นายนิพนธ์ พัวพงศกร
ประธาน ทีอีอาร์ไอ เผยผลสำรวจของมูลนิธิเอเชีย 1,500 ตัวอย่างเมื่อ 13 มิ.ย.-5 ก.ค. 2552 คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีความหวังเรื่องทิศทางประเทศ มีแค่ 1 ใน 3 ที่เชื่อว่าไทยกำลังไปถูกทิศทาง
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "ปฏิรูปสังคมไทยให้เข้มแข็งได้อย่างไร" โดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลสำรวจของมูลนิธิเอเชีย 1,500 ตัวอย่างเมื่อ 13 มิ.ย.-5 ก.ค. 2552 คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีความหวังเรื่องทิศทางประเทศ มีแค่ 1 ใน 3 ที่เชื่อว่าไทยกำลังไปถูกทิศทาง โดยเหตุผลหลัก 41% มองว่าเศรษฐกิจแย่ ขาดการพัฒนาความยากจนและตกงาน และเหตุผลรอง 11% คือความขัดแย้งทางการเมือง แต่ข่าวดีที่สุดคือคนไทย 95% เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองรูปแบบที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน มีข้อสังเกตว่าแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งหรือเอสพี 2 มีเม็ดเงินลงทุนน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่แรก เพราะได้ลดการลงทุนในงบประมาณปี 53 ลงไปแล้วหันมาใช้งบไทยเข้มแข็งแทน ขณะที่งบจำนวนมากไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและด้านท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ทั้งการลงทุนโครงการชลประทานจำนวนมากไม่คุ้มค่าต้นทุน
นอกจากนี้ รัฐบาลไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน จึงเกรงว่าจะขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อนแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา ทั้งงบประมาณปี 53 มีโครงการเบี้ยหัวแตก 2,224 โครงการ เพราะแรงกดดันทางการเมืองทำให้การลงทุนของรัฐไม่สามารถเป็นเครื่องชี้นำและกระตุ้นการลงทุนของเอกชน ทั้งหมดนี้ จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลไม่มีวัตถุประสงค์จะให้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จึงน่าเป็นห่วงการใช้เงินภายใต้ พ.ร.บ.กู้เงิน 400,000 ล้านบาทอย่างมาก และขอให้รัฐบาลกลับไปดูว่าการลงทุนในโครงการใดคุ้มหรือไม่คุ้มค่า ถ้าหากไม่คุ้มก็อย่าไปทำ
"การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับสมดุลของระบบเศรษฐกิจไทยด้วยการลดการพึ่งพาการส่งออกและเพิ่มรายได้ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ และต้องมีการจัดทำนโยบายสวัสดิการพื้นฐานใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม" ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าว