บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พระวิหาร: เก้าคำถามคาใจไทยทั้งชาติ

ที่มา ประชาไท

1 ปราสาทพระวิหารอยู่ที่ใด?
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคะแนนเสียง เก้า ต่อ สาม ลงความเห็นว่า “ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา”

(คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962, สำนวนแปล สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2505 หน้า51)

2 พื้นที่โดยรอบตัวปราสาทอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของใคร?
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยคะแนนเสียง เก้า ต่อ สาม พิพากษา ว่า “ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของกัมพูชา”

(คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 สำนวนแปล สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2505 หน้า 51)

3 เส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามสันปันน้ำหรือไม่?
การระบุเส้นสันปันน้ำไว้ในข้อ 1 ของสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. 1904 มิได้มีความหมายอะไรนอกไปจากว่าเป็นวิธีที่สะดวกและแจ่มแจ้งที่จะบรรยายเส้นเขตแดนอย่างให้เห็นได้ชัด ถึงแม้ว่าจะเป็นการกล่าวเพียงกว้างๆก็ตาม แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะให้คิดว่าคู่กรณีได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เส้นสันปันน้ำโดยเจาะจง เมื่อเปรียบเทียบกับความสำคัญที่เหนือกว่าของการยึดถือเส้นเขตแดนในแผนที่ซึ่งได้ปักปันกันในเวลาต่อมาและเป็นที่ยอมรับแก่คู่กรณี ทั้งนี้เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้นอาศัยหลักการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำเป็นต้องความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท

เมื่อได้ให้เหตุผลที่ศาลได้ใช้เป็นมูลฐานในการให้คำวินิจฉัยของตน แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่า ณ พระวิหาร เส้นเขตแดนตามแผนที่จะตรงกับเส้นสันปันน้ำที่แท้จริงในบริเวณใกล้เคียงนี้หรือไม่ หรือ ว่าได้เคยตรงกันในระหว่าง ค.ศ. 1904-1908 แล้วหรือไม่ หรือว่า ถ้าไม่ตรงกันแล้วเส้นสันปันน้ำจะเป็นอย่างไรในความเป็นจริง

(คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก วันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1962 สำนวนแปล สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2505 หน้า 49-50)

4 ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ 1: 200000 จริงหรือ?
เอกสารราชการสถานทูตสยามในปารีส เลขที่ 89/525 ลงวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1908 หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ส่งถึงสมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ อ้างถึง คณะกรรมการผสม (Mixed Commission of Delimitation of frontiers) ได้ทำแผนที่ตามที่คณะกรรมการฝ่ายไทยได้ร้องขอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ร้อยเอกทิกซิเอ (Tixier) ได้นำแผนที่ชุดนี้มาให้และได้ “ขอให้หม่อมฉันส่งมาให้พระองค์”

แผนที่สำหรับชายแดนด้านเหนือประกอบได้
1 แผนที่แม่คอบและเชียงลม 50 ชุด
2 แผนที่แม่น้ำด้านเหนือ 50 ชุด
3 แผนที่เมืองน่าน 50 ชุด
4 แผนที่ปากลาย 50 ชุด
5 แผนที่แม่น้ำเหือง 50 ชุด

และสำหรับด้านใต้
1 แผนที่ปาสัก 50 ชุด
2 แผนที่แม่โขง 50 ชุด
3 แผนที่ดงรัก 50 ชุด
4 แผนที่พนมกูเลน 50 ชุด
5 แผนที่ทะเลสาบ 50 ชุด
6 แผนที่เมืองตราด 50 ชุด

แผนที่ดังกล่าวนี้ “หม่อมฉันขอเก็บไว้อย่างละ 2 ชุดและส่งอีกอย่างละชุดไป ลอนดอน เบอร์ลิน รัสเซียและอเมริกา ที่เหลืออีก 44 ชุดได้บรรจุลงหีบห่อและส่งให้พระองค์”

ในเวลาต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงขอบพระทัยอัครราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ สำหรับแผนที่เหล่านั้นและได้ทรงขอแผนที่ต่ออัครราชทูตเพิ่มเติมอีกอย่างละ 15 ชุดเพื่อทรงจัดส่งไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆของสยาม

ข้อโต้แย้งของทนายความฝ่ายไทยว่า มีแต่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเท่านั้นที่ได้เห็นแผนที่จึงฟังไม่ขึ้น ด้วยว่า สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมาชิกคณะกรรมการผสม และ ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับแผนที่นั้นด้วยเช่นกัน ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นั้น ทรงเชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และ ทรงสนพระทัยเรื่องเขตแดนเป็นอย่างมาก ศาลจึงเห็นว่า ข้ออ้างของทนายฝ่ายไทยฟังไม่ขึ้น

5 ไทยยังมีสิทธิทวงคืนปราสาทพระวิหารอยู่หรือไม่?
ธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 61 ระบุว่า
1. An application for revision of a judgment may be made only when it is based upon the discovery of some fact of such a nature as to be a decisive factor, which fact was, when the judgment was given, unknown to the Court and also to the party claiming revision, always provided that such ignorance was not due to negligence.

การยื่นคำขอให้กลับคำพิพากษาจะทำได้ต่อเมื่อปรากฏว่ามีหลักฐานใหม่ ซึ่งโดยสภาพจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้และโดยที่เวลาที่ทำคำพิพากษานั้นศาลและคู่กรณีไม่ได้รู้มาก่อน

2. The proceedings for revision shall be opened by a judgment of the Court expressly recording the existence of the new fact, recognizing that it has such a character as to lay the case open to revision, and declaring the application admissible on this ground.

กระบวนการในการกลับคำพิพากษานั้น กระทำโดยดุลยพินิจของศาล โดยการบันทึกการมีอยู่ของหลักฐานใหม่ คำนึงถึงลักษณะที่จะเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาและการประกาศรับคำขอตามหลักการเช่นว่านั้น

3. The Court may require previous compliance with the terms of the judgment before it admits proceedings in revision.

ศาลอาจจะขอให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาก่อนที่จะดำเนินการพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

4. The application for revision must be made at latest within six months of the discovery of the new fact.

การขอให้เปลี่ยนแปลงเพื่อกลับคำพิพากษาใหม่จะทำภายในระยะเวลา 6 เดือนนับแต่พบหลักฐานใหม่

5. No application for revision may be made after the lapse of ten years from the date of the judgment.

การขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาไม่อาจจะทำได้เมื่อเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษา

6 ไทยและกัมพูชายังจะทำอะไรได้อีกในคดีปราสาทพระวิหาร?

ธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 60 ระบุว่า
“The judgment is final and without appeal. In the event of dispute as to the meaning or scope of judgment, the Court shall construe it upon the request of any party.”

คำพิพากษาของศาลถือเป็นที่สุด ไม่มีการอุทธรณ์ใดๆ ในการกรณีที่ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ศาลอาจะทำการวินิจฉัยตามคำขอของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ปัญหาในข้อขัดแย้งบางประการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คู่กรณีชอบที่จะขอให้ศาลวินิจฉัยว่า อาณาเขตของกัมพูชา ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่นั้น มีขนาดกว้างและยาวเพียงใด คำขอเช่นว่านั้นย่อมไม่ถือว่าเป็นการขอให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาใหม่ และชอบด้วยมาตรา 60 นี้

7 การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารทำให้ไทยเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนจริงหรือ?

อนุสัญญายูเนสโก มาตรา 11 (3)
The inclusion of a property in the World Heritage List requires the consent of the State concerned. The inclusion of a property situated in a territory, sovereignty or jurisdiction over which is claimed by more than one State shall in no way prejudice the rights of the parties to the dispute.

การจัดเอาทรัพย์สินใดเข้าอยู่ในบัญชีของมรดกโลก จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดที่ตั้งอยู่ในอาณาเขต ภายใต้อำนาจอธิปไตย หรือ ขอบเขตอำนาจ ที่มีการอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ การขึ้นทะเบียนย่อมไม่ทำให้สิทธิเช่นว่านั้นเสียไปแต่อย่างใด

8 กัมพูชารวมพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรอยู่ในพื้นที่กันชนปราสาทพระวิหารจริงหรือ?
มติคณะกรรมการมรดกโลกที่ WHC-09/33.COM/7B.Add, p.90 ยืนยันว่าพื้นที่บริหารจัดการนั้นจะหมายรวมเฉพาะตัวทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเท่านั้นและพื้นที่กันชนมีเท่าที่ระบุไว้ในแผนผังที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว (รายงานของรัฐภาคีได้ยืนยันว่าแผนบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนและพื้นที่กันชนตามที่ได้ระบุเอาไว้ในแผนผังที่ได้รับการปรุงแล้วตามที่ปรากฏในรายงานเดือนเมษายน ค.ศ. 2009)

แผนผังที่ได้รับการปรับปรุงแล้วปรากฏตามภาพ


ตามที่ปรากฏ ตัวทรัพย์สินคือ หมายเลข 1 ส่วนพื้นที่กันชนคือ หมายเลข 2 ส่วนพื้นที่สีเหลืองคือ พื้นทีซึ่งอ้างสิทธิทับซ้อนจะไม่รวมอยู่ในแผนบริหารจัดการ

9 การคัดค้านของรัฐบาลไทยทำให้กัมพูชาไม่สามารถบริหารจัดการปราสาทพระวิหารได้จริงหรือ?
ในรายงานแผนบริหารจัดการ ซึ่งทางการกัมพูชาได้จัดทำตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกและส่งให้กับคณะกรรมการตอนต้นปี 2010 นั้น ระบุว่าได้กันพื้นที่ของส่วนทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน (zone 1) เป็นพื้นที่ 11 เฮกตาร์ (68.75 ไร่) เท่านั้น ส่วนพื้นที่กันชนตามหมายเลข 2 นั้น 644.113 เฮกตาร์ (3819.45 ไร่) ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการมรดกโลกที่ COM 32 8B.102 ดังนั้นพื้นที่สีเหลือง (เขตอ้างสิทธิทับซ้อน) จึงถูกกันออกไป

ทางการกัมพูชาได้ดำเนินการปรับปรุงปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบตามแนวเขตกันชนนับแต่ปราสาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก โดยงานส่วนใหญ่มุ่งไปที่การปกป้องคุ้มครอง ตัวสถาปัตยกรรม โบราณสถาน ภูมิทัศน์ ทรัพย์สินอันเป็นธรรมชาติและที่ศักดิ์สิทธิ์

คณะผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโกได้เดินทางเข้าไปสำรวจปราสาทพระวิหารนับแต่ได้ขึ้นทะเบียนและทำได้มีการประชุมเพื่อเสนอความเห็นประกอบแนวทางในการบริหารจัดการปราสาทตั้งแต่เดือนเมษายน 2009 และในระหว่างวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2009 ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจพระวิหารอีกเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงาน

ในระหว่างนั้น ทางการกัมพูชาได้ปรับปรุง ซ่อมแซม หัวนาค ที่โคปุระ 5, 4, 3 ทำการปรับปรุงช่องทางบันใดหักทางทิศตะวันออก โดยสร้างเป็นบันใดไม้ขึ้นมา พร้อมทั้งปรับปรุงถนนเข้ามาทางด้านล่าง (เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับถนนที่ขึ้นมายังหน้าปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ และ หมู่บ้านสำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในพื้นทีใกล้เคียงเขาพระวิหารอีกด้วย ทั้งหมดปรากฏอยู่ในรายงานที่ได้ส่งมอบให้คณะกรรมการไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2010 แผนการนี้ถูกทางการไทยขอให้ระงับการพิจารณาเอาไว้ก่อน คาดว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมประจำปีนี้ที่บาเรนห์ในเดือนมิถุนายน 2011

บันไดทางทิศตะวันออกที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่

ถนนที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับถนนที่ขึ้นมายังหน้าปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

แม้กระนั้นก็ตาม ในเอกสารซึงการกัมพูชาเผยแพร่นั้นแสดงให้เห็นว่า การดำเนินการตามแผนไม่ได้สดุดหยุดลง มีภาพถ่ายซึ่งได้ถ่ายเมื่อกลางปี 2010 (หลังจากส่งแผนไปแล้ว 5 เดือนซึ่งบ่งชี้ว่าการดำเนินงานหลายอย่างเสร็จสิ้นลงแล้วด้วยซ้ำไป แต่อาจจะมีแผนงานอีกหลายรายการที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับเต็มที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งทางกัมพูชาไม่ได้แสดงเอาไว้ว่าได้มีการดำเนินการหรือไม่อย่างไร

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker