มานูเอล เซลายา ต้องใช้หน้ากากปิดจมูกขณะแถลงข่าวในสถานทูตบราซิลในวันที่ 25 ก.ย. เขาบอกว่ามีคนปั้มก๊าซพิษเข้ามาในสถานทูตที่เขาอาศัยอยู่ ทำให้ต้องพยายามหายใจและมีบางคนที่อาเจียนออกมาเป็นเลือด และมีการเรียกสภากาชาดมาช่วยเหลือ
(Getty Image / Daylife)
เซลายาเผย สถานทูตฯ ถูกโจมตีด้วยก๊าซพิษ
มานูเอล เซลายา บอกว่าเขาและผู้สนับสนุนเขาในสถานทูตบราซิลถูกโจมตีโดย "ก๊าซพิษทำลายประสาท" ในช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ย. ทำให้หลายคนมีเลือดไหลจากจมูกและมีหายใจอย่างยากลำบาก
ทางเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของบราซิลบอกกับ CNN ว่า มีการใช้ก๊าซในพื้นที่แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นชนิดทำลายประสาทจริงหรือไม่ ขณะที่เจ้าหน้าที่สถานทูตฯ บางรายก็มีอาการเพียงเล็กน้อย
โรเบอร์โต มิเชลเลตตี รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสบอกกับ CNN ในช่วงบ่ายวันที่ 25 ว่าทางรัฐบาลไม่ได้โจมตีสถานทูตฯ ด้วยก๊าซ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงนายหนึ่งบอกว่าข้อกล่าวหาของเซลายานั้น เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง
เซลายากล่าวในการแถลงข่าวว่า มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชื่อ ดร.เมาริซิโอ คาสเทลลาโน นำอากาศใกล้กับสถานทูตฯ มาตรวจสอบ และระบุว่าก๊าซมีส่วนผสมของ HCN หรือ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ผสมอยู่ ซึ่ง HCN มีฤทธิ์ทำให้ตัวแห้ง ร้อนในลำคอ หายใจติดขัด มีอาการชัก หมดสติ และหัวใจล้มเหลว
เซลายาบอกว่าเขารู้สึกระคายคอและเคืองตาในเช้าวันที่ 25 จึงได้ออกไปรับอากาศด้านนอก พอไปถึงเขาก็เห็นว่ามีหลายคนป่วยอยู่
อังเดรส ทามาโย ผู้อยู่ในสถานทูตร่วมกับเซลายาและบอกว่าตนเป็นนักบวช บอกว่าการโจมตีด้วยสารพิษมาจากสามทาง คือบ้านเรือนใกล้ ๆ ที่มีคนออกไป , รถบรรทุกสีขาวที่อยู่ใกล้ ๆ กับสถานทูตฯ และเฮลิคอปเตอร์ที่บินต่ำ ๆ ทามาโยบอกด้วยว่านี่ถือเป็นการก่อการร้าย
ปธน. คอสตาริก้า ย้ำต้องทำตามสนธิสัญญาคืนอำนาจให้เซลายา
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ผู้ลงสมัครเลือกตั้งคนหนึ่งของฮอนดูรัสเปิดเผยว่า รักษาการประธานาธิบดีของฮอนดูรัส โรเบอร์โต มิเชลเลตตี ยินยอมให้มีการเปิดเจรจากับประธานาธิบดีเซลายา ผู้ลงสมัครเลือกตั้งเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย. นี้ ได้ไปพบกับมิเชลเลตตีที่ทำเนียบประธานาธิบดีซึ่งถูกคุ้มกันไว้หนาแน่นมาก ก่อนที่พวกเขาจะไปพบกับเซลายาที่สถานทูตฯ
ทางด้านออสการ์ อาเรียส ประธานาธิบดีคอสตาริก้า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ บอกว่าจะเป็นคนกลางให้การเจรจาระหว่างสองฝ่ายอีกครั้งในวันจันทร์ (28 ก.ย.) ที่จะถึงนี้ หลังจากที่เคยเป็นตัวกลางเจรจาก่อนหน้านี้แล้วไม่ประสบความสำเร็จ โดนอาเรียสก็ยังคงเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายทำตามสนธิสัญญาซาน โฮเซ่ (ร่างขึ้นระหว่างการเจรจาในช่วงเดือนกรกฎาคม) ที่กำหนดให้เซลายากลับคืนตำแหน่งประธานาธิบดี
โดยแม้รัฐบาลจะประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในช่วงกลางวัน และกลับมาเปิดสนามบินตามปกติ แต่ยังคงมีเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืนอยู่
เซลายาเผย เขาไม่ได้เสียตำแหน่งประธานาธิบดีไปแต่แรก
ในการให้สัมภาษณ์กับทาง CNN เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา เมื่อเซลายาถูกถามว่าเขากลับมาเพื่อทวงตำแหน่งประธานาธิบดีคืนใช่หรือไม่ เซลายาบอกว่า เขาไม่ได้เสียตำแหน่งประธานาธิบดีไปตั้งแต่แรก และบอกอีกว่าเขาจะอยู่ที่สถานทูตจนกว่าจะทำให้การรัฐประหารจบสิ้นลงได้
ทางกองทุนกู้ยืมระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในวันเดียวกันว่าทางกองทุนฯ ยังคงยอมรับว่าเซลายาเป็นประมุขของฮอนดูรัส หลังจากที่มีการหารือกันเรื่องสมาชิกภาพของฮอนดูรัส
ทั้งฝ่ายต้านและฝ่ายหนุนออกมาชุมนุมคนละแห่งเลี่ยงการปะทะ
วันที่ 24 ก.ย. มีผู้สนับสนุนมิเชลเลตตีกว่าพันคนออกมาเดินขบวนผ่านสถานทูตบราซิล พวกเขาสวมชุดขาวและถือป้ายที่เขียนว่า "เมลออกไป" ("Out with Mel" - Mel เป็นชื่อเล่นของมานูเอล เซลายา)
มีแม่บ้านคนหนึ่งบอกว่าเขามาเพื่อปกป้องฮอนดูรัสจากลัทธิคอมมิวนิสม์ของชาเวซ (ฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลล่า) กล่าวกันว่าชาเวซเป็นคนหนึ่งที่มีอิทธิพลกับเซลายาทำให้เขากลายเป็นฝ่ายซ้ายนับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2005
ในวันเดียวกันกลุ่มผู้สนับสนุนเซลายาจำนวนมากก็พากันไปชุมนุมในพื้นที่อื่นของกรุงเตกูซิกัลปา เพื่อปล่อยให้กลุ่มฝ่ายตรงข้ามประท้วงที่หน้าสถานทูตและบอกว่าจะกลับมาประท้วงที่หน้าสถานทูตอีกในวันที่ 25 ก.ย.
เซลายากับผู้สนับสนุนเขาอีกสิบกว่าคนรวมถึงเจ้าหน้าที่สถานทูตบราซิลอีกส่วนหนึ่งยังคงต้องอาศัยสถานทูตบราซิลเป็นที่พักชั่วคราว ซึ่งทางรัฐบาลรักษาการยืนยันว่าพวกเขาจะไม่ใช้กำลังเข้ายึดสถานทูตและปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดน้ำตัดไฟ
ยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลชั่วคราวฮอนดูรัส "หยุดคุกคาม" สถานทูตบราซิล
ในวันที่ 25 ก.ย. ทางสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัส "หยุดคุกคาม" สถานทูตบราซิลซึ่งมีมานูเอล เซลายาอาศัยอยู่ ทางสภาความมั่นคงฯ ยังได้ประณาม "การกระทำที่เป็นการข่มขวัญ" ซึ่งถูกนำมาใช้กับสถานทูตฯ และเรียกร้องให้มีการยกเลิกการตัดน้ำตัดไฟ
การเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิลบอกว่าเขารู้สึกกังวลว่าเซลาาอาจถูก "จับกุมด้วยกำลัง"
ซึ่งทางสภาความมั่นคงฯ ได้ออกแถลงการณ์หลังจากที่มีการประชุมกันในวันที่ 25 ก.ย. ซูซาน ไรท์ เอกอัครราชฑูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ บอกว่าการประชุมครั้งนี้เน้นที่เรื่องสถานทูตบราซิลในฮอนดูรัส แต่ไม่ได้เน้นที่ตัววิกฤติการเมือง
เซลโซ อโมริม รัฐมนตรีต่างประเทศของบราซิลกล่าวในที่ประชุมว่าสถานทูตบราซิลในฮอนดูรัส "ถูกปิดล้อมอย่างเห็นได้ชัด" ทั้งยังได้กล่าวถึงเรื่องการถูกตัดน้ำตัดไฟ และการขาดเสบียงอาหาร
"ทางรัฐบาลบราซิลมีความรู้สึกเป็นห่วงอย่างมากว่า คนผู้เดียวกับที่เคยก่อรัฐประหารในฮอนดูรัส อาจจะคุกคามสถานทูตอันละเมิดมิได้ ในการใช้กำลังจับกุมประธานาธิบดีเซลายา" เซลโซ อโมริม กล่าว
ไรซ์บอกว่า สมาชิกสภาความมั่นคงฯ ได้ เรียกร้องให้รัฐบาลชั่วคราวของฮอนดูรัสหยุดคุกคามสถานทูตฯ และทำการจ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็นแก่สถานทูตฯ โดยรวมถึงน้ำ ไฟฟ้า อาหาร และระบบการสื่อสารด้วย
โดยก่อนหน้านี้เซลายาเคยบอกว่าเขาและผู้สนับสนุนเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยขนมปังกรอบ (บิสกิต) จนกระทั่งได้กินอาหารจริง ๆ มื้อแรกเมื่อวันพฤหัสฯ (24 ก.ย.)
ซึ่งทาง AP รายงานว่า ผู้คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานทูตคือผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่เข้าไปทุก ๆ วันเพื่อส่งน้ำ อาหาร และยา ให้กับเซลายา ผู้สนับสนุนเขาและนักข่าว
องค์กรนิรโทษกรรมสากลระบุรัฐบาลทำการกักตัวประชาชนแบบไม่เป็นตามกระบวนการ เสี่ยงละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในเว็บไซต์องค์กรนิรโทษกรรมสากล เมื่อวันที่ 25 ก.ย. มีรายงานระบุว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วห้ารายจากเหตุจลาจลในฮอนดูรัส โดยทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลมีการเรียกร้องให้รัฐบาลฮอนดูรัสหยุดการปราบปรามประชาชน
ข้อมูลจากรายงานดังกล่าวระบุว่ามีตำรวจต้องสงสัยว่าเป็นผู้ยิงชายอายุ 18 ปี เสียชีวิตในเมือง ซาน เปโดร ซูลา เมื่อวันอังคาร (22 ก.ย.) ที่ผ่านมา อีกสี่รายหรือมากกว่านั้นเสียชีวิตขณะที่มีการประท้วงในกรุงเตกูซิกัลปา
โดยมีรายงานว่าชายอายุ 65 ปี ถูกกองกำลังรักษาความสงบยิงเสียชีวิตในการประท้วงที่กรุงเตกูซิกัลปา ขณะที่อีกสามคนที่เหลือยังไม่มีรายงานเป็นที่แน่ชัด
ทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลยังระบุอีกว่า ทางตำรวจได้ทำการบุกรุกตามย่านที่พักของคนจนในกรุงเตกูซิกัลปา และซาน เปโดร ซูลา เมื่อคืนวันอังคาร (22 ก.ย.) ถึงเช้าวันพุธ (23 ก.ย.) เพื่อตามหาผู้ต่อต้านรัฐบาลที่เข้าร่มการประท้วง
มีรายงานว่า ตำรวจได้ยิงกระสุนจริง และแก๊สน้ำตาขณะที่เข้าไปตามบ้านต่าง ๆ ก่อนจะทุบตีและจับกุมตัวประชาชนเอาไว้ โดยจะเล็งจับคนหนุ่มสาวโดยเฉพาะ
สถานที่กักขังผู้ถูกจับกุมในกรุงเตกูซิกัลปายังไม่เป็นที่แน่ชัด มีบางคนที่ถูกพาไปยังสถานีตำรวจ ขณะที่บางคนอาจถูกกักตัวไว้ในย่านที่พักอาศัยใกล้เคียงกัน ซึ่งทางองค์กรนิรโทษกรรมระบุว่าวิธีการกักตัวแบบไม่เป็นตามกระบวนการเช่นนี้เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง เนื่องจากเป็นการกุมขังที่อาจจะไม่ได้รับการบันทึกไว้ในทะเบียนอย่างเป็นทางการ
มีผู้เห็นเหตุการณ์ในกรุงเตกูซิกัลปารายงานว่าเห็นทหารบางรายทุบตีผู้คนบนท้องถนนด้วยท่อนไม้
ในเว็บไซต์ระบุไว้อีกว่า ทางองค์กรนิรโทษกรรมสากลยังได้ทำการบันทึกเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกนับตั้งแต่มีรัฐประหารเป็นต้นมา โดยรวมถึงการปิดสถานีสื่อ การยึดอุปกรณ์ของสื่อ และการทำร้ายร่างกายนักข่าวและช่างภาพที่อยู่ในเหตุการณ์
ซูซาน ลี ประธานองค์กรนิรโทษกรรมสากลประจำประเทศอเมริกา กล่าวว่า ทางรัฐบาลชั่วคราวจะต้องหยุดการปราบปรามผู้ชุมนุมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และยังได้บอกอีกว่าควรเร่งหาข้อยุติในสถานการณ์ของฮอนดูรัส ซึ่งความพยายามของประชาคมโลกในการเป็นตัวกลางเจรจา เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการเลี่ยงวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชน และควรได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายในฮอนดูรัส
ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก
Zelaya: Brazilian Embassy in Honduras attacked with gas , CNN , 26-09-2009
UN condemns Honduras 'harassment' , BBC , 25-09-2009
Honduras breakthrough as rivals agree to talk ,Sophia Nicholson , AFP , 24-09-2009
Several reported dead in Honduras turmoil , Amnesty International , 25-09-2009