เมื่อเหตุผลและสมมติฐาน-การ ต่อรองของฝ่ายอำนาจรัฐและฝ่ายต่อต้านสมประโยชน์ จึงนำไปสู่การปล่อยตัวแดงทั้ง 7
แม้ว่าในยกแรก ต่างฝ่ายต่างต่อรองยืดยื้อจนสุกงอมนานแรมเดือน
ฝ่ายรัฐบาลส่งสัญญาณต้องการแลกตัวประกันผู้ต้องหาแดง 2 คน น.พ.เหวง โตจิราการ กับ ก่อแก้ว พิกุลทอง กับการ "งดการชุมนุม" ในเมืองช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์
แต่ฝ่ายแกนนำแดง-และนายใหญ่ ไม่ยอม และยื่นข้อเสนอแบบเต็มเพดาน คือ ต้องปล่อยตัวแกนนำทั้ง 7 และทยอยปล่อยผู้ต้องหาออกจากคุกทั่วพื้นที่อีสาน-เหนือรวม 121 คน
และเมื่อข้อต่อรองนั้นต่างฝ่าย ต่างไม่สมประโยชน์ จึงเกิด "ม็อบ 3 หมื่น" เต็มพื้นที่กรุงเทพฯในวันที่ 19 กุมภาพันธ์
หลังจากนั้น 1 สัปดาห์จึงเกิดดุลพินิจจากกระบวนการ "บนดิน" ด้วยการปล่อยตัวแกนนำแดงในคุกอีสาน-เหนือถึง 88 คน
พร้อม ๆ กับกระบวนการต่อรองจากฝ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็นการปล่อยตัวคราวละ 2 คน และ 3 คน โดยมีชื่อ เจ๋ง ดอกจิก กับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น 2 คนสุดท้าย แต่ "ผู้ใหญ่" ในฝ่ายแดงไม่ยอม ยืนยันต้องแลกอิสรภาพ 7 คนกับความสุขสงบของสนามเลือกตั้ง เป็นเดิมพัน
เมื่อเงื่อนไขรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ-เมื่อปัญหาเศรษฐกิจไม่เป็นปัจจัยลบ รัฐบาลเหลือปัจจัยเสี่ยงเรื่องเดียว คือ ความสงบทางการเมือง
การเจรจาจึงเริ่มต้นขึ้นอีกรอบ โดยใช้ "มติ ครม. 21 ธ.ค. 53" ที่ระบุรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมจะไม่ "คัดค้านการประกันตัว" ผู้กระทำความผิดที่ "เบาบาง" และ "ไม่ใช่ตัวการ" จำนวน 114 คน และให้พ่วงท้ายด้วย "ตัวการ 7 คน" เข้าไปด้วย
การเจรจารอบใหม่มีเงื่อนไขยื่นให้แดงไม่ชุมนุมยืดยื้อ-ค้างคืน "ห้ามปิดประเทศ-ปิดราชประสงค์" เป็นเดิมพัน
เพราะฝ่ายรัฐคาดการณ์ว่าการนัดชุมนุมวันที่ 12 มีนาคม 2554 วาระครบรอบ 1 ปีการปิดสี่แยกราชประสงค์ และการนัดชุมนุมกดดัน "ศาล" ทั่วประเทศจะยืดยื้อ-บานปลาย และอาจไม่จบที่ "การเลือกตั้ง"
ขบวนการใต้ดินของฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ "คอป." โดยนายคณิต ณ นคร จึงเร่งดีกรีเจรจาและขีดเส้นตาย มีเป้าหมายบรรทัดสุดท้ายตรงกันคือ "ไปสู้กันในสนามเลือกตั้ง"
ขบวนการเจรจาใต้ดิน มีชื่อ 2 นักการเมืองพัวพัน ทั้ง กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ และ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
การหารือทั้งในรอบ-นอกรอบขององค์ประชุมที่ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 และคนใกล้ตัวนายกรัฐมนตรี จึงมีทางออก
ขบวนการบนดินจึงเกิดขึ้นใน "ศาล" เพื่อเบิกความเป็นพยานให้ศาลเชื่อว่า ผู้ถูกคุมขังระหว่างการดำเนินคดีทั้ง 7 ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัย
โดย "คอป." ยืนยันอำนาจ-หน้าที่ 3 ข้อ คือ ตรวจสอบความจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างเมษายน-พฤษภาคม 2553 เยียวยาทางจิตใจแก่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และวิจัยสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง และรากเหง้าของปัญหา เพื่อได้บทเรียนแก่ทุกฝ่าย และยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ เช่นนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ตัวกลาง-คอป.ยืนยันว่า การคุมขังหรือเอาตัวไว้ในอำนาจรัฐนั้นมีจุดประสงค์เพียงเพื่อ ไม่ให้หลบหนี กับไม่ให้ไปทำความยุ่งเหยิงแก่พยานหลักฐานเท่านั้น หากไม่มีเงื่อนไขนี้แล้วก็ชอบด้วยเหตุผลที่จะปล่อยตัวชั่วคราว ทันทีที่ "ณัฐวุฒิ" พ้นคุก เขาจึงประกาศส่งสัญญาณ 3 ข้อ อาทิ 1.มุ่งหวังเพื่อ ให้เกิดการปรองดองและเกิดสันติภาพ ในประเทศ 2.ต่อต้านรัฐประหาร 3.เดินหน้าด้วยการเลือกตั้ง
สอดคล้องกับปฏิกิริยาของนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ที่ตอบรับวาระการไปสู่สนามเลือกตั้ง
"แกนนำ นปช.ก็ต้องการจะทำงานการเมือง ต่อสู้การเมือง ก็ไปสมัครรับเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ ก็ไปปรึกษากันให้ดีเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง มันก็จบ" นายสุเทพกล่าว
หลังการปล่อยตัวแกนนำแดง แกนนำฝ่ายใต้ดินของพรรคประชาธิปัตย์ยังกังขาและตั้งข้อสังเกตว่า "เจ้านายใหญ่ของฝ่ายแดง เขาได้ประโยชน์ และเขาหวังเต็มที่หากเพื่อไทยไปสู่การเลือกตั้ง เขาจะชนะ"
ขณะที่แกนนำฝ่ายเพื่อไทยยังอยู่ในระหว่างการเคลียร์บัญชี "ค่าใช้จ่าย-ต้นทุน" ในการเคลื่อนไหวใต้ดิน และเคลียร์ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนสำหรับบรรจุแกนนำแดงลงบัญชีเลือกตั้ง
ตัวเลข 4,000 ล้านสำหรับเดิมพันให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จึงถูกปล่อยกระหึ่มไปทั่วทั้งสภาผู้แทนราษฎร
...................