บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ไม่ฟ้อง"ทีพีไอ"-เอื้อคดี"ปชป."

ที่มา ข่าวสด

รายงานพิเศษ




1.ธาริต เพ็งดิษฐ์

2.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งไม่ฟ้องคดีบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในข้อหานำเงิน 263 ล้านบาท จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกมาให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ผ่านการทำนิติกรรมอำพรางด้วยการจัดจ้างทำป้ายโฆษณาหาเสียงให้พรรคผ่านบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 ก.ค.

การยกฟ้องคดีไซฟ่อนเงินจะมีผลต่อคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนี้

ธาริต เพ็งดิษฐ์

อธิบดีดีเอสไอ

กรณีมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เนื่องจากทำผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เพื่อจัดทำสื่อโฆษณาและที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ในโครงการต่างๆ มูลค่า 263 ล้านบาท และบริษัทเมซไซอะนำเงินเกือบทั้งหมดไปจัดทำสื่อโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 และ 2551 เรื่องดังกล่าวดีเอสไอส่งสำนวนไปยังคณะกรรมการหารเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น

ปรากฏว่ามีการร้องเรียนว่า ดีเอสไอมุ่งทำแต่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่ทำคดีหลักคือคดีตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และนำไปสู่การลาออกของพนักงานสอบสวนชุดเดิม ผมจึงตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ โดยมีพ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

คณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่พบว่า การกล่าวหาเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงจากการบอกเล่ามาอีกทอดหนึ่ง ผู้กล่าวหาไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นที่สำคัญ เช่น งบการเงินประจำปี และหลักฐานการทำงานที่ว่าจ้างซึ่งมีความชัดเจน และเชื่อได้ว่าบริษัท เมซไซอะฯ มีการทำงานตามที่ว่าจ้างจริง

3.ธีระ สุธีวรางกูร

4.วิรัตน์ กัลยาศิริ



จึงเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่พอจะใช้ยืนยันหรือพิสูจน์ความผิดของบริษัททีพีไอฯ ว่ากระทำผิด พนักงานสอบสวนจึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา และผมในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นควรสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน ซึ่งดีเอสไอจะดำเนินการตามป.วิอาญา

การสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวจะส่งผลต่อคดียุบพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ผมไม่ขอก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับว่าการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อาจมีน้ำหนักต่อการดำเนินคดียุบพรรค ซึ่งคดีดังกล่าวถูกตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ต้น โดยพบว่าพนักงานสอบสวนมุ่งทำแค่คดีรอง ไม่ทำคดีหลัก

ยืนยันว่าการทำคดีนี้ไม่มีใบสั่ง หรือช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีสำนวนการสอบสวนเป็นพยานหลักฐานชัดเจน ซึ่งดีเอสไอต้องส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วนผลทางคดีจะออกมาเป็นเช่นไรเป็นดุลยพินิจของศาล

ส่วนกรณีพนักงานสอบสวนชุดเดิมถูกร้องเรียนว่ามีการปั้นพยานหลักฐาน ผมจะสั่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจนถึงที่สุด รวมถึงกรณีรถพนักงานสอบสวนถูกทุบและขโมยโน้ตบุ๊ก



ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย

คดีไซฟ่อนเงินมีหลักฐานชัดเจน รวมทั้งรายละเอียดของเรื่อง ซึ่งมีข้อกำหนดว่า หากจะนำเงินของบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์มาใช้จ่าย จะต้องมีกรรมการลงนาม 2 ใน 9 คน แต่กรณีทีพีไอ มีกรรมการลงนามเพียงคนเดียว จึงเท่า กับการทำธุรกรรมเป็นโมฆะ แล้วจะนำเงินจากตลาดหลักทรัพย์มาใช้ไม่ได้

นอกจากนี้ ผู้บริหารบริษัทเมซไซอะ ยังยอมรับว่าทำหน้า ที่เป็นนายหน้าเอาเงินจากบริษัททีพีไอออกมา แล้วโอนเข้าบัญชีของญาติคนใกล้ชิดของผู้บริหารพรรคประชาธิ ปัตย์สมัยนั้น หลักฐานทั้งหมดจึงชัดเจนสมบูรณ์

ขอบอกว่าดีเอสไอแน่มากที่สั่งไม่ฟ้อง แต่ในฐานะที่ผมเคยทำสำนวนสอบสวนมาก่อน ถ้าเป็นผมจะสั่งฟ้อง 100 เปอร์ เซ็นต์ หลังจากนี้ดีเอสไอจะต้อง ยื่นเรื่องให้อัยการ หากอัยการเห็นต่างก็ฟ้องได้ แต่ถ้าเห็นพ้องก็ฟ้องไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นไร

ผมจะเสนอต่อพรรคเพื่อไทยให้ร่างเป็นนโยบายและนำเสนอต่อประชาชนให้ชัดเจนว่า ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ อธิบดีคนนี้ต้องถูกย้าย 24 ชั่วโมง แล้วรื้อเรื่องมาพิจารณาใหม่เพราะไม่รู้ทำไมช่างพูดขนาดนี้ ต้องมาแถลงรายวันทั้งที่เป็นแค่ความเห็นเบื้องต้น ความลับในสำนวนต่างๆ ก็เอามาแถลงหมด ไม่รู้เป็นพนักงานสอบสวนประเภทไหน หรือหวังแค่ผลคะแนนทางการเมืองอย่างเดียว

ส่วนกรณีดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องทีพีไอเรื่องเงินดังกล่าว จะส่งผลกระทบกับคดียุบพรรคที่อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐ ธรรมนูญหรือไม่นั้น ผมมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน กรณีที่ผมร้องไปเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง แต่กรณีดีเอสไอสั่งไม่ฟ้อง เป็นความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะเกี่ยวพันกัน แต่เป็นคนละกรณีความผิด

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้กังวลใดๆ ทั้งสิ้น ใจจริงอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบด้วยซ้ำ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นรับรองว่าเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยได้ส.ส. 300 คนขึ้นไปแน่ เพราะประชาชนรับไม่ได้กับ 2 มาตรฐาน เวลาไปหาเสียงก็หาง่าย



ธีระ สุธีวรางกูร

กรณีดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องคดีทีพีไอไซฟ่อนเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ จะส่งผลต่อคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีเงินบริจาค 258 ล้านหรือไม่นั้น ตอนนี้มันเป็นปัญหาในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งไม่รู้ว่าศาลรัฐ ธรรมนูญกับดี เอสไอมีข้อมูลตัวเดียวกันหรือไม่ ข้อมูลที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องอาจอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ได้

แต่ผมเชื่อว่าแม้ตามเนื้อหาคดีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน องค์กรแต่ละองค์กรอาจพิจารณาแตกต่างกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ดังนั้น แม้ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องคดีไซฟ่อนเงิน ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ ศาลอาจเห็นเหมือนหรือต่างก็ได้ อยู่ที่การตีความ

หากดีเอสไอมีข้อมูลมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงเวลาพิจารณายุบพรรคจริง ศาลรัฐธรรมนูญอาจเรียกข้อมูลจากดีเอสไอมาเพิ่มได้ แต่เบื้องต้นเป็นปัญหาของการตีความข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่ผิด

บางทีข้อเท็จจริงอาจเหมือนกันเป๊ะ แต่ศาลอาจตีความไปอีกแบบได้

ดูอย่างคดียึดทรัพย์โครงสร้างบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดีเอสไอสั่งฟ้องแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เรียกพยาน คือ นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีดีเอสไอขณะนั้นมาชี้แจง แล้วศาลก็เห็นต่าง พิจารณาข้อเท็จจริงต่างกันว่ามีการปกปิดโครงสร้างหุ้น

อย่าคิดว่าดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีความผิด ข้อเท็จจริงมีอยู่ทั้งศาลและดีเอสไอ แต่จะตีความต่างหรือเหมือนกันเป็นอีกเรื่อง

การสั่งไม่ฟ้องของดีเอสไอ ผมเชื่อว่าไม่มีผลอะไรต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจชี้ผิดหรือไม่ผิดก็ได้ ขึ้นกับดุลยพินิจศาลรัฐธรรมนูญ



วิรัตน์ กัลยาศิริ

เมื่อคดีต้นไม่ผิด คดีปลายคือคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทของทีพีไอ เข้าพรรคประชาธิปัตย์ก็เดินไปยากอยู่ ถือเป็นข้อต่อสู้หนึ่งที่สามารถใช้ต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญได้ว่าบริษัททีพีไอเอาเงินไปทำกิจกรรมโดยไม่ผิดกฎหมาย

โดยคดี 258 ล้านบาทยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทีมกฎหมายจะสู้ตามกระบวนการ

ส่วนที่มีคนมองว่าสาเหตุที่ดีเอสไอไม่ฟ้องคดีดังกล่าว เพราะมีการเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนนั้น ส่วนตัวผมมองว่าคดีนี้ในสมัยหนึ่ง ดีเอสไอถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงมีการสรุปสำนวนคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท แบบทะลุกลางปล้อง ทั้งที่คดีหลักยังไม่ได้ข้อสรุป และมีเอกสารหลุดมายังพรรคการเมืองหนึ่ง จนมีการนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถือเป็นการสมคบกันของผู้ใหญ่ในดีเอสไอกับพรรคการเมืองหนึ่ง

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker