บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พอลลีน: 'ในนามของความเกลียดชัง' อดีตนักสิทธิสตรี ผู้กลายเป็นอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทารุณกรรมทางเพศต่อสตรี

ที่มา ประชาไท

นางพอลลีน เยียรามาซูฮูโก (Pauline Nyiramasuhuko) เพิ่งถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตต่อความผิดฐานก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ

เธอ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ถูกคณะตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (The International Criminal Tribunal for Rwanda: ICTR) พิพากษาให้รับโทษฐานเป็นผู้ก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสนับสนุนให้มี การกระทำทารุณกรรมทางเพศต่อสตรี

นางพอลลีน วัย 65 ปีเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสตรีและสวัสดิการครอบครัวแห่งประเทศรวันดา

องค์ คณะผู้พิพากษาของ ICTR ระบุในคำพิพากษาว่า นางพอลลีนร่วมคบคิดวางแผนในการก่ออาชญกรรมที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ, ทำลายล้าง, ข่มขืน, ไล่ล่าประหัตประหาร, กระทำทารุณกรรมต่อชีวิต และเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวทุตซี่ (Tutsis) กว่า 800,000 คนในประเทศ เมื่อปีพ.ศ. 2537 เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่เป็นรู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ Hotel Rwanda

อาชญากรรม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ในรวันดา เกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ชาวทุตซี่ที่ตกเป็นเหยื่อของการสังหารหมู่ครั้งนี้มีประมาณ 800,000 คนหรือร้อยละ 77 ของจำนวนประชากรชาวทุตซี่ในรวันดาก่อนเกิดเหตุการณ์ฯ ทั้งนี้ ก่อนปี 2537 จำนวนประชากรชาวทุตซี่ในรวันดามีอยู่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ

ในระหว่างการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นั้น กลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่รัฐบาลฯจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศได้ข่มขืนผู้หญิงและ เด็กหญิงชาวทุตซี่อย่างโหดร้ายทารุณด้วย

นางพอลลีนถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในห้ารัฐมนตรีที่ร่วมวางแผนนี้เพื่อทำลายล้างชาวทุตซี่

หลัง เหตุการณ์ร้อยวันแห่งการสังหารในรวันดาสิ้นสุดลง นางพอลลีนหลบหนีไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประทศคองโก สามปีหลังจากนั้น เธอถูกจับได้ที่ประเทศเคนยาในปี พ.ศ. 2540 และถูกนำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่แทนซาเนียเพื่อรอการพิจารณาคดี

การพิจารณาคดีของนางพอลลีนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 นับเป็นการพิจารณาคดีที่ใช้เวลายาวนานที่สุดของ ICTR

นอก จากข้อกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในการจัดตั้ง กลุ่มพลเรือนติดอาวุธทั่วประเทศเพื่อกวาดล้างชนเผ่าทุตซี่ให้สิ้นสูญไป จากรวันดาให้เร็วที่สุด พอลลีนยังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการและส่งเสริมให้มีการสังหารหมู่ในเมือง Butare ทางตอนใต้ของรวันดาซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของเธอด้วย ทั้งนี้ เมือง Butare เป็นเมืองที่มีสัดส่วนของชาวทุตซี่และชาวฮูตู (Hutu) อยู่ร่วมกันจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในรวันดา

นางพอลลีนอายุ 48 ปี ในช่วงที่เธอก่ออาชญากรรมสะเทือนโลก เธอเป็นนักการเมืองและสตรีที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของรวันดาในขณะนั้น

พอ ลลีนมาจากครอบครัวชาวนายากจนในชุมชนชนบทที่อยู่เขตรอบนอกของเมือง Butare หลังสำเร็จการศึกษาชั้นประถม พอลลีนได้เข้าไปเรียนต่อที่ Karubanda School of Social Studies ในเมือง Butare เมื่อจบการศึกษาระดับไฮสคูลจากที่นี่ เธอเริ่มต้นทำงานเป็นนักพัฒนาสังคมด้านส่งเสริมและพัฒนาสิทธิสตรี เธอแต่งงานกับ Maurice Ntahobali ปัญญาชนคนดังของรวันดา และมีบุตรชายหญิงด้วยกัน 4 คน

พอลลีนเป็นเด็กหญิงจากหมู่บ้านชนบทที่ นำความภูมิใจมาสู่ชุมชนของเธอตลอด มา ทั้งยังเป็นผู้มีความอุตสาหะพยายามจนสามารถเรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายได้ เมื่ออายุ 44 ปี

ปี 2535 พอลลีนได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกรการพัฒนาสตรีและสวัสดิการครอบ ครัว ตอนนั้นมีเสียงวิจารณ์กันว่าเธอได้ตำแหน่งนี้มาเพราะเป็นเพื่อนกับนางAgathe Habyarimana ภริยาประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana แห่งรวันดา พอลลีนรู้จักกับ Agathe Habyarimana ในช่วงที่เรียนไฮสคูล

ประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana ถูกลอบสังหารในเดือนเมษายน 2537 อสัญกรรมของประธานาธิบดีเชื้อชาติฮูตู ได้นำไปสู่อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี่ในรวันดาที่นางพอลลีนเข้าไป เกี่ยวข้องด้วย

ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ฯนั้น สามีของพอลลีนดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยแห่งชาติรวันดาที่เมืองButare บุตรชายคนหนึ่งของเธอเป็นหัวหน้ากลุ่มพลเรือนติดอาวุธที่ไล่ล่าสังหารชาวทุ ตซี่และข่มขืนทารุณกรรมผู้หญิงชาวทุตซี่ตามคำสั่งเบื้องบนซึ่งมีพอลลีนเป็น หนึ่งในผู้สั่งการ

ขณะที่หลบหนีอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในคองโกเมื่อปี 2538 นั้น พอลลีนเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่าเธอไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการสังหารหมู่ใน รวันดา เธอตอบโต้ข้อกล่าวหาโดยหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เพศสภาพ”มาอธิบายประกอบว่า “แม้แต่ไก่สักตัว ฉันก็ยังไม่กล้าฆ่า ถ้ามีใครมาบอกว่าผู้หญิง หรือคนที่เป็นแม่สามารถฆ่าคนได้ ฉันขอบอกเลยว่าฉันพร้อมที่จะโต้ตอบกับคนๆนั้น”

พอลลีนบอกว่าเธอตก เป็นเป้าของการถูกกล่าวหา เพราะเธอเป็นผู้หญิงฮูตูที่มีการศึกษาสูง เธอบอกว่า “ผู้หญิงชาวฮูตูทุกคนที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัย ถูกมองราวกับเป็นฆาตกร”

ขณะที่สามีของเธอให้สัมภาษณ์นิวยอร์คไทมส์ ว่า พอลลีนเคยเป็นนักเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิทธิสตรี ทำงานส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างหญิงชายมาตลอด เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยที่เธอจะสนับสนุนให้ลูกชายข่มขืนผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม คณะผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อรวันดาระบุว่าความผิดของนางพอลลีนนั้น “มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นความวิปริตและความชั่วช้าซึ่งยากหยั่งถึง”

บท ความเรื่อง "Mother of Atrocities: Pauline Nyiramasuhoko's Role in The Rwandan Genocise" ที่เขียนโดย Carrie Sperling ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำ Legal Research and Writing, University of Oklahoma College of Law อ้างถึงรายงานของ Human Rights Watch ที่ระบุว่า “ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คือ พวกลูกชายวัยรุ่นถูกบังคับให้ข่มขืมแม่ของพวกเขาเองต่อหน้าสมาชิกในครอบครัว คนอื่นๆ” และ “ในหลายเหตุการณ์ มีการเอาน้ำที่กำลังต้มเดือดหรือน้ำกรด เทใส่ช่องคลอดของเหยื่อที่ถูกข่มขืน รวมทั้งการกรีดอวัยวะเพศและการตัดนมของเหยื่อ”

ทั้งหมดนี้เป็นอาชญากรรมที่ถูกกระทำขึ้นในนามของความเกลียดชังอันมีอดีตนักสิทธิสตรีอยู่เบื้องหลัง

Sources:
http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-13507474
http://www.bbc.co.uk/news/world-africa-13907693
http://edition.cnn.com/2011/WORLD/africa/06/24/rwanda.genocide.verdict/index.html?iphoneemail
http://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=1662710

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker