สาว ตรี สุขศรี อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกรณีที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิดยอมรับว่าผู้มีรายชื่อใน “ผังล้มเจ้า” ที่ศอฉ. เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ปีที่แล้วว่าไม่เกี่ยวกับขบวนการล้มกษัตริย์นั้น ถือเป็นเป็นหลักฐานสำคัญว่ารัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ
“แน่นอนว่า รัฐอาจจะอ้างว่า ผังล้มเจ้านั้นเป็นความผิดฐานหนึ่งในหลายฐานความผิด เช่น ก่อการร้าย แต่การออกมายอมรับว่าผังดังกล่าวเป็นเท็จ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ และก่อให้เกิดคำถามต่อการกล่าวหาในฐานความผิดอื่นๆ เช่นกัน”
อ.สาว ตรีกล่าวด้วยว่า แม้ในทางกฎหมายแล้ว “ผังล้มเจ้า” ไม่อาจจะใช้เป็นหลักฐานโดยตัวเองว่ารัฐมีความผิด แต่ถือเป็นหลักฐานสำคัญในฐานะเอกสารประกอบที่แสดงให้เห็นว่า รัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยผังดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงมูลเหตุจูงใจของรัฐ ในการออกคำสั่งหรือทำให้คนอื่นเข้าใจผิด หรือทำให้เกิดความชอบธรรมแม้จะอ้างหลักฐานที่เป็นความเท็จ
เบื้องต้น คนที่ได้รับความเสียหาย ก็สามารถจะฟ้องร้องได้ทันที ตามความผิดฐานหมิ่นประมาท และละเมิด ซึ่ง อ. สาวตรีกล่าวว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นที่สามารถระบุได้ชัดเจน คือผู้มีรายชื่ออยู่ในผังทั้งหมด โดยสามารถฟ้องในฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฐานละเมิดมาตรา 420 และ 423 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และไขข่าวให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
หมายเหตุ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำ
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสีย หายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำ มาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นแม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริงแต่หากควรจะ รู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนไม่