บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นักข่าวพลเมือง: ผู้เชี่ยวชาญเผยสถิติคดีหมิ่นฯ เมืองไทยปีเดียวเฉียด 500 คดี เทียบเยอรมัน 120 ปีก่อน

ที่มา ประชาไท

เสวนากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เชียงใหม่ “เด วิด สเตร็คฟัส” เผยสถิติคดีเพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 49 แนะขยายพื้นที่ทางสังคมเพื่อพูดคุยเรื่องนี้ ด้าน “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” ชี้ปัจจุบันโทษของกฎหมายหมิ่นฯ สูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ถูกฟ้องมักไม่ได้ประกันตัวและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมหลายเรื่อง ด้านผู้นำแรงงานเผยนายจ้างหยิบประเด็นความจงรักภักดี ใช้ฟ้องร้องเลิกจ้างคนงาน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง “การเมืองใน Lese Majesty Lese Majesty ในการเมือง” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

โดย มีผู้อภิปรายคือ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.เดวิด สเตร็คฟัส ผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนการศึกษาระหว่างประเทศ ม.ขอนแก่น ผู้เขียนหนังสือ “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย: กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฏ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ดำเนินรายการโดย อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมิ่นพระบรมเดชานุภาพยุคนี้โทษหนักกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล” เริ่มอภิปรายว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นกฎหมายที่มีปัญหามาก เขายกคำพูดของผู้ที่เคยต้องคดีหมิ่นคนหนึ่งที่เปรียบเทียบว่า “การมี กฎหมายนี้ เสมือนการตกอยู่ในคุกที่มองไม่เห็น” และสถานการณ์นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนจะยิ่งแย่ลง ซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับความเห็นของ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ รองราชเลขาธิการ ที่กล่าวไว้ในปี 2530 ปลายรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ว่าบทลงโทษของกฎหมายนี้น่าจะมีแนวโน้มลดลง หรือกฎหมายนี้อาจจะถูกยกเลิกไปเลย ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาระบบประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ

“สถานการณ์ ปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ความคาดหมายของท่าน ม.ร.ว.ทองน้อย ไม่จริง แต่กลับดำเนินไปในทางตรงกันข้าม จำนวนคดีหมิ่นมีมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และช่วงหลังมีการเสนอให้เพิ่มบทลงโทษด้วยซ้ำ โดยเฉพาะฟากเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองบางส่วน นอกจากนี้ จะตีความได้หรือไม่ว่า ที่เป็นเช่นนี้แสดงว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยยังไม่พัฒนาก้าวหน้า” สมชายกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ มีการแก้ไข 3 ครั้งด้วยกันโดยบังคับใช้อยู่ในช่วงสมัยต่างกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายนี้ มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

แต่ที่น่าสนใจคือ กฎหมายฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ซึ่งได้แยกความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นกษัตริย์มาอยู่ในมาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษตั้งแต่ 3-15 ปี และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ซึ่งเป็นบทลงโทษที่หนักกว่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยซ้ำ

“ใน สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายที่ใช้คือกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 (พ.ศ.2451) มาตรา 98 ซึ่งบทลงโทษในคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์คือจำคุก ไม่เกิน 7 ปี และให้ปรับไม่เกินห้าพันบาท ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 การกำหนดโทษเหมือนเดิมคือไม่เกิน 7 ปี แต่ค่าปรับลดลงมาเป็นสองพันบาท”

ที่ น่าสนใจคือ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีข้อยกเว้นในมาตรการอื่น ไม่ให้ถือการกระทำต่อไปนี้เป็นความผิด คือถ้าหากการกระทำให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือว่าเป็นการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐ ธรรมนูญ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือแสดงความเห็นโดยสุจริต ติ ชม ตามปกติ ในบรรดาการกระทำของรัฐบาล

เผือกร้อนของกระบวนการยุติธรรม และ การประกันตัว” ที่กลายเป็นเรื่องยกเว้น

นอก จากเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบทลงโทษของกฎหมายแล้ว รศ.สมชาย ยังเห็นว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นเผือกร้อน ซึ่งเมื่อเกิดคดีขึ้นเมื่อใด บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะระมัดระวังอย่างมาก

“แม้แต่คดีที่เราดู ปุ๊บก็ตอบได้ทันทีว่าผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ตำรวจยังต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง มีการโทรศัพท์มาขอความเห็นทางกฎหมายจากผม ตอนที่มาพบมากันสามคน มีเครื่องบันทึกเสียงมาด้วย พอถามว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ตำรวจก็บอกว่าต้องรัดกุม ถ้าสั่งฟ้องก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสั่งไม่ฟ้อง ต้องมีหลักฐานข้ออ้างอิงทางกฎหมายที่ชัดเจน เรื่องนี้ถ้าไปถึงขั้นอัยการ ก็เหมือนกันอีก มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำไมเราต้องทำอะไรมากมายขนาดนั้น” สมชายกล่าว

เขาตั้งข้อสังเกตด้วย ว่า สิ่งที่ทำให้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แตกต่างจากคดีอื่นๆ ทั่วไปคือ การประกันตัวกลายเป็นข้อยกเว้น แต่การควบคุมตัวกลายเป็นเรื่องหลัก นอกจากนี้ ในบางกรณี การดำเนินคดีกับนักเขียนที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กลับยิ่งทำให้สิ่งที่พวกเขาเขียนได้รับความสนใจ มีคนอ่านเพิ่มมากขึ้น

เช่น กรณีของนายแฮรี่ นิโคไลดส์ (Harry Nicolaides) ที่ ก่อนถูกดำเนินคดี เคยเขียนหนังสือที่มีการพิมพ์เพียง 50 เล่ม ขายได้จริงแค่ 7 เล่ม แต่พอถูกดำเนินคดี ติดคุกไม่ได้ประกันตัว หนังสือของเขาก็กลายเป็นหนังสือที่คนจำนวนมากอยากอ่าน นอกจากนี้ก็ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มที่ดังขึ้นมา เพราะว่าคนเขียนต้องหาคดีหมิ่นฯ

ภาวะ Prisoner’s dilemma “สู้คดี” หรือ “รับสารภาพ”

สม ชายกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การพิจารณาคดีในชั้นของศาล เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้ขั้นตอนการพิจารณาไม่ปรากฏต่อสาธารณะ ที่สำคัญคือทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Prisoner’s dilemma” คือความ ยากลำบากในการตัดสินใจของผู้ต้องหาว่าจะสู้คดีเพื่อสิทธิและเสรีภาพในการ แสดงความคิดเห็น แล้วต้องเผชิญกับผลที่จะตามมาคือ โดนโทษหนัก หรือจะยอมรับผิด ยอมสารภาพ เพื่อให้ได้ลดโทษ อาจจะติดคุกสักปีหนึ่ง แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ แล้วติดอีกปีสองปีก็พ้นโทษ

แต่ ถ้าสู้ เท่าที่อ่านคดีที่มีการตัดสินแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครชนะ มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะแพ้คดี กรณีแฮรี่ นิโคไลดส์ก็รับสารภาพเหมือนกัน แล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษและได้รับพระราชทานอภัยโทษ มันเกิดภาวะ “Prisoner’s dilemma” จะเอาอย่างไร จะสู้ไหม สู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องคิดด้วยว่า 18 ปี หรือไม่สู้แล้วรับสารภาพ สิ่งนี้เป็นสิ่งน่าตั้งคำถามว่าปรากฏการณ์แบบนี้ หมายความว่าคนที่โดนคดีนี้แล้วตัดสินใจสู้หรือไม่สู้ ไม่ได้เกิดจากความคิดแค่ว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่ต้องคิดถึงผลที่ตามมาว่าสมควรจะสู้หรือไม่สู้ด้วย” สมชายกล่าว

ความเงียบของสื่อมวลชนต่อข่าวคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เขา ยังกล่าวถึงการตกต่ำของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อมวลชน ในประเทศไทย จากการจัดอันดับขององค์กรเฝ้ามองสื่อระหว่างประเทศอย่าง Freedom House ที่จับตามองสถานการณ์เรื่องสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวล ชนในประเทศต่างๆ ที่ได้จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีสื่อมวลชน”กึ่งเสรี” ในปี 2553 แต่ในปี 2554 สถานภาพของสื่อมวลชนไทย ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “ไม่มีเสรีภาพ” ซึ่งประเทศร่วมกลุ่มเดียวกัน คือ พม่า จีน เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย ทั้งนี้เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากตัวชี้วัดเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายควบคุมเรื่องสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกฎหมายในเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“เป็นเรื่อง น่าตกใจที่เห็นแบบนี้” รศ.สมชาย กล่าว อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าสื่อสารมวลชนมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องนี้ เรามักไม่พบข่าวเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในสื่อกระแสหลัก แต่จะพบในสื่อใหม่ ประเภทหมูไม่กลัวน้ำร้อน เช่น ประชาไท แต่ส่วนใหญ่สื่อในเมืองไทย เลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้

“นักข่าวบางคนบอกว่า ส่งข่าวเรื่องนี้ให้กองบรรณาธิการตลอด แต่บรรณาธิการก็บอกว่า อย่าไปทำ อย่าแตะต้อง อย่าพูดถึง” สมชายกล่าว

เผยมีการใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีจนเลยเถิด ถึงขั้นยกเป็นเหตุเลิกจ้างพนักงาน

ส่วน ในทางสาธารณะ ก็มีการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเลยเถิด โจมตีฝ่ายตรงข้าม ยัดเยียดข้อหาให้ทั้งที่ไม่เกี่ยว เช่น กรณีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่ไม่ยืนในโรงหนัง ซึ่งถ้าจะมองก็มองได้ในแง่ที่อาจไม่เหมาะไม่ควร “แต่การไม่ยืนในโรงหนัง ไม่ได้เป็นความผิดทางกฎหมาย ไม่ได้เป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

หรือ กรณีคุณจิตรา คชเดช หัวหน้าสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่แค่ใส่เสื้อที่เขียนว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ไปออกรายการโทรทัศน์เมื่อปี 2551 พูดเรื่องปัญหาทำท้อง ทำแท้ง ก็ถูกบริษัทยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อเลิกจ้างข้อหาทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง จากเหตุใส่เสื้อยืดดังกล่าว ซึ่งศาลแรงงานเห็นตามที่บริษัทอ้างว่าทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอนุญาตให้ เลิกจ้าง

สมชาย เกรงว่า หากมีการนำเอาข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปใช้กันอย่างเลยเถิดกว้างขวางแบบนั้น ก็คงจะโดนกันหมด รวมถึงพวกที่ใส่เสื้อที่เขียนว่า “เรารักในหลวง” ด้วย เพราะอาจจะโดนกล่าวหาว่า คุณเป็นใคร เป็นเพื่อนในหลวงหรือเปล่า ที่จะมาบอกว่ารักในหลวง จะพูดยังต้องใช้ราชาศัพท์ แล้วจะมาใช้คำว่ารักกับพระองค์ท่านได้อย่างไร

เสนอระหว่างที่ยังไม่มีการปรับปรุง ม.112 ต้องหยุดใช้กฎหมายนี้บ่อนทำลายประชาธิปไตย

สม ชายเสนอด้วยว่าประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณากันคือ กฎหมายที่อ้างว่าใช้เพื่อป้องกันการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการคิดกันอย่างจริงจัง ว่าส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไรบ้าง และต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างไร ซึ่งถ้าหากยังมีการใช้กฎหมายแบบไม่ตรงไปตรงมาแบบนี้ และการที่ไม่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ ที่สุดแล้วปัญหาจะสะท้อนกลับไปที่ตัวสถาบันเอง ดังจะเห็นจากการแพร่ระบาดของข่าวลือ ซึ่งไม่เคยเห็นว่ามีข่าวลือในด้านดี ถ้าไม่สามารถให้พูดในพื้นที่สาธารณะได้ ก็จะเป็นปัญหา หนังสือที่มีปัญหาถูกเซ็นเซอร์หลายเล่มก็เช่นกัน พอถูกแบน ก็มีคนอาสาแปลเป็นไทยให้ฟรี โดยไม่คิดเงิน หนังสือบางเล่มก็มีบทแปลตั้งสี่เวอร์ชั่นแล้ว

“ต้องพูดกันอย่างจริง จังว่า กฎหมายนี้ควรมีหรือไม่ หรือควรปรับปรุงอย่างไร และในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายนี้ สิ่งที่พอจะทำได้คือ พยายามหยุดยั้งการใช้กฎหมายนี้ไปในทางที่บ่อนทำลายหลักการของประชาธิปไตย และคุกคามเสรีภาพของผู้คน” รศ.สมชายกล่าว พร้อมกับเสริมว่า การที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายนี้ ต้องใช้พลังมาก ต้องรอให้ถึงจุดวิกฤติ สังคมไทยขณะนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และคนยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนกฎหมายในเรื่องนี้ จะมีผลเปลี่ยนแปลงต่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งคงจะทลายหลายๆ อย่างได้มาก

ผู้เชี่ยวชาญเผย สถิติฟ้องหมิ่นฯ ปีที่ผ่านมาเฉียด 500 ราย เท่าเยอรมันเมื่อ 120 ปีที่แล้ว

เดวิด สเตร็คฟัส” เปิดเผยข้อมูลการเพิ่มขึ้นของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยอ้างอิงข้อมูลของศาลยุติธรรมของไทยว่า ในปีที่ผ่านมา (2553) มีการฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาจำนวนทั้งสิ้น 478 คดี เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า เทียบกับปี 2552 ซึ่งมี 164 คดี และปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 126 คดี

“น่าแปลกใจ ว่าจะมีประเทศไหนอีกในโลกที่มีคดีประเภทนี้สูงขนาดนี้ ตัวเลขของไทยในรอบหนึ่งปีถือว่าสู้กับจำนวนคดีดังกล่าวในประเทศเยอรมันในรอบ 120 ปีที่ผ่านมาได้แล้ว” เดวิดกล่าว

เขากล่าวว่า จำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2549 จากสถิติของศาลยุติธรรมในระยะ 3 - 4 ปีที่ผ่านมามี 46 คดีที่ไปถึงศาลอุทธรณ์ และมี 9 คดีที่ไปถึงศาลฎีกา

นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุดระบุว่า ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหารในปี 2549 มีคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยเฉลี่ย 5-6 คดีต่อปี แต่อัตราชนะแทบจะไม่มี คือมีเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“แม้ แต่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยังพูดเลยว่าหากโดนคดีประเภทนี้ก็สารภาพไปเถอะ ... ปัญหาก็คือว่า เราไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่ว่าคนที่ถูกตั้งข้อหา หรือถูกดำเนินคดีนั้นเป็นใครกันบ้าง อาจเป็นไปได้ด้วยว่าเขาไม่อยากเปิดเผย” เดวิดกล่าว

ทิศทางไทยประเทศวัฒนธรรมเชิงเดียว หรือประเทศที่มีความหลากหลายในสิทธิเสรีภาพ

นาย เดวิดกล่าวว่าการที่มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนมากนี้ เป็นคำถามใหญ่ที่ท้าทายว่าประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร กล่าวคือจะเป็นประเทศที่เน้น “Monoculture” (วัฒนธรรมเชิงเดี่ยว) หรือจะเป็นประเทศที่มี “ความหลากหลายในสิทธิเสรีภาพในการพูด”

ฝรั่ง โดยทั่วไปมองประเทศไทยในแง่ดี แม้ว่าจะมีข้อมูลที่แสดงว่าสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยกำลังมีปัญหา เช่นในการจัดอันดับขององค์กร Reporters Without Borders (ผู้สื่อข่าว ไร้พรมแดน) ที่จับตามองเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนในประเทศ ต่างๆ พบว่าลำดับของประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ กล่าวคือ จากอันดับ 59 ในจำนวน 167 ประเทศ ในปี 2547 มาเป็น อันดับที่ 130 ในจำนวน 175 ประเทศในปี 2552 และอันดับ 153 ในจำนวน 178 ประเทศในปี 2553 ติดอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่ำที่ สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้นี้เห็นว่า เริ่มจะมีการใช้พื้นที่ที่พูดถึงเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นมากขึ้น ซึ่งเขาเห็นด้วยว่าน่าจะมีการขยายพื้นที่เช่นว่านี้ให้มีมากยิ่งขึ้น ที่กรุงเทพฯ มีมาก แต่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่มีเวทีพูดคุยลักษณะเช่นที่จัดที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านที่อีสานไม่มีความรู้ในเรื่องนี้

“ชาว บ้านในภาคอีสาน ที่ผมได้พูดคุยด้วย พวกเขารู้เรื่องมาตรา 112 ดีทีเดียว เมื่อไหร่ก็ตามที่มีงานของกลุ่มเสื้อแดง และมีการขอให้ลงชื่อเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 ชาวบ้านก็กล้าลงชื่อ พวกเขาเข้าใจว่าที่ผ่านมามีการนำมาตรา 112 ไปใช้เป็นอาวุธทางการเมือง”

“น่าจะมีการจัดเวทีพูดคุยแสดงความเห็น เกี่ยวกับกฎหมายนี้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกของคนในสังคมว่า การพูดคุยเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หรือเรื่องที่ทำให้เครียด หรืออาจจะใช้วิธีแบบที่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์เสนอ คือทำโพลสอบถามความเห็นแบบในสวีเดนเลยก็ได้”

แนะการฟ้องร้องควรมีหน่วยงานกลั่นกรอง ไม่ให้มีผู้นำกฎหมายหมิ่นฯ ไปใช้เป็นอาวุธ

เด วิด สเตร็คฟัส กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและคนสำคัญในสังคมเริ่มเห็นความสำคัญของปัญหา สองปีก่อนมีการตั้งกรรมการชุดหนึ่งที่มีนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน เพื่อที่จะทางเลือกแทนการฟ้องคดี อาจจะใช้แนวทางอื่นๆแทน แต่การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า นอกจากนี้มีกลุ่มนิติราษฎร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พยายามเสนอหลายแนวทางในการแก้ไขมาตรา 112 อาทิเช่น การให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ในประเทศนอร์เวย์ ที่การฟ้องคดีหมิ่นต้องให้กษัตริย์เป็นผู้ยินยอมให้มีการฟ้อง หรือในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่การฟ้องคดีนี้ ต้องผ่านการเห็นชอบของกระทรวงยุติธรรมก่อน ทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นการกลั่นกรองในระดับหนึ่ง เพื่อยับยั้งไม่ให้ใครนำเอากฎหมายเรื่องนี้ไปใช้เป็นอาวุธ

สมชายไม่เชื่อน้ำยา เพื่อไทย” จะแก้กฎหมาย ชี้การเปลี่ยนแปลงอยู่ที่พลังทางสังคม

ใน ช่วงที่เปิดให้ผู้ร่วมประชุมอภิปราย สมชาย ตอบคำถามที่มีผู้ถามว่า ถ้าหลังการเลือกตั้ง แล้วพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล คิดว่าจะทำให้เกิดการยกเลิกกฎหมายนี้ได้หรือไม่ โดยสมชายตอบว่า ไม่แน่ใจ เพราะไม่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องนี้ชัดเจนแต่อย่างใด อีกอย่างกฎหมายนี้พร้อมที่จะถูกใช้ประโยชน์เพื่อใครก็ได้ ดังนั้น อย่าฝากความหวังไว้กับการเมืองตัวแทน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ ขึ้นกับพลังทางสังคมมากกว่า

จิตรา คชเดช” เผยมีการใช้เรื่องความจงรักภักดี ฟ้องร้องเพื่อทำลายการรวมกลุ่มคนงาน

ด้าน น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งร่วมฟังการเสวนา ได้อภิปรายว่า ตอนที่ไปฟังศาลแรงงานมีคำตัดสินนั้น ตนถูกหาว่า “ไม่มีวิญญาณประชาชาติไทย” โดยที่ศาลอ้างว่า คำว่าไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทยนั้น ตามพจนานุกรมหมายถึง ประชาชนคนไทยให้ความเคารพ ยกย่อง เทิดทูนพระมหากษัตริย์ แต่พอตอนที่ตนไปขอคัดคำตัดสินที่เป็นลายลักษณ์อักษร ศาลก็ตัดถ้อยคำที่กล่าวหาตนเช่นนี้ออกไป

“ศาลแรงงานเห็นด้วยกับ บริษัทที่อ้างว่าดิฉันทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อ เสียง บริษัทยืนยันว่าเลิกจ้างดิฉันเพราะว่ามีทัศนคติที่ไม่จงรักภักดี เช่นวันจันทร์ บริษัทให้ใส่เสื้อเหลืองก็ไม่ใส่ วันที่สมเด็จพระพี่นางสวรรคตให้ใส่เสื้อดำก็ไม่ใส่ ตอนที่บริษัทให้พนักงานลงชื่อถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งดิฉันก็ไปลงชื่อ แต่บริษัทก็อ้างว่าเธอไม่จริงใจ เพราะใส่เสื้อลายสก็อตมา” น.ส.จิตรา กล่าว

“โดยส่วนตัวยืนยันว่าต้อง ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เพราะทุกวันนี้ กลายเป็นว่าตัวกฎหมายถูกหยิบมาใช้กับคนที่คิดว่าใช้กฎหมายอื่นๆ จัดการแล้วไม่ได้ผล

สมชายเห็นต่าง ม.ร.ว.อคิน ชี้แก้กฎหมายหมิ่นฯ คือพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนละเรื่องกับการยกเลิกสถาบัน

ใน ช่วงของการถามตอบ นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ ตั้งคำถามวิทยากรว่า เห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวของ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งกล่าวในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่า

ผม ไม่รู้ว่า พวกที่ออกจากป่าคิดยังไง มีหลายคนเคียดแค้นสถาบัน คิดว่า สถาบันมีส่วนเกี่ยวข้อง มีความแค้นอยู่ในใจ มีความคิดจะต่อสู้ ผมคิดว่า ถ้าเมืองไทยไม่มีสถาบันกษัตริย์จะลำบากมาก คนไทยจะฆ่ากันมากขึ้น เมื่อก่อนสยามประเทศจะมีหลายเผ่าพันธุ์ แต่มาอยู่ร่วมกันเพราะสวามิภักดิ์ต่อสถาบันเดียวกัน … ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมืองไทยก็ไม่ต่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แถบนั้นคนฆ่ากันตายเยอะ ฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากอเมริกา ลึกๆ แล้วคนไทยต้องการความสงบและเลื่อมใสพุทธศาสนา แต่องค์กรพุทธศาสนาก็ตกอยู่ในบ่วงทุนนิยม”

โดยสมชาย ตอบคำถามนี้ว่า การที่พูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ได้หมายถึงว่าต้องยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เป็นแต่เพียงการพูดเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่เกี่ยวกับการล้มสถาบัน

ตั้งข้อสังเกต การโยงเรื่องแก้ ม.112 กับกาล้มสถาบันฯ เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้

นอก จากนี้การที่มองว่า คนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ เพราะเคียดแค้นสถาบันนั้นก็ไม่ใช่ เพราะตนเองก็เรียกร้องให้มีการแก้ไข และตนก็ไม่ใช่คนที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม หรือได้รับผลกระทบอะไรจากเหตุการณ์ในตอนนั้น ส่วนที่ยกเหตุผลว่า ถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้วจะเป็นเหมือนฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซียนั้น คงต้องมองว่า ประเทศที่เขาไม่มีสถาบันนี้ และไม่มีการรบกันก็มี บางครั้งการหยิบยกตัวอย่างอะไรขึ้นมา ก็มีการเลือกในส่วนที่สนับสนุนความคิดของเรา “สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทัศนะที่ผมเชื่อก็คือ สถาบันที่สำคัญทุกอย่างต้องถูกตรวจสอบ สถาบันที่ตามไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมจะเสียหายมาก”

อย่างไร ก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเชื่อมโยงการแก้ไขมาตรา 112 เข้ากับข้อหาล้มล้างสถาบันนั้นเป็นเรื่องที่พึ่งเกิดมาเมื่อ 5-6 ปี ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งแม้แต่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง เมื่อ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (เสียชีวิตเมื่อปี 2553) ร่วมลงชื่อให้แก้ไขมาตรานี้ ก็มีใบปลิวว่อนในคณะ กล่าวหาว่าอาจารย์ท่านนี้ต้องการล้มล้างสถาบัน

ซึ่งแสดงให้ เห็นว่าแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ก็มีคนที่เชื่อการเชื่อมโยงเช่นนั้น ซึ่งการแยกคนออกเป็นพวกว่า พวกหนึ่งรักชาติ พวกหนึ่งอยากทำลายชาติ การแยกแบบนี้ อันตรายเพราะทำให้มองว่าคนอีกพวกนั้นไม่ใช่คนไทย

มี ผู้ตั้งคำถามด้วยว่า ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย ในเว็บไซต์วิกิลีคส์ ที่เป็นการให้ข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศในไทย เช่นนายอีริค จี จอห์น (Eric G. John) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ที่ให้ข้อมูลว่ามีบุคคลสำคัญเข้าข้างเสื้อเหลืองนั้น เจ้าหน้าที่ทางการไทยสามารถดำเนินการเอาผิดได้กับทูตได้หรือไม่ หรือทำไมไม่ดำเนินการเอาผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่เป็นการกระทำผิดในประเทศไทย เรื่องนี้ นายเดวิด อธิบายว่า ถ้าจะมีการจับกุม ข้อมูลจะต้องถูกเผยแพร่ก่อน และผู้ที่เผยแพร่ข้อมูล จะเป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดี ประเด็นเดียวกันนี้ อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลไปสู่สาธารณะ จึงจะถือเป็นความผิด แต่ถ้าทูตพูดในพื้นที่ส่วนบุคคล ก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะกระทำได้

วิดีโอคลิปส่วนหนึ่งจากการอภิปรายหัวข้อ "การเมืองใน lese majesty, lese majesty ในการเมือง"
เมื่อ 24 มิถุนายน 2554 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่





ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker