เป็นประชารัฐ |
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ |
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2830 ประจำวัน พุธ ที่ 30 มิถุนายน 2010 |
โดย ลอย ลมบน |
แม้เสียงของประชาชน (อีกฟากหนึ่ง) เสียงของนักวิชาการที่เป็นกลาง เสียงขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะดังขึ้นเรื่อยๆไม่ต่างจากเสียงของวูวูเซลาในสังเวียนฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้
แต่ดูเหมือนว่าคณะรัฐมนตรีจะทำตัวไม่ต่างจากบอร์ดฟีฟา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็มีหลักคิดที่ไม่ต่างจากนายเซบป์ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟา
คือไม่สนใจ จะดังก็ดังไป เพราะถือเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ประมาณว่า “กู” คือความถูกต้อง ใครจะคัดค้าน ใครจะเดือดร้อนอย่างไรช่างหัวมัน
เมื่อมีหลักคิดอย่างนี้แล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์จะเดินหน้าทำทุกอย่างที่ตัวเองเห็นว่าเป็นความถูกต้องโดยไม่ฟังข้อทักท้วง
มีคนเปรียบเทียบว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองวันนี้ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากบ้านเมืองในยุคที่คณะปฏิวัติยึดครองอำนาจ จนหลายคนพากันเรียกว่าเป็นการปฏิวัติซ่อนรูป
เหตุผลที่เขายกขึ้นมาเปรียบเทียบก็น่าสนใจไม่น้อย และในมุมของผู้เขียนก็เห็นว่าฟังขึ้น
เขาเปรียบว่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นดั่งคณะปฏิวัติ เพราะมีอำนาจล้นโอ่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แตกต่างกันนิดเดียวก็ตรงที่คณะปฏิวัติต้องเสี่ยงกระทำการยึดอำนาจให้ได้เสียก่อน เมื่อได้อำนาจมาแล้วจึงค่อยออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเอง แต่ ศอฉ. นิรโทษกรรมให้กับตัวเองล่วงหน้าไว้แล้วด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำอะไรก็ไม่ผิด
วันนี้ ศอฉ. ใช้อำนาจเกินเลยไปมากจนยากที่จะเชื่อว่าบ้านเมืองอยู่ในยุคประชาธิปไตย มีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง (ในสภา) เพราะมีผู้คนมากมายที่เห็นต่างทางการเมืองถูกจับไปกักขังอยู่ในคุกเพียงเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปทำให้เขามีความผิดร้ายแรง
ศอฉ. ใช้ดีเอสไอ ปปง. สรรพากร ตำรวจ ไล่ตรวจสอบธุรกรรมการเงิน ตั้งข้อกล่าวหามากมายเพื่อเอาผิดฝ่ายตรงข้าม ทั้งล้มเจ้า ก่อการร้าย ไม่ต่างจาก คมช. ที่ใช้ คตส. เป็นเครื่องมือไล่ล่า
มีการส่งกำลังทหารลงพื้นที่เป้าหมายเพื่อทำการเฝ้าระวังเสริมสร้างความมั่นคงเหมือนกับที่ คมช. เคยทำ มีการควบคุมสื่อภายใต้วาทกรรมขอความร่วมมืองดการเสนอภาพที่มีความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม และให้หันมารายงานข่าวรณรงค์ให้คนไทยมีความปรองดองกันตามนโยบายของรัฐบาล
แต่น่าเสียดายที่คนไทยโดยส่วนมากไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับเรื่องพวกนี้ เพราะคิดว่าธุระไม่ใช่ ตัวเองไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐ
จึงไม่แปลกที่คนไทยโดยส่วนมากจะไม่รู้สึกรู้สาและไม่เคยคิดต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะเขาไม่รู้สึกว่าบ้านเมืองที่อยู่ในยุคอำนาจเผด็จการรัฐประหารส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเขาอย่างไร
ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนไทยโดยส่วนมากไม่เคยสนใจอะไรไปมากกว่าเรื่องของตัวเอง