โดยคนที่เป็นประธานคือ สาธุคุณเดสมอน ตูตู (Archbishop Desmond Tutu) ฝ่าย ผู้กระทำผิดที่มาให้การมีทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักการเมือง และหน่วยปฏิบัติการลับ คณะกรรมการรายหนึ่งกล่าวถึงความสำคัญของกระบวนการรับฟังว่า “หากเราไม่สามารถทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้คนคิดและทำในสิ่งที่พวกเขาทำลงไป ความขัดแย้งก็จะกลับมาอีกครั้งในสังคมของเรา” อดีตประธานาธิบดีเอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิก ผู้นำผิวขาวคนสุดท้ายเป็นหนึ่งในอดีตผู้นำที่มาให้การ และกล่าวขอโทษในสิ่งที่รัฐบาลเขาได้ทำลงไปภายใต้นโยบายแบ่งแยกสีผิว แต่ชาวแอฟริกันผิวดำจำนวนมากแสดงความคิดเห็นว่าลำพังการขอโทษนั้นไม่เพียงพอ และไม่พอใจนโยบายของคณะกรรมการที่ให้นิรโทษกรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำ ความผิดเพียงเพื่อแลกกับคำสารภาพ
ปี 1997 อดีตประธานาธิบดีพีดับเบิลยู โบธา (PW Botha) ปฏิเสธที่จะมาให้การกับคณะกรรมการในเดือนธันวาคม และวิจารณ์คณะกรรมการอย่างรุนแรงว่ามีอคติ
ปี 1998 คณะกรรมการประกาศสิ้นสุดกระบวนการทำหน้าที่เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม หลังจากเปิดรับฟังและไต่สวนเป็นเวลานาน 2 ปี แต่ใช้เวลาอีกเกือบ 1 ปีในการพิจารณาเรื่องการให้นิรโทษกรรม ต่อมา อดีตประธานาธิบดีพีดับเบิลยู โบธา ถูกตัดสินให้มีความผิด ถูกลงโทษปรับและจำคุก 1 ปี โทษฐานที่เพิกเฉยต่อหมายเรียกของคณะกรรมการให้มาปรากฎตัวเพื่อให้ปากคำต่อ กรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการให้มีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อฝ่าย ค้านทางการเมือง
มีการเผยแพร่รายงานของคณะกรรมการสู่สาธารณะในเดือนตุลาคม 1998 ความหนา 3,500 หน้า ในรายงานมีรายละเอียดหลายประการที่น่าสนใจ อาทิ คณะกรรมการลงความเห็นว่าฝ่ายกองกำลังต่อต้านรัฐบาลของแมนเดลามีความชอบธรรม ในการต่อสู้กับระบอบที่กดขี่และแบ่งแยก อย่างไรก็ตามกรรมการพบว่าในระหว่างที่มีการดำเนินกิจกรรมต่อสู้กับรัฐบาล นั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งผู้นำของพวกเขาก็จำต้องรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางการเมือง ถึงกระนั้นก็ดีคณะกรรมการสรุปอย่างชัดเจนว่า ผู้ที่มีส่วนมากที่สุดในการใช้ความรุนแรงและก่อโศกนาฎกรรมคือ ฝ่ายรัฐบาล เพราะใช้นโยบายเหยียดผิว ลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชากรผิวดำ ถึงระดับที่รัฐไม่นับคนผิวดำอยู่ในฐานะพลเมือง ซ้ำยังมองพวกเขาเป็นศัตรู ซึ่งสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่การสังหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทรมาน การลักพาตัว และการจับกุมคุมขัง ทั้งนี้อดีตประธานาธิบดีโบธาไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล
ใน รายงานยังมีการวิจารณ์บทบาทของสื่อมวลชนที่เอียงเข้าข้างรัฐบาล จนยอมเซ็นเซอร์ตัวเองไม่พูดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของเจ้า หน้าที่รัฐ ยิ่งไปกว่านั้นสื่อมวลชนจำนวนมากยังให้การสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง อย่างเปิดเผย ซึ่งหลายกรณีมีส่วนผลักดันให้รัฐใช้ความรุนแรงอย่างได้ใจด้วย
คณะ กรรมการยังแนะนำในรายงานว่า ในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่าบุคคลใดมีส่วนกระทำความผิด และบุคคลนั้นมิได้เข้าร่วมกระบวนการสารภาพในที่สาธารณะเพื่อแลกกับการนิรโทษ กรรม หรือในกรณีที่การนิรโทษกรรมของพวกเขาถูกปฏิเสธ (เพราะไม่พูดความจริง) ควรจะมีการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเหล่านั้นมาลงโทษ โดยคณะกรรมการชี้แนะว่าหลักฐานที่รวบรวมไว้ในรายงานควรถูกนำไปใช้โดยตำรวจ และอัยการในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
รายงานยังกล่าวเตือนว่า “เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวัฒนธรรม [ที่ผู้กระทำผิด] ลอยนวล และเพื่อสร้างให้หลักนิติรัฐลงหลักปักฐาน การนิรโทษกรรมอย่างเหวี่ยงแหในรูปแบบใดๆ ก็ตามควรถูกต่อต้านคัดค้าน”
เรา สามารถสรุปได้ว่า เงื่อนไขที่ทำให้เกิดกระบวนการปรองดองและการค้นหาความจริงในแอฟริกาใต้คือ การยุติระบอบเผด็จการและรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงร่วมกัน เพราะ ทั้งสองฝ่ายตระหนักร่วมกันแล้วว่า การประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่ทางออก ดังที่ในการประชุมเจรจาครั้งหนึ่งระหว่างเนลสัน แมนเดลากับผู้นำกองทัพของรัฐบาล แมนเดลาพูดว่า “เรา [กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล] รู้ว่าเราไม่อาจเอาชนะคุณ [กองทัพรัฐบาล] ได้ในทางการทหาร และคุณก็รู้ดีว่าคุณไม่อาจเข่นฆ่าพวกเราทั้งหมดได้” (“We know we cannot defeat you militarily. You know you cannot kill all of us”) ฉะนั้น หนทางเดียวที่เหลืออยู่สำหรับเราทั้งสองคือ การนั่งลงคุย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนเป็น เงื่อนไขพื้นฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (Interview with Charles Villa-Vicencio By Michel Notelid, 27 September 2007)
ความสำเร็จ: หลาย คนกล่าวว่าจุดเด่นของแอฟริกาใต้โมเดลคือ การนำความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงในอดีตออกมาเปิดเผยให้ทั้งสังคมได้รับรู้ อย่างละเอียด ลงลึก และครอบคลุม ทั้งยังสามารถระดมการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจากทุกฝ่ายในสังคม (รวมทั้งเยาวชน) ให้ตระหนักรับรู้ถึงโศกนาฏกรรมในอดีต และ ไม่เดินกลับไปซ้ำรอยเดิม โมเดลของการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันทน์ของแอฟริกาใต้ จึงกลายเป็นโมเดลที่มีอิทธิพลที่หลายประเทศนำไปใช้ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แตกต่างจากนูเรมเบิร์กโมเดลของเยอรมัน (Nuremberg Model) ที่เน้นการตั้งศาลสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีการใช้การนิรโทษกรรมเพื่อเป็นกลไกให้ได้มาซึ่งความจริงก็มิได้ ถูกนำไปปฏิบัติในทุกประเทศที่นำโมเดลนี้ไปใช้
คำวิจารณ์: แอฟริกา ใต้โมเดลไม่ได้สมบูรณ์แบบ มันมีข้อบกพร่องมากมายหลายประการซึ่งหลายฝ่ายชี้ให้เห็น ประการแรก มีการชี้ว่าข้อมูลที่ได้จากการรับฟังไม่เที่ยงตรงทั้งหมดเพราะผู้กระทำผิด หลายคนยอมโกหกปกปิดการกระทำบางส่วน หรือสร้างเรื่องให้ผิดเพี้ยนเพื่อจะได้นิรโทษกรรรม ประการที่สอง ญาติของเหยื่อหลายคนมองว่าไม่ยุติธรรมที่ให้นิรโทษกรรมกับคนที่กระทำผิดแลก กับคำสารภาพ และเรื่องตลกร้ายอย่างหนึ่งคือ เพื่อจะได้รับการนิรโทษกรรม อาชญากรต้องเล่าความจริงให้หมดเปลือกถึงความโหดร้ายทุกขั้นตอนที่พวกเขา กระทำ แต่ยิ่งญาติได้ฟังความจริงที่ละเอียดมากขึ้นว่าอาชญากรที่นั่งต่อหน้าพวกเขา โหดร้ายถึงเพียงนั้น ก็ยิ่งยากที่พวกเขาจะทำใจให้อภัยได้ การเรียกร้องให้ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อเป็นผู้ให้อภัยจึงเป็นการเรียกร้องกับฝ่ายผู้สูญเสียมากเกินไป พวก เขามองว่ากระบวนการทั้งหมดให้ประโยชน์กับฝ่ายผู้ก่ออาชญกรรมมากกว่าฝ่ายที่ เป็นผู้สูญเสีย ญาติส่วนใหญ่มองว่าคณะกรรมการเน้นแต่การได้มาซึ่งข้อเท็จจริง โดยไม่สนใจความยุติธรรม (หมายถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ) เหยื่อได้แต่นั่งมองผู้กระทำผิดลอยนวลไปเฉยๆ เพียงเพราะคนเหล่านี้ไปให้การกับคณะกรรมการว่าก่อกรรมทำเข็ญไปอย่างไรบ้าง จนบางคนบอกว่ามันเป็นความจริงที่แลกมาด้วยราคาที่แพงเหลือเกิน (William 2007) ประการที่สาม ญาติบางคนกล่าวว่าการนิรโทษกรรมของคณะกรรมการขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะ “ปล้น” สิทธิที่พวกเขามีในการฟ้องร้องผู้ที่สังหารคนในครอบครัวของพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สามารถดำเนินคดีกับคนที่มีส่วนฆ่าญาติของพวกเขา (มีครอบครัวหนึ่งฟ้องศาลให้ดำเนินคดีผู้กระทำผิด เพราะพวกเขาไม่ยอมรับอำนาจของคณะกรรมการในการนิรโทษกรรม แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าฟ้องไม่ได้ คดีจึงตกไป) หลายคนมองว่ามันเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลแมนเดลาเพื่อประนี ประนอมกับระบอบเก่า ประการที่สี่ มีการวิจารณ์ว่าการนิรโทษกรรมเท่ากับการสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายไว้ให้กับ สังคมแอฟริกัน เพราะเท่ากับว่าผู้กระทำผิดสามารถลอยนวลและเดินเหินได้เป็นปรกติในสังคม ประการสุดท้าย หลาย คนมองว่าความปรองดองที่คณะกรรมการตั้งเป้าไว้ก็ไม่ได้สำเร็จอย่างที่หวัง เพราะครอบครัวคนผิวดำจำนวนมากยิ่งรู้สึกถึงความอยุติธรรมที่ตนเองได้รับ เมื่อได้ฟังความจริงว่าคนที่เขารักถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดเพียงใด โดยพวกเขาไม่สามารถนำตัวคนที่ลงมือสังหารมารับโทษได้ ในขณะที่ฝ่ายผู้กระทำความผิดที่ถูกปฏิเสธการขอรับนิรโทษกรรมก็พาลรู้สึกว่า กระบวนการนี้มีอคติต่อคนขาว
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ที่มองเห็นแต่ความงดงามและความมหัศจรรย์ของแอฟริกาใต้โมเดล
สรุป: ความปรองดองที่เพรียกหาความจริงและความยุติธรรม
ผู้เขียนอยากจะจบบทความนี้ด้วยการคัดลอกข้อความของ Juan E. Mendez ทนาย ความชาวอาร์เจนตินาที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิของนักโทษการเมือง จนถูกรัฐบาลทหารอาร์เจนตินาจับติดคุกและทรมานเป็นเวลาเกือบสองปี หลังได้รับการปล่อยตัวในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เขาต้องลี้ภัยไปพำนักในต่างประเทศ และยังคงรณรงค์ต่อสู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดในช่วงปี 2004-2009 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของศูนย์ระหว่างประเทศว่าด้วยความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (International Center for Transitional Justice) ที่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นความยุติธรรมในระยะ เปลี่ยนผ่านให้กลายเป็นวาระระดับโลก เขาพูดถึงความหมายของการปรองดองไว้ในบทความชิ้นหนึ่งอย่างลึกซึ้งจับใจว่า
การ ปรองดองที่แท้จริงไม่สามารถถูกบังคับยัดเยียดด้วยกฎหมายหรือคำสั่งใดๆ มันต้องสร้างขึ้นมาในจิตใจของหมู่มวลสมาชิกในสังคม ผ่านกระบวนการที่ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน… การ ปรองดองต้องการความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เราไม่อาจเรียกร้อง (หรือคาดหวัง) ถึงการให้อภัย เว้นเสียแต่ว่าคนที่ถูกเรียกร้องให้ทำการให้อภัยได้รับรู้อย่างถ่องแท้ว่า พวกเขาและเธอกำลังจะให้อภัยต่อสิ่งใด… การปรองดองจะ เกิดขึ้นได้ภายหลังจากที่มีการแก้ไขและชดเชยให้กับเหยื่อในสิ่งที่พวกเขาสูญ เสียไปแล้วเท่านั้น มันจะเป็นการสร้างความอยุติธรรมรอบใหม่ให้กับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในอดีต หากเราไปเรียกร้องการให้อภัยจากเหยื่อ ในขณะที่บรรดาคนซึ่งจะได้ประโยชน์จากการให้อภัยนั้น ไม่เคยแสดงออกซึ่งความสำนึกผิดหรือยอมรับในความผิดที่พวกเขาได้กระทำลงไปเลย แม้แต่น้อย (Mendez 1997, 274)
เชิงอรรถ
[1] ด้วยบทบาทเชิงรุกที่ก้าวหน้าของศาลอาญาของสเปน (The Audiencia Nacional - National Criminal Court) ทำ ให้เหยื่อของความรุนแรงในหลายประเทศที่ไม่สามารถหาความยุติธรรมได้ในประเทศ ตัวเองไม่ว่าจะเป็นจีน ทิเบต กัวเตมาลา รวันดา อิสราเอล วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากศาลสเปนให้ช่วยดำเนินคดีให้ น่าเสียดายว่าเมื่อปีที่แล้ว รัฐสภาสเปนแก้ไขกฎหมายเรื่องเขตอำนาจสากล เพื่อลดทอนแรงกดดันทางการเมืองและการทูตระหว่างประเทศ โดยให้ศาลสเปนดำเนินคดีได้เฉพาะในกรณีที่ (1) เหยื่อเป็นคนสเปน (2) อาชญากรที่ถูกกล่าวหาอาศัยอยู่ในสเปน หรือ (3) สามารถ แสดงให้เห็นว่าคดีนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับสเปน ทั้งนี้ก็เพื่อจะควบคุมกระแส "ตุลาการภิวัฒน์" ของพวกผู้พิพากษาหัวก้าวหน้า ดู Steve Kingstone, “Spain reins in crusading judges,” BBC, 25 June 2009, http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/8119920.stm
[2] http://www.icty.org/sections/AbouttheICTY
[3] http://www.unictr.org/Home/tabid/36/Default.aspx
อ้างอิง
ArdittI, Rita (1999), Searching for Life: The Grandmothers of the Plaza de Mayo and the Disappeared Children of Argentina
(University of California Press).
Benomar, Jamal (1993), “Justice After Transition,” Journal of Democracy 4:1, 3-14.
Boraine, Alex (2000), “Truth and Reconciliation in South Africa: The Third Way,” in Robert I. Rotberg and Dennis
Thompson (eds.), Truth V. Justice: The Morality of Truth Commissions (Princeton University Press), 141-157.
Clark, Phil (2010), The Gacaca Courts, Post-Genocide Justice and Reconciliation in Rwanda: Justice without Lawyers
(Cambridge University Press).
Corradi, Juan E. Patricia Weiss Fagen, and Manuel Antonio Garretón (1992), Fear at the Edge: State Terror and Resistance in
Latin America (University of California Press).
du Toit, Andre (2000), “The Moral Foundations of the South African TRC: Truth as Acknowledgement and Justice as
Recognition,” in Robert I. Rotberg and Dennis Thompson (eds.), Truth V. Justice: The Morality of Truth Commissions
(Princeton University Press), 122-140.
Hayner, Priscilla (1994), “Fifteen Truth Commissions- 1974 to 1994: A Comparative Study,” Human Rights Quarterly, 16:4, 600-
655.
Human Rights Watch (1989), Special Issue: Accountability for Past Human Rights Abuses, no.4 (Human Right Watch).
Interview with Charles Villa-Vicencio By Michel Notelid, 27 September 2007 (http://www.nai.uu.se/events/lectures/villa-vicencio_interview/)
Kritz, Neil (1995), “The Dilemmas of Transitional Justice,” in Neil Kritz (ed.), Transitional Justice: How Emerging Democracies
Reckon with Former Regimes, Vol.1 (United States Institute of Peace Press).
Mendez, Juan (1997), “Accountability for Past Abuses,” Human Rights Quarterly, 19:2, 255-282.
Orentlicher, Diane (1991), Settling Accounts: The Duty to Prosecute Human Rights Violations of a Prior Regime,” The Yale Law
Journal, 100, 2539-2615.
Popkin, Margaret and Naomi Roht-Arriaza (1995), “Truth as Justice: Investigatory Commissions in Latin America,” Law & Social
Inquiry, 20:1.
Roht-Arriaza, Naomi (2006), The Pinochet Effect: Transnational Justice in the Age of Human Rights (University of Pennsylvania
Press).
Rosenberg, Tina (1996), The Haunted Land: Facing Europe's Ghosts After Communism (Vintage).
Schwartz, Herman (1994), “Lustration in Eastern Europe,” Parker School of East European Law, 1:2, 141-171.
Thompson, Allan (ed.) (2007), The Media and the Rwanda Genocide (Pluto Press).
Villa-Vicencio, Charles and Wilhelm Verwoerd (2000), “Constructing a Report: Writing Up the “Truth”,” in Robert I. Rotberg and
Dennis Thompson (eds.), Truth V. Justice: The Morality of Truth Commissions (Princeton University Press), 279-294.
William, Kentridge (2007), "Director's Note," in Ubu and the Truth Commission, by Jane Taylor (University of Cape Town Press).
Zalaquett, Jose (1989), “Confronting Human Rights Violations Committed by Former Governments: Principles Applicable and
Political Constraints,” in State Crimes: Punishment or Pardon (Aspen Institute), 23-65.