หากพิจารณาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลและรัฐธรรมนูญของไทยแล้วจะเห็นได้ว่า ระบอบอำมาตย์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากอำนาจสองประการคือ การไม่ยอมรับให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และการสร้างองค์กรองคมนตรีขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาองค์พระมหากษัตริย์ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และการเมือง แนวคิดสองประการนี้ทำให้เกิดการออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมามีลักษณะให้อำนาจเด็ดขาดต่อบางองค์กรโดยไม่ขึ้นกับประชาชน ซึ่งผิดวิสัยของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมากดังนั้น การแก้ไขปัญหาส่วนเกินในรัฐธรรมนูญนี้จึงจะเป็นการยกเลิกโครงสร้างของระบอบอำมาตย์ได้อย่างสิ้นเชิง
การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปรากฏในสังคมขณะนี้มีอยู่สองแนวทางคือ แนวทางของคปพร. ที่ได้เสนอเข้าไปในรัฐสภาแล้วแต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นวาระในการพิจารณา และแนวทางจากคณะกรรมการสมานฉันท์ที่กำหนดประเด็นต่างๆไว้ 6 ประเด็น
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเป็นเพียงการแก้ไขในสาระที่ไม่สำคัญ และเป็นเรื่องทางเทคนิคในการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งยังจะมีการซื้อเวลาหรือสร้างประเด็นเป็นเพียงให้เห็นว่ามีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50 ซึ่งมีกับดักทางการเมืองมากมายโดยผู้ร่างที่มีรากฐานมาจากระบอบเผด็จการและมีบางพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งเช่น การเลือกตั้งแบบพวงใหญ่และการมี สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
และแม้แต่จะมีการนำรัฐธรรมนูญปี 40 หรือการผ่านร่างรัฐธรรมนูญของคปพร.ด้วยอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงอย่างไรก็ตาม อำนาจมืดที่ครอบงำสังคมการเมืองไทยก็ยังคงอยู่ ระบอบอำมาตย์ก็ยังคงอยู่ อำนาจอธิปไตยยังไม่อยู่ในมือของประชาชนเช่นเดิม
การแอบอ้างพระราชอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวก หรือการแอบอิงเพื่อให้ระบบราชการเข้มแข็งและขัดขวางการเจริญเติบโตของระบอบประชาธิปไตยด้วยวิธีการต่างๆจะยังคงมีอยู่ต่อไป
การยึดอำนาจรัฐประหารจะยังคงไม่หายไปจากสังคมไทยอย่างเด็ดขาด เมื่อระบบเผด็จการยังคงอยู่ไม่ว่าจะอย่างเปิดเผยหรือซ่อนรูปก็ตามประชาชนก็จะยังคงได้รับการกดขี่ มีการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การทำงานที่ต้องอาศัยเส้นสายไร้ประสิทธิภาพทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ทำให้สังคมไทยไม่สามารถแข่งขันกับสังคมภายนอกได้ ประเทศไทยจะยังดำรงอยู่แต่จะมีสภาพเป็นกึ่งเปิดกึ่งปิดประเทศ
ประชาชนส่วนใหญ่จะยังจมอยู่กับความลำบากยากแค้น ทั้งจน ทั้งเจ็บ ทั้งขาดการศึกษา ไม่สามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลายเป็นคนชั้นกลางได้ คนที่ร่ำรวยอยู่แล้วด้วยทุนผูกขาดแอบอิงอำนาจ ก็จะยิ่งครอบงำสังคมไทยแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ คงอยู่เพื่อขูดรีดประชาชนร่วมชาติเท่านั้น ส่วนคนที่ยากจนก็จะยิ่งมีสภาพตกต่ำลงและอาจล้าหลังแม้แต่ประเทศในแถบอัฟริกาในระยะเวลาอันใกล้นี้
สาเหตุทั้งหมดก็เนื่องจากระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง
หนทางเดียวที่จะช่วยประเทศไทยและคนไทยได้ก็คือการยกเลิกระบอบอำมาตย์เสียให้สิ้น ตัดการเชื่อมโยงจากระบบราชการที่ดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาแอบอ้างเพื่อประโยชน์ของกลุ่มพวก ป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์จากการแทรกแซงทางการเมือง สร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน และเปลี่ยนสังคมไทยจากการยึดติดกับสังคมแบบดั้งเดิม มาเป็นสังคมที่เจริญแล้วแบบยุโรปด้วยระบบการเมืองที่เอื้ออำนวยกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การที่จะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยได้จริง ต้องได้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชนโดยแท้จริง ต้องไม่มีอำนาจเผด็จการครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญนั้นดังที่เห็นแล้วจากรัฐธรรมนูญอัปยศปี 50 และแม้แต่รัฐธรรมนูญหลายๆฉบับที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะไม่มีครั้งใดเลยที่รัฐธรรมนูญมาจากประชาชนนอกจากรัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราว(รัฐธรรมนูญ 40 ใช้นักกฎหมายมหาชนร่างแล้วไปซาวเสียงประชาชนมากกว่า รัฐธรรมนูญ 50 เป็นการลงประชามติแบบหลอกลวง)
แม้ว่าจะมีการร่างโดยคณะบุคคลที่มีพื้นฐานเป็นข้าราชการ อำมาตย์ ขุนศึกก็ตามเพราะเนื้อหาของกฎหมายนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยแบบสากลอยู่มาก แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ปี 2475 มีการประนีประนอมกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบอนุรักษ์นิยม ซึ่งในเวลาต่อมาก็จะกลับเป็นต้นเหตุของการทำให้รัฐธรรมนูญของไทยเบี่ยงเบนอำนาจไปจากประชาชนมากขึ้นทุกขณะ
ต่อมาเมื่อมีความร่วมมือกันระหว่างนักการเมือง ทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2490 2492 2494 รัฐธรรมนูญของไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเป็นรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการซ่อนรูปมากขึ้นทุกขณะ แม้แต่หลังจากเหตุการณ์ 14ตุลาคมปี 2516 แล้วประชาชนก็ยังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ ยังคงต้องพึ่งพานักกฎหมายที่เป็นทาสรับใช้เผด็จการมาโดยตลอด
จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ก็ไม่ละเว้นทำให้มีการสร้างระบบเผด็จการซ่อนไว้ในที่ต่างๆ ประการสำคัญคือ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่ประชาชนจะได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเลย ยกเว้นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแห่งแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 (ต่อไปจะเรียกรัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราว)ที่คณะราษฎร เป็นผู้ร่างขึ้นเท่านั้น
ก่อนที่จะพบแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกระบอบอำมาตย์นั้น ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ระบอบอำมาตย์ที่เกิดขึ้นมากับรัฐธรรมนูญนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร และมีผลอย่างไรโดยทำการศึกษาย้อนหลังที่ประวัติศาสตร์ของการร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจึงทำการแก้ไขย้อนหลังให้ครบถ้วนจึงจะประสบผลสำเร็จ
โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดกลับเป็นรัฐธรรมนูญ2475 ชั่วคราว ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจและนักกฎหมายมหาชนไทยจงใจที่จะซ่อนหรือปิดบังรัฐธรรมนูญนี้จากการรับรู้ของประชาชนและไปสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่เกิดภายหลังการยึดอำนาจรัฐประหารกันอย่างไม่รู้สำนึกถึงความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด
นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมประการหนึ่งของสังคมไทย ความเป็นมาของการร่างรัฐธรรมนูญเฉพาะที่สำคัญ โดยจะให้ความสำคัญในเรื่องของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยและการสร้างระบบอำมาตย์ขึ้นมาเท่านั้น รายละเอียดต่างๆมีดังนี้
เมื่อเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คณะราษฎรได้วางหลักสำคัญได้แก่ ในคำปรารภที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราว และมาเลิกไปใน รัฐธรรมนูญ 2475 ถาวร
คณะราษฎรได้วางหลักสำคัญยิ่งไว้ว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่มีระบอบการปกครองเดียวกันในยุโรปและเอเชียหลายประเทศ เช่นสเปนระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาวสเปน
ญี่ปุ่นระบุว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ส่วนเบลเยี่ยมระบุว่าอำนาจอธิปไตยมาจากชาติ
และแม้ว่าสวีเดนจะระบุว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนแต่ก็กำหนดให้รัฐสภาเป็นองค์กรปกครองสูงสุด
สำหรับประเทศไทยในรัฐธรรมนูญ 2475 ถาวรนั้นได้กำหนดให้อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยามซึ่งมีนัยว่าชาวไทยไม่มีอำนาจในการบริหารอำนาจอธิปไตยนั้นแต่อย่างใด และความจริงก็ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในมาตราต่างๆก็จะเป็นไปในลักษณะเดียวกันแตกต่างกันแต่ถ้อยคำของรัฐธรรมนูญแต่ละสมัย
ในหลักการสำคัญประการหนึ่ง คือการป้องกันมิให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น ได้แก่การกำหนดให้การทรงกระทำการใดๆจะต้องได้รับการลงนามร่วมโดยฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือรัฐสภาและให้ตัวแทนของประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบในทางการเมืองแทนองค์พระมหากษัตริย์นั้น มีสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญต่างประเทศและของไทยที่สมควรทำความเข้าใจได้แก่ ในรัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราวกำหนดว่า พระราชกรณียกิจใดๆต้องมีการลงนามร่วมโดยคณะกรรมการราษฎรคนใดคนหนึ่งโดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรทั้งคณะ
แต่ต่อมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2475 ถาวรข้อความนี้ได้หายไปและไม่ปรากฏอีกเลยในขณะที่ รัฐธรรมนูญของในยุโรปและญี่ปุ่นประเทศเหล่านี้กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้ถูกข้อครหาในทางการเมืองและมีผู้รับผิดชอบทางการเมืองอย่างแน่ชัดไม่คลุมเครือ ตรวจสอบได้
และหากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วการบัญญัติไว้เช่นนี้ทำให้องค์พระมหากษัตริย์ปลอดภัยจากการว่าร้าย และทำให้ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช เนื่องจากในยุคสมัยนั้นพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจทางการเมืองการถูกต่อว่าให้ร้ายย่อมเกิดขึ้นทั่วไปจำเป็นต้องมีกฎหมายมากำราบให้หวาดกลัวซึ่งเป็นความจำเป็นของยุคสมัยเช่นกัน
ตัวอย่างการกำหนดเป็นกฎหมายให้การทรงงานใดๆขององค์พระมหากษัตริย์ต้องได้รับการลงนามร่วมโดยฝ่ายการเมืองได้แก่ สเปน กรณีสเปน ถ้าเป็นการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือยุบสภา ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้ลงนามร่วม) จะเป็นการลงนามร่วมโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้หากเหมาะสม
ในเบลเยี่ยมจะเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและอาจถูกฟ้องแทนพระมหากษัตริย์ได้
สวีเดนจะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เนื่องจากองค์พระมหากษัตริย์จะเกี่ยวข้องกับกิจการทางการเมืองเฉพาะเรื่องการประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
ส่วนญี่ปุ่นนั้นจะเป็นคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น
รัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราวกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ถูกฟ้องร้องไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย ต่อมารัฐธรรมนูญ 2475 ถาวร ห้ามการละเมิดและเป็นเช่นนี้ตลอดมา แต่ก็เป็นจุดบกพร่องของรัฐธรรมนูญที่ไม่มีผู้รับผิดชอบต่อประชาชนแทนองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งในต่างประเทศจะมีทุกแห่ง
การเลือกนายกรัฐมนตรีและการลงพระปรมาภิไธย ประเทศไทยใช้การซาวเสียงในสภาผู้แทนราษฎร แล้วให้ประธานรัฐสภานำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธย แต่ก็ปรากฏว่าในบางคราวประธานสภาผู้แทนราษฎรบางท่านก็มิได้นำชื่อนายกรัฐมนตรีที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเสนอ กลับไปแวะที่บ้านอื่น ก็มีเกิดขึ้นแล้วตามความจริงของสังคมไทย ทำให้ฝืนเจตนารมณ์ของเสียงข้างมากของประชาชน แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่กลับได้รับการต้อนรับทางสื่อมวลชนอย่างดี ไม่ต่างจากการมีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างเหลือเชื่อว่าเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตยฯ
ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญของสวีเดนระบุไว้ว่าประธานสภาจะซาวเสียงแล้วเสนอต่อรัฐสภาแล้วมีการโหวตรับรอง หากไม่ได้รับการรับรองติดต่อกัน 4 รอบก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ส่วนการรับส่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีให้กระทำต่อหน้าประมุขของรัฐหรือประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามในฐานะตัวแทนของรัฐสภา(จะสังเกตว่าไม่มีการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย)
สำหรับสเปนนั้นองค์พระมหากษัตริย์จะทรงปรึกษากับผู้แทนกลุ่มการเมืองในสภาโดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาถ้าไม่ได้รับการไว้วางใจภายในสามรอบของการเสนอนโยบายภายในสองเดือน จะทรงยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ ประเทศ
เบลเยี่ยมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาดของสภาผู้แทนราษฎรโดยจะให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายและขอรับการไว้วางใจเช่นกัน
ส่วนญี่ปุ่นพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยการเสนอของสภาร่วมแต่ถ้าความเห็นไม่ตรงกันภายใน 10 วันให้ถือข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ยุติ
ในรัฐธรรมนูญ 2475 ถาวรห้ามมิให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ในบางประเทศเช่น เบลเยี่ยม ห้ามมิให้สมาชิกราชวงศ์เกี่ยวข้องกับการเมือง
ในต่างประเทศจะให้ฝ่ายบริหารแต่งตั้งข้าราชการตุลาการเพื่อเป็นการถ่วงดุล หรือในกฎหมายอาญาให้มีการพิจารณาคดีในระบบลูกขุนเพื่อให้การพิจารณาคดีมีความเที่ยงธรรมขึ้น ในบางประเทศคณะกรรมการตุลาการหรือศาลฎีกาจะได้องค์คณะมาจากทั้งผู้เชี่ยวชาญทางศาล ฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีผู้สำเร็จราชการ ในต่างประเทศจะให้เป็นของรัชทายาทที่มีลำดับอยู่แล้ว แต่หากไม่มีจะให้ฝ่ายการเมืองทำหน้าที่แทน เช่น สวีเดนจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี สเปนหากไม่มีรัชทายาทจะเป็นผู้ที่รัฐสภาในที่ประชุมร่วมแต่งตั้ง เบลเยี่ยมก็เช่นเดียวกัน สำหรับญี่ปุ่น เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล
สำหรับประเทศไทยน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าผู้สำเร็จราชการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากรัฐธรรมนูญ 2475 ชั่วคราวซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงมีเหตุจำเป็นชั่วคราวหรือทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรใช้สิทธิแทน
ในรัฐธรรมนูญ 2475 ถาวร กำหนดเป็น ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและหากไม่ทรงแต่งตั้งไว้ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว
ต่อมา รัฐธรรมนูญ 2490 (ภายหลังรัฐประหารของ จอมพลผิณฯ ร่วมมือกับนักการเมืองในขณะนั้น) ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทยและนับว่าเป็นการโต้กลับครั้งแรกของฝ่ายอนุรักษ์ หลังกบฏบวรเดชซึ่งรวมถึงกรณีการไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”ด้วย นั้นผู้สำเร็จราชการได้เปลี่ยนเป็นอภิรัฐมนตรีโดยให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา สำหรับรัฐธรรมนูญในยุคใหม่เช่น รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ ในกรณีไม่ทรงอาจแต่งตั้งเช่นเหตุทรงพระเยาว์ให้องคมนตรีเสนอรายชื่อต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ (ประเทศอื่นรัฐสภาจะเป็นผู้เสนอและให้ความเห็นชอบ) ในกรณีที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ข้างต้นให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน ซึ่งหากพิจารณาจากมาตรฐานสากลแล้วกรณีของประเทศไทยนักกฎหมายมหาชนได้วางหลักที่ทำให้ไม่ยึดโยงกับประชาชนหรือระบอบประชาธิปไตยไว้ในสาระสำคัญ
ในกรณีรัชทายาท หรือการขึ้นครองราชย์ องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภา เช่นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และทุกประเทศในยุโรปจะให้องค์รัชทายาทหรือพระมหากษัตริย์ทรงกระทำสัตย์ว่าจะทรงปฏิบัติตามหน้าที่และตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด แต่สำหรับประเทศไทยก็มีกรณีเช่นเดียวกับผู้สำเร็จราชการ โดยมีสิ่งที่น่าพิจารณาคือ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลแล้วให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบแล้วเรียกประชุมรัฐสภาเพื่ออัญเชิญขึ้นทรงราชย์ต่อไป ในกรณีที่ไม่ทรงแต่งตั้งไว้ก็ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนาม ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ
จากกรณีทั้งสองดังกล่าวจะเห็นว่า ตั้งแต่การยึดอำนาจครั้งแรกโดยฝ่ายทหาร ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้เกิดมีอภิรัฐมนตรี(รัฐธรรมนูญ 2490) ซึ่งต่อมาเป็นองคมนตรี (รัฐธรรมนูญ 2492) นั้นมีอำนาจที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประชาชนอย่างสิ้นเชิงเป็นต้นเหตุสำคัญของการวางรากฐานระบอบอำมาตย์ในประเทศไทย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย
คำถามคือหากจะยกเลิกองคมนตรีไปจะเกิดความเสียหายต่อระบอบการปกครองหรือไม่ ก็อาจเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นทุกประเทศอย่างเป็นสากลยกเว้นในบางประเทศเช่น อังกฤษ และบางประเทศในอาฟริกาว่าหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาต่อองค์พระมหากษัตริย์คือคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น สวีเดนบัญญัติไว้ว่า ประมุขของรัฐต้องได้รับรายงานจากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับกิจการในราชอาณาจักรและอาจทรงร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในฐานะองค์ประธานได้หากรัฐบาลจัดให้ ประเทศสเปน ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน สำหรับในญี่ปุ่นนั้นการทรงงานใดๆจะได้รับคำแนะนำและยอมรับจากคณะรัฐมนตรีผู้ซึ่งจะรับผิดชอบแทนเท่านั้น เป็นต้น
หากพิจารณาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญที่เป็นสากลและรัฐธรรมนูญของไทยแล้วจะเห็นได้ว่า ระบอบอำมาตย์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากอำนาจสองประการคือ การไม่ยอมรับให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และการสร้างองค์กรองคมนตรีขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาองค์พระมหากษัตริย์ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และการเมือง แนวคิดสองประการนี้ทำให้เกิดการออกแบบรัฐธรรมนูญขึ้นมามีลักษณะให้อำนาจเด็ดขาดต่อบางองค์กรโดยไม่ขึ้นกับประชาชน ซึ่งผิดวิสัยของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมากดังนั้น การแก้ไขปัญหาส่วนเกินในรัฐธรรมนูญนี้จึงจะเป็นการยกเลิกโครงสร้างของระบอบอำมาตย์ได้อย่างสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตามการที่รัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขในเรื่องที่สมควรนี้ไม่ใช่ของง่ายเพราะอำนาจส่วนใหญ่อยู่ในองค์กรที่อิงแอบกับรัฐธรรมนูญเก่าเช่น องค์กรอิสระ องค์กรด้านความยุติธรรม ทหารและสื่อมวลชนกระแสหลัก การยกเลิกระบอบอำมาตย์จึงจำเป็นต้องมีการปฏิวัติประชาธิปไตยเสียก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนคนธรรมดาได้มีรัฐธรรมนูญตามที่ตนเองคาดหวัง และรักษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับสูงไว้อย่างต่อเนื่องสักระยะหนึ่งเพื่อไม่ให้ฝ่ายเผด็จการกลับฟื้นขึ้นมาอีก
เมื่อดำเนินการปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างสงบ สันติ เช่น การนัดหยุดงานทั่วประเทศขององค์กรแรงงาน หรือ การชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศของกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากนับล้านคน (โดยไม่ผิดกฎหมายที่ว่า ข่มขู่เพื่อให้มีการแก้กฎหมาย )จนฝ่ายนิติบัญญัติเชื่อว่าต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว หรือจัดให้มีการลงประชามติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง ประชามติที่สมควรที่จะนำขึ้นมาสอบถามประชาชน หรือจะอาศัยหัวข้อเป็นการรณรงค์หาเสียงโดยให้มีการยุบสภาแล้วแต่กรณี ก็ควรมีหัวข้อที่จะต้องพิจารณาต่อไปนี้คือ
๑.ประเทศไทยควรมีการปกครองระบอบราชาธิปไตย หรือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (เพื่อเป็นการให้ประชาชนชี้ขาดไปว่า จะนิยมระบอบการเมืองใหม่ของพันธมิตรหรือระบอบประชาธิปไตยฯกันแน่ เพราะการมีพระมหากษัตริย์ปกครองก็ไม่เสียหายอะไรหากประชาชนส่วนใหญ่นิยม)
๒. ถ้าเป็นระบอบราชาธิปไตยฯก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะทุกอย่างเป็นการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ แต่หากกรณีต้องการระบอบประชาธิปไตยการทำประชามติให้ถามว่า จะให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือมาจากปวงชนชาวไทย (เพื่อให้เป็นการแสดงความต้องการของประชาชนว่ายินดีใช้อำนาจอธิปไตยเองหรือจะยอมสละเสียให้มีความชัดเจนลงไป)
๓. ต้องการให้คงมีสถาบันองคมนตรีหรือให้ยกเลิกสถาบันองคมนตรีแล้วให้รัฐบาลเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์แทนเหมือนรัฐธรรมนูญในประเทศอื่นหรือไม่
๔. ต้องการให้ผู้สำเร็จราชการมีที่มาจากรัฐสภาหรือไม่
๕. ต้องการให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า การยึดอำนาจไม่ถือว่าเป็นรัฐาธิปัตย์ (เพื่อให้มั่นใจว่าการยึดอำนาจจะผิดกฎหมาย ศาลไม่อาจนำคำวินิจฉัยเดิมมาใช้อ้างอิงได้อีกต่อไปเนื่องจากถูกยกเลิกด้วยเจตนารมของกฎหมายแล้ว)
๖. ต้องการให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า รัฐสภาเท่านั้นเป็นผู้ออกกฎหมายได้ (เพื่อป้องกันสถาบันอื่นขยายความกฎหมายจนเหมือนเป็นการตรากฎหมายใหม่ เช่นกรณีตีความกฎหมายโดยการใช้คำว่า “อาจ” ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้)
๗. ต้องการให้กำหนดไว้หรือไม่ว่า รัฐสภาต้องมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นและเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของประเทศ
๘. ต้องการให้กำหนดไว้หรือไม่ว่า การสืบราชสมบัติต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเหมือนกับนานาอารยประเทศ
๙. ต้องการให้กำหนดหรือไม่ว่า การแต่งตั้งข้าราชการทุกประเภทเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
๑๐.ต้องการให้กำหนดหรือไม่ว่า เพื่อป้องกันสถาบันพระมหากษัตริย์และมีผู้รับผิดชอบแทนองค์พระมหากษัตริย์ดังนั้นทุกพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาทต้องมีการลงนามร่วมโดยคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามแต่ที่กฎหมายกำหนด
๑๑. ต้องการให้กำหนดชัดเจนลงไปในคำปรารภหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงได้รับการกราบบังคมทูลร้องขอให้ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
๑๒. ต้องการหรือไม่ให้พระมหากษัตริย์ก่อนทรงขึ้นครองราชย์ต้องทรงตรัสคำสัตย์สาบานที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายตลอดจนเคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน
๑๓. ต้องการให้กำหนดหรือไม่ว่า การบริหารราชการต้องใช้หลักความสามารถ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและใช้แนวทางประชาธิปไตยในการปฏิบัติราชการในทุกระดับ
๑๔. ต้องการให้กำหนดหรือไม่ว่า รายชื่อนายกรัฐมนตรีต้องได้มาจากที่ประชุมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและหากไม่สามารถหาได้ในการเสนอครบ 4 ครั้งให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่
๑๕. ต้องการให้มีวุฒิสมาชิกอีกหรือไม่ในเมื่อประเทศไทยไม่มีความแตกต่างในเรื่องขนาดของประชากรหรือเชื้อชาติ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันจนต้องมีระบบวุฒิสมาชิกมาลดช่องว่างของระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าจะมีวุฒิสมาชิก็ไม่ควรมีการเลือกตั้งในแบบเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีชุมชุนหลายประเภท ควรจะเลือกตั้งในแบบอื่น เช่นมาจากกลุ่มอาชีพเป็นต้นหรือก็ไม่ต้องมีวุฒืสมาชิกไปเลย
๑๖. ต้องการให้กำหนดหรือไม่ว่า กฎหมายที่ประชาชนจำนวนที่กำหนดร่างและเสนอเข้าสภาต้องได้รับการพิจารณาภายในสามเดือน
๑๗. ต้องการให้คงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อไปหรือให้ยกเลิกเนื่องจากมีกฎหมายในรัฐธรรมนูญอื่นรองรับไว้แล้ว
ข้อเรียกร้องข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่หากว่าเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เกี่ยวพันกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น ส่วนอื่นที่ควรศึกษาและนำมาใช้คือเรื่องที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 40 ได้แก่วินัยพรรคการเมือง การทำให้ระบบบริหารเข้มแข็งและการห้ามย้ายพรรค เป็นต้น
************