เหล็กใน
แต่อีกปัญหาหนึ่งที่กำลังซ่อนอยู่ในเงามืดและกำลังคืบคลานเข้ามาในเมือง ไทยอย่างช้าๆ ในรูปของข่าวดี แต่แฝงกลิ่นอายความอันตรายอยู่ในที เหมือนจะถูกละเลยไป
นั่นคือปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และการไหลเข้าของเงินดอลลาร์ที่มามาก และมาเร็วอย่างยิ่ง
นับจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25 พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบอีก 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
เงินมหาศาลโยกมาลงในตลาดเอเชีย รวมทั้งไทยเราด้วย
เงินบาทน่าจะยิ่งแข็งค่าขึ้น ตอนนี้จะทรงอยู่ราว 29 บาทกลางๆ
ขณะที่ตลาดหุ้นก็พุ่งพรวดๆ ราวกับกระทิงติดปีก
เช่นเดียวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์
แม้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น-ตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะออกมายืนยันว่าไม่ใช่ภาวะฟองสบู่แต่เพราะตลาดหุ้นไทยเติบโตด้วยผลกำไร
ส่วนตลาดอสังหาฯ ก็ได้อานิสงส์จากมาตรการลดหย่อนต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้ที่ผ่านมามีการซื้อขายกันจำนวนมาก และตลาดยังมีความต้องการอยู่
มองมุมหนึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดทุนและตลาด อสังหาริมทรัพย์ มาในช่วงเดียวกับที่ต่างชาติขนเงินเข้ามาในเมืองไทย
แม้โดยปัจจัยต่างๆ จะไม่เหมือนสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ก็น่าห่วง
เพราะราคาหุ้น และราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมูลค่าขึ้นเร็วเกินไป
ยังไม่นับโครงการคอนโดฯ ใหม่ๆ ที่จ่อคิวเปิดกันอุตลุด จนมองว่าตอนนี้คอนโดฯ ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดน่าจะล้นความต้องการแล้ว
ธนาคารแห่งประเทศ ไทยยังต้องประกาศเตือน และออกมาตรการเบรกความร้อนแรงของอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการเพิ่มเงินดาวน์ หรือเงื่อนไขการกู้เงินที่ยากขึ้น
สำหรับตลาดหุ้นแม้ผู้เกี่ยวข้องจะอ้างว่าเพราะมูลค่าของหุ้นไทยยังต่ำมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่การเทเงินเข้ามาจำนวนมากของต่างชาติดันให้ราคาและดัชนีหุ้นทะยานอย่างน่า กลัว
เพราะจากกลางปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นเริ่มดีดขึ้นจาก 800 กว่าๆ แค่เดือนพ.ย.ก็เกินพันจุดไปแล้ว
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเมื่อเงินมาได้ ก็ไหลออกได้เช่นกัน
ในอดีตวิกฤตการเงินหลายๆ ครั้งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากปัจจัยพื้นฐานเดียวกัน
คือการเข้ามาของเงินทุนต่างชาติที่เร็วเกินไป และคนไทยก็ระเริงกับมันจนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่
และเมื่อต่างชาติถอนเงินทุนออกไปในอัตราความเร็วพอๆ กัน
ฟองสบู่ก็แตกดังโพละ