โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
นักประวัติศาสตร์ทางการเมืองทั่วโลกในปัจจุบันนี้ กำลังหมกมุ่นอยู่กับขุมทรัพย์ทางวิชาการที่ถูกเปิดออกมาให้นักวิชาการได้ศึกษาตามหอจดหมายเหตุ ของบรรดาอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย ที่เอารายงานของทูตคอมมิวนิสต์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรายงานประเมินสถานการณ์ของประเทศที่ทูตเหล่านั้นประจำอยู่ในช่วงเวลานั้นกลับมายังรัฐบาล
ในจำนวนนี้มีประเทศฮังการีรวมอยู่ด้วย
สาเหตุที่เปิดให้ผู้คนไปศึกษาเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้งที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่นั้น ก็เนื่องจากปัจจุบันนี้ประเทศคอมมิวนิสต์หลายประเทศได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตยนั่นเอง
ประเทศฮังการีเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณหนึ่งในห้าของประเทศไทย อดีตเคยเป็นประเทศบริวารของสหภาพโซเวียต ครั้นสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อ พ.ศ.2534 แล้ว ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (มีสมาชิก 27 ประเทศ) เป็นประเทศในกลุ่ม Schengen states (มีสมาชิก 25 ประเทศ คือ กลุ่มประเทศที่ใช้วีซ่าของประเทศเดียวสามารถเดินทางไปได้ทั่ว) และฮังการีใช้เงินยูโรเป็นเงินตรา (มีสมาชิกที่ใช้เงินยูโรนี้ 17 ประเทศ)
ผู้เขียนได้รับบทความเรื่อง From Battlefield into Marketplace : The End of the Cold War in Indochina, 1985-9 ของนายบาลาซส์ ซาลอนไท (Balazs Szalontai) ที่นำเสนอในงานประชุมนานาชาติ ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อปลายปีที่แล้ว บทความนี้อยู่ในกระบวนการตีพิมพ์ในนิตยสาร LSE ของปีนี้ (2554)
นายบาลาซส์ ซาลอนไท เป็นชาวฮังการี อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมองโกเลีย ณ กรุงอูลานบาตอร์ ปัจจุบันทำ Post graduate อยู่ที่มหาวิทยาลัยอีสต์ ไชน่า นอร์มาล-East China Normal University (ECNU) ผู้สร้างความฮือฮาให้แก่วงวิชาการ เมื่อเขาได้นำเสนอบทความที่อาศัยข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติของฮังการี อันเป็นรายงานจากสถานทูตฮังการีที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และอินโดนีเซียเป็นหลัก ในการเขียนบทความทางวิชาการนี้ โดยข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลลับที่ถูกนำไปเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุของกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ซึ่งนายบาลาซส์ได้นำมาเขียนเป็นบทความทางวิชาการเป็นภาษาดังกล่าว
บทความนี้เริ่มด้วยการกล่าวถึงบทบาทสำคัญของอดีตนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในฐานะของนักธุรกิจได้ดำเนินนโยบายการประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และสนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายใต้การนำของพระเจ้านโรดมสีหนุขึ้น เพื่อที่จะได้ทำธุรกิจกันเสียที นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพลเอกชาติชาย มีชื่อเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"
บทความนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในรายละเอียดของการดำเนินนโยบายที่สามารถอธิบายเหตุผลเชื่อมโยงความสำเร็จของนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ที่เป็นความลับได้อย่างกระจ่างแจ้งของความร่วมมือของทางการฝ่ายไทย ภายใต้การนำของพลเอกชาติชายกับฝ่ายกัมพูชาที่มีเวียดนามหนุนหลัง ภายใต้การนำของนายฮุน เซน เมื่อ พ.ศ.2532 ที่ร่วมกันบีบเขมรแดงภายใต้การนำของนายพล พต ให้ยอมเข้าร่วมอยู่ในรัฐบาลแห่งชาติกัมพูชา ด้วยการที่รัฐบาลไทยผู้ให้การสนับสนุนฝ่ายเขมรแดงของพล พต มาตั้งแต่ พ.ศ.2518 เมื่อเวียดนามกรีฑาทัพเข้ามายึดครองกัมพูชา ด้วยการยินยอมให้เขมรแดงอาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นฐานเข้ารังควานฝ่ายเวียดนามโดยตลอด และยังช่วยขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ส่งมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กับพวกเขมรแดงในช่วง 9 ปีหลังอีกด้วย
ภายหลังที่รัฐบาลชาติชายไม่สามารถเกลี้ยกล่อมให้ฝ่ายเขมรแดงเข้าร่วมรัฐบาลแห่งชาติกับเขมรฮุน เซน และเขมรเสรีได้ ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อน พ.ศ.2532 เมื่อทหารเขมรแดงปฏิบัติการในการรังควานและลอบโจมตีในเขตยึดครองของฝ่ายรัฐบาลพนมเปญของฮุน เซน ก็ประสบกับการตอบโต้จากปืนใหญ่ของฝ่ายเขมรฮุน เซน ที่แม่นยำอย่างเหลือเชื่อ ถล่มเขตที่มั่นและเส้นทางลำเลียงของเขมรแดงที่เข้ามายึดพื้นที่เอาไว้เหมือนกับผีจับยัด ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะทหารเขมรฮุน เซน ยิงปืนใหญ่เก่งอะไรหรอกครับ หากแต่ฝ่ายไทยได้วิทยุไปบอกพิกัดที่ตั้งของของฝ่ายเขมรแดงให้กับฝ่ายเสนาธิการของทางพนมเปญเท่านั้นเอง
ด้วยสาเหตุนี้ที่ทำให้รัฐบาลชาติชายสามารถบีบเขมรแดงให้ร่วมขบวนการสมานฉันท์ของเขมรได้สำเร็จ
นายบาลาซส์ยังได้ชี้ให้เห็นหลักฐานความขัดแย้งในทางผลประโยชน์ของประเทศระหว่างสหภาพโซเวียตกับเวียดนาม, ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับลาวและกัมพูชา, ความขัดแย้งของลาว กัมพูชาและกลุ่มประเทศ The Council for Mutual Economic Assistance (COMECON) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ที่ร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรปตะวันออกล้วนเป็นประเทศบริวารของสหภาพโซเวียต อันมีบัลแกเรีย เชคโกสโลวาเกีย โรมาเนีย ฮังการี โปแลนด์ แอลเบเนีย เยอรมนีตะวันออก มองโกเลีย และคิวบา ซึ่งเวียดนาม ลาว กัมพูชา (ฮุนเซน), และภายในกัมพูชาที่กรุงพนมเปญก็มีความขัดแย้งกันเองระหว่างนายเพน โสวัน นายเฮง สัมริน และนายฮุน เซน
นอกจากนี้การที่เวียดนาม ลาว และกัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การอาเซียน ก็เนื่องจากไทยกับอินโดนีเซียมีโลกทรรศน์ที่ขัดแย้งกัน เพราะอินโดนีเซียเห็นว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภัยคุกคามต่ออินโดนีเซียมากกว่าเวียดนาม และเห็นว่าเวียดนามเป็นศัตรูกับจีน และจีนสนับสนุนเขมรแดง ในขณะที่ไทยเห็นว่าเวียดนามเป็นภัยคุกคามต่อไทยมากกว่าจีน
สนุกครับ...บทความของนายบาลาซส์ น่าเสียดายที่นักประวัติศาสตร์ไทยอ่านภาษาของประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์เดิมไม่ค่อยออก เพราะเอกสารสมัยสงครามเย็นที่อยู่ในหอจดหมายเหตุของประเทศคอมมิวนิสต์เก่านี้ น่าจะให้ความกระจ่างและความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องของสงครามเย็นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดี