ผลวิจัยระบุ ผลกระทบด้านการเมืองจากการนำเสนอข่าวของ ASTV มีผลกระทบต่อความเชื่อถือในเรื่องของกระบวนการทำงานทั้งต่อตัวบุคคล องค์กร สถาบัน และระบบบริหารงานราชการงานปกครองต่างๆ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้สร้างความเสียหายและความเชื่อมั่นกับต่างประเทศเป็นมูลค่าอันมหาศาล รวมถึงเป็นการลดความน่าเชื่อถือด้านการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ กับต่างประเทศ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
24 กันยายน 2552
เปิดงานวิจัยร้อน ปรอ . ชำแหละอิทธิพล ASTV ผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร ด้านการเมือง
สาวกASTVของแท้-อภิสทธิ์ เวชชาชีวะ ยกทีมครม.ปชป.ครึ่งครม.ไปเปิดตัวช่องข่าวภาษาอังกฤษให้ASTVเมื่อ26ส.ค.ที่ผ่านมา(ที่ไม่ปรากฎในภาพนี้ แต่ไปงานด้วย เช่น กรณ์ จาติกวณิช กษิต ภิรมย์ เป็นต้น)
เปิดงานวิจัย นักศึกษา วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 21 ชำแหละ อิทธิพลของสื่อสาธารณะดิจิตอล ASTV ต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าว คนกรุงเทพฯ พบ ผู้รับชมที่มีการศึกษาสูง จะไตร่ตรองก่อนเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ถ้าผู้รับชมมีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มจะเชื่อตามทฤษฎีเข็มฉีดยา ชี้ ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ การสร้างความแตกแยกให้เกิดกับสังคมในทุกระดับ
ประชาชาติออนไลน์ นำเสนองานวิจัย " อิทธิพลของสื่อสาธารณะ ดิจิตอล ที่มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าวสาร ด้านการเมือง ศึกษาเฉพาะ ASTV ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" ผลงานวิจัยของ นายวิทอง ตัณฑกุลนินาท กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ๊กเซลเล้นท์ กราฟฟิค จำกัด นักศึกษา ปรอ. รุ่น 21
ล่าสุด งานวิจัย ชิ้นนี้ เป็นหนึ่งใน 4 งานวิจัยของ นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน(ปรอ.) รุ่นที่ 21 ประจำปีการศึกษา พ.ศ.2551-2552 ที่ได้รับรางวัลชมเชย
อาจารย์ที่ปรึกษา 4 คน ประกอบด้วย พ.อ. ชำนาญ ช้างสาต รศ. ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน พล.ต. ณรงค์ เนตรเจริญ และ พ.อ. กฤษฎา สุทธานินทร์
กลุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์ เชิงลึก 20 ราย ประกอบด้วย ตัวแทนจาก ASTV กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ไทยทีสีสีช่อง 3 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ตำรวจ สำนักงานกิจการภายนอกประเทศ ทหาร องค์กรสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านจิตวิทยา พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ อดีตพรรคไทยรักไทย วุฒิสภา ศาลปกครอง สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน และกระทรวงต่างประเทศ
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้ ทำวิจัยผ่านกลุ่มตัวอย่างการสัมภาษณ์วิจัยเชิงปริมาณ จำนวน 100 ราย ในช่วงต้นปี 2552 ที่ผ่านมา
@ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จากเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหลายแสนคน ร่วมดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยการชุมนุมเรียกร้อง เพื่อดำเนินการปฏิรูปทางการเมือง เป็นระยะเวลายาวนานถึง 193 วัน ถือเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องลงบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ทั้งการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรับบาล รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาทิเช่น การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล และการเข้าไปชุมนุมอยู่ในพื้นที่ของสนามบินต่างๆ เป็นต้น ส่งผลต่อประเทศชาติหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปทางการเมืองดังกล่าวเกิดขึ้น และกระตุ้นให้การปฏิรูปทางการเมืองดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง คือ การสร้างการรับรู้ให้กับมวลชนผ่านสื่อ ASTV ที่มีการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลหลายช่องทาง อาทิเช่น การถ่ายทอดสดผ่านระบบเคเบิ้ลทีวี ระบบจานดาวเทียม ระบบอินเทอร์เน็ต และสื่อวิทยุท้องถิ่น เป็นต้น
ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานหรือกฎหมายฉบับใดที่เข้ามาควบคุมสื่อดิจิทัลดังกล่าวโดยตรง ทำให้สื่อดิจิทัลดังกล่าว มีอำนาจในการปลุกระดมมวลชน (Mass Mobilization) สร้างความคิดเห็น และความเชื่อ รวมถึงการหล่อหลอมพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นไปตาม "ทฤษฎีเข็มฉีดยา" (Hypodermic Needle Theory)
ทฤษฎีดังกล่าว มีความเชื่อว่า องค์กรหรือผู้ส่งข่าวสาร เป็นผู้มีอำนาจ และบทบาทสำคัญที่สุด เพราะสามารถกำหนดข่าวสารและส่งข่าวสารไปยังผู้รับ โดยการคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นได้คล้ายกับหมอที่ฉีดยารักษาผู้ป่วยข่าวสารที่ส่งไปจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้รับได้โดยตรงอย่างกว้างขวาง และให้ผลทันทีกับฝ่ายผู้รับข่าวสารเป็นบุคคลจำนวนมากจะมีปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปตามที่ผู้ส่งข่าวสารต้องการโดยจะไม่มีอำนาจควบคุมผู้ส่งข่าวสารได้
ทฤษฎีนี้ถือว่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและเข้าใจสถานการณ์ สามารถใช้สื่อมวลชนทำให้เกิดผลตามที่ตนเองต้องการได้ ซึ่งตรงข้ามกับการสื่อสารผ่านช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 9 และ TPBS ซึ่งมีการพิจารณาและกลั่นกรองเนื้อหารายการจากทางสถานีโทรทัศน์ที่ทำการถ่ายทอดก่อนนำเสนอ
จากปัญหาที่ได้กล่าวมาในข้างต้นเห็นได้ว่าสื่อสาธารณะระบบดิจิทัล ถ้าไม่ได้รับการวางแผนกำกับดูแลเนื้อหาและการแพร่กระจายของสื่อให้มีการนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา และเป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็นไปตามครรลองจริยธรรมของสื่อที่ดี อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยถึงกระบวนการ ทัศนคติ และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของมวลชนภายหลังจากการบริโภคข่าวสารด้านการเมืองที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อสาธารณะระบบดิจิทัลอย่าง ASTV รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เพื่อหาแนวทางในการควบคุมการบริโภคสื่อดังกล่าวต่อไป
@ บทสรุป อิทธิพล ASTV ต่อสังคมการเมืองไทย
พฤติกรรม และทัศนคติ ของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารทางการเมืองจาก ASTV โดยใช้ ทฤษฎีเข็มฉีดยา พบว่า หากเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูง เมื่อรับชมข่าวสารการเมือง ผ่าน ASTV จะมีการไตร่ตรอง ก่อนการเชื่อและตัดสินใจกระทำการใด
แต่หาก กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มที่เห็นด้วยว่าการชุมนุมเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งตรงข้ามกับทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี
การศึกษาครั้งนี้ยังได้ทดสอบสมมติฐานถึงปัจจัยระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่าง ต่อพฤติกรรม และทัศนคติ ของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารทาการเมืองจาก ASTV พบว่าระดับการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างมีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารทางการเมืองจาก ASTV ในหลายประเด็น ดังนี้
1. กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เลือกที่จะรับชมข่าวสารด้านการเมืองจาก ASTV ผ่านช่องทางวิทยุมากที่สุด และกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรีเลือกที่จะรับชมข่าวสารด้านการเมืองจาก ASTV ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุด
2. กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เลือกที่จะรับชมข่าวสารด้านการเมืองจาก ASTV เนื่องจากทัศนคติที่ว่าสื่อสาธารณะอื่นนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ รวมถึงมักจะใช้สื่อดังกล่าวเป็นช่องทางหนึ่งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
3. กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มที่เห็นด้วยว่า ASTV มีการนำเสนอข่าวที่เป็นอิสระ มีความเป็นกลาง ตรงไปตรงมา ไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด อีกทั้งยังมีความยกย่องในตัวพิธีกรที่ดำเนินรายการ ซึ่งตรงข้ามกับทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
4. กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี มีแนวโน้มที่เห็นด้วยว่าการชุมนุมเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งตรงข้ามกับทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี
5.กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารราชการของรัฐบาลในปัจจุบัน รวมถึงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
6. กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี เป็นกลุ่มที่นิยมนำเนื้อหาของสื่อที่ได้รับนั้น ไปเผยแพร่บอกต่อให้กับคนรอบข้างรับฟัง รวมถึงชักชวนให้บุคคลรอบข้างหันมารับข่าวสารจากสื่อ ASTV มากขึ้น
นอกจากผลการวิจัยในทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มตัวอย่างหลังการรับชมข่าวสารด้านการเมืองผ่านสื่อ ASTV ดังที่ได้รายงานสรุปไปในข้างต้นแล้วนั้น ผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการนำเสนอข่าวของสื่อดิจิทัล ทั้งทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจนั้น สามารถสรุปในแต่ละด้านได้ดังนี้
ผลกระทบด้านสังคม ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ การสร้างความแตกแยกให้เกิดกับสังคมในทุกระดับตั้งแต่ระดับสังคม ชุมชน และประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้กับเยาวชนของชาติที่รับชม
ผลกระทบด้านการเมือง การนำเสนอข่าวของ ASTV รวมทั้งสื่อดิจิทัลอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในเรื่องของกระบวนการทำงานทั้งต่อตัวบุคคล องค์กร สถาบัน และระบบบริหารงานราชการงานปกครองต่างๆ
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นการส่งผลกระทบโดยทางอ้อม อันเกิดจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งสร้างความเสียหายและความเชื่อมั่นกับต่างประเทศเป็นมูลค่าอันมหาศาล รวมถึงเป็นการลดความน่าเชื่อถือด้านการลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ กับต่างประเทศ
โดยผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวเนื่องมาจากการที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ขาดการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อ ซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับอิสระในการนำเสนอข่าว จนบางครั้งเกินขอบเขตอันควร ซึ่งส่งผลถึงการละเมิดยังสิทธิของผู้อื่น อันจะก่อผลในเชิงลบที่ตามมาเป็นอย่างมาก
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทุกองค์ประกอบในสังคมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะบนพื้นที่สาธารณะในยุคดิจิทัลที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว