คอลัมน์ รายงานพิเศษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศนัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชา ธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ในวันที่ 12 มี.ค. รำลึกครบรอบ 1 ปีวันระดมพลก่อนเกิดเหตุการณ์กระชับพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพเมื่อปี"53
เป็นที่จับตาว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในแกนนำนปช.ที่ได้รับอิสรภาพ และได้ชื่อว่าเป็นขวัญใจชาวเสื้อแดง ประกาศทวงถามความยุติธรรมให้เพื่อนสมาชิกที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ
บรรยากาศการต่อสู้นับจากนี้จะร้อนแรงขึ้นหรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการและผู้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
หลังปล่อยตัว 7 แกนนำนปช. บรรยากาศคงกลับไปสู่สภาวะกดดันของการเมืองในหน้าร้อนเหมือนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รัฐบาลเองก็มีทั้งความมั่นใจและไม่มั่นใจ
ในห้วงเวลานี้เราพบการโยนหินถามทางที่รัฐบาลเป็นคนเปิดเกมการเลือกตั้งเอง เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเหมือนเมื่อก่อนที่จะมีการปราบคนเสื้อแดง
แต่ตอนนี้สิ่งที่น่าคิดคือ คนเสื้อแดงอาจต้องปรับกระบวนเสียใหม่เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง หากไม่มีแรงกดดัน รัฐบาลคงจัดการเลือกตั้งปลายปีนี้ แต่ถ้ากดดันก็คงอีกไม่นาน แต่รัฐบาลก็จะได้เปรียบ เป็นระบบที่วนเวียนกันไป
การเคลื่อนไหวระยะสั้น เป็นคำถามว่ามวลชนเสื้อแดงจะกดดันให้มีการปล่อยตัวคนที่เหลือได้อย่างไร และทวงถามความยุติธรรมระหว่างการปราบปรามให้แก่สังคมอย่างไร
เบื้องหลังการปล่อยตัวแกนนำทั้ง 7 คน รัฐบาลคงคิดว่าสามารถคุมสภาพต่างๆ ได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบ จริงๆ แล้วเกมรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้นก่อนยุคปราบคนเสื้อแดงเสียอีก
หลังแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ตัวแปรอื่นๆ ที่น่ากลัวคือการที่มวลชนเสื้อแดงพยายามทวงถามความยุติธรรม ต่อสู้เรื่องปากท้อง รวมถึงความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย
แต่ความร่วมมือระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยจะต้องสร้างสมดุล ระหว่างพรรคการเมืองกับมวลชน โดยหาคนที่มีภาวะผู้นำซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับ เพราะสิ่งที่อ่อนแอของพรรคเพื่อไทยคือการไม่มีผู้นำที่ชัดเจน
เป็นสิ่งที่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสองกลุ่มเชื่อมกันติด เพื่อไทยไม่มีหัว ส่วนเสื้อแดง นายวีระ มุสิกพงศ์ ก็ประนีประนอมเกินไป ที่น่าคิดต่อไปคือคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวด้วยประเด็นอะไร
แต่ต่อให้ไม่มีประเด็นชัดเจน ก็มีคนจำนวนเยอะที่พร้อมจะออกมาอยู่แล้ว
ยุทธวิธีที่น่าจะสำคัญตอนนี้คือ การเชื่อมตัวเองกับพรรคเพื่อไทยให้ติด เพื่อคัดเลือกคนสมัครส.ส. ปรับตัวเองทั้งในสภาและนอกสภา แต่หัวที่จะมาเชื่อมระหว่างสองส่วนนี้ยังมองไม่เห็นคนที่เหมาะสม
มวลชนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย อุดมการณ์ไม่แตกต่างกัน ที่ต่างกันน่าจะเป็นดีกรีความเข้มข้นมากกว่า
เสื้อแดงจะมีภาพที่พยายามผลักดันให้มีการนำความยุติธรรมกลับสู่สังคมและคุณทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งมีสมาชิกนักวิชาการบางกลุ่มที่ไม่นิยมรัฐประหารเข้าร่วมด้วย
ส่วนพรรคเพื่อไทย บางคนที่ไม่ศรัทธาในระบบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็จะไม่ได้เสียงตรงนี้ไป แต่หากทั้งสองกลุ่มมารวมกัน โจทย์ใหญ่คือจะสมดุลตรงนี้อย่างไร
แน่นอน เบอร์หนึ่งของมวลชนเสื้อแดงตอนนี้คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพราะนอกจากเคยติดคุกมาแล้ว ยังเป็นแกนนำที่ต่อสู้กันมาตลอด แล้วทุกคนก็คงอยากจะฟังประสบการณ์ตอนนั้น
ส่วนแกนนำคนอื่นๆ เช่น นายวีระ มุสิกพงศ์ ก็หลุดไปแล้วเพราะมีบุคลิกที่ประนีประนอมเกินไป นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็กลายเป็นคนของพรรคการเมือง ดังนั้น นายณัฐวุฒิถูกปล่อยตัวออกมาและมีจุดยืนที่จะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป จึงน่าจะรวมมวลชนได้มากอยู่
เป็นจุดที่น่าคิดสำหรับรัฐบาล
คณิต ณ นคร
ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง
เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
การปล่อยแกนนำของมวลชนเสื้อแดง ไม่เกี่ยวกับผม ผมเพียงแต่เสนอรัฐบาลว่าการขังคนเกินความจำเป็น เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำ
สิ่งที่ผมเสนอไม่ได้หมายความเฉพาะเจาะจง แต่หมายถึงทุกคน คนไทยเราไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายมานานแล้ว สมควรต้องปรับเปลี่ยนใหม่เสียที
ปัจจุบันมีผู้ต้องขังซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาและยังไม่ได้ถูกตัดสิน ถูกขังอยู่ในเรือนจำอย่างไม่เป็นธรรมถึงร้อยละ 37 นักโทษเหล่านั้นเป็นคน เราต้องดูแลและให้ความรับผิดชอบ และเรื่องของการประกันตัว ตามกฎหมายแล้วเขาก็ไม่ได้เรียกร้องหลักประกัน แต่ตามหลักปฏิบัติกลับมีผุดขึ้นมา ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรม
สิ่งที่ทำคือพยายามให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เพียงเท่านั้นบทบาทของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ เจ้าพนักงานดีเอสไอ รวมถึงอัยการ ก็ควรมาคิดกันใหม่
เรื่องเกี่ยวกับอัยการ ผมเคยเสนอวางเป็นระเบียบไปแล้วสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด แต่ไม่มีใครปฏิบัติตาม มาตอนนี้อัยการเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอิสระจริงหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ชี้ชัดว่าสังคมไทยต้องการการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ผมไปปรากฏตัวให้ปากคำในศาล เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมปกติ ไปให้ปากคำตามหมายเรียกของศาล ไม่ไปก็ติดคุก ไม่ได้ไปต้อนรับคนเสื้อแดงอย่างที่หลายคนคิด
ส่วนพวกแกนนำคนเสื้อแดง ผมรู้จักทั้งนั้น ไม่ว่านายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็คนบ้านเดียวกัน หมอเหวง โตจิราการ หรือนายวีระ มุสิกพงศ์ ผมก็รู้จักทั้งนั้น
แต่ยืนยันว่าไม่ได้ทำงานเข้าข้างใคร
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
อดีตส.ว.สรรหา
การปล่อย 7 แกนนำเป็นดุลพินิจของศาล ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐบาล แต่มองในแง่ดีคือสร้างความ ปรองดองสมานฉันท์ให้คนในชาติ
นอกจากนี้แกนนำที่ถูกขังคุกมานาน 9 เดือน และคดียังไม่สิ้นสุด แถมยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าพวกเขาใช้ความรุนแรงหรือไม่ ดังนั้นเมื่อมีการปล่อยตัวมาแล้ว จะทำให้พวกเขาถือโอกาสนี้ออกมาต่อสู้คดี
ที่ผ่านมาการชุมนุมของนปช.อยู่ในแนวทางสงบ สันติ อหิงสา และการออกมาเรียกร้องก็เป็นไปตามสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ โดยการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มี.ค. น่าจะอยู่ในแนวทางสงบสันติเช่นกัน
ไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ชุมนุมจะเกิดความรุนแรง แม้แกนนำจะถูกปล่อยตัวออกมาแล้วก็ตาม เพราะที่ผ่านมาพวกเขาพยายามต่อสู้เรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมที่สูญเสีย 91 ศพมากกว่า
และสังคมไทยทุกวันนี้ได้เรียนรู้มากมาย จนเกิดเป็นความบอบช้ำและรอยแผลลึก ทุกคนคงรู้ดีว่าความรุนแรงไม่ช่วยอะไร
ส่วนการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแนวร่วมทั่วประเทศ อยู่ที่ดุลพินิจของศาล ต้องดูพฤติการณ์คนที่ถูกจับว่ามีความผิดอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละคนก็มีความผิดต่างกัน บางคนก่อความรุนแรง บางคนแค่เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ ก็แล้วแต่ศาลจะพิจารณา
หากไม่ปล่อยตัว ศาลคงวางเงื่อนไขไว้ว่าเพราะเหตุใดทำไมถึงไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งกลุ่มนปช.ก็สามารถเรียกร้องให้ปล่อยตัวแนวร่วมได้ เป็นสิทธ์ของเขา
กรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประกาศชัดว่าจะมาร่วมชุมนุม ซึ่งตัวเขานั้นมีแฟนคลับจำนวนมาก ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดความรุนแรงอะไร การชุมนุมคงเป็นไปด้วยความสันติ เพราะนิสัยส่วนตัวของนายณัฐวุฒิไม่ใช่คนก้าวร้าว
แต่การชุมนุมควรอยู่ในขอบเขต ไม่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเดือนร้อน ชุมนุม 2-3 ชั่วโมงก็พอ ส่วนรัฐบาลเองก็ควรอะลุ่มอล่วย ไม่ไปกดดันกลุ่มผู้ชุมนุมเกินไป
ขอแนะรัฐบาลว่าการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมควรใช้ความจริงใจ และทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ที่ดูแลก็ต้องประสานงานกันตลอด แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วรัฐ บาลจะควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่น่าเกิดเหตุการณ์อะไร