คำ ผกา
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
จอม เพชรประดับ
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนา "เบื้องหลัง 6 ตุลา เบื้องหน้าประชาธิปไตยไทย" มีนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คำ ผกา นักคิดนักเขียนชื่อดัง และ นายจอม เพชรประดับ สื่อมวลชน เข้าร่วมอภิปราย
นายสุธาชัยกล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยังมีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ ในฐานะเหตุการณ์ที่ยังไม่กระจ่างชัดเจน หรือยังทำให้ชัดเจนไม่ได้ ใครก่อหรืออยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ เพราะไม่กล้าค้นข้อมูลหรือไม่กล้านำเสนอข้อมูล
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ถือเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม กล่าวคือแม้ฝ่ายประชาชนอาจพ่ายแพ้ในวันนั้น แต่มาวันนี้ตนขอยืนยันว่านักศึกษาไม่ได้แพ้ เพราะเมื่อย้อนกลับไปวันนั้น ฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมรู้สึกดีใจ พอใจในรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 6 ตุลา แต่ทันทีที่รัฐบาลชุดดังกล่าวขึ้นบริหารประเทศ ภาพก็ติดลบทันที เนื่องจากนานาชาติไม่เอาด้วย จนต้องส่งรัฐมนตรีมหาดไทยในสมัยนั้นคือนายสมัคร สุนทรเวช ไปพูดคุยกับรัฐบาลต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ระหว่างที่รัฐบาลธานินทร์อยู่ในอำนาจก็มีแต่คนเกลียดรัฐบาล จึงเกิดรัฐประหารโค่นรัฐบาลธานินทร์ และได้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งมี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นำมาสู่การออกนโยบายผ่อนปรน นิรโทษกรรมนักโทษ ฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา
การเกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา จึงไม่ได้เป็นเกียรติประวัติ วีรกรรม แต่เป็นความพ่ายแพ้จริงๆ ของฝ่ายขวาที่ต้องซ่อนพฤติกรรมของตัวเองเมื่อครั้งนั้นของพวกตนเอาไว้ว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว และพยายามทำให้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาหายไป แต่ก็หายไม่สนิทเพราะมีคนมาจัดงานรำลึกถึงทุกปี เป็นการสร้างอนุสรณ์ ในลักษณะ "หนามยอกอก"
นายสุธาชัยเสนอว่า 6 ตุลา ในทางประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่อิหลักอิเหลื่อ ขัดแย้งกับโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นเรื่องวีรกรรมการสร้างชาติของชนชั้นนำ ประวัติศาสตร์ที่เราเรียนนั้นประชาชนไม่ต้องทำอะไร คอยตามแล้วจะดี แต่ปัญหาของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือ ไม่สามารถเข้ากับโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์แบบดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการสะท้อนบอกเราว่าประวัติศาสตร์มักตกแต่งอดีตให้งดงาม และกลบเกลื่อนความเป็นจริงเอาไว้ ปัญหาสำคัญตอนนี้ก็คือประชาชนไม่เชื่อในโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบนี้อีกต่อไป และประวัติศาสตร์ที่เคยถูกเขียนขึ้นนั้นก็ใกล้จบลงแล้ว
นายจอมกล่าวว่า สื่อในปัจจุบันมีจุดกำเนิดที่เติบโตมาจากฐานความคิดแบบชนชั้นนำ ผู้ปฎิบัติงานสื่อจึงไม่สามารถลุกขึ้นมาหักล้างหรือคัดค้านกับฐานความคิดดังกล่าวได้ การที่จะมีคนลุกขึ้นมาสุดท้ายก็แพ้ ทุกคนก็ไม่อยากเจ็บตัว ไม่อยากอยู่ในสถานะสิ้นไร้ไม้ตอก โอกาสที่สะท้อนความเป็นจริงก็เป็นแค่ข่าวเชิงสร้างภาพลักษณ์ แต่เชิงความจริงใจในเรื่องการให้ประชาชนสะท้อนความเดือดร้อนได้นั้นทำไม่ได้ในสื่อหลัก เพราะไม่สามารถโต้เถียงกับกลุ่มทุน หรือฝ่ายทางการเมือง
"ความจริง" ที่ปรากฎในสื่อจึงเป็นการพยายามครอบงำประชาชนให้อยู่ร่วมกับชนชั้นนำโดยไม่กระทบกันมากกว่า แต่ปัจจุบันมีสื่อทางเลือกที่มีสิทธิมีเสียง สามารถให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำได้มากขึ้น ซึ่งน่าเป็นช่องทางที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ในอนาคตและสถานการณ์จะเป็นแบบนี้ไปพักใหญ่จนกว่าจะเกิดการกดดันให้ประเทศมีความเปลี่ยนแปลง เราจึงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มากในสื่อกระแสหลัก ส่วนสื่อพวกกระแสรองก็ยังเป็นเพียงทางเลือก ทั้งนี้ ตนมองว่าสื่อในไทยยังอยู่ในความกลัว และไม่กล้าที่จะพังกำแพงความกลัวออกไป
ด้านคำ ผกา เสนอว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นกำเนิดของ "สลิ่ม" 2 จำพวกในสังคมไทย สลิ่มไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงการสลายชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปีที่แล้ว แต่เกิดขึ้นเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยสามารถจัดแบ่ง "สลิ่ม" ออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
"สลิ่ม" พวกแรก เรียกว่าพวกไร้อุดมการณ์ ที่มาของพวกนี้คือ ชนชั้นกลางที่ถูกดึงให้เป็นพันธมิตรกับอุดมการณ์ขวาจัด ถูกสอนให้เบื่อหน่ายการประท้วงของนักศึกษา กลัวความเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน กลัวคอมมิวนิสต์ จากนั้นขบวนการขวาจัดก็ได้ปลุกอุดมการณ์ชาตินิยมนั่นคือ สร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์ของไทยว่าดินแดนไทยเป็นสิ่งที่ถูกปกป้องมายาวนาน
คีย์เวิร์ดที่กลุ่มนี้ใช้ คือ สิ่งชั่วร้าย, คอมมิวนิสต์, อนาธิปัตย์, ทรยศต่อชาติ และเครื่องมือทางอุดมการณ์ คือ "ทุกอย่าง" ตั้งแต่ระบบการศึกษา แบบเรียน เพลงปลุกใจ และสารคดี สื่อ โทรทัศน์
ส่วน "สลิ่ม" กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ แต่ดูมีความน่ากลัวกว่ากลุ่มแรก เพราะมีกลวิธีการเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่แนบเนียนกว่า กำเนิดของสลิ่มกลุ่มที่สองเป็นสลิ่มที่อยู่ตรงกลาง คือสิ่งมีชีวิตที่กลายพันธุ์กลุ่มนี้เคยถูกมองว่าเป็นฝ่ายซ้าย เคยอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายขวา เช่น กลุ่มผู้นำนักศึกษา คนเคยเข้าป่า นักหนังสือพิมพ์ที่เป็นน้ำดี ศิลปินเพื่อชีวิต
จุดเชื่อมต่อของคนเหล่านี้ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นซ้ายเข้ากับฝ่ายขวา ก็คือ ในขณะที่ฝ่ายขวาชูอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม อีกฝ่ายหนึ่งที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นซ้ายก็ชูอุดมการณ์ชนบทนิยม ชุมชนนิยม ซึ่งดูเหมือนจะแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้คือ ทั้งสองกลุ่มต่างแชร์อุดมการณ์การต่อต้านเสรีนิยมใหม่ เพราะว่า อุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายนี้ยึดถือแท้จริงแล้วเป็นอุดมการณ์จารีตนิยมเหมือนกัน
"สลิ่ม" เหล่านี้มักอวตารอยู่ในร่างเอ็นจีโอ ที่ทำงานในเครือข่ายทรัพยากร นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม คนที่ทำงานเพื่อคนยากจน นักวิชาการที่โหยหาวิถีชนบท สิ่งที่คนเหล่านี้แสวงหาคือ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ซึ่งไม่เหมือนกับที่โลกเขาเป็นกัน
นักเขียนดังสรุปความเห็นว่า การต่อสู้ทางการเมืองไทยตอนนี้ คือการต่อสู้ระหว่างชาตินิยมสองแบบ คือ "ชาตินิยมที่เน้นราชาธิปไตย" กับ "ชาตินิยมที่เน้นประชาชน" ซึ่งคือกระบวนการของคนเสื้อแดง อุปสรรคของชาตินิยมประชาชนที่เพิ่งเกิดขึ้นมาคือ ฝ่ายอำมาตย์ และฝ่ายขวาจัดหัวรุนแรง แต่ศัตรูที่น่ากลัวกว่าคนสองกลุ่มดังกล่าวก็คือ "พันธุ์อวตารของขวาจัดที่ทำงานในร่างซ้ายเก่า" ที่ทำงานในกลุ่มประชาสังคม เอ็นจีโอ ซึ่งต่อต้านนักการเมืองชั่วและทุนสามานย์นั่นเอง
เพราะฉะนั้น สื่อที่น่ากลัวไม่ใช่สื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เป็นสื่อในนามความหวังของประชาชน สื่อของชนชั้นล่าง เพราะสื่อเหล่านี้ได้กระทำและผลิตไปบนความปราถนาดีต่อชาวบ้าน ผู้ด้อยโอกาส คนชายขอบ คนเหล่านี้อยากรื้อฟื้นจิตวิญญาณของสังคมไทยที่ถูกลืมเลือนไป ในสายตาของสื่อเหล่านี้ชาวบ้านคือลูกแกะหลงทาง ที่ต้องต้อนกลับมา กลุ่มทุนเหล่านี้มักมองไม่เห็นหรือทำเป็นมองไม่เห็นว่าทุนนิยมจารีตนั้นแทบเป็นเนื้อเดียวกับทุนโลกาภิวัฒน์ที่สูบกินทรัพยากรของชาติมากกว่าทุนนักการเมืองหรือทุนต่างชาติไร้เส้นสายรวมกัน
ดังนั้น สำหรับฝ่ายขวาจัดที่อวตารมาในร่างผู้คนปกป้องชาวบ้านและคนจน มีข่ายแหความเกื้อกูล แฃะพิทักษ์โลกสีเขียว จึงน่ากลัวกว่าฝ่ายขวาจัดมากมาย
คลิก อ่านคำอภิปรายโดยละเอียดของผู้อภิปรายทั้งสามคน ได้ตามลิงก์ต่อไปนี้
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ 6 ตุลา ฆ่าผู้บริสุทธิ์ครั้งใหญ่ที่สุด