บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล: สารในวาระการเสวนาเพื่อรำลึกถึง "ศุขปรีดา พนมยงค์"

ที่มา ประชาไท

สารจาก อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ในวาระการเสวนาเพื่อรำลึกถึง คุณศุขปรีดา พนมยงค์
วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554

ผมนั่งลงและจรดน้ำหนักปลายนิ้วบนแป้นพิมพ์หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเป็นที่เรียบร้อย ก่อนอาหารมื้อนี้ ผมได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และอาจารย์ได้แนะนำกับผมว่า ให้ผมเขียนสารส่งมาร่วมในงานเสวนาครบรอบหนึ่งร้อยวันมรณกาลของคุณศุขปรีดา พนมยงค์ (หรือที่ผมเรียกติดปากว่า พี่ศุขปรีดาฯ) ก็ได้ หากไม่สามารถลงมาร่วมงานที่กรุงเทพฯ ได้

ผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ในครั้งนี้เช่นเดียวกับวันที่พี่ศุขปรีดาฯ จากไป (วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2553) ที่ผมไม่สามารถมาร่วมงานด้วยได้ เหตุผลก็ทั้งในด้านงานประจำที่นัดไว้เป็นการล่วงหน้าแล้วและภาระครอบครัวในช่วงที่มีการจัดงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ผมขอขอนุญาตฝากสารชิ้นเล็กๆ นี้มาเพื่อร่วมการเสวนาในวันนี้ และขอขอบคุณอาจารย์ปิยบุตรฯ เป็นอย่างยิ่งสำหรับการแนะนำให้เขียนสารชิ้นนี้ พร้อมทั้งช่วยกรุณานำมาอ่านให้ที่ประชุมฟังด้วย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเริ่มคุ้นเคยกับพี่ศุขปรีดาฯ ก็ในฐานะที่เข้ามาเป็นกรรมที่ปรึกษาสถาบันปรีดี พนมยงค์ นับแต่ช่วงปี 2548 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้น ผมเองก็ทราบและรับรู้เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไปว่า พี่ศุขปรีดาฯ เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน และเป็นบุตรชายคนที่สองของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ การได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมงานในสถาบันปรีดีฯ คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้นำผมเข้ามาสัมผัสและรับรู้ถึงจิตวิญญาณและตัวตนที่แท้จริงของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พี่ศุขปรีดาฯ และทายาทท่านอื่นๆ ในครอบครัวท่านรัฐบุรุษอาวุโสมากยิ่งขึ้นจากที่เคยรับรู้มาอย่างผิวเผิน

ในช่วงเวลาไม่นานนัก กล่าวคือ นับแต่ปี 2548-2551 (ก่อนมาประจำ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง) ที่ได้ร่วมงานและสังเสวนากับพี่ศุขปรีดาฯ และทายาทท่านอื่นๆ ของรัฐบุรุษอาวุโส ผมคงไม่สามารถอ้างได้ว่า ตนเองคุ้นเคยและรู้จักทายาทรัฐบุรุษอาวุโสทุกท่านเป็นอย่างดี แต่เท่าที่ได้รู้จัก ก็พอที่จะสัมผัสได้ถึงประสบการณ์ชีวิตที่ต่างได้ผ่านความผันผวนของชีวิตมา พร้อมๆ กับท่านรัฐบุรุษอาวุโส และเท่าที่ได้สัมผัส ผมเชื่อเป็นการส่วนตัวว่าลึกๆ ลงไปแล้ว แต่ละท่านคงมิอาจสรรหาถ้อยคำใดๆ มาบรรยายได้ว่าจะนิยามประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาแล้วนั้นอย่างไร

ในฐานะคนนอก แม้ผมจะมิได้มีโอกาสได้พบกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสด้วยตนเองในช่วงชีวิตของผม ผมก็รับรู้ว่า ต้นโพธิ์ใหญ่ที่เป็นร่มเงาและยืนตระหง่านสู้พายุที่โหมกระหน่ำทุกทิศทางและค้ำยันครอบครัวนี้ไว้ขณะที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสเผชิญชะตากรรมทางการเมืองและหลังจากที่ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

สำหรับท่านผู้หญิงฯ ผมจำได้ว่า พี่ศุขปรีดาฯ เคยบอกกับผมว่า ให้เรียกท่านว่า “คุณยาย” ก็ได้ ไม่ต้องเรียกเต็มยศอย่างที่ผมมักจะเรียกอยู่เป็นประจำ หรือแม้แต่ในระยะหลังๆ ที่คุยกัน พี่ศุขปรีดาฯ ก็มักจะแทนท่านผู้หญิงฯ ว่าคุณยายกับผมอยู่เสมอ ผมขอสารภาพตรงๆ ณ ที่นี้เลยว่า ไม่กล้าจะเรียกเช่นนั้น เพราะความเคารพนับถือที่ผมมีต่อสุภาพสตรีท่านนี้มีมากกว่าที่จะขอนับญาติตามธรรมเนียมไทยกับท่านได้ สำหรับผมนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นทรัพยากรบุคคลอันล้ำค่าของแผ่นดิน เป็นคนของชาติและที่สำคัญที่สุดเป็น “คนของราษฎร” ผมเคยนึกเล่นๆ กับตัวเองว่า ถ้าหากท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เกิดเป็นคนฝรั่งเศสและต้องเผชิญชะตากรรมในลักษณะนี้ ผมเชื่อมั่นเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ในวาระสุดท้าย ร่างของท่านทั้ง 2 จะถูกแห่แหนในรัฐพิธีใหญ่เพื่อไว้อาลัยการจากไป ท่ามกลางสายตามวลราษฎรทั้งแผ่นดินและต่อหน้าผู้เป็นประมุขแห่งรัฐและผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ขบวนแห่จะมีปลายทางอยู่ ณ มหาวิหาร Panthéon ซึ่งเป็นเสมือนที่พำนักสุดท้ายของบุคคลผู้มีคุณูปการแก่บ้านเมืองเฉกเช่นนี้ และถ้าใครแหงนหน้าขึ้นมองจารึกด้านหน้ามหาวิหารแห่งนี้ให้ดี ก็จะเห็นวลีอันงดงามโดดเด่นซึ่งสลักไว้ด้านบนว่า

“Aux grands hommes la patrie reconnaissante”

ซึ่งผมขอแปลเป็นภาษาไทยเอาเองว่า แด่บรรดามหาบุรุษ ด้วยคารวะจากมาตุภูมิ

สำหรับพี่ศุขปรีดาฯ หากพิจารณาจากงานเขียนที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ แล้ว พี่ศุขปรีดาฯ ต้องนับว่าเป็นปัญญาชนคนหนึ่งและเป็นคนสำคัญเสียด้วย เพราะเหตุไร ก็เพราะเป็นทายาทที่รับมรดกด้านจิตวิญญาณของผู้เป็นบุพการีทั้ง 2 นี่เป็นเหตุผลหนึ่ง อีกทั้งพี่ศุขปรีดาฯ ยังเป็นประจักษ์พยานใกล้ชิดในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับท่านรัฐบุรุษ อาวุโสและท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์มาโดยตลอด ผมคิดว่า ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา พี่ศุขปรีดาฯ ได้ซึมซับเอาประสบการณ์ไว้ในหลากหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประสบการณ์และจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ กล่าวคือ ต่อสู้เพื่อให้ได้มาหรืออย่างน้อยก็พยายามบอกเล่าและแนะนำตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อเป้าหมายสุดท้ายตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้

สำหรับผม งานเขียนแต่ละชิ้นของพี่ศุขปรีดาฯ ที่ได้รับการรวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม ไม่ว่าจะเป็น “โฮจิมินท์: เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ” (2549) “หวอเหงียนย้าป: จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินท์” (2552) และ “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง” (2553) ภาพลักษณ์โดยทั่วไปของงานเขียนทั้ง 3 ชิ้นก็เป็นสารคดีกึ่งวิชาการประวัติศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่ให้ข้อมูลและฉายภาพสถานการณ์บ้านเมืองที่ในช่วงที่ผ่านมาของประเทศเพื่อนบ้านเราในอินโดจีน แต่ที่ลึกไปกว่านั้น นี่คือภาพและวิญญาณแห่งการต่อสู้ของผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชนเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุดมการณ์ที่ประชาชาตินั้นได้เลือกแล้วว่าเหมาะสมกับตนเอง เป็นการประกาศศักยภาพและความมุ่งมั่นแห่งประชาชาติให้โลกได้รับรู้ นี่เป็นผลงานจากปลายปากกาของผู้ที่ชูการต่อสู้ของประชาชาติให้สูงเด่นขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งการกำหนดอนาคตและชะตากรรมของชาติด้วยน้ำมือของพลเมืองเอง

ยิ่งเมื่อผมได้เริ่มมาสัมผัสกิจกรรมต่างๆ ของพี่ศุขปรีดาฯ ผมเห็นความพยายามที่จะแนะนำและสนับสนุนแนวทางการต่อสู้เพื่อสร้างสังคม ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในบ้านเมืองนี้ แม้จะประสบปัญหาในด้านสุขภาพเป็นระยะๆ แต่พี่ศุขปรีดาฯ ก็เพียรให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักและนำไปเป็นตัวอย่างหรือแม้แต่เป็นบทเรียน สำหรับแนวทางการต่อสู้ในอนาคต ผมคิดว่านี่คือการส่งผ่านและถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวอันมีค่ายิ่งของพี่ศุขปรีดาฯ เพื่อยืนยันว่า การต่อสู้จะไม่มีวันหยุดนิ่งและสิ้นสุดลงได้ ตราบเท่าที่ยังมีสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อสู้นั้นจะยิ่งเข้มข้นและแหลมคมยิ่งขึ้น หากยังปรากฏมีสังคมที่พลเมืองยังถูกปฏิเสธความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีการเลือกปฏิบัติ ถูกปฏิเสธเจตจำนงในการตัดสินใจอันเป็นอิสระของประชาชาติทั้งมวล ดังเช่นตัวอย่างที่พี่ศุขปรีดาฯ ได้บอกเล่าผ่านประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเหล่านั้น

แท้จริงแล้ว การต่อสู้ใดเล่าจะมีพลังอำนาจเท่ากับการต่อสู้ของบรรดาพลเมืองที่ประกอบขึ้นเป็นประชาชาตินั้นๆ แม้หากจะกล่าวถึงระบบกฎหมาย ระบบกฎหมายของบ้านเมืองในแง่หนึ่งก็เป็นเพียงการจัดโครงสร้างการใช้อำนาจของสังคมนั้น หรือเป็นระบบการกำหนดแบบแผนของการกระทำอันสอดคล้องต้องกันกับเหตุผลที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กฎหมายและระบบกฎหมายจึงรับภาระในอันกำหนดสัมพันธภาพในทุกๆ มิติเพื่อให้สอดรับกับเจตจำนงพื้นฐานของพลเมืองและสังคมโดยทั่วไป แต่ในทางตรงกันข้าม หากมีการปฏิเสธเจตจำนงของพลเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยมาตรการใดๆ ทั้งที่เปิดเผยและซ่อนเร้น ด้วยการคุกคามข่มขู่ บิดเบือนความจริงและข่าวสาร จนกระทั่งลงเอยด้วยความรุนแรงโหดร้ายด้วยแล้ว ประสบการณ์ของมนุษยชาติแทบจะทุกแห่งบนผืนพิภพนี้ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังอำนาจสุดท้ายที่เป็นกฎธรรมชาติทางสังคมและเป็นอำนาจจริงยิ่งกว่าอำนาจ ที่มีลักษณะโครงสร้างแบบกฎหมายในยามปกติก็คือ พลังอำนาจของประชาชนที่พร้อมใจกันลุกขึ้นต่อสู้นั่นเอง

เพราะเหตุไรจึงกล่าวเช่นนี้ เพราะนี่คือ อำนาจที่แท้จริงทางสังคมที่มีความชอบธรรมสูงสุดอยู่ในตัว โดยไม่ต้องมีระบบกฎหมายใดๆ มาสถาปนาความชอบธรรมนั้นให้อีก ระบบกฎหมายเองเสียอีกที่จะต้องสถาปนาความชอบธรรมขึ้นจากเจตจำนงและอำนาจที่แท้จริงในสังคมเช่นว่านี้

ในช่วงที่ท่านผู้หญิงฯ ยังเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับลูกหลานครอบครัวพนมยงค์นั้น บางครั้งผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดขึ้นในบ้านซอยสวนพลู ยามที่ผมได้กลับออกมาและเห็นผู้คนขวักไขว่ไปมารอบตัวนั้น ผมมีความรู้สึกบางอย่างที่แม้แต่ตัวเองก็อธิบายไม่ถูกว่ามันคืออะไร ถ้าจะให้ลองอธิบาย มันคงเป็นความรู้สึกทำนองว่า นี่ผมเพิ่งออกมาจากบ้านของบุคคลที่เคยนำการต่อสู้และนำประชาธิปไตยมาสู่ทุกๆ คนที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้า แต่ในที่สุดกลับประสบชะตากรรมที่มิอาจบรรยายได้ว่า แล้วเหตุใดในบั้นปลายชีวิตจึงไม่สามารถกลับสู่มาตุภูมิของตนเองได้ หรือถึงแม้บางคนจะได้กลับ ก็เป็นการกลับในสภาพที่ไม่คู่ควรกับธรรมเนียมของชาติอารยะที่พึงปฏิบัติต่อคนของแผ่นดินเช่นนี้

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า จิตวิญญาณเป็นพลังที่ไม่มีวันสูญสลายได้เหมือนสรีระ แม้เราจะมอบสรีระให้ผู้ใดไว้ในครอบครอง สักวันหนึ่งสรีระนั้นก็จะเป็นไปตามกฎธรรมชาติแห่งอนิจจัง แต่จิตวิญญาณนั้นเล่า หากเราเข้าใจและเห็นคุณค่า เราสามารถส่งต่อ ถ่ายทอดและมอบเป็นมรดกแก่กันได้ตลอดไป ด้วยเหตุนี้สำหรับผม พี่ศุขปรีดาฯ เป็นปัญญาชนคนสำคัญที่เป็นเสมือน “ข้อต่อ” แห่งจิตวิญญาณประชาธิปไตยจากรุ่นบุพการี และยังเป็นข้อต่อที่พยายามทำหน้าที่ส่งทอดข้อต่อนี้ไปยังคนรุ่นใหม่ เพื่อสานจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อให้อุดมคติบรรลุและเป็นจริงขึ้นในอนาคตอันใกล้

ในที่สุดนี้ ผมขออนุญาตอ้างถึงคำกล่าวไว้อาลัยแด่คุณสุพจน์ ด่านตระกูลของพี่ศุขปรีดาฯ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“ ... ผมเชื่อว่าเรามากันวันนี้ เราตั้งใจพร้อมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือมีความตั้งใจ ตั้งปณิธานที่จะสืบเนื่องความคิด การกระทำอันดีงาม และถ้าสามารถที่จะพัฒนาต่อไปยิ่งๆ ขึ้น อันนี้ก็จะเป็นผลดีแก่ส่วนรวม ประเทศชาติและประชาชนต่อไป ..."

ครับ ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดและการกระทำอันดีงามของพี่ศุขปรีดาฯ ก็จะมีคนสืบสานและสืบทอดเป็นมรดกต่อไปอย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน.

ที่มา: http://www.enlightened-jurists.com/page/190

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker