30 มิ.ย.54 นายอานนท์ นำภา ทนายความสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ และทนายเจ้าของคดี แจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายโจ กอร์ดอน หรือในชื่อไทย นายเลอพงษ์ (ขอสงวนนามสกุล) หลังจากศาลชั้นต้นได้ยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวไปครั้งหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ ในวันที่ 13 ม.ย.54
ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดที่ถูกกล่าวหาเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อันเกี่ยวกับความมั่น คงแห่งราชอาณาจักร ตามพฤติการณ์แห่งคดี ลักษณะการกระทำนำมาซึ่งความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพ เทิดทูนบูชาของคนไทยทั้งชาติ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนผู้จงรักภักดี ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เกรงจะไปทำลายพยานหลักฐานซึ่งเป็นพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน จึงไม่อนุญาต คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง แจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทราบโดยเร็ว ลงชื่อ นางอารีย์ เตชุหรูวิจิตร, นายสิทธิพร บุญฤทธิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ วันที่ 29 มิถุนายน 2554
ส่วนคำร้องของจำเลยในคำร้องของปล่อยชั่วคราวที่ ส่งศาลอุทธรณ์ในครั้งนี้ ระบุว่า ผู้ต้องหายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา อีกทั้งมีอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเก๊าท์ นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญไทยก็กำหนดว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ ต้องหาไม่มีความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ ผู้ต้องหาต้องมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม มีโอกาสสู้คดีอย่างเพียงพอ และได้รับการปล่อยชั่วคราว บทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย การขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนในเรือนจำนั้นเป็นเสมือนหนึ่งว่า ผู้ต้องหาได้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดไปแล้ว ย่อมขัดรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศ ริดรอนสิทธิของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง
“ผู้ต้องหา ขอยืนยันว่าผู้ต้องหามิได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา และจากพฤติการณ์หากผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง ไฉนเลยผู้ต้องหาจะเดินทางกลับมาในราชอาณาจักรเพื่อให้ถูกดำเนินคดี”
“ผู้ ต้องหาขอเรียนต่อศาลว่า แม้ผู้ต้องหาต้องหาคดีร้ายแรงต่อความรู้สึกของประชาชน แต่ขณะที่ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหลายรายที่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว เช่น คดีนายสุลักษณ์ ศิวลักษ์ คดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล หรือคดีนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท บุคคลดังกล่าวล้วนมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ ผู้ต้องหาจึงเห็นว่าการปล่อยตัวชั่วคราวควรเป็นไปตามหลักแห่งกฎหมายและ พฤติการณ์ของผู้ต้องหา และแม้ผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้มีชื่อเสียงน่าเชื่อถือในสังคม แต่ในฐานะพลเมืองของประเทศคนหนึ่ง ผู้ต้องหาย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” คำร้องขอปล่อยชั่วคราวระบุ
ทั้งนี้ ทั้งนี้ ผู้ต้องหารายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัด นครราชสีมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน เจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาตามความผิดมาตรา 112, 116 ของประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งมาตรา 14 (3),(5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งมีเนื้อหาหนังสือThe King Never Smiles (TKNS) ภาคภาษาไทย และนำลิงก์ไปโฆษณาไว้ในเว็บบอร์ด sameskyboard.com ให้คนเข้าไปอ่านหนังสือดังกล่าว เหตุเกิดในช่วงปี 2550-2552