เรา ได้ยินคำปรามาสทำนองนี้มาตั้งแต่คนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องการเลือก ตั้งต้นปี 2553 แล้ว เช่น การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้ง ไม่ทำให้เกิดความปรองดอง ไม่แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ ไม่แก้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ
แต่ความจริงคือเราจะไม่มีจุด ตั้งต้น หรือไม่สามารถเดินต่อไปเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้เลย หากไม่มีการเลือกตั้ง ทว่าเมื่อมีการเลือกตั้งใน 3 กรกฎาคมนี้ เรากลับเผชิญกับความหวั่นวิตกกันว่า จะเกิดความวุ่นวายต่างๆ ตามมา เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่เดิมพันสูงของคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสอง ฝ่ายที่ต่างก็มี “ชนักติดหลัง” ที่ทำให้แพ้ไม่ได้
ฉะนั้น หากพรรคเพื่อไทยชนะแต่ได้เสียงไม่มากพอจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว และถูกประชาธิปัตย์รวบรวมเสียงจากพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กจัดตั้งรัฐบาลภาย ใต้การสนับสนุนของกองทัพอีก คนเสื้อแดงก็จะออกมาชุมนุมอีก หรือหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลแล้วจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทักษิณ พันธมิตรก็จะออกมาชุมนุมอีก
หรือที่แย่กว่านั้น กระบวนการสกัดทักษิณอาจกระทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แม้กระทั่งสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายเพื่อเป็นข้ออ้างทำรัฐประหาร เพราะภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นอยู่จริงที่ “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาแทรกแซงได้เสมอ ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก
อย่าง ไรก็ตาม ยิ่งเรามองเห็นปัญหาดังกล่าวชัดเท่าใด เรายิ่งพึงตระหนักว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ในความหมายว่า 1) ไม่ใช่การต่อสู้เพียงแค่ 2 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพ และอำมาตย์ กับฝ่ายพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงซึ่งมีหลายเฉด ตรงนี้เองที่ถ้าการเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมอาจจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมา ได้เสมอ 2) เป็นการเลือกตั้งที่สามารถนำไปสู่จุดเริ่มต้องของ “การเปลี่ยนผ่าน” สู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ ถ้าประชาชนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งตระหนักชัดเจนในประเด็นหลักๆ ต่อไปนี้
1. ทำให้การเลือกตั้งเป็นการต่อสู้ของสองพรรคการเมืองใหญ่ โดยลงคะแนนเลือกสองพรรคใหญ่เป็นหลัก
2. การเลือกสองพรรคใหญ่ เลือกเพราะตระหนักชัดเจนว่า เราเลือกเพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีเสรีภาพและความเสอมภาค ฉะนั้น เราจึงต้องเลือกพรรคการเมืองที่เราเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะกำกับควบคุมการทำงานของพวกเขาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนผ่านนั้นได้ มากที่สุด
3. เลือกเพราะตระหนักชัดเจนว่า ต้องการแก้ระบบสองมาตรฐาน คืนความเป็นนิติรัฐ นิธิธรรม แก่สังคม
หลัก คิดตรงไปตรงมาในการเลือกตามข้อนี้คือ สมมติรัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่า “สั่งฆ่าประชาชน 91 ศพ” แล้วฝ่ายที่กล่าวหาก็ใช้กำลังทหารยึดอำนาจ เสร็จแล้วก็ตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งขึ้นมาสอบสวนเอาผิดตามข้อกล่าวหานั้น
จาก ข้อสมมตินี้หากเรายึดมั่นระบอบประชาธิปไตย เราย่อมตัดสินได้อย่างตรงไปตรงมาว่า นิติรัฐได้ถูกล้มไปแล้วโดยการทำรัฐประหาร และกระบวนการสอบสวนเอาผิดโดยคณะกรรมการที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นไม่ไม่ใช่ นิติธรรม เพราะนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีนิติรัฐตามระบอบประชาธิปไตยรองรับ
ฉะนั้น แม้สมมติว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สั่งฆ่าประชาชนจริง แต่ก็ต้องถูกดำเนินการเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นไปตามหลักนิติรัฐ และมีนิติธรรม
สมมติต่อ อีกว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกทำรัฐประหารและถูกคณะกรรมการที่รัฐประหารตั้งขึ้นสอบสวน เอาผิด จนศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง หากวันหนึ่งประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง คุณอภิสิทธิ์และพวกก็ย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะต้อสู้ว่า กระบวนการที่ดำเนินการกับตนมาทั้งหมดนั้นไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ฉะนั้น กระบวนการทั้งหมดจึงควรจะเป็นโมฆะ
หากคนเสื้อแดงและญาติผู้ บาดเจ็บและเสียชีวิตมั่นใจว่า พวกตนมีหลักฐานพยานเพียงพอว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนจริง ก็ต้องดำเนินการฟ้องใหม่ต่อ “กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ” ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ผมเชื่อว่า ถ้าเอาข้อสมมตินี้ไปถามพรรคประชาธิปัตย์ หากพวกเขา “ซื่อสัตย์” ต่อหลักการประชาธิปไตย พวกเขาต้องตอบว่า สิ่งที่ผมเขียนมานี้ไม่ผิด และเป็นสิ่งที่พวกเขายอมรับได้อย่างแน่นอน
ฉะนั้น มีแต่การยอมรับและยืนยันหลักนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น การแก้ปัญหาระบบสองมาตรฐาน และการคืนระบบนิติรัฐ นิติธรรมแก่สังคมจึงจะเป็นไปได้ ในฐานะประชาชนเราคือผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหนที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า ยืนยันหรือปฏิเสธหลักนิติรัฐ นิติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย
4. เลือกพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ หรือที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะกำกับควบคุมให้ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยได้
เกือบ 80 ปีแล้ว ที่ประเทศนี้รณรงค์ให้เลือกนักการเมืองที่เป็นคนดี หมายถึงมีความ “ซื่อสัตย์” คือไม่โกง ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็เป็นการรณรงค์ที่ถูกต้อง (สำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่เรากลับไม่รณรงค์ให้เลือกนักการเมือง พรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ อุดมการณ์ประชาธิปไตยเลย
การ ทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาในวงการเมือง (และวงการอื่นๆ) ของทุกประเทศ มากน้อยต่างกันไป เป็นปัญหาของการทำผิดกฎหมายที่ต้องแก้ไปเรื่อยๆ และต้องแก้ภายใต้กระบวนการยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น แม้จะยังมีนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์ในความหมายของการคดโกงคอร์รัปชัน แต่หากเรายึดความซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างมั่นคง ระบอบประชาธิปไตยก็จะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันนั้นๆ เอง และจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ อย่างอารยประเทศ
แต่ ปัญหาของบ้านเรา คือ “การไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการและระบอบประชาธิปไตย” จึงมีการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยอ้างสถาบัน อ้างว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน แต่ในที่สุดก็แก้ไม่ได้ เกิดคอร์รัปชันหนักกว่าเดิม และตรวจสอบไม่ได้
และที่น่าเศร้าคือ มีพรรคการเมืองที่โจมตีปัญหาคอร์รัปชันมาตลอด แต่ไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะลดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร อ้างประชาธิปไตย อ้างหลักการ แต่การกระทำกลับตรงกันข้ามกับที่อ้าง หรือปากบอกปฏิเสธรัฐประหารแต่พฤติกรรมกลับออกมาในทางสมประโยชน์กับฝ่ายทำรัฐ ประหาร เป็นต้น
ฉะนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คือผู้จะตัดสินใจว่า เราต้องเลือกพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย หรือที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะกำกับควบคุมให้ซื่อสัตย์ต่อหลักการประชาธิปไตย ได้เท่านั้น จึงจะนำไปสู่การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้
ที่ สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายเป็นการเรียกร้อง “ความยุติธรรม” แก่ประชาชนผู้บาดเจ็บล้มตายด้วย และมีความหมายต่อการเขียนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนให้ตรงตามความ เป็นจริงและเที่ยงธรรมด้วยอย่างมีนัยสำคัญ
ฉะนั้น หากการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีเสรีภาพและความเสมอภาค เราจำเป็นต้องเลือกพรรคใหญ่พรรคใดพรรคหนึ่ง ที่ประชาชนจะสามารถเรียกร้องและกำกับตรวจสอบให้ดำเนินนโยบายตามเจตนารมณ์และ ข้อเรียกร้องต่างๆ ตามที่กล่าวมาเป็นต้น ได้จริง!
อย่าลืมว่า “วาระสำคัญ” ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ของคนสองฝ่ายใหญ่ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการให้คงระบอบประชาธิปไตยในกำกับของอำมาตย์ต่อไป กับอีกฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับ ของระบบอำมาตย์ !