ความ ชอบธรรมทางการเมือง อาจมองจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ 1) ความชอบธรรมตามกติกา 2) ความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม หรือความรู้สึกของสังคม การยอมรับของประชาชน
น่าสนใจว่า หากเราลองเปรียบเทียบวิธีการเผชิญปัญหาความชอบธรรม ระหว่างคุณทักษิณและคุณอภิสิทธิ์ช่วงกึ่งทศวรรษมานี้ เราจะเห็นอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างกรณีต่อไปนี้
กรณีที่ 1: การเผชิญ ปัญหาความชอบธรรมเรื่อง “ขายหุ้นไม่เสียภาษี” คุณทักษิณอ้าง “ความชอบธรรมตามกติกา” ว่า ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในสถานการณ์เวลานั้นกระแสสังคมไม่พอใจคุณทักษิณสูงมาก ฉะนั้น แม้คุณทักษิณจะมีความชอบธรรมในแง่กติกา แต่ในแง่ “มโนธรรมทางสังคม” หรือความรู้สึกของประชาชนดูเหมือนคุณทักษิณจะสูญเสียความชอบธรรมไปมาก
แต่ ข้อสังเกตคือ เมื่อคุณทักษิณรู้ตัวว่า ตนเองสูญเสียความชอบธรรมในแง่มโนธรรมทางสังคมไปมาก และต้องเผชิญกับการกดดันของพันธมิตร การขอเสียงสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยประชาธิ ปัตย์ คุณทักษิณก็ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน
การ ตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ มีความชอบธรรมในสองความหมายคือ 1) เป็นการเดินตามกติกาประชาธิปไตย 2) เคารพต่อมโนธรรมทางสังคม โดยคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสิน
แต่ในกรณีดังกล่าวนี้ คุณอภิสิทธิ์ขอเสียงสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยเพื่อเปิดอภิปรายคุณทักษิณ เมื่อไม่ได้ และคุณทักษิณยุบสภา คุณอภิสิทธิ์กลับบอยคอตการเลือกตั้งและชวนพรรคการเมืองอื่นๆ บอยคอตการเลือกตั้งด้วย ความชอบธรรมของคุณอภิสิทธิ์ในกรณีนี้คือ 1) ไม่ผิดกติกา 2) มีกระแสสนับสนุนจากประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจการกระทำนั้น อย่างน้อยก็คือประชาชนจำนวนมากที่เลือกพรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง 2 เมษา 49
แต่หากพิจารณาเหตุผลของคุณอภิสิทธิ์ตอนนั้นที่ว่า คุณทักษิณยุบสภาเพราะเห็นว่าตนเองได้เปรียบ ถ้าเลือกตั้งตนตองชนะแน่ๆ เหตุผลเช่นนี้จึงเป็นเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของตนเองไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ ของชาติ เราก็ย้อนถามคุณอภิสิทธิ์ได้เช่นกันว่า ที่คุณอภิสิทธิ์รู้ว่าตนเองเสียเปรียบ ลงเลือกตั้งต้องแพ้แน่ๆ จึงบอยคอตการเลือกตั้ง เหตุผลเช่นนี้เป็นเหตุผลเพื่อประเทศชาติอย่างไร
ฉะนั้น ตรรกะทำนองนี้มันฟ้องถึงภาวะผู้นำในการตัดสินใจแก้ปัญหาของคุณอภิสิทธิ์ อย่างชัดเจน และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญสืบเนื่องจากการตัดสิน ใจบอยคอตการเลือกตั้ง ก็คือรัฐประหาร 19 กันยา 49 จนถึงการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 มันสะท้อนว่าคุณอภิสิทธิ์ตัดสินใจไม่ตรงไปตรงมา และผิดพลาด เพราะขาด “สปิริตประชาธิปไตย”
กรณีที่ 2 : เมื่อการเลือกตั้ง 2 เมษา 49 เป็นโมฆะ และคุณทักษิณถูกกดดันจากพันธมิตร อำมาตย์ และพรรคการเมืองที่บอยคอตการเลือกตั้ง รวมทั้งกระแสความไม่พอใจของสื่อ นักวิชาการ ปัญญาชน คุณทักษิณตัดสินใจขอใช้กติกาประชาธิปไตยด้วยการให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง ราวกลางเดือนตุลาคม 49 พร้อมกับแสดงออกถึงการเคารพต่อมโนธรรมทางสังคมด้วยการ “ถอยหนึ่งก้าว” โดยประกาศจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ หากพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง
แต่คุณ อภิสิทธิ์กลับใช้ภาวะผู้นำตัดสินใจเผชิญปัญหานี้ด้วยการเสนอ “นายกฯ พระราชทานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7” ซึ่งเป็นการเดินตามเกมของพันธมิตร จนเป็นที่มาของฉายา “มาร์ค ม.7” อันมีความหมายเป็น “ตัวตลก” ทางการเมืองในเวทีประชาธิปไตย
กรณีที่ 3 : เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา จนมาถึงคุณทักษิณถูกตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาในข้อหา “เซ็นชื่อยินยอมให้เมียซื้อที่ดิน” คุณทักษิณเผชิญปัญหานี้ด้วยการหนีคุกไปอยู่ต่างประเทศ เป็นเหตุให้ถูกโจมตีว่าไม่เคารพ “กระบวนการยุติธรรม” แต่เหตุผลของคุณทักษิณคือ นั่นไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม แต่เป็นกระบวนการรัฐประหาร เพราะมันเริ่มจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนไป แล้วก็ใช้กลไกของรัฐประหารคือ คตส.ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับเขา ซึ่งมันไม่ใช่ “กระบวนการยุติธรรมตามครรลองประชาธิปไตย”
เหตุผลของ คุณทักษิณ เราอาจเข้าใจได้ว่า ความยุติธรรมจะมีได้ในระบบที่มีนิติธรรม (หมายถึงมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลาง) ซึ่งนิติธรรมจะมีได้ก็ต่อเมื่อมี “นิติรัฐ” ทว่านิติรัฐคือรากฐาน (key element) ของระบอบประชาธิปไตย เมื่อประชาธิปไตยถูกล้มไปโดยรัฐประหารนิติรัฐย่อมถูกล้มไปด้วย กระบวนการต่อมาที่เอาผิดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จึงเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า “เป็นอิสระและเป็นกลาง” ฉะนั้น จึงไม่ใช่กระบวนการที่มีนิติธรรม
ในกรณีนี้คุณอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ ว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่กลับเห็นว่ารัฐประหารสร้างระบบนิติรัฐนิติธรรมขึ้นมาได้ ดังที่คุณอภิสิทธิ์แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ค ว่า หากนิรโทษกรรมคุณทักษิณเท่ากับเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรม และยังเป็นการทำลายความมั่นคงของ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (หมายความว่าคุณอภิสิทธิ์เห็นว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัฐประหาร และถูกค้ำจุนด้วยกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหารใช่หรือไม่?)
กรณีที่ 4 : การ ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร คุณอภิสิทธิ์อ้างว่าเป็นนายกฯ โดยผ่านกระบวนการรัฐสภา หมายความว่าเขามีความชอบธรรมตามกติกา แต่ไม่แคร์ต่อความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม คือไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับการที่มีการร่วมมือกับอำนาจพิเศษไป ฉกเอา ส.ส.จากฝ่ายตรงข้ามแล้วไปวางแผนตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
กรณีที่ 5 : เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 คุณอภิสิทธิ์อ้างความชอบธรรมตามกติกาเพียงประการเดียวคือ “การรักษากฎหมาย” แต่ไม่สนใจความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม คือไม่สนใจว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไรกับการที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ใช้ “กระสุนจริง” สลาย “การชุมนุมทางการเมือง” ของประชาชนหลายหมื่นคน จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และข้อพิสูจน์ว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคมใดๆ เลย คือการเปิดปราศรัยปฏิเสธความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงที่ “ราชประสงค์”
กรณีที่ 6 : การเลือกตั้งใน 3 ก.ค. คุณทักษิณเห็นว่า พรรคที่ควรเป็นรัฐบาลควรมีความชอบธรรม 2 ส่วน คือ 1) ความชอบธรรมตามกติกาคือ การมีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2) ความชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม คือการชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 แต่คุณอภิสิทธิ์เห็นต่างออกไปว่า พรรคที่ควรเป็นรัฐบาลมีความชอบธรรมเพียงประการเดียวก็พอ คือมีความชอบธรรมตามกติกา เมื่อกติกาเปิดให้แข่งจัดตั้งรัฐบาลได้ เขาก็มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนที่ลงคะแนน ให้กับพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1
สรุป ความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมืองของคุณทักษิณ คือการพยายามต่อสู้ตาม “กติกาประชาธิปไตย” และอ้างอิง “มโนธรรมทางสังคม” หรือ “เสียงส่วนใหญ่” เป็นหลัก (ส่วนกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ ข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องจัดการด้วยวิธีรัฐประหาร)
ขณะที่คุณภิสิทธิ์อ้าง อิง “กติกา” แต่แทบไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคมเลย ในส่วนของการอ้างอิง “กติกา” หากในสถานการณ์ที่ถ้าการต่อสู้กันตามกติกานั้นตนเองจะแพ้ คุณอภิสิทธิ์ก็ปฏิเสธจะต่อสู้ เช่น บอยคอตการเลือกตั้ง หรือหากใช้กติกาใดแล้วจะทำให้คู่ต่อสู้ไม่ได้กลับคืนสู้อำนาจอีกตนเองก็จะ ใช้กติกานั้น เช่น เสนอ ม.7 หรือไม่ก็อ้างกติกาแบบ “ขัดแย้งในตัวเอง” เช่น ปฏิเสธรัฐประหารแต่ยืนยันว่ารัฐประหารมีนิติรัฐและนิติธรรม หรืออ้างกติกาอย่างไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคม เช่น กรณีตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร หรืออ้างกติกาแบบทั้งไม่แคร์ต่อมโนธรรมทางสังคมและอย่างไร้มนุษยธรรม เช่น อ้างการรักษากฎหมายด้วยการสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนจริง และสุดท้ายก็อ้างแค่ความชอบธรรมตามกติกาในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยไม่แคร์ต่อเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1
การไม่ แคร์ต่อเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ใน “สถานการณ์ความแตกแยกของประเทศ” เช่นนี้ มีความหมายสำคัญว่า คุณอภิสิทธิ์ไม่แคร์ต่อ “โอกาสของประเทศ” ที่ควรจะมีโอกาสป้องกันความขัดแย้งเฉพาะหน้าที่อาจปะทุขึ้นมาอีก ด้วยการให้พรรคการเมืองที่มีความชอบธรรมมากกว่าคือ ทั้งชอบธรรมตามกติกา และชอบธรรมตามมโนธรรมทางสังคม ได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน
ฉะนั้น วาทกรรมปรองดอง อ้างว่าตนไม่ใช่เงื่อนไขความขัดแย้ง ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้อาสานำพาประเทศข้ามพ้นความแตกแยก กลับคืนสู่ความสงบสุข จึงเป็นวาทกรรมที่หลอกตัวเอง และลวงโลกอย่างเหลือเชื่อ!