(28 มิถุนายน 2554) เครือข่ายพลเมืองเน็ต, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), และ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการจัดทำ “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับประชาชน” ในชื่อ “My Computer Law” (มายคอมพิวเตอร์ลอว์ - กฎหมายคอมพิวเตอร์ของเราเอง)
โครงการ “My Computer Law” ดังกล่าว จะดำเนินกิจกรรมรณรงค์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นำความคิดเห็นมาประมวลหาหลักการร่วม ทำงานร่วมกับนักกฎหมายและนักเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การเสนอร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร โดยวิธีรวบรวมรายชื่อ 10,000 คน ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163
โดยเชิญชวนประชาชนทุกคน ให้เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ MyComputerLaw.in.th, เฟซบุ๊ค www.facebook.com/MyComputerLaw ทวิตเตอร์ twitter.com/MyComputerLaw และ ติดตามปฏิทินกิจกรรมออฟไลน์ได้ทางเว็บไซต์ด้วย โดยทางโครงการมีแผนการจะจัดกิจกรรมรณรงค์การมีส่วนร่วมครั้งนี้ในจังหวัด ต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วย โดยกำหนดการการเดินทางจะประกาศให้ทราบทางหน้าเว็บไซต์ต่อไป
โครงการ “My Computer Law” ดังกล่าว จะทำกิจกรรมรณรงค์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ในระยะเวลาเบื้องต้น เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2554
ช่วง ที่ 1 – แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยทำกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ในจังหวัดต่าง ๆ → นำมาสรุป ได้เป็น “คำประกาศผู้ใช้เน็ต”
ช่วงที่ 2 – เขียนตัวกฎหมาย โดยยึดคำประกาศฯ เป็นหลักการ → ได้ “ร่างพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับประชาชน”
ช่วงที่ 3 – รวบรวมรายชื่อของผู้สนับสนุน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า กฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันของ ทุกคนอย่างมาก แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่ว่าจะ ไม่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น การส่งข้อความSMS ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนี้ด้วย ดั่งที่เคยมีตัวอย่างว่าคนส่ง SMS ก็ถูกจับติดคุกตามพ.ร.บ.คอมนี้ได้
ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อกังวลคือมีการปิดเว็บไซด์จำนวนมาก จนอาจขาดความโปร่งใส การลงโทษตัวกลาง เช่น เว็บมาสเตอร์ และอัตราโทษซึ่งอาจจะมากเกินความจำเป็น ซึ่งกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในแง่ของสิทธิการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจพ.ร.บ.นี้ บางครั้งจึงตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว วัตถุประสงค์ของเราจึงต้องการทำกิจกรรมให้ความรู้ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย และรับฟังเสียงของประชาชนว่าคิดอย่างไร ต้องการแก้ไขอย่างไร
ใน วันดังกล่าวยังมีกิจกรรมรณรงค์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยการแต่งกายที่มีข้อความว่า "คนใช้เน็ตคิดเองได้" เพื่อแสดงจุดยืนต้องการให้ประชาชนที่ได้รับผลโดยตรงจากกฎหมาย ได้ออกแบบกฎหมายของตัวเอง และรณรงค์ภายใต้หัวข้อ "เจ้าของคอมทุกเครื่อง เป็นเจ้าของเรื่อง พ.ร.บ.คอม" เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนี้
สำหรับ ผู้สนใจจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ภายในกลุ่ม สมาคม หรือท้องถิ่นของตัวเอง สามารถติดต่อโครงการเพื่อประสานงานได้ที่อีเมล info@mycomputerlaw.in.th
ที่มา: http://ilaw.or.th/node/1055