ผู้ เขียนเองได้ร่วมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน “เคารพ” เสียงประชาชนผ่านบทความที่ลงตีพิมพ์ในมติชนรายวันเมื่อ 9 มิถุนายน 2554 ที่เพิ่งผ่านไป อย่างไรก็ตาม แม้การตอบรับที่มีมายังผู้เขียนจะค่อนข้างดี (มีผู้เห็นด้วยเป็นอันมาก) แต่ก็มี “ความรู้สึก” เล็กๆ แนบมาด้วยทำนองว่า “ขอให้เป็นเสียงที่แท้จริงของประชาชน” จะได้ไหม ?
ความรู้สึกกังวล ว่าเสียงประชาชนเป็นเสียงที่ถูกซื้อได้เกิดขึ้นในสังคม ไทยมาเนิ่นนานเต็มที ความจริงก็คือการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นได้มีอยู่จริงในกระบวนการ ประชาธิปไตยไทยอย่างยากที่จะปฏิเสธ สาเหตุเกิดจากทั้งตัวนักการเมืองและประชาชนเองอยู่ในช่วงเริ่มต้นของหน่อ เนื้อประชาธิปไตย
ความผิด (จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์) ในอดีตของคนในชนบทรุ่นก่อนทำให้มี “ราคาที่ต้องจ่าย” เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยก้าวรุดหน้าไปจากเดิมมาก
แม้ไปเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็ยังอาจถูกตั้งคำถามว่ารับเงินเขามาลงคะแนนหรือเปล่า
กล่าวสำหรับคนเมืองที่ยังคงคลางแคลงใจกับคะแนนเสียงของคนชนบทนั้น ถึงเวลาที่เราอาจต้องปรับทัศนคติในเรื่องนี้กันเสียใหม่
ต่อให้คะแนนเสียงนั้นถูกซื้อหามา เราก็ยังต้องอดทนยอมรับเพื่อรักษาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้เอาไว้
อย่าว่าแต่ยามนี้ คนในชนบทได้พากันตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ในเรื่องของประชาธิปไตยจนร่ำๆ จะแซงหน้า “คนเมือง” ไปหลายองคุลีแล้ว
เราคงต้องประคับประคองวิถีทางประชาธิปไตยไป พัฒนาคุณภาพของผู้คนไปพร้อมๆ กัน โดยเลือกเอาระบอบให้คงไว้ก่อนเป็นสำคัญ
ไม่ ใช่เอะอะก็มาบอกว่า ใครต่อใครที่เราสงสัยซื้อสิทธิ์ขายเสียง “ไม่ได้แล้ว .... มันแย่มากเลย “.... แล้วกวักมือเรียกอำนาจพิเศษให้ออกมาทำปฏิวัติ
ประเทศไทยก็เลยติดหล่มจมปลัก...วนอยู่แต่ในเขาวงกต
ไปไหนไม่ถูกอย่างที่เกิดขึ้นช่วง 4 – 5 ปี มานี้
ประชาธิปไตย ของประเทศไทยนั้น แปลกประหลาดที่สุดในโลก พอยุบสภาเสร็จต้องมานั่ง “เกร็ง” กันว่าจะมีเลือกตั้งไหม ครั้น กกต.ประกาศจัดเลือกตั้งกำหนดวันแน่นอนแล้ว ยังต้อง “เกร็ง” กันต่อว่า “โค้งสุดท้าย” จะมีใครแอบมากิน 3 ต่อเข้าฮอร์สหรือไม่ !
ชนชั้นกลางที่เป็นพลังเงียบ จึงอาจต้องเข้าใจให้ได้โดยเร็วว่า ประชาธิปไตยบ้านเรานั้น มีโอกาสที่จะถูกบิดเบือนให้ออกนอกลู่นอกทางได้ตลอดเวลา
การได้รัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง และประคับประคองให้อยู่ครบวาระ 4 ปีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็น “โมเดล” ที่พวกเราอาจต้องช่วยกันดูแลให้เกิดขึ้นให้จงได้
และวิธีเดียวที่จะให้ได้รัฐบาลแบบนี้ก็คือ ให้ความเคารพต่อเสียงประชาชนที่พากันออกมาลงประชามติในวันเลือกตั้ง
อย่าได้เผลอไปสงสัยเรื่องความบริสุทธิ์ของคะแนนเสียง
ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นกรรมการกลางอำนวยความยุติธรรมอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำหน้าที่ตรงนี้
เพราะพลันที่เราสงสัย... ก็จะมีคนสวมรอยขยายผลพร้อมกับเรียกร้องหาอำนาจพิเศษในฉับพลันทันใด
ทัศนคติดังกล่าวนี้ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยในบ้านเรา เมื่อไปเกิดกับนักการเมือง ทั้งที่คร่ำหวอดและไม่คร่ำหวอดทั้งหลาย
ข้อ สังเกตที่นักการเมืองจำพวกนี้ชอบตั้งก็คือ ถ้าประชาชนไปเลือกพรรคที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม จะเป็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทันที แต่ถ้าเลือกพรรคตนคือเสียงบริสุทธิ์
ทัศนคตินี้เองที่บั่นทอน นักการเมืองระดับปูชนียบุคคล และพรรคเก่าแก่บางพรรค เพราะไป “ปรามาส” หรือ “ดูถูก” ประชาชนจากการพูดเช่นนี้บ่อยๆ จนทำให้ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส. แทบจะยกภาคกันเลยทีเดียว
กล่าวโดยสรุป คุณภาพของระบอบประชาธิปไตยไทยจะพัฒนาขึ้น ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันประคับประคองให้อำนาจจากประชาชนคงอยู่อย่างมั่นคงสถาวร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็โดยที่ทุกองคพยพต่างพากันให้ความเคารพต่อเสียงประชาชน ผู้ไปลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง โดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ