ที่สุดรัฐบาลก็ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน
ด้วยการให้กระทรวงพลังงานนำน้ำมันปาล์มดิบ 15,000 ตัน มากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดขายลิตรละ 47 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุนราคาให้ลิตรละ 9.50 บาท
นอกจากนั้น ยังให้สมาคมโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจำนวน 30,000 ตัน โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ควบคุมการนำเข้ามาภายใน 15 วัน ส่วนนี้รัฐบาลชดเชยให้ลิตรละ 5 บาท
รวมๆ รัฐบาลต้องชดเชยให้ 200 ล้านบาท
นี่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการแก้ไขปัญหาหลังจากประชาชนเดือดร้อนอย่างหนัก และเป็นการแก้ไขหลังจากที่ "แก๊งสวาปาล์ม" อิ่มหนำสำราญกับน้ำตาของชาวบ้านไปเรียบร้อยแล้ว
ทำให้เกิดคำถามว่า ปัญหาส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ทำไมไม่ใช้สมองส่วนหน้าในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง
เริ่มจากคำถามที่ว่า ทำไมคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ ที่มีรองนายกฯสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน จึงปล่อยให้ปาล์มดิบหมดไปจากสต๊อคโดยไม่คิดแก้ไข
เพราะก่อนหน้านี้มีการกำหนดสต๊อคไว้คร่าวๆ ว่าต้องมีอย่างน้อยราวๆ 200,000 ตัน เพื่อรักษาสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ
หากดูตัวเลขสต๊อคน้ำมันปาล์มในเดือนสิงหาคม 2553 อยู่ที่ 209,659 ตัน ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
แต่ในเดือนกันยายน ตุลาคม สต๊อคลดลงเรื่อยๆ จนเหลือล่าสุด 98,015 ตัน ในเดือนพฤศจิกายน 2553
ห้วงนั้น มีเสียงติงไปยังคณะกรรมการนโยบายปาล์ม ว่าให้นำเข้าเพื่อมาเสริมสต๊อค เพราะอดีตการนำเข้า 10,000-20,000 ตัน ก็เคยมีการนำเข้ามาแล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ
แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการนโยบายปาล์มที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน ไม่มีการดำเนินการใดๆ ปล่อยให้สต๊อคน้ำมันปาล์มหมดลงไม่เหลือแม้แต่ตันเดียว ในเดือนธันวาคม 2553
นี่คือ "คำถาม" ว่าทำไม รองนายกฯสุเทพถึงปล่อยให้ปาล์มดิบหมดสต๊อค
คำถามต่อมาคือ เมื่อรู้ว่าหมด ทำไมไม่เร่งนำเข้าเพื่อเติมสต๊อคให้เต็ม แต่กลับมีการอนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันปาล์มจากราคาลิตรละ 36.50 เป็น 47 บาท
พ่อค้ากินส่วนต่างจากการกักตุนทันที ลิตรหรือขวดละ 10 บาท
นั่นคือ "ผลประโยชน์" ล็อตแรกที่แก๊งสวาปาล์มได้รับ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2553 มีการรับซื้อปาล์มจากเกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลประกาศ
กล่าวคือรัฐบาลประกาศราคาขายที่กิโลกรัมละ 11 บาท แต่โรงหีบกลับรับซื้อในราคาแค่ 6 บาท มีส่วนต่างกิโลกรัมละ 5 บาท
เมื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตต่างๆ ราคาที่โรงหีบอยู่ที่ลิตรละ 37.28 บาท แต่เมื่อส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมันพืชต้นทุนอยู่ที่ 50 บาท เพราะคิดตามราคาที่รัฐบาลประกาศคือ 11 บาท ไม่ใช่ราคารรับซื้อจริงจากเกษตรกรคือ 6 บาท
เมื่อรวมค่ากลั่น 15 บาท ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ต่ำสุด จะอยู่ที่ลิตรละ 65 บาท
ตรงนี้ ว่ากันว่าโรงหีบได้ค่าส่วนต่างมากถึง 12.72-24 บาทต่อลิตร
โรงหีบสำคัญๆ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ สุราษฏร์ธานี ชุมพร กระบี่ เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีผลผลิตต่อปีมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีโรงหีบ 65-67 แห่ง
ปรากฏว่าโรงหีบเหล่านี้ มีเจ้าของที่ใส่ชื่อไขว้กันไปมาแค่ 10 คนเท่านั้น ซึ่งล้วนเป็นนักการเมือง หรือไม่ก็หัวคะแนนของพรรคการเมืองใหญ่
คำนวณกันคร่าวๆ ในช่วงเดือน 2 เดือน ก่อนจะมีการนำเข้าปาล์มในกลางเดือนมกราคม 2554 จำนวน 30,000 ตัน ผลประโยชน์จาก "ค่าส่วนต่าง" ตรงนี้อยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท
เป็นผลประโยชน์ "ล็อตสอง" ที่แก๊งสวาปาล์มได้รับ
คำถามต่อมาก็คือ เมื่อรู้แนวโน้มว่าปาล์มจะขาดแคลน ทำไมยังปล่อยให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มช่วงปลายปี 2553 มากจนผิดปกติ
แล้วทำไมเอาปาล์มไปผลิตไบโอดีเซลมากถึง 400,000 ตัน ทั้งที่การผลิตไบโอดีเซลมีแต่ขาดทุน และรัฐบาลต้องอุดหนุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท
อีกทั้ง หากดูตัวเลขผลผลิตของปาล์มสดที่ออกมา ในปี 2553 พบว่ามากถึง 8,223,135 ตัน มากกว่าปี 2552 ถึง 60,432 ตัน
ตรงนี้ จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาบอกว่าทำให้ผลปาล์มดิบขาดตลาด อันเนื่องจากประสบปัญหาอุทกภัยใหญ่
จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกตั้งคำถามว่า เป็นการ "จงใจ" ทำให้ปาล์มขาดตลาด เพื่อให้
เพื่อนพ้องน้องพี่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าประเป๋า เพื่อใช้ในการกิจกรรมการเมืองหรือไม่
เป็นการตั้งคำถาม อันเนื่องมาจากสงสัย สงสัยในความจริงใจของรัฐบาลที่มีฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มมากที่สุด
ส่วนการนำเข้า 30,000 ตัน หรือการนำเข้าล็อตใหม่ เป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของรัฐบาล
ถามว่า คนอย่างนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนอย่างรองนายกฯสุเทพ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ และเจ้าของสวนปาล์ม คนอย่างอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่คุ้นเคยกับเกษตรกรชาวสวนปาล์มมาทั้งชีวิต
รวมทั้งพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีสวนปาล์มเป็นหมื่นๆ ไร่ จะไม่รู้แนวทางการแก้ไขก่อนที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายในฐานะคนประชาธิปัตย์เลยหรือ
นี่คือ "คำถาม" ที่ทิ้งท้ายไว้เพื่อรอ "คำตอบ"
( จาก น.ส.พ. มติชน )