บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปฏิวัติอียิปต์ = มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน

ที่มา มติชน



โดย เกษียร เตชะพีระ



ฮวน โคล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ณ แอน อาบอร์ (ภาพซ้าย) &

ซาเมอร์ เชฮาตา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองอาหรับแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา (ภาพขวา)

ฮอสนี มูบารัค, บารัค โอบามา และวลาดิมีร์ ปูติน กำลังประชุมกันอยู่ แล้วจู่ๆ พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงปรากฏพระองค์ขึ้นและตรัสว่า "ข้ามาบอกพวกเจ้าว่าโลกจะถึงกาลอวสานในสองวันข้างหน้านี้ จงไปบอกประชาชนของพวกเจ้าเสีย" ผู้นำแต่ละคนจึงกลับไปเมืองหลวงของตนและเตรียมปราศรัยทางทีวี

ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โอบามากล่าวว่า "เพื่อนชาวอเมริกันทั้งหลาย ผมมีข่าวดีและข่าวร้ายจะแจ้งให้ทราบ ข่าวดีคือผมยืนยันได้ว่าพระเจ้ามีจริง ส่วนข่าวร้ายก็คือพระองค์ทรงบอกผมว่าโลกจะดับภายในสองวัน"

ณ กรุงมอสโก ปูตินกล่าวว่า "ประชาชนชาวรัสเซีย ผมเสียใจที่ต้องแจ้งข่าวร้ายสองเรื่องให้ทราบ ข่าวแรก คือพระเจ้ามีจริง ซึ่งหมายความว่าทุกอย่างที่ประเทศเราเชื่อถือตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่แล้วล้วนเป็นเท็จ ข่าวที่สองคือโลกจะดับภายในสองวัน"

ณ กรุงไคโร มูบารัคกล่าวว่า "โอ...ชาวอียิปต์ทั้งหลาย ข้าพเจ้ามาพบท่านวันนี้พร้อมข่าวดียิ่งสองประการ ข่าวแรก พระผู้เป็นเจ้าและตัวข้าพเจ้าเพิ่งจะประชุมสุดยอดครั้งสำคัญร่วมกันมา

และข่าวที่สอง พระองค์ทรงบอกว่าข้าพเจ้าจะเป็นประธานาธิบดีของพวกท่านไปชั่วกัลปาวสาน"

ในที่สุด "กัลปาวสาน" ตามโจ๊กแอนตี้-มูบารัคข้างต้นก็มาถึง 18 วันหลังประชาชนอียิปต์เรือนล้านลุกฮือ ต่อต้านเขาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศจนล้มตายไป 365 คน และบาดเจ็บอีก 5,500 คน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมนี้เป็นต้นมา เมื่อมูบารัคประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและสละอำนาจให้แก่สภาสูงของกองทัพ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ จอมพลมูฮัมหมัด ฮุสเซ็น ทันทาวี วัย 76 ปี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้

ทว่า กองทัพอียิปต์ที่ช่วงชิงโอกาสเข้าควบขี่การปฏิวัติของมวลชนและก่อรัฐประหารละมุนโค่นมูบารัคลงก็หาได้กลมเกลียวเป็นปึกแผ่นไม่ หากปริแยกแตกร้าวเป็นก๊กเป็นเหล่าตามเส้นสายการเมืองของตน ที่สำคัญได้แก่ : -

1) ในกองทัพอียิปต์ มีอยู่ 2 เหล่าซึ่งใกล้ชิดเป็นที่โปรดปรานของศูนย์อำนาจเก่าเป็นพิเศษ ได้แก่ กองทหารองครักษ์ประธานาธิบดีและกองทัพอากาศ - ในฐานที่มูบารัคมีภูมิหลังเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศมาก่อนขึ้นเป็นประธานาธิบดี สองเหล่านี้จึงยืนหยัดอยู่กับมูบารัคแม้ในยามทหารทั่วไปเอาใจออกห่างแล้วก็ตาม



ดังแสดงออกโดยปรากฏการณ์กลับตาลปัตรกันระหว่างการที่ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ จอมพลมูฮัมหมัด ทันทาวี เดินเข้าไปกลางที่ชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 30 มกราคมนี้ VS. การที่มูบารัคแต่งตั้งอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ อาเหม็ด ชาฟิค เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พลางส่งเครื่องบินไอพ่นหลายลำไปบินต่ำ ขู่ที่ชุมนุม ในทำนองเดียวกัน กองทหารองครักษ์ประธานาธิบดีนี่แหละที่เข้าปกป้องอาคารวิทยุ/โทรทัศน์ของรัฐบาล และต่อกรกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มกราคมนี้

2) หน่วยข่าวกรองทหาร (Intelligence Services หรือ al-mukhabarat) ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการลับนอกประเทศ, ควบคุมตัวและสอบสวนผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย/เป็นภัยความมั่นคง (รวมทั้งทรมานและลักพาตัวชาวต่างชาติตามที่ซีไอเอขอ) เนื่องจากหน่วยข่าวกรองทหารพุ่งเป้าต่อศัตรูภายนอกเป็นหลัก ไม่ได้คุมขังทรมานชาวอียิปต์ฝ่ายค้านในประเทศมากนัก

จึงไม่เป็นที่เคียดแค้นชิงชังของประชาชนเท่า หน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงของรัฐ สังกัดมหาดไทย (mabahith)

หน่วยข่าวกรองทหารมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์พลิกผันทางการเมืองในฐานะ "สะวิงโหวต" - คือเทเสียงไปข้างไหน กองทัพโดยรวมก็เอียงไปข้างนั้นด้วย ท่าทีของหน่วยนี้คือด้านหนึ่งก็เกลียดชัง กามาล มูบารัค (ลูกชายประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค) กับกลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่เส้นใหญ่ของเขา แต่อีกด้านหนึ่งก็หมกมุ่นฝังหัวกับเรื่องการเมืองต้องนิ่ง และแอบได้เสียอยู่กินกับซีไอเอและกองทัพอเมริกันมานมนาน

อำนาจของกองทัพและโดยเฉพาะอย่างยิ่งของหน่วยข่าวกรองทหารที่ขึ้นครอบงำวงการเมืองสะท้อนออก ในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ดังปรากฏว่ากามาล มูบารัค กับพวกพ้องนักธุรกิจถูกโละทิ้งยกแผง ขณะที่โอมาร์ สุไลมาน อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหารได้ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี ทำหน้าที่รักษาการแทนประธานาธิบดีมูบารัคในทางปฏิบัติ


"วันโลกดับ" ขำขันต่อต้านมูบารัค & จอมพลมูฮัมหมัด ฮุสเซ็น ทันทาวี


อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขภายในกองทัพอียิปต์จะสุกงอมพอก่อให้เกิดการปฏิวัติ/เปลี่ยนระบอบผ่านปฏิบัติการ [มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน] ก็ต่อเมื่อฝ่ายแอนตี้มูบารัคในกองทัพสามารถ : -

1) เสริมสร้างฐานะของตนได้มั่นคง และ

2) ให้ความมั่นใจแก่หน่วยข่าวกรองทหารและกองทัพอากาศในการเปิดรับขบวนการมวลชนที่เกิดขึ้นใหม่ และพรรคฝ่ายต่างๆ ที่เกาะกลุ่มล้อมรอบแกนนำฝ่ายค้าน นายโมฮาเหม็ด เอลบาราได นักนิติศาสตร์ นักการทูตและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA ภายใต้สหประชาชาติ) ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.2005 และเข้าร่วมประท้วงต่อต้านมูบารัคครั้งนี้

ซึ่งอาจถือเป็นความหมายโดยนัยของสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "การเปลี่ยนผ่าน อย่างมีระเบียบเรียบร้อย" ที่เขาอยากเห็นในอียิปต์นั่นเอง

ดูเหมือนเงื่อนไขดังกล่าวจะมาลงตัวพร้อมเพรียงเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ และแล้วกองทัพอียิปต์ก็เอื้อมไปจับมือประชาชนแล้วโค่นมูบารัคลง!

แนวโน้มการเมืองอียิปต์หลังโค่นมูบารัคจะเป็นเช่นใด? เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ สภาสูงของกองทัพ ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 สั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูงซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างฉ้อฉลอื้อฉาวเมื่อปลายปีก่อน, ระงับใช้รัฐธรรมนูญ, ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพื่อผ่านการลงประชามติ, และสัญญาจะจัดเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีใหม่ใน 6 เดือน, ระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีที่มูบารัคตั้งใหม่ล่าสุดจะรักษาการไปพลางก่อน, พร้อมกันนั้น สภาสูงของกองทัพก็ยืนยันพันธกรณีตามสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่ อียิปต์ได้ทำไว้กับนานาประเทศรวมทั้งอิสราเอล

ข้อน่าสังเกตคือประกาศของสภาสูงกองทัพอียิปต์ข้างต้นมีรายละเอียดเนื้อหาพ้องกับข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ของแกนนำการชุมนุมต่อต้านมูบารัคที่รวมตัวกันเฉพาะกิจและเรียกตัวเองว่ากลุ่ม "25 มกราคม" หลายประเด็น ดังปรากฏรายละเอียดตามแถลงการณ์ต่อไปนี้ (ดูต้นฉบับภาษาอาหรับที่ www.assawsana.com/portal/ newsshow.aspx?id=44605) : -

-ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินอันเป็นเหตุให้ระงับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญทันที

-ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดทันที

-ระงับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและบทแก้ไขเพิ่มเติมต่างๆ

-ยุบรัฐสภาสหพันธ์และสภาระดับจังหวัดทั้งหลาย

-ก่อตั้งสภาปกครองรวมหมู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน

-จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลประกอบด้วยกลุ่มชาตินิยมอิสระเพื่อดูแลจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

-จัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่ซึ่งคล้ายคลึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับเก่าก่อน แล้วให้ผ่านการลงประชามติ

-ขจัดข้อจำกัดหวงห้ามทั้งปวงเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเสรีบนพื้นฐานที่เป็นพรรคพลเรือน, ยึดหลักประชาธิปไตยและสันติภาพ

-ยึดหลักเสรีภาพในการพิมพ์

-ยึดหลักเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและองค์การเอ็นจีโอโดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาล

-ยุบศาลทหารทั้งหมดและยกเลิกคำตัดสินของศาลทหารในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นพลเรือน เป็นต้น

เหล่านี้ทำให้ศาสตราจารย์ฮวน โคล สรุปว่าขบวนการมวลชนที่ลุกฮือโค่นมูบารัคครั้งนี้มีแก่นแท้เป็นขบวนการแรงงานที่ยึดถือ "ชาติ" (watan) และข้อเรียกร้องทางการเมืองเชิงโลกวิสัยอื่นๆ เป็นที่ตั้ง, ไม่ใช่ขบวนการเคร่งหลักอิสลามมูลฐานที่ยึดถือ "ชุมชนศาสนา" (ummah) และข้อเรียกร้องตามหลักอิสลามเป็นสรณะดังฝ่ายขวาอเมริกันและอิสราเอลบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าขบวนการมวลชนอียิปต์จะกำหนดเกมการเมืองหลังโค่นมูบารัคได้ดังใจนึก แนวโน้มน่าวิตกในสายตาผู้ช่วยศาสตราจารย์ซาเมอร์ เชฮาตา คือมันอาจนำมาซึ่งระบอบมูบารัคที่ปราศจากตัวมูบารัคเอง

แม้จะไม่กดขี่ปราบปรามหนักเท่าสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็หาใช่ประชาธิปไตยเต็มใบไม่

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker