มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ระบุไทยได้ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อ 2.7 จาก 5 พบภาวะแบ่งขั้ว ทำสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง คนไม่กล้าแสดงความเห็น หวั่น กม.เล่นงาน คลื่นความถี่ในมือรัฐ-ทหาร-ทุน ทำจัดสรรยาก เนื้อหาสื่อยังตอกย้ำอคติทางเพศ ฉายค่านิยมชายเป็นใหญ่ คนทำสื่อรายได้ต่ำ ถูกห้ามรวมตัว
(25 ก.พ. 54) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท แถลงข่าว "ดัชนีชี้วัดสถานภาพสื่อเอเชีย: ประเทศไทย 2553" ซึ่งรวบรวมจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญในประเทศ ประกอบด้วยสื่อมวลชนและผู้แทนจากภาคประชาสังคม ทั้งหมด 11 คน
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ นำเสนอผลจากรายงานว่า จากการรวบรวมคะแนนตัวชี้วัดต่างๆ 4 หัวข้อ แต่ละหัวข้อเต็ม 5 คะแนน ได้ดังนี้ เสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมทั้งเสรีภาพของสื่อได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างแข็งขัน 2.6 คะแนน ความหลากหลายของสื่อในประเทศ 2.4 คะแนน การกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์มีความโปร่งใสและเป็นอิสระ มีการเปลี่ยนแปลงสื่อของรัฐให้เป็นสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง 3.6 คะแนน มาตรฐานความเป็นมืออาชีพ 2.3 คะแนน รวมดัชนีชี้วัดประเทศไทยได้ 2.72 คะแนน
ด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็น รัฐธรรมนูญ 2550 ให้การคุ้มครองและให้หลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้หลายมาตรา แต่ในทางปฏิบัติ ถูกจำกัดโดยกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎหมายอาญาเรื่องการหมิ่นประมาท เช่น มาตรา 112 เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทั้งนี้ แม้ว่า นสพ.และพลเมืองต่างก็ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของตนเท่าที่จะทำได้ แต่ก็หวาดกลัวต่อสถาบันที่มีอำนาจต่างๆ เช่น สถาบันศาล สถาบันกษัตริย์ เพราะกลัวถูกกล่าวหาจับกุม ด้วยข้อหาร้ายแรง เช่น เป็นกบฎ หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ พบว่า มีการสยบยอมต่ออำนาจที่อยู่เหนือกว่า เช่น พลเมืองกลัวอำนาจของสถาบันสื่อ หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ข้าราชการกลัวนักการเมือง นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนยอมเจ้าของกิจการ พลเมืองกลัวการล่าแม่มดในเครือข่ายสังคมออนไลน์
ภาวะแบ่งขั้ว ทำสื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง
จากสภาวะการแบ่งขั้วทางการเมือง ทำให้นัก นสพ.เซ็นเซอร์ตัวเองในการนำเสนอข่าวและแสดงความเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง การแข่งขันทางธุรกิจ และการแทรกแซงโดยเจ้าของกิจการสื่อ อาทิ ความใกล้ชิดระหว่างสื่อมวลชนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ในกรณีสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำให้การรายงานข่าวไม่เป็นกลาง นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังขาดความมั่นใจและไม่กล้าทำงานอย่างอิสระ โดยไม่เดินตามวาระข่าวของรัฐ เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารในปี 2549 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เร่งออกกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งโดยทั่วไป เป็นกฎหมายส่งเสริมเสรีภาพแสดงความเห็น รวมถึงมีกฎหมายตั้งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ แต่หนึ่งในกฎหมายที่ออกโดย สนช. คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกเอามาใช้ลิดรอนสิทธิในการแสดงความเห็น มีเว็บจำนวนมากถูกบล็อค มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันฯ
แม้ว่า จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการให้หลักประกันในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ แต่กระบวนการเข้าถึงยังยุ่งยากและล่าช้า นอกจากนี้ ยังไม่มีกฎหมายใดให้ความคุ้มครองสิทธิของแหล่งข่าว เจ้าหน้าที่รัฐและศาลจึงมักกดดันให้สื่อมวลชนเปิดเผยที่มา หรือแหล่งข่าว ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น มีจำนวนน้อยและไม่ทำงานร่วมกัน ในช่วงที่มีการแบ่งขั้วทางการเมือง บางองค์กรก็ไม่สนับสนุนเสรีภาพสื่อ แต่กลับสนับสนุนให้รัฐปราบสื่อฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง
ด้านความหลากหลายของสื่อ ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนไทย ประกอบด้วยสื่อหลายแขนง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ และสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุกระแสหลัก 524 สถานี และมีสถานีวิทยุชุมชนเกือบ 8,000 สถานี สื่อโทรทัศน์ ฟรีทีวี 6 แห่ง และมีผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 30 ราย เคเบิลทีวีอีก 800 ราย สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์มี 80 ฉบับ เป็นหนังสือพิมพ์ระดับชาติ 25 ฉบับ หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ ภาษาจีน 1 ฉบับ และภาษามลายู 1 ฉบับ ในส่วนของสื่ออินเทอร์เน็ต มีไอเอสพี หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตทางสายโทรศัพท์ 28 ราย และผู้ให้บริการไร้สาย 8 ราย
คนเข้าถึงทีวีมากสุด
โดยในขณะที่ประชากรกว่าร้อยละ 95 จะสามารถเข้าถึงสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้ แต่ก็ปรากฎว่า การเข้าถึงสื่อประเภทอื่นๆ ยังมีช่องว่างมากระหว่างการเข้าถึงและความสามารถในทางเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงได้อย่างเป็นจริง โดยพบว่ามีเพียงร้อยละ 1/3 ของประชากรที่เข้าถึงสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น และร้อยละ 15 ที่เข้าถึงสื่อเคเบิลทีวีได้ ร้อยละ 40 ที่เข้าถึงสื่อวิทยุชุมชนและวิทยุท้องถิ่นได้ สำหรับสื่ออินเทอร์เน็ตมีสัดส่วนการเข้าถึงร้อยละ 20-22
ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน มุ่งขยายตลาดไปสู่สื่อใหม่ เช่น โทรทัศน์ดาวเทียม บริการข่าวสั้นทางเอสเอ็มเอส และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ แทนที่จะสนใจเรื่องการลดช่องว่างการเข้าถึงสื่อในชนบท ขณะที่การขยายตลาดในชนบทมักมองหาตลาดที่สามารถทำกำไรได้ และเน้นเนื้อหาด้านบันเทิง กีฬา และข่าวท้องถิ่น
ในส่วนของภาครัฐ แผนบรอดแบนด์แห่งชาติที่จัดทำโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ วางเป้าหมายให้ประชากรร้อยละ 50 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ได้ภายใน 5 ปี แต่รัฐบาลก็ไม่ประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำของช่องว่างดิจิตอลระหว่างเมืองและชนบทลงได้
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไม่มีนโยบายส่งเสริมความหลากหลายของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อภาคเอกชน ในช่วงที่ผ่านมา มีการปิดสื่อที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นที่แตกต่างจากความคิดกระแสหลัก เช่น การปิดวิทยุชุมชนที่สนับสนุน นปช. การปิดพีทีวี
คลื่นความถี่ในมือรัฐ-ทหาร-ทุน ทำจัดสรรยาก
รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการด้านการกระจายเสียงฉบับใหม่ มีเจตนารมณ์ที่ชัดในอันที่จะปกป้องไม่ให้มีการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมสื่อ โดยมีการวางแผนการจัดสรรคลื่นความถี่เสียใหม่ แต่เรื่องนี้สวนทางกลับความเป็นจริงในอุตสาหกรรมสื่อทุกวันนี้ ซึ่งถูกครอบงำโดยกิจการขนาดใหญ่ที่มุ่งหวังจะขยายการเป็นเจ้าของข้ามสื่อแบบครบวงจรให้มากที่สุด ขณะเดียวกันภาครัฐและกองทัพบกยังคงถือครองคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่ไว้ ทำให้ระบบวิทยุและโทรทัศน์ไทยมีลักษณะพิเศษ ที่มีกิจการของเอกชน ภาครัฐ และสื่อสาธารณะอยู่ในระบบเดียวกัน ทำให้เจตนารมณ์ที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เป็นภารกิจที่ยากเหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา
เนื้อหาสื่อ ตอกย้ำอคติทางเพศ ฉายค่านิยมชายเป็นใหญ่
ด้านเนื้อหาสื่อส่วนใหญ่ ตอกย้ำซ้ำเติมอคติทางเพศ และสะท้อนค่านิยมชายเป็นใหญ่มากกว่าสะท้อนความเท่าเทียมกันของหญิงชาย นอกจากนี้เนื้อหาของสื่อก็ไม่ได้สะท้อนเสียงของชนเผ่าต่างๆ หรือชนกลุ่มน้อย กลุ่มแรงงานอพยพและผู้อพยพ หรือคนที่มีความเชื่อแตกต่างกัน รวมทั้งคนที่ไม่มีสิทธิเสียงทางการเมืองอย่างเที่ยงธรรม
ในส่วนขององค์กรสื่อก็ไม่มีนโยบายในการส่งเสริมให้นักวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรมีความเข้าใจและตระหนักถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ไม่มีนโยบายการจ้างที่ให้โอกาสหญิงชายเท่าเทียมกัน อีกทั้งองค์กรสื่อก็ไม่ได้พยายามที่จะเสนอภาพสะท้อนของชนเผ่าต่างๆ หรือชนกลุ่มน้อย หรือคนพิการอย่างเทียงตรงและเท่าเทียมกัน ดังนั้น การเลือกปฏิบัติจึงดำรงอยู่ทั้งในสภาพที่เปิดเผยและซ่อนเร้น
งบโฆษณาทางทีวีกว่า 60%
ด้านงบประมาณสื่อในตลาดโฆษณามีขนาดใหญ่พอที่จะสนับสนุนสื่อ หลากหลายแขนง อย่างไรก็ดี กว่าร้อยละ 60 ของงบประมาณทั้งหมด เป็นงบโฆษณาในสื่อโทรทัศน์ ซึ่งในตลาดนี้รัฐบาลสามารถเข้ามาแทรกแซงตลาดเนื้อหาของสื่อได้ โดยการใช้อำนาจให้คุณให้โทษกับสื่อที่ไม่เชื่อฟังหรือไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐผ่านการจัดสรรงบประมาณโฆษณา วิธีการแทรกแซงส่วนใหญ่มักดำเนินผ่าน "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ระหว่างรัฐบาลกับบรรณาธิการอาวุโส
สื่อแข่งขันรุนแรง ส่งผลแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
การแข่งขันรุนแรงในทางธุรกิจของอุตสาหกรรมสื่อ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย รวมทั้งการเสนอเนื้อหาแบบเร้าอารมณ์ สื่อระดับชาติให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางระบบ และทอดทิ้งต่างจังหวัดที่ถูกมองว่าเป็นเพียงชายขอบ รายงานข่าวเจาะ หรือข่าวสืบสวนสอบสวนมีน้อย หรือเกือบจะไม่มี
สื่อรายได้ต่ำ ถูกห้ามรวมตัว
ด้านรายได้ของนักวิชาชีพ แม้ว่าเงินเดือนขั้นเริ่มต้นมีอัตราที่เหมาะกับคุณสมบัติทางการศึกษา แต่ความก้าวหน้าในช่วง 10-20 ปีมีน้อยเมื่อเทียบกับสาขาอื่น โดยองค์กรสื่อหลายแห่งให้อัตราเงินเดือนค่อนข้างต่ำ แต่ชดเชยด้วยสวัสดิการด้านอื่นแทน
นอกจากนี้ องค์กรสื่อส่วนใหญ่ห้ามการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน โดยในกฎหมายพนักงานและลูกจ้างขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะก็ถูกห้ามมิให้รวมตัวกันเป็นสหภาพ ทั้งนี้ องค์กรสื่อที่มีสหภาพแรงงาน พบว่าส่วนใหญ่ทำงานต่อรองเงินเดือนและสวัสดิการมากกว่าที่จะสนใจปัญหาสภาพการทำงานด้านอื่นๆ หรือตรวจสอบความโปร่งใสของการบริหารกิจการ
โดยรวมแล้ว ภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมสื่อไทยในปัจจุบันมีแหล่งที่มาของข่าวสารที่หลากหลายและมีจำนวนมาก มีองค์การสื่อสารสาธารณะที่เป็นอิสระอย่างน่าประหลาดใจ มีกลุ่มวิทยุชุมชนที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา และมีสาธารณชนที่หิวกระหายข้อมูลข่าวสารที่มีที่มาอย่างอิสระ แต่การแบ่งขั้วทางการเมืองของกลุ่ม "เสื้อเหลือง" และ"เสื้อแดง" ในช่วงก่อนและหลังการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ในปี 2553 ทำให้การปฏิรูปสื่อที่ยังไม่เกิดขึ้น ต้องชะงักไป ยิ่งไปกว่านั้น สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นยังถูกแทนที่ด้วยการเซ็นเซอร์ตนเองและการทำงานอย่างอิสระของสื่อก็ถูกคุกคามโดยกลุ่มการเมืองทั้งสองขั้ว
(หมายเหตุ: การอภิปรายโดยผู้ร่วมให้ความเห็นในรายงาน ประชาไทจะนำเสนอต่อไป)