เบน จามิน ซาแวคกี นักวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) ประจำประเทศไทยและพม่า เปิดเผยว่าประเทศไทยมีนักโทษมโนธรรมสำนึกหรือนักโทษทางความคิด (Prisoner of Conscience) มากกว่า 1 คน แต่เอไอไม่สามารถเปิดเผยจำนวนและชื่อของคนที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นพระบรม เดชานุภาพทั้งหมดได้ “เนื่องจากเราไม่สามารถประกาศได้ทุกครั้งเมื่อใครคนใดคนหนึ่งกลายเป็นนักโทษ มโนธรรมสำนึก" (ประชาไท,27/05/2553)
ผม “โดน” คำว่า “นักโทษมโนธรรมสำนึก” หรือ “นักโทษทางความคิด” ตามที่เอไอ นิยามว่า หมายถึง “บุคคล ใดก็ตามที่ถูกจำคุกจากสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ภาษา เพศ ความเชื่อ และวิถีชีวิต ซึ่งไม่ใช้และไม่สนับสนุนความรุนแรง นอกจากนี้ยังหมายถึงผู้ที่ถูกจำคุกเนื่องจากการแสดงออกทางความคิดเห็นโดย วิธีสันติ”
การเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก หรือนักโทษทางความคิดในความหมายดังกล่าว มันหมายถึงการถูกกดขี่ ลิดรอน กระทั่งประทุษร้าย ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ในระดับพื้นฐาน หรือในระดับ Existence เลยทีเดียว หมายความว่า ความมีอยู่ของความเป็นมนุษย์ถูกคุกคามหรือทำลายลงอย่างเลือดเย็น
ความเป็นมนุษย์ในระดับพื้นฐานของเราคือ ความเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มีมโนธรรมสำนึก และมีเสรีภาพ
ความ มีเหตุผลทำให้เราไม่สามารถยอมรับความเชื่อหรืออำนาจใดๆ ก็ตามที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล หรือไม่ท้าทาย ทนทานต่อการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบด้วยเหตุผล ความมีมโนธรรมสำนึกทำให้เราไม่อาจยอมรับสิ่งผิดเป็นถูกหรือถูกเป็นผิดได้ และความมีเสรีภาพทำให้เรารังเกียจการกดขี่ ครอบงำ ทำลายอิสรภาพทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ สิทธิอำนาจในการกำหนดชะตากรรมแห่งตนเองของประชาชน
ความ เป็นมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มีมโนธรรมสำนึก และมีเสรีภาพดังกล่าว เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง (intrinsic value) คือ มันไม่ได้มีค่าเพราะว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็น “วิถี” (means) ไปสู่จุดหมายอื่น ฉะนั้น มันจึงไม่ควรถูกลดทอนเพื่อปกป้องจุดหมายอื่น เช่นเพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ หรือความศักดิ์สิทธิ์ของบางสถาบัน เป็นต้น
ใน กรณีนักโทษทางความคิด หรือนักโทษมโนธรรมสำนึก ได้ก่อให้เกิด “ภาวะย้อนแย้ง” อย่างมีนัยสำคัญคือ สถาบันกษัตริย์ไทยอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ หรือมีสถานะที่ประชาชนต้องจงรักภักดี โดยที่ตามคติทางศาสนาที่ค้ำจุนสถานะดังกล่าวอธิบายว่า การจะเป็นที่เคารพสักการะและเป็นที่จงรักภักดีต้องมีความสัมพันธ์อย่างจำ เป็นกับ “ธรรม” ของสถาบัน หรือพูดอีกอย่างว่าผู้ที่เป็นกษัตริย์ถูกถือว่าเป็น “บุคคลแห่งธรรม” ที่ทั้งเสียสละดูแลทุกข์สุขของราษฎร อบรมสั่งสอน และเป็นแบบอย่างที่ดี
แต่ ความเป็น “บุคคลแห่งธรรม” ในความหมายดังกล่าว เมื่ออยู่ใน “บริบท” ของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “ธรรม” ไม่ได้หมายเฉพาะคุณธรรมส่วนตัวของผู้ปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรเป็นต้นเท่านั้น หากยังหมายถึง “ธรรมเชิงระบบ” ที่ถือเป็น “สัญญาประชาคม” คือหลักการ อุดมการณ์ กติกา วัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วย ฉะนั้น ความเป็น “บุคคลแห่งธรรม” ต้องไม่ขัดแย้งกับ “ธรรมเชิงระบบ” ดังกล่าวนี้
หรือ พูดให้เจาะจงลงไปคือ นอกจากจะต้องไม่มีการอ้างสถานะของ “บุคคลแห่งธรรม” เพื่อละเมิดหลักการ อุดมการณ์ กติกา วัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว “บุคคลแห่งธรรม” ยังต้องเป็นแบบอย่างของประชาชนในการเคารพ “ธรรมเชิงระบบ” ดังกล่าวด้วย
แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือวัฒนธรรมที่ยกย่องสถานะ “บุคคลแห่งธรรม” ให้อยู่เหนือการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ย่อมเป็นกฎหมายและวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกับ “ธรรมเชิงระบบ” อย่างมีนัยสำคัญ
การที่สถานะของ “บุคคลแห่งธรรม” ขัดแย้งกับ “ธรรมเชิงระบบ” เช่น ขัดหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคในความเป็นคน ทำให้สถานะดังกล่าวกดทับ และ/หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชนโดยพื้นฐาน ฉะนั้น จึงเกิดภาวะย้อนแย้งว่า ความจงรักภักดีที่มีต่อความมีธรรมของบุคคลแห่งธรรมขัดแย้งกับ “ธรรมเชิงระบบ” และสภาวะความขัดแย้งนั้นนำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชน ทว่าในขณะเดียวกันสถานะของบุคคลแห่งธรรมก็เรียกร้องความจงรักภักดีจาก ประชาชน ซึ่งพวกเขามีความชอบธรรมที่จะได้การปกป้องจาก “ธรรมเชิงระบบ” ในระบอบประชาธิปไตย
หากจะว่า ไปแล้วภายใต้สถานะของ “บุคคลแห่งธรรม” ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ หรือไม่มีกฎหมายรองรับการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบเหมือนอำนาจสาธารณะอื่นๆ ทำให้ประชาชนทุกคนกลายเป็นนักโทษทางความคิด หรือนักโทษมโนธรรมสำนึกไปโดยปริยาย
แม้ว่าเราจะไม่ถูกจับติด คุก แต่ความมีอยู่แห่งความเป็นมนุษย์ของเราถูกกดทับ ลดทอน จำกัด ไม่ให้ใช้เหตุผลในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ไม่ให้ใช้มโนธรรมตัดสินถูกผิด และไม่ให้ใช้เสรีภาพที่จะจงรักภักดีหรือไม่จงรักภักดี และ/หรือแสดงออกซึ่งความคิดต่างเห็นแย้งใดๆ อย่างเป็นสาธารณะได้ ตามที่ “ธรรมเชิงระบบ” ในระบอบประชาธิปไตยคือหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมอันเป็น “สัญญาประชาคม” รองรับให้เราสามารถมีความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มที่
ฉะนั้น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ภายใต้ระบบการปกครองที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบัน เราต่างคือนักโทษมโนธรรมสำนึก หรือนักโทษทางความคิด ความไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นนักโทษดังกล่าวอาจมีเฉพาะในคนที่ไม่ต้องการจะมี ความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ หรือไม่ก็เพราะความเป็นมนุษย์ของเขาอาจถูกกระทำให้ “เจ็บป่วย” จนสูญเสียสำนึกในคุณค่าที่สูงส่งไป
แล้วนักโทษอย่างพวกเรายังจะชี้หน้าด่ากันต่อไป หรือจะร่วมกันต่อสู้เพื่ออิสรภาพ!