บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552

พวงทอง ภวัครพันธ์: “ดินแดน” ไม่ควรถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมือง

ที่มา ประชาไท

อุณหภูมิโดยรอบชายแดนไทย-กัมพูชาทวีความร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งหลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนพลเข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษเพื่อเรียกร้องทวงปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.

การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่ชายแดนด้านนี้ถูกใช้เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล ครั้งแรกคือในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จนทำให้นายนพดล ปัทมะ ถูกกดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากถูกฟ้องร้อง เป็นคดีความอยู่ในขณะนี้

น่าสนใจว่า กรณีปราสาทพระวิหารในครั้งนี้จะสร้างฤทธิ์เดชเผาผลาญรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้มากน้อยเพียงใด แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรต้องล่าถอยเพราะแรงต่อต้านจากชาวบ้านศรีสะเกษ พวกเขาคงไม่ยอมเลิกราแต่เพียงเท่านี้ อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่น่าลืมว่า เมื่อครั้งที่ตนเองเป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมปราสาทพระวิหารด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า สิ่งที่เราควรสนใจมากกว่าชะตากรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็คือ ชะตากรรมของประชาชนสองฝั่งชายแดน ชีวิตทหาร ความสัมพันธ์ของสองประเทศ ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตานานาชาติ และโอกาสที่จะเกิดสงคราม

คำถามคือ ทำไมเรื่องดินแดนจึงถูกเลือกใช้โดยกลุ่มการเมือง

“ดินแดน” เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว (sensitive) ทางการเมืองอย่างยิ่ง สามารถถูกใช้เพื่อสร้างความนิยมให้กับรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน ก็สามารถทำให้รัฐบาลถูกโจมตีด้วยข้อหาขายชาติได้อย่างง่ายดาย พูดอีกอย่างคือ เรื่องดินแดนสามารถปลุกเร้าความรู้สึกรักชาติพร้อมๆ ไปกับความโกรธแค้นต่อชาติอื่นได้อย่างรวดเร็ว ดังไฟลามทุ่ง

อันที่จริง ลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นลักษณะร่วมของประเทศในเอเชียที่เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก การปลูกฝังความรู้สึกรักชาติในประเทศเหล่านี้จึงต้องตอกย้ำประวัติศาสตร์ของการสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดน ตอกย้ำหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องปกป้องมาตุภูมิทุกตารางนิ้วของตนไว้ให้ถึงที่สุด แม้ว่าประเทศไทยจะไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แต่ประวัติศาสตร์ไทยก็พร่ำสอนถึงภัยคุกคามจากระบอบอาณานิคมที่ต้องการยึดครองประเทศไทย และทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนโดยรอบไปจำนวนมาก

แต่สิ่งที่ประเทศไทยในขณะนี้แตกต่างจากประเทศอื่นก็คือ การแก้ไขความขัดแย้งเหนือพื้นที่ชายแดนมีแนวโน้มถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ (Politicizing the territorial dispute) พร้อมๆ กับถอยห่างจากกติการะหว่างประเทศ และการประนีประนอมที่เป็นไปได้

สำหรับประเทศที่มีวุฒิภาวะ แนวทางที่พวกเขาเลือกใช้เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเหนือดินแดนก็คือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลโลก แห่งสหประชาชาติ ดังเช่น สิงคโปร์และมาเลเซียได้ยื่นเรื่องให้ศาลโลกตัดสินข้อพิพาทเหนือเกาะ Pulau Batu Puteh หรือ Pedra Branca ต่อมาศาลโลกมีมติให้เกาะดังกล่าวตกเป็นของสิงคโปร์ในปี 2551

อินโดนีเซียพิพาทกับมาเลเซียเหนือเกาะ Sipadan และ Ligitan ศาลโลกมีมติเมื่อปี 2546 ยกเกาะทั้งสองให้มาเลเซีย

การแก้ไขข้อพิพาททั้งสองกรณีข้างต้นใช้เวลานานกว่าทศวรรษ แต่เรากลับไม่เคยเห็นข่าวการระดมม็อบด้วยกระแสคลั่งชาติ-เกลียดชังเพื่อนบ้านในสามประเทศข้างต้น และเมื่อศาลโลกมีมติออกมาเช่นไร รัฐบาลและประชาชนของมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ยอมรับความสูญเสียนั้นอย่างสันติ

ไม่มีการเรียกร้องโดยนักการเมือง-นักวิชาการมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ให้รัฐบาลของตนประกาศว่าคำตัดสินของศาลโลกเป็นโมฆะ หรือปลุกม็อบให้เข้ายึดครองดินแดนที่สูญเสียไป

แล้วเราควรประณามรัฐบาลมาเลเซียและอินโดนีเซียว่าไม่รักชาติหรือไม่?

ความรักชาติไม่ควรถูกผูกขาดด้วยวิธีการที่ก้าวร้าวรุนแรง สังคมไทยมีแนวโน้มจะเชื่อคำโฆษณาเรื่องนักการเมือง “ขายชาติ” ได้โดยไม่ยาก แต่ต้องอย่าลืมว่า ปัญหานี้มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากรับผิดชอบอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กรมแผนที่ทหาร กระทรวงการต่างประเทศ ประชาชนควรมองว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้กำลังขายชาติ หรือละเลยหน้าที่ของตน ไม่สนใจผลประโยชน์ของชาติกระนั้นหรือ?

ดูเหมือนในประเทศนี้ คนบางกลุ่มกำลังผูกขาดความรักชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

คนไทยจำนวนไม่น้อยย่อมรู้สึกว่าคำตัดสินของศาลโกลกกรณีปราสาทพระวิหารไม่ยุติธรรม แต่เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยได้เลือกที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเอง และตัดสินใจเข้าไปเป็นคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารตั้งแต่ต้นจนจบ และหากเราอ่านคำพิพากษาศาลโลกอย่างละเอียด เราก็จะตระหนักว่า ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการกระทำที่ผิดพลาดหลายครั้งหลายหนในอดีตของฝ่ายไทยนับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นิ่งเฉยไม่คัดค้านการอ้างสิทธิ์ของฝรั่งเศส

แน่นอนว่าในการตัดสินคดีความต่างๆ ฝ่ายที่สูญเสียจำนวนไม่น้อยย่อมรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม เช่น อาจถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลั่นแกล้ง ผู้พิพากษาขาดวิจารณญาณในการตัดสิน มีความโน้มเอียงทางการเมือง เป็นต้น แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนทั้งหลายในประเทศนี้ประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว ไม่ยอมรับกฎหมายที่มีอยู่ เอาปืนออกมาไล่ยิงตุลาการ

ในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศที่มีวุฒิภาวะต่างตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการเมืองที่มีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เป็นเพื่อนบ้านกัน จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแข่งขันกับภูมิภาคอื่นมากเป็นพิเศษ ข้อพิพาทเหนือดินแดน แม้จะมีความสำคัญ แต่ก็ต้องไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนทำให้ความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ เสียหายไปด้วย ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง การเผชิญหน้าทางทหาร ที่ดูจะไม่อยู่ในความคิดของผู้นำและกลุ่มการเมืองในประเทศเหล่านั้นเลย

สำหรับประเทศไทย น่าเสียดายว่าความพ่ายแพ้กรณีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ยังตามหลอกหลอนสังคมไทย เราเข็ดขยาดกับศาลโลกจนทำให้เราปฏิเสธการแก้ปัญหาดินแดนด้วยกลไกศาลระหว่างประเทศ

ฉะนั้น แนวทางสันติที่เหลืออยู่ย่อมต้องเป็นการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น และประชาชนต้องตระหนักด้วยว่า “การเจรจา” ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องเป็นฝ่ายได้ทุกอย่างที่ปรารถนา แต่หมายถึงการต่อรอง แลกเปลี่ยน ประนีประนอม ซึ่งหมายความต่อว่า คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายอาจต้องเสียบางอย่าง เพื่อแลกกับบางอย่าง

การเจรจายังอาจหมายความว่า เมื่อไม่สามารถแบ่งดินแดนให้ลงตัวได้ ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมที่จะใช้ดินแดนนั้นร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรม

แต่หากกลุ่มการเมืองในประเทศไทยต้องการให้รัฐบาลและกองทัพบุกปราสาทพระวิหารและยึดพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. รบกันให้รู้แล้วรู้รอดไป ทหารตัวเล็กตัวน้อยจะตายไปเท่าไร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่พวกเขาควรทำก่อนอื่นใดก็คือ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกาศถอนตัวออกจากองค์กรระหว่างประเทศให้หมด ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ หรืออาเซียน ประกาศไม่ยอมรับกติการะหว่างประเทศใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตราบเท่าที่ไทยยังเป็นสมาชิกขององค์กรเหล่านี้อยู่ ไทยก็จำเป็นต้องยอมรับและทำตามกฎกติกามารยาทที่เราได้เคยตกลงไว้ไม่ใช่หรือ?

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker